Skip to main content
sharethis

ผลประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ประจำปี 56 อภิสิทธิ์ นั่งหัวหน้าพรรคต่อ มติไม่รับข้อเสนอ ‘อลงกรณ์’ และแพ้โหวตรองหัวหน้าพรรค เจ้าตัววอนวอนปฎิรูปพรรคต่อ ชี้เป็นทางเดียวกลับมาชนะใจปชช.

17 ธ.ค.2556  หลังจากการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ประจำปี 2556 ซึ่งที่ประชุมได้หารือและรับรองข้อบังคับพรรคใหม่แล้วได้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว แต่ต้องมีการลงคะแนนโดยลับ ซึ่งผลการนับคะแนนปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ได้รับการรับรองด้วยคะแนนร้อยละ 98 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอชื่อรองหัวหน้าพรรคโควตากลาง 5 คน คือ นายเกียรติ สิทธีอมร รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ด้านกิจการสภาและนโยบาย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ทำงานด้านการเมือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำงานด้านท้องถิ่น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ทำงานด้านการสื่อสาร และยุทธศาสตร์ และเสนอนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งหมดได้รับเลือก ส่วนรองหัวหน้าพรรคภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ภาคเหนือ นายอัศวิน วิภูศิริ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ภาคกลาง นายสาธิต ปิตุเตชะ ภาคใต้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ กทม.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์

ทั้งนี้ในส่วนของรองหัวหน้าพรรค ภาคกลางนั้น เป็นการแข่งกันระหว่างนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคกับนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง ซึ่งนายสาธิตชนะไป

หลังจากผลการเลือกตั้งออกมา นายอลงกรณ์ ได้ทวีตผ่าน @alongkornpb ว่า “แพ้ครับ” พร้อมทั้งกล่าวยอมรับมติพรรค และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรคต่อไป โดยอลงกรณ์เห็นว่ามีแต่แนวทางนี้เท่านั้นที่จะชนะใจประชาชน พร้อมทวีตด้วยว่า “ชีวิตพลิกผันจริงๆเมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งไปแลกประสบการณ์การปฏิรูปพรรคกับ 3 พรรคการเมืองที่อังกฤษแถมซื้อพ็อกเก็ตบุ้คมาศึกษา 4 เล่มหวังมาปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์” 

อลงกรณ์ทวีตกล่าวถึงการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปพรรค ที่ผ่านมาด้วยว่า นับแต่เปิดประเด็น "ปฎิรูปพรรคประชาธิปัตย์" เมื่อ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างแต่ก็พร้อมยอมรับชะตากรรม ถ้าไม่กล้าริเริ่มใครจะเริ่ม ดังนั้นการที่ผมแพ้เลือกตั้งในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคกลางวันนี้ถือเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งผมให้ความเคารพและเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมรัก ก่อน13 เม.ย. ผมคิดว่าประเทศของเราเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น การศึกษาตกต่ำขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงสังคมเสื่อมเศรษฐกิจอ่อนแอแล้วจะแก้อย่างไร ไม่รู้ว่าอนาคตของประเทศจะจบลงที่ตรงไหนโดยเฉพาะประชาชนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายมากขึ้น ผมเห็นว่าการเมืองคือต้นเหตุใหญ่ของปัญหาจึงต้องแก้ที่การเมือง

อลงกรณ์มองว่า “เราแก้ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งผมเป็นรองหัวหน้าโดยต้องปฏิรูปพรรคให้ก้าวหน้าทันสมัยยึดมั่นประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทำเพื่อส่วนรวมแข่งคิดเก่งแข่งบริหารเก่ง 9เดือนเต็มที่พวกเราฝ่าฟันผลักดันจนที่ประชุมใหญ่ในวันนี้เห็นชอบร่างข้อบังคับเปลึ่ยนแปลงโครงสร้างและระบบบริหารจัดการใหม่ตามแนวทางปฏิรูปพรรค”

“ถึงจะไม่มีผมในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แต่ก็เป็นกำลังใจอย่าทิ้งการปฏิรูปพรรคเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่ดีของประชาชนไม่ใช่ของกลุ่มใดคนใด พรุ่งนี้ผมจะขนของออกจากห้องทำงานเพื่อให้รองหัวหน้าคนใหม่เข้าทำงาน ขอบคุณสมาชิกพรรคทุกคนที่ร่วมงานกันตลอด 22 ปีในพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมรักและภักดีตลอดมา” อดีตรองหัวหน้าพรรคฯ ทวีตทิ้งท้าย

 

ที่ประชุมพรรคชี้ข้อเสนออลงกรณ์สร้างความซ้ำซ้อน

ทั้งนี้มีรายงานว่า ข้อสนอปรับโครงสร้าง "คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ที่เสนอโดยอลงกรณ์นั้น เป็นการเสนอให้เพิ่มสัดส่วนของประธานสาขาเพิ่มเติมเข้าไปอีก 5 คน จากเดิมที่มีการกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการไว้ 5 ข้อ คือ 1. หัวหน้าพรรคเป็นประธาน 2. เลขาธิการเป็นเลขานุการ 3. ตัวแทนคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งเลือกกันเอง 4 คน 4. ตัวแทนจากคณะกรรมการกลางซึ่งเลือกกันเอง 5 คน และ 5. ตัวแทนจากประธานเขตพื้นที่ซึ่งเลือกกันเอง 4 คน แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าหากเพิ่มข้อ 6 ที่นายอลงกรณ์เสนอจะทำให้เกิดความซับซ้อน เพราะมีสัดส่วนจากสาขาพรรคอยู่แล้ว

โดยผู้สื่อข่าว คม ชัด ลึก รายงานด้วยว่า ในการประชุมได้มีส.ส.หลายคนโต้แย้งนายอลงกรณ์ อาทิ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ท้วงขึ้นว่าหากดำเนินการตามข้อเสนอก็จะทำให้มีการเสนอตัวแทนจากสัดส่วนอื่นไม่รู้จบ จนเกิดความซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ซึ่งแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ควรจะมีการลงมติได้แล้ว เนื่องจากเสียเวลาและพรรคได้ผ่านการพิจารณามาแล้วหลายขั้นตอน จึงควรดำเนินการตามโครงสร้างที่มีการเสนอมา

ทั้งนี้นายอลงกรณ์ยังคงยืนยันที่จะเสนอโครงสร้าง ตามแนวทางใหม่ของตัวเอง ในขณะที่ประธานสาขาพรรค ได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนแนวคิดของนายอลงกรณ์ เพื่อให้ประธานสาขาพรรคได้มีที่นั่งในการเป็นกรรมการสรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย นายอภิสิทธิ์ จึงชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เคยผ่านการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรคมาก่อน หากจะให้มีการพิจารณาก็ต้องรื้อโครงสร้างใหม่ ไม่เช่นนั้นจะมีการเสนอขอให้มีตัวแทนจากส.ส. จากพื้นที่มาเพิ่มอีก ทั้งๆ ที่องค์ประกอบเดิมก็จะมีตัวแทนจากสาขาเข้ามาอยู่แล้ว แต่ถ้านายอลงกรณ์ยังยืนยันที่จะให้พิจารณา ก็ต้องพักการประชุมเพื่อให้กรรมการบริหารพรรคได้พิจารณาเรื่องนี้

นางอวยพร พลบุตร ประธานสาขาพรรคเพชรบุรี เสนอให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ลงมติตามแนวทางที่นายอลงกรณ์เสนอ แทนที่จะให้เป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้พิจารณา จนนายอภิสิทธิ์ เสนอแนวทางประนีประนอมว่า ให้มีการรับเป็นข้อสังเกตไว้แล้วไปพิจารณาเพิ่มเติมในครั้งหน้า แต่นายอลงกรณ์ ก็ยังไม่ยอมจะขอให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่ตามที่นางอวยพรเสนอ โดยในระหว่างนั้นได้มีการโต้เถียงในหลักคิดเป็นระยะระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนายอลงกรณ์

จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า ไม่อยากให้การแก้ไขข้อบังคับเลอะเทอะ จนทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยน เพราะองค์ประกอบในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีตัวแทนของสาขาพรรคอยู่แล้ว หากจะมีเพิ่มเป็นตัวแทนจากสาขาพรรคเข้ามา ก็จะมีคำถามว่าไม่มีตัวแทนจากส.ส. ถ้าส.ส.เสนอก็จะมีตัวแทนจากอดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค อดีตสาขาพรรค

นายชวน กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าพรรคให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจอยู่แล้ว จึงอยากให้สาขาพรรคเข้าใจด้วยว่าในปัจจุบันสาขาพรรค ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารพรรคอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้ข้อบังคับสำเร็จได้ด้วยดีอย่าทำให้เลอะ เพิ่มเติมอะไรมาก เพราะยืนยันว่าองค์ประกอบที่มีอยู่มีสาขาพรรคเป็นตัวแทนอยู่แล้ว แม้นายอลงกรณ์จะมีความหวังดี แต่ตนคิดว่าจะทำให้ปัญหาไม่จบ จะมีคนเสนอตัวแทนเพิ่มเข้ามาใหม่จนข้อบังคับไปไม่ได้ จึงอยากให้รับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ที่จะรับเป็นข้อสังเกตนำไปพิจารณาอย่าลงมติเพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็น

ในรายงานของ คม ชัด ลึก ระบุว่า การอภิปรายของนายชวน ทำให้บรรยากาศคลี่คลายลง จากนั้นนายอภิสิทธิ์ จึงได้ขอมติจากที่ประชุมเพื่อให้รับรองข้อบังคับพรรค ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยไม่มีการโต้แย้งให้ใช้ข้อบังคับพรรคตามที่กรรมการบริหารพรรคเสนอมา โดยไม่มีการเพิ่มสัดส่วนสาขาพรรคในคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่นายอลงกรณ์พยายามผลักดัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net