Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การปฏิรูปประเทศที่แท้จริงไม่อาจทำสำเร็จใน 1-2 ปี แต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องจริงจังเป็นเวลายาวนาน และไม่อาจปฏิรูปเฉพาะด้านกฎหมายหรือโครงสร้างสถาบันอำนาจ แต่ต้องปฏิรูปกระบวนการความคิด ทัศนคติ และวัฒนธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมด้วย การเริ่มต้นการปฏิรูปที่แท้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่ความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้ไม่มีฝ่ายใดถูกบีบบังคับให้ต้องดำเนินการตามความประสงค์ของอีกฝ่าย ซึ่งวิธีการหลีกเลี่ยงการถูกบีบบังคับในเบื้องต้น ก็คือการอาศัยกติกาสูงสุดของประเทศ อันได้แก่รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องมือในการ “เปิดทาง” ปฏิรูปประเทศ ซึ่งเริ่มต้นได้ทันทีก่อน ระหว่าง และ หลัง การเลือกตั้ง โดยแบ่งได้เป็นสามระยะ

1. การเปิดทางปฏิรูประยะเฉพาะหน้า (ภายใน 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง)

- ให้ทุกพรรคการเมืองให้สัตยาบันลงแข่งขันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2556  โดยงดเว้นการนำเสนอนโยบายเลือกตั้งแบบทั่วไปเชิงประชานิยม แต่จะเน้นนำเสนอเฉพาะนโยบายการเริ่มต้นกลไกกระบวนการปฏิรูปประเทศที่ไม่ยึดติดกับอายุของรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร เช่นรูปแบบ สภาประชาชน สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือกลไกเพื่อการปฏิรูปอื่นเพื่อเป็นตัวเลือกให้ประชาชนและนำไปสู่ “รัฐบาลปฏิรูป” ซึ่งเป็นรัฐบาลกึ่งเฉพาะกิจที่จะยุบสภาภายใน 2 ปี หลังได้ดำเนินการขับเคลื่อนและเริ่มต้นกลไกการปฏิรูปประเทศตามที่หาเสียงไว้ โดยมีกลไกปฏิรูปทำหน้าที่ต่อไป
- ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเริ่มปฏิรูปการเลือกตั้ง โดยอาศัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและประกาศให้การจัดการดูแลเลือกตั้งเข้มงวดและอุดช่องการทุจริตทุกรูปแบบ ทั้งนี้ การละเมิดกฎระเบียบเหล่านี้มีบทลงโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้
- ให้ กปปส. นปช. สปป. สถาบันการศึกษา และประชาชนทุกภาคส่วน (โดยความช่วยเหลือของกองทัพ) ร่วมกันเป็นอาสาสมัครดูแลตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจรับรองสถานะอาสาสมัครดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือเข้ามาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง

2. การเปิดทางปฏิรูประยะกลาง (ภายใน 1-2 ปี ช่วงรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน)

- ให้พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจัดตั้ง “รัฐบาลปฏิรูป” โดยเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชนเข้ามาร่วมดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การเริ่มต้นการปฏิรูปโปร่งใสและมีส่วนร่วม และยุบสภาภายในไม่เกิน 2 ปี
- ให้รัฐบาลปฏิรูปชะลอหรือทบทวนโครงการที่ขาดความไว้วางใจจากประชาชนเป็นการชั่วคราว อาทิ โครงการกู้เงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน  โครงการบริหารจัดการน้ำ หรือ โครงการรับจำนำข้าว โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกโครงการ แต่อาจทบทวนและรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขความผิดพลาด พร้อมทั้ง เปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้และร่วมตรวจสอบมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกนโยบายเหล่านี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

3. การเปิดทางปฏิรูประยะยาว (ภายใน 2 ปี หลังจาก “รัฐบาลปฏิรูป” ได้ทำการยุบสภา)

- มีการยุบสภาก่อนปี 2560 และเลือกตั้งใหม่ เพื่อเข้าสู่เดินกลไกปฏิรูประยะยาวที่ต่อเนื่องและผูกมัดทุกรัฐบาล
  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net