เล็งตั้งสมาพันธ์ครูอิสลามชายแดนใต้ หวังช่วยเหยื่อ-พร้อมลดอคติจากสังคม

เล็งตั้งสมาพันธ์ครูอิสลามชายแดนใต้ ช่วยเหยื่อซ้อมทรมาน ผู้ถูกคดี ถูกกล่าวหาเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรง รวมสถิติบุคคลากรทางศาสนาที่ได้รับผลกระทบ พร้อมชี้แจงต่อสาธารณะหากครูถูกวิสามัญ หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและลดอคติทั้งจากรัฐและสังคม

นายสาการียา เลาะยะผา รองประธานเครือข่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (HAP) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า HAP กำลังเตรียมจัดตั้งสมาพันธ์ครูเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นความต้องการของครูสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ เพื่อหานโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือครูเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่ รวมทั้งคนที่ตกเป็นเป้าหมายถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ

นายสาการียา เปิดเผยต่อไปว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ได้มีการจัดสัมมนาโครงการ “สานสัมพันธ์เพื่อหาสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน” โดยเชิญตัวแทนโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเอกชนในจังหวัดยะลาที่เคยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอจุดเด่น จุดด้อย อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการทำงานร่วมกัน จากนั้นจะจัดโครงการครั้งต่อไปที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส

นายสาการียา เปิดเผยต่อไปว่า จากการนำเสนอของตัวแทนโรงเรียนดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า การที่บุคลากรของโรงเรียนถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือโรงเรียนถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะของขบวนการก่อการร้าย รวมทั้งการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์ในโรงเรียนหลายแห่งบ่อยครั้งส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในโรงเรียน ผู้บริหาร บุคลากร ตลอดจนนักเรียนขาดสมาธิในการเรียนการสอน ถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่ง จึงอยากให้มีเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือและให้เจ้าหน้าที่ทบทวนเรื่องนี้ด้วย

“ครูสอนศาสนาอยากรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์เหมือนกับสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมา โดยใช้สื่อและเว็บไซต์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพผลกระทบที่เกิดขึ้น” นายสาการียา กล่าว

นายสาการียา เปิดเผยอีกว่า ในการจัดตั้งสมาพันธ์นั้น จะมีการรวมกลุ่มครูเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นเครือข่ายก่อนเพื่อให้สามารถประสานงานได้อย่างต่อเนื่องเห็นเป็นรูปธรรม เช่น หากมีครูหรือบุคลากรด้านศาสนาอิสลามถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือควบคุมตัว หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เครือข่ายจะใช้สื่อชี้แจงหรือนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง

นายสาการียา เปิดเผยด้วยว่า เมื่อรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายได้แล้ว จะสามารถรวบรวมสถิติครูเอกชนสอนศาสนาอิสลามมาเป็นฐานข้อมูล โดยจำแนกเป็นชายหญิง และจะรายงานต่อองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรต่างประเทศที่เป็นมุสลิม ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี กลุ่มประเทศอาหรับและแอฟริกา เป็นต้น

นายสาการียา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ครูสอนศาสนาคาดหวังเป็นอย่างยิ่ง คือ การให้ความกระจ่างต่อหน่วยงานรัฐเพื่อลดอคติที่มีต่อครูสอนศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะการเป็นผู้บ่มเพาะเยาวชนให้ใช้ความรุนแรง

นายสาการียา เปิดเผยว่า ในอนาคตจะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายรวม 6 เครือข่าย จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวทั้งจากฝากขังหรือจากการใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เครือข่ายผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หรือ ยาริงงันวานีตอ และเครือข่ายครูเอกชนสอนศาสนาที่ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอีก 2 ปีข้างหน้าจะเกิดเครือข่ายเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และคดี และเครือข่ายเพื่อนจอ (เพื่อนจำเลย) ซึ่งน่าจะครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้รวมทั้งหมด

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท