Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การที่มีผู้ชุมประท้วงได้กล่าวโจมตีเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่บริเวณสถานทูตสหรัฐอเมริกา ถนนวิทยุนั้น มีข้อสังเกตดังนี้

ประการแรก ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้น การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การชุมนุมสาธารณะหรือการเดินขบวนประท้วงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมประท้วงเป็นสิทธิเสรีภาพที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี สิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นสิทธิที่อาจถูกจำกัดได้ตามกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมประท้วงไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด (absolute right) ที่รัฐไม่อาจจำกัดได้เลย แต่เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ (รวมถึงการเดินประท้วง) มีเพียงบทบัญญัติกว้างๆในรัฐธรรมนูญที่รับรอง “เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” เท่านั้น แต่ไม่มีกฎเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับกรอบกติกาของการชุมนุมเลย ที่ผ่านมาเราจึงเห็นผู้ชุมนุมเข้าไปใน “สนามบิน”  “สถานที่ทำการของหน่วยราชการ”  “สี่แยกต่างๆในกรุงเทพ” และล่าสุดคือ “บริเวณสถานทูต” คำถามมีว่า สังคมไทยจะปล่อยให้ผู้ชุมนุมอ้างคำว่า “ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” แล้วก็ “เข้าไป” สถานที่สำคัญต่างๆหรือแม้ไม่เข้าไปก็ชุมนุมบริเวณรอบๆสถานที่ทำการต่างๆ อันจะก่อให้เกิดการกีดขวางต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือก่อความวุ่นวายต่อไปหรือ

ประการที่สอง แม้การชุมนุมปราศรัยของผู้ประท้วงจะยังมิได้ “เข้าไป” ในสถานทูตสหรัฐอเมริกาก็ตามแต่การชุมนุมปราสัยโจมตีบริเวณรอบๆสถานทูตผ่านลำโพงก็อาจเข้าข่ายเป็น “การรบกวนใดๆต่อความสงบสุขของคณะผู้แทน” ได้ โดยปกติแล้ว การประท้วงชุมนุมบริเวณสถานทูตเป็นเรื่องปกติที่สังคมประชาธิปไตยทำกัน ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของการชูป้ายประท้วง การใช้โทรโข่งวิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ แต่การประชุมที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นการรบกวน หรือการปราศรัยที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงเป็นสิ่งต้องห้าม ประเทศไทยในฐานะรัฐผู้รับ (Receiving state) มีหน้าที่จะต้องให้ความคุ้มครองป้องกันมิให้มีการรบกวนใดๆอันเป็นการขัดต่อความสงบสุขหรือเป็นการทำให้เสื่อมเสียเกียรติของคณะผู้แทนอันเป็นการละเมิดข้อบทที่ 22 (2) ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 นอกจากนี้ กฎหมายภายในบางประเทศให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสถานทูตเป็นพิเศษ กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะของบางประเทศอย่าง ประเทศเนเธอร์แลนด์ ห้ามมิให้มีการชุมนุมบริเวณศาลโลก สถานทูต และสถานกงสุล อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่[1] ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออก  Joint Resolution ในปี 1938 ห้ามมิให้มีการชุมนุมบริเวณสถานทูตต่างประเทศของรัฐผู้ส่งภายในรัศมี 500 ฟุต[2] ส่วนประเทศออสเตรเลียได้ออกกฎหมายชื่อว่า “ The Public Order (Protection of Persons and Property) Act 1971 โดยในหมวดที่ 3 ของกฎหมายนี้ได้กำหนดกฎเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะบริเวณสถานทูตและสถานกงสุลไว้อย่างละเอียดไมว่าจะเป็นเรื่องของการห้ามการชุมนุมบริเวณสถานทูตและสถานกงสุลอันอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความเสียหายได้ การบัญญัติความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการทำร้าย การก่อกวน หรือการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้แทนทางการทูตรวมทั้งการรับรองการสลายการชุมนุม (Dispersal of assemblies) ด้วย

ประการที่สาม การที่ผู้ชุมนุมปราศัยโจมตีเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย อย่างรุนแรงนั้น ประเทศไทยในฐานะรัฐผู้รับ (Receiving state) มีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการตามความเหมาะสมที่จะต้องปกป้องเกียรติของตัวแทนทางทูตตามข้อบทที่ 29 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 ที่รับรองหลัก “ความละเมิดมิได้ในตัวบุคคล” (Personal Inviolability) โดยตามกฎหมายระหว่างประเทศ เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มถือว่าเป็น “ตัวแทนของรัฐผู้ส่ง” และรัฐผู้รับจะต้องปฏิบัติต่อเอกอัครราชทูต (รวมทั้งคณะผู้แทนทางทูต) อย่างสมเกียรติด้วย นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญาของไทย ยังมีบทบัญญัติคุ้มครองเกียรติยศของผู้แทนของรัฐต่างประเทศเป็นการเฉพาะอีกด้วย โดยประมวลกฎหมายอาญา หมวด 4 ว่าด้วยความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ มาตรา 134 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”[3]

ประการสุดท้าย สำหรับประเด็นเรื่องการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐผู้รับนั้น ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาข้อบทที่ 41 บัญญัติว่าตัวแทนทางทูตมีหน้าที่ที่จะไม่แทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐผู้รับ ประเด็นก็คือ อนุสัญญานี้ไม่ได้ให้คำนิยามว่า “กิจการภายใน” มีความหมายแคบกว้างเพียงใด  ตัวอย่างที่น่าสนใจในอดีตคือ กรณีที่รัฐบาลสิงคโปร์เคยขับเลขานุการเอก (First Secretary) ของประเทศสหรัฐอเมริกาประจำประเทศสิงคโปร์ออกจากประเทศ (ภาษาทางการทูตเรียกว่า การประกาศให้เป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา หรือ persona non grata) เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1988 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามว่า “Hendrickson affair” โดยรัฐบาลสิงคโปร์เห็นว่า เลขานุการเอกท่านนี้เกี่ยวข้องกับการจัดตัวผู้รับสมัครเลือกตั้งของประเทศสิงคโปร์[4] แต่การแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐผู้รับ

บทส่งท้าย

ประเทศไทยในฐานะ “รัฐผู้รับ” มีหน้าที่พิเศษที่จะต้องปกป้องคุ้มครอง “สถานทูตสหรัฐอเมริกา” (รวมถึงที่พักส่วนตัวของคณะผู้แทนทางทูต) และเกียรติยศของตัวแทนทางทูตของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐผู้ส่ง (Sending State) มิให้มีการละเมิดได้ อันเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด




[1] PUBLIC ASSEMBLIES ACT 1988, Section 9

[2] Eileen Denza, Diplomatic Law, (USA: Clarendon Press, 1998), p. 115

[3] นอกจากนี้โปรดูฎีกาที่ 785/2501 ซึ่งศาลฎีกาได้ตัดสินความผิดฐานหมิ่นประมาทเอกอัครราชทูตต่างประเทศว่าเป็นความผิดตามาตรา 134 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

[4] ดู Eileen Denza, หน้า 377 Eileen Denza ได้อ้างนิตยสาร Time ลงวันที่  24 พฤษภาคม 1988

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net