Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 12 ธันวาคม 2556 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีที่นายกิตติธนถูกฟ้องว่า เป็นผู้ใช้นามแฝงว่า “เคนจิ” โพสต์ข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีลงในเว็บไซต์ dangddดอทcom หรือเว็บไซต์ internetfreedom โดยศาลตัดสินว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) (3) ทั้งหมด 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี

นอกจากนี้นายกิตติธนยังมีความผิดฐาน “ตระเตรียมและพยายาม” หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทด้วย จากการที่มีภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเทพฯ และองค์เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ รวมทั้งองค์รัชทายาทของแต่ละพระองค์ที่เสด็จไปสถานที่ต่างๆ ในพระอิริยาบถต่างๆ โดยจำเลยเขียนพิมพ์ข้อความต่างๆ ประกอบพระบรมฉายาลักษณ์ โดยเป็นข้อความในลักษณะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งจำเลยตระเตรียมภาพถ่ายพร้อมข้อความดังกล่าวและบันทึกไว้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อเผยแพร่ภาพและข้อความดังกล่าว ในบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและยึดไว้ก่อนที่จำเลยจะโพสต์ในอินเทอร์เน็ต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามกระทำผิดมาตรา 112 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน

รวมทั้งหมด นายกิตติธนถูกศาลตัดสินให้จำคุก 13 ปี 4 เดือน เนื่องจากรับสารภาพในทุกข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นศาล ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 5 ปี 20 เดือน

[อ่านรายละเอียดคดีกิตติธน : เคนจิ คลิกที่นี่]

 

รับสารภาพไม่ใช่ผิดอัตโนมัติ ศาลยังคงมีหน้าที่ต้องปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง

เป็นหลักการทั่วไปว่า ศาลเป็นผู้มีหน้าที่วินิจฉัยคดีความ โดยหน้าที่ของศาลคือการปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง คือศาลต้องอธิบายว่าการกระทำของจำเลย เข้าองค์ประกอบความผิดตามตัวบทกฎหมายอย่างไร เพื่อตอบคำถามว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่

กรณีที่จำเลยรับสารภาพในชั้นศาล หมายความว่า จำเลยรับสารภาพว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่โจทก์เขียนบรรยายมาในคำฟ้อง และข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมานั้นเป็นความจริงทุกประการ มีผลให้ประเด็น “ข้อเท็จจริง” ในคดีนี้ยุติแล้ว ศาลสามารถใช้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องวินิจฉัยคดีและพิพากษาคดีได้เลย แต่ทั้งนี้ ศาลยังมีหน้าที่ต้องนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับตัวบทกฎหมายอีกครั้งว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วนั้น เข้าองค์ประกอบความผิดตามตัวบทกฎหหมายมาตราใด หรือไม่

ตัวอย่างเช่น หากเป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้จำเลยรับสารภาพศาลก็ยังคงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลย ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้น เป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” บุคคลที่กฎหมายมาตรานี้มุ่งคุ้มครองหรือไม่ หากการกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยจะรับสารภาพ ศาลก็ต้องสั่งยกฟ้อง

แต่คำพิพากษาในคดีของนายกิตติธนนั้น ศาลไม่ได้วิเคราะห์ปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับตัวบทกฎหมายเลย เพียงแต่กล่าวไว้สั้นๆ ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายมาตราใดและมีโทษอย่างไร โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้ให้ชัดเจน

 

“ตระเตรียมการ” หมิ่นฯ ไม่นับเป็นความผิดตามกฎหมาย

ในคำฟ้องคดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่า จำเลยตระเตรียมการกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวดหนึ่ง แต่ความผิดข้อนี้จะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อจำเลยกระทำไปถึงขั้น “ลงมือกระทำความผิด” แล้ว เพียงแค่ขั้นตอนการตระเตรียมการยังไม่เป็นความผิด

แต่ตามหลักกฎหมายอาญา ความผิดที่แม้เพียงการ “ตระเตรียมการ” ก็ถือเป็นความผิดนั้น กฎหมายต้องเขียนระบุเอาไว้เป็นการเฉพาะว่าการตระเตรียมการนั้นๆ เป็นความผิด เช่น ความผิดฐานลอบปลงพระชนม์ ตามมาตรา 107 ความผิดฐานกบฏ ตามมาตรา 114 ความผิดฐานก่อการร้าย ตามมาตรา 135/2 (2) หรือความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ในมาตรา 219 เป็นต้น

ดังนั้น แม้มาตรา 112 จะอยู่ในหมวดว่าด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งความผิดหลายมาตราในหมวดนี้กฎหมายบัญญัติไว้ว่าการตระเตรียมการเป็นความผิดก็ตาม แต่ในเมื่อไม่มีกฎหมายมาตราใดบัญญัติว่าการ “ตระเตรียมการ” ที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดด้วย การตระเตรียมการของจำเลยในคดีนี้จึงย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้เช่นนี้ ศาลผู้มีหน้าที่วินิจฉัยปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง ควรจะวินิจฉัยกรณีนี้ไว้ด้วย แต่ศาลในคดีนี้ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นการตระเตรียมการ

 

“พยายามหมิ่นกษัตริย์ฯ” แนวพิพากษาคดีแบบใหม่ล่าสุด

ขณะที่ความผิดฐาน “ตระเตรียมการ” จะเป็นความผิดเฉพาะกรณีที่ระบุเอาไว้ในกฎหมาย แต่ความผิดฐาน “พยายาม” นั้นต่างออกไป กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 กำหนดว่า

“มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้น พยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”

จะเห็นว่า การกระทำใดที่จะถือเป็นความผิดฐานพยายามได้ ต้องมีลักษณะ “ลงมือกระทำความผิดแล้ว” แต่กระทำไปไม่ตลอด เช่น หลอกลวงให้คนเอาเงินมาให้ เมื่อคนเอาเงินมาให้แล้วแต่ปรากฏวันนั้นไม่ว่างจึงยังไม่ได้รับเงิน แม้การกระทำนั้นยังไม่ครบองค์ประกอบอันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานฉ้อโกง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฉ้อโกงแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือ “กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล” เช่น เอาปืนยิงไปคู่อริ ยิงไปแล้วแต่หมอช่วยชีวิตไว้ทัน จึงไม่ตาย แม้ยังไม่ครบองค์ประกอบอันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานฆ่าคนตาย แต่ก็เป็นการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าคนตายแล้ว ซึ่งได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นยังไม่บรรลุผล

กรณีความผิดตามมาตรา 112 อันประกอบด้วยการ “หมิ่นประมาท” “ดูหมิ่น” “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” นั้น สาระสำคัญของการลงมือกระทำความผิดอันเป็นการหมิ่นประมาทต้องมีลักษณะ “ใส่ความ” ผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม สาระสำคัญของการลงมือกระทำความผิดอันเป็นการดูหมิ่นหรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายก็ต้องมีลักษณะของการ “แสดงออก” ซึ่งความคิดความรู้สึกออกมา จึงจะถือว่าได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว

การที่พนักงานอัยการโจทก์เขียนบรรยายคำฟ้องในคดีนี้ว่า จำเลยมีภาพถ่าย แล้วเขียนข้อความประกอบรูปไว้ในลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย เพื่อเผยแพร่เข้าไปในสื่ออินเทอร์เน็ต ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและยึดภาพถ่ายและข้อความต่างๆ เสียก่อน การวินิจฉัยนี้น่าจะไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง เพราะจำเลยเพียงแค่ “มี” ไว้ในครอบครอง และ “เขียน” ถ้อยคำประกอบรูป แต่ยังไม่มีข้อมูลใดชี้ให้เห็นถึงการกระทำในลักษณะของการแสดงออก เผยแพร่ หรือใส่ความ ให้ข้อความเหล่านั้นไปถึงยังผู้รับสารคนอื่นเลย กรณีนี้จึงไม่ใช่ลักษณะที่จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล แต่เป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดเลย

กรณีที่จะถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดไปแล้ว จนเป็นความผิดฐานพยายามได้นั้น ต้องถึงขั้นที่จำเลยได้ลงมือกระทำ “ขั้นตอนสุดท้าย” ของความผิดนั้นแล้ว เช่น กดโพสต์เข้าไปในอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่มีความขัดข้องทางเทคนิคทำให้โพสไม่สำเร็จ หรือส่งไปให้บุคคลอื่นดูแล้วแต่คนที่ดูอ่านภาษาไทยไม่ออกจึงไม่เข้าใจข้อความนั้น เป็นต้น

ข้อเท็จจริงเท่าที่พนักงานอัยการโจทก์เขียนบรรยายมาในคำฟ้องนั้น จำเลยยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดเลย ยังไม่ใช่การกระทำขั้นตอนสุดท้ายของความผิดตามมาตรา 112 ยังเป็นการกระทำที่ไม่ใกล้เคียงต่อผล เพราะจำเลยอาจมีรูปและข้อความเอาไว้ใช้เพื่อเจตนาอย่างอื่นก็ได้ ทั้งยังอยู่ในขั้นตอนที่จำเลยอาจเปลี่ยนใจไม่กระทำความผิด หรือไม่เผยแพร่รูปและข้อความเหล่านั้นเมื่อไรก็ได้ จึงยังไม่เป็นความผิดฐานพยายามหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ประกอบมาตรา 80

กล่าวโดยสรุป การที่จำเลยมีรูปไว้ในครอบครองพร้อมเขียนข้อความประกอบ ยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดฐานพยายาม กระทำความผิดตามมาตรา 112 แม้การกระทำของจำเลยอาจจะถือได้ว่า เป็นการตระเตรียมการกระทำความผิดแล้ว แต่เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายกำหนดให้การตระเตรียมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ และแม้จำเลยจะรับสารภาพว่าได้กระทำไปตามฟ้องจริง แต่ศาลก็ยังมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยด้วยว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์นั้น เป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ การที่คำพิพากษาของศาลเพียงแค่กำหนดโทษให้จำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง โดยไม่นำหลักกฎหมายใดๆ มาวินิจฉัยด้วยนั้น จึงน่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่หลายประการ

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน iLaw, 12 ธันวาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net