Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คนจำนวนมากในฟากที่สนับสนุนรัฐบาลต่างก็เชื่อว่า กปปส. ฝ่ายค้าน ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ สว.แต่งตั้ง และกองทัพ คือกลุ่มคนเดียวกัน หรือพวกเดียวกัน ที่ทำงานเป็นทีมซึ่งดูแล้วสนุกไม่แพ้ดูรายการฟุตบอลแมตช์ใหญ่ๆ ที่คนในทีมเลี้ยงบอล ส่งลูก รับลูก โดยอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นได้อย่างน่าตื่นเต้น และจบด้วยการทำประตูได้จริงๆ พวกเขาชนะมาหลายแมตช์ แต่ยังไม่ชนะทัวร์นาเมนต์ มาวันนี้พวกเขาคาดว่าจะปิดเกมให้ได้โดยพยายามจ่ายบอลไปให้กองทัพ และหวังให้กองทัพยิงประตู แต่กองทัพไม่รับบอล กองทัพไม่ไปรายงานตัวสุเทพ และไม่มีทางที่กองทัพจะทำตามอะไรที่เป็นความริเริ่มของสุเทพหรือ กปปส. แน่นอน คำถามคือเพราะอะไร

1. คำตอบแรกเป็นการวิเคราะห์ในมิติความมั่นคง

กองทัพติดหล่มในสาม จว. ภาคใต้ และขาดความมั่นใจจากประสบการณ์การรัฐประหารที่ผ่านมา

แม้ว่าการแก้ปัญหาในสาม จว. ภาคใต้จะไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพแต่ฝ่ายเดียว แต่ในฐานะกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลที่ลงไปต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในระดับยุทธวิธีแล้ว ถือว่ากองทัพล้มเหลวและยังมองไม่เห็นชัยชนะจากการประลองกำลังกันมาเกือบสิบปี สิ่งที่เป็นความล้มเหลวคือกองทัพไม่สามารถกำจัดเสรีในการปฏิบัติ (freedom of action) ของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนได้ ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนยังสามารถวางระเบิดได้เรื่อยๆ และก่อเหตุในรูปแบบที่หลากหลายไม่รู้จบ ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพความสูญเสียที่ชาวไทยแม้จะเสียใจแต่เกิดความรู้สึกชาชิน ซึ่งเข้าทางฝ่ายแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการให้ชาวไทยมีความรู้สึกถึงจุดที่ว่าถ้าสามจังหวัดจะปกครองตนเองไม่ว่าในระดับความเข้มข้นไหนก็ทำไปเถอะ นั่นเป็นการติดหล่มของกองทัพ

ประสบการณ์ต่อมาคือการรักษาความสงบภายหลังการรัฐประหารที่ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ในอดีต เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพ รัฐประหารสำเร็จก็จบเรื่อง แม้พฤษาทมิฬก็จำกัดตัวอยู่ในกรุงเทพ ไม่ขยายออกไปในภูมิภาค ก่อนรัฐประหารปี 49 กองทัพยังมองไม่เห็นมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ถนัด แต่พอรัฐประหารแล้วถึงรู้ว่ามวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมีอยู่จริง และพร้อมต่อสู้ จะเห็นจากการเผาโรงเรียนในภาคอีสานหลังการปฏิวัติใหม่ๆ การรักษาที่มั่นในกรุงเทพแบบป้อมค่าย และการปฏิเสธอำนาจรัฐในพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล การลุกลามไปถึงภูมิภาคนี้ได้รับการตอกย้ำจาก กปปส. ที่ประกาศให้ผู้ที่สนับสนุนปิดล้อมหน่วยงานราชการในต่างจังหวัด กองทัพจึงคิดหนักที่จะเข้ามาแทรกแซงในครานี้ คือจะไม่ใช่แค่การรักษาความมั่นคงเฉพาะในกรุงเทพเท่านั้นในการรัฐประหารครั้งต่อไป แต่จะเป็นการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคด้วย คำถามคือจะเอากำลังทหารที่มากพอมาจากที่ไหน ทั้งๆ ที่ก็ยังติดหล่มในสาม จว. ภาคใต้อยู่ เหมือนกับเป็นการเปิดศึกสองด้าน เป็นการเปิดศึกในสองสมรภูมิ (theater) ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีไม่กี่กองทัพในโลกที่ทำได้ เช่น กองทัพสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่สองที่สามารถทำศึกในสมรภูมิยุโรปและแปซิฟิกได้ (แต่ก็ต้องรอให้สมรภูมิยุโรปจบก่อนถึงไปทุ่มสมรภูมิแปซิฟิก) หรือกองทัพสหรัฐในช่วงสงครามเย็นที่มีทหารของตนนับล้านคนประจำตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในยุโรป แต่สามารถเปิดสมรภูมิเกาหลีและเวียดนามได้ แต่นี่เป็นข้อยกเว้น กองทัพไทยไม่มีกำลังคนและยุทโธปกรณ์ที่จะเปิดสมรภูมิสองสมรภูมิได้ในเวลาเดียวกัน อย่าลืมว่าศัตรูของศัตรูคือเพื่อน หากเกิดรัฐประหารแล้วกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสาม จว. ภาคใต้ และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประสานการปฏิบัติในทางยุทธวิธีกันเข้า กองทัพก็จะเหนื่อยมากขึ้น ทหารก็จะล้ามากขึ้น และหากกองทัพไม่สามารถรักษาความปลอดภัยในการรัฐประหารครั้งหน้าได้ กองทัพจะเสียชื่อเสียง เกียรติภูมิ และอาจถูกปฏิรูปจนถึงแก่น และจะลดบทบาททางการเมืองของกองทัพในสังคมไทยไปมาก นั่นแหละคือ point กองทัพคงวิเคราะห์แล้วว่าการไม่รัฐประหารครั้งนี้เป็นการรักษาอำนาจทางการเมืองของกองทัพในระยะยาวนั่นเอง

2. คำตอบที่สองเป็นการวิเคราะห์ในมิติอำนาจและศักดิ์ศรี

กองทัพเสี่ยงที่จะสูญเสียอำนาจทางการเมืองในการรัฐประหารครั้งต่อไป สู้อยู่เฉยๆ ให้คนอื่นเขาเกรงใจจะดีกว่า กองทัพไม่ไปรายงานตัวสุเทพ หรือรับปฏิบัติตามความริเริ่มของสุเทพหรือ กปปส. แน่นอน เพราะกองทัพจะไม่มีเครดิตหรืออำนาจที่จะจัดการอะไรด้วยตนเองเหมือนกับภายหลังการรัฐประหารโดยกองทัพ เช่น ถนนทุกสายจะไม่มุ่งมาที่ ผบ.ทบ. หรือกองทัพ แต่จะมุ่งไปที่สุเทพ หรือ กปปส. แทน ซึ่งระดับผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพรับไม่ได้แน่นอน อันเป็นทั้งเรื่องอำนาจและศักดิ์ศรี โดยเฉพาะประการหลังนี้กินไม่ได้แต่ทหารยอมตายเพื่อรักษาศักดิ์ศรีแน่นอน การประกาศให้ ผบ.เหล่าทัพ มารายงานตัวออกสื่อของสุเทพ จึงเป็นการช่วยการตัดสินใจของกองทัพในคราวนี้ว่าอยู่เฉยๆ คุ้มกว่า เพราะถ้าปฏิวัติเองก็เข้ากับเงื่อนไขการวิเคราะห์ตามข้อ 1 หรือถ้าทำตาม กปปส. ก็หนีไม่พ้นต้องออกแรงตามการวิเคราะห์ในข้อ 1 อยู่ดี แถมซ้ำร้ายใครจะไว้ใจคนอย่างสุเทพ หากสุเทพได้อำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว มีโอกาสที่แม่ทัพนายกองอาจโดนโยกย้ายกันชนิดถอนรากถอนโคนเลยทีเดียว

การวิเคราะห์ชั่งน้ำหนักของกองทัพจึงไม่ยุ่งยากอะไร

ถ้ารักษากติกาของประเทศไว้ กองทัพจะไม่ต้องออกแรงมาก สถานะของกองทัพยังอยู่เท่าเดิมหรืออาจสูงขึ้นด้วยซ้ำ บทบาททางการเมืองของกองทัพในสังคมไทยยังอยู่ ผบ.เหล่าทัพยังมีศักดิ์ศรีเหมือนเดิม แม้จะมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการโยกย้ายอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่น่าเกลียดและมีหลักประกัน (เป็นไปตามที่ตกลงกันในหมู่ผู้บังคับบัญชา)

แต่ถ้าไม่รักษากติกาของประเทศไว้ สิ่งที่จะตามมาก็คือตรงข้ามกับที่พูดมาข้างต้น กองทัพจะเหนื่อยและล้ามากกว่าการรัฐประหารทุกครั้งในประวัติศาสตร์ประเทศ ผู้บังคับบัญชาสูญเสียศักดิ์ศรี และจะเกิดความไม่แน่นอนสำหรับบทบาทของกองทัพในสังคมไทยในอนาคต และที่สำคัญ จะมีการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ มากกว่าเดิม และไม่มีหลักประกันอะไรเลย



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net