ปัญหาการมโนไทย อันนำไปสู่ปัญหาการเมืองไทย (2549 – 2556)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

    

ปัญหาการ มโน คืออะไร มโน ในความหมายตามพจนานุกรมทั่วไปหมายถึง มโน แปลว่า ใจ, ความคิด, อยู่ในกลุ่มคำที่มีความหมายคล้ายกันคือ จิต มนัส เป็นอายตนะภายในอย่างสุดท้ายใน 6 อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มโนหมายถึง สภาวะของจิตที่น้อมจิตไปกำหนดสนใจ ตามเจตสิกที่เข้ามาปรุงแต่งให้จิตเพ่งความสนใจ ในอายตนะต่างๆ โดยเฉพาะ
มโนวิญญาณคือการน้อมจิตไปในธรรมารมณ์ทั้ง 3 คือ1.การน้อมจิตเสพเวทนา 2.การน้อมจิตระลึกถึงความจำในสัญญา(การนึก) และ3.การน้อมจิตปรุงแต่งสังขาร 3 คือกายสังขาร(เคลื่อนไหวร่างกาย) วจีสังขาร(การคิด) จิตสังขาร(ปรุงแต่งอารมณ์แก่จิต) ที่มา wikipedia

แต่"มโน" ศัพท์วัยรุ่นแปลว่า "นึกคิดไปเองฝ่ายเดียว" มโน มาจากภาษาบาลี แปลว่า "ใจ" ให้ความหมายไว้โดย ครูลิลลี่

ตัวแบบการมโนอธิบายโดยทฤษฎีระบบอย่างง่ายคือ ปัจจัยนำเข้าคือข่าวลือที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยการนำเข้ามีหลายรูปแบบในยุคก่อนสังคมออนไลน์เรืองอำนาจจะมาในรูปแบบใบปลิว คำเล่าลือแบบปากต่อปาก พัฒนาต่อมาเป็นการส่งแฟกส์(โทรสาร) จนถึงยุคสังคมออนไลน์เฟื่องฟู กลายเป็นฟอร์เวิร์ดเมล์ hi 5 facebook ข้อความผ่านไลน์ โดยกระบวนการคือการเชื่อโดยขาดความยังคิดไตร่ตรองอันนำไปสู่ปัจจัยนำออกคือความเกลียดชังและอคติทางการเมืองอันเป็นตัวขับเคลื่อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง อธิบายเป็นแผนภาพได้ดังนี้

ความร้าวลึกของสังคมไทยอันเกิดจากปัญหาทางการเมืองทำให้มีกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อการมุ่งเน้นในการสร้างความเกลียดชังเพื่อทำล้ายล้างฝั่งตรงข้ามทางการเมือง และก่อให้เกิดการมโนในหมู่ผู้คน

- ช่วงก่อน 19 กันยา 49 ได้หลายเหตุการณ์ ยกตัวอย่างกรณีการปั้นแต่งเรื่องความไม่จงรักภัคดีกรณีทำบุญประเทศในวัดพระแก้วของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่โดนโจมตีถึงการพยายามตีตนเสมอเจ้า มีการแพร่กระจายและสร้างความไม่พอใจในวงกว้าง แม้จะมีการชี้แจงจากทั้งสำนักนายกรัฐมนตรีและทางสำนักพระราชวังแล้วก็ตาม แต่ประเด็นนี้ยังคงถึงนำมาโจมตีแม้กระทั้งในปัจจุบัน

- ความต้องการเป็นประธานาธิบดี ของอดีตนายกฯ โดยอ้างอิงการจัดซื้อเครื่องบินที่ใช้ในกิจกรรมของคณะรัฐมนตรี (ไทยคู่ฟ้า)โดยอ้างว่าเหมือนเครื่องบินประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

- แม้แต่ในฝั่งเสื้อแดงเองก็มีการปล่อยข่าวที่หาต้นตอของข่าวไม่ได้ในหลายครั้ง เพื่อเป็นการปลุกเร้ามวลชนในการชุมนุม  เช่นทหารที่มาปราบเป็นชนกลุ่มน้อยจากชายแดน เป็นต้น

- ในช่วงการล้อมปราบปี 53 มีข่าวลือมากมายที่นำไปสร้างความชอบธรรมในการล้อมสังหารประชาชนที่มาชุมนุมในขณะนั้น โดยช่วงนั้นใช้การเผยแพร่ผ่านโปรแกรมโทรศัพท์ บีบี แบลคเบอรี่ โดยมีลักษณะเป็นข้อความยาวๆเล่าเรื่องผูกโยงโดยอ้างอิงสถาบันหลักของชาติ และในทางกลับกันมีข้อความที่เผยแพร่กันในหมู่ผู้ชุมนุมที่สร้างความตื่นตัวในการชุมนุมเรื่องกองกำลังของคนนั้นคนนี้มาช่วย

- ในช่วงน้ำท่วมใหญ่มีข่าวลือมากมายที่สร้างการมโนของคนทั้งฝั่งที่เชียร์และต้านรัฐบาล ทั้งเรื่องที่เอาเบื้องสูงมาปะปนจนสำนักพระราชวังต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้อง

การมโนในการเคลื่อนไหวของ กปปส.

ด้วยเคารพและเห็นด้วยอย่างยิ่งในการเคลื่อนไหวในการต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นพลังที่มีความหมายอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย และการนั้นก็ถือเป็นการก้าวพลาดของรัฐบาลในการปลุกพลังมวลชนในการต่อต้านรัฐบาลขึ้นมา และถูกฝ่ายการเมืองตรงข้ามนำไปขยายผลไปสู่การชุมนุมขับไล่รัฐบาล แต่ปรากฏการณ์มโนที่เราพบในเหตุการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้มีความชัดเจนมาก โดยเครื่องมือในการแพร่ข้อความข่าวลืออันนำไปสู่การมโนผ่านแอพพิเคชั่นไลน์ โดยการส่งเป็นข้อความโดยมีลักษณะประการหนึ่งคล้ายกันคือ การอ้างอิงแหล่งที่มาของข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้พิพากษาที่สนิทกับแม่เพื่อน ตำรวจข้างในที่เชื่อถือได้ เพื่อนที่เรียนโทด้วยกันอยู่วงใน หรือทหารคนสนิทของคนนั้นคนนี้ โดยไม่ได้ระบุที่มา ที่อ่านแล้วเจ็บปวดอย่างยิ่งคือข่าวลือไม่เหมาะสมที่เกี่ยวโยงไปถึงการออกมหาสมาคมในวันที่ 5 ธันวาคม ที่เผยแพร่ราวกับทราบพระทัยของพระองค์ท่านว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้โดยตีความเพื่อเข้าข้างความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน

ปัญหาคืออะไร ????  ปัญหาคือคนที่พร้อมจะเชื่อในข้อความเหล่านั้นในทันที โดยไร้การไตร่ตรองถึงความน่าจะเป็น อาจเป็นเพราะขาดความรู้ในเรื่องนั้นๆอย่างแท้จริง และนำความเชื่ออย่างฝังหัว ความเข้าใจผิดๆดังกล่าว นำไปเป็นพลังในการขับเคลื่อนทางการเมืองในรอบนี้

และมันเกิดจากอะไร????

โดยการวิเคราะห์อย่างหยาบๆ โดยไร้งานวิจัยรองรับ คาดว่าสาเหตุอาจต้องย้อนไปถึงระบบการศึกษาที่ตั้งแต่ระดับปฐมวัยขึ้นมาที่ประเทศเรามันเน้นในการท่องจำมากกว่าความเข้าใจ ขาดไร้ซึ่งการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เวลาที่นักเรียนฟังคำสอนของครูอาจารย์ มักจะถูกสอนอย่างฝังหัวว่าคำสอนมักถูกเสมอและห้ามสงสัยในคำสอนเพราะจะบาป ส่งผลไปถึงกระบวนการคิดที่ไร้การสงสัยใคร่รู้ในสิ่งต่างๆอ่านหนังสือแค่พาดหัวแล้วสามารถตัดสินได้ทันที หากลองแสวงหาเหตุผลเชิงชนชั้น โดยยกคำบรรยายของศ.ดร.ธงชัย วินิจกุล ในเรื่องที่คนไทยเชื่อในเรื่องบุญบารมีที่ไม่เท่ากันของคนไทย ภายในสังคมไทย คนไทยจึงไม่กล้าที่จะโต้เถียงแก่แหล่งข้อมูลที่ดูมีบุญบารมีมากกว่าตน เช่นหากอ้างผู้มียศตำแหน่งชั้นสูงในข่าวลือ ผู้รับสารจะนึกในใจในทันทีว่า “ทำไมจะไม่จริง เค้าเป็นถึง ......  เชียวน่ะ”

การขับเคลื่อนทางการเมืองอันเริ่มต้นจากข่าวลือที่ไม่เป็นจริงแล้ว “มโน”ไปเลยเถิดจนเชื่อว่าเป็นจริงจนเกิดความโกรธแค้นชิงชัง ความโกรธแค้นชิงชังที่เกิดขึ้นเพราะเกลียดมากหรือรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก อาจนำไปสู่ความตกต่ำของความเป็นมนุษย์ได้ แม้การมโนจะดูเล็กน้อยแต่การมโนโดยการปล่อยข่าวลือก็เคยทำให้คนไทยเชื่อว่า ในเดือนตุลาคม ปี 2519 มีคนญวนพร้อมอาวุธสงครามอยู่ในธรรมศาสตร์ มีการปลุกระดมคนให้ไปล้อมฆ่าอย่างเลือดเย็นเอาศพมาแขวนคอทุบตี ลากศพไปเผา เอาของแหลมทิ่มแทงอวัยวะเพศ และมีคนยืนดูและส่งเสียงเชียร์อย่างสนุกสนานมาแล้ว

เอวัง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท