การทิ้งเหตุผลของชนชั้นกลาง : อนารยะข่มขืน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คำปรารภ

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าชนชั้นล่างบางส่วน (For some) มีปฏิกิริยาตอบโต้ชนชั้นกลางด้วยพฤติกรรมแบบอนารยะ และปฏิเสธไม่ได้อีกว่า มีการสวนโต้อย่างเถื่อนถ่อยจนนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงเชิงกายภาพ กระนั้นก็ดี ความโกรธแค้นจากการสวนโต้ดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นแรงปฏิกิริยา (Reaction) ที่สุกงอมเนื่องมาจากแรงกระทำ (Action) ซึ่งกดบังคับมาเป็นเวลานานด้วยความรุนแรงเชิงโครงสร้างอาศัยพลังอำนาจแห่งวาทกรรมสถาปนา แน่นอนที่สุด ชนชั้นกลางโชคดีกว่าเล็กน้อยในแง่ที่การกดบังคับไม่ได้เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครอบครัวชนชั้นกลางมีช่องทางที่จะดิ้นรนเพื่อหลีกหนีจากวงจรแห่งความแร้นแค้นได้ไม่มากก็น้อย แตกต่างจากชนชั้นล่างซึ่งไร้สมรรถภาพที่จะกระทำเช่นนี้อย่างสิ้นเชิงในแง่กายภาพและจิตวิทยา จึงไม่แปลกที่โลกทัศน์ของพวกเขาตอบสนองต่ออะไรที่เป็นรูปธรรม และไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะสั้นหรือระยะยาว ที่น่าสนใจคือ “ทำไมชนชั้นกลางจึงไม่เป็นแบบอย่างแห่งความเป็นอารยะ”

เนื้อหา

ความรับผิดชอบร่วมกัน (Shared Responsibility) ควรเกิดขึ้นจากชนชั้นกลาง เนื่องจาก ชนชั้นกลางได้รับโอกาสทางการศึกษาและเป็นตัวแบบของการเลื่อนสถานะทางชนชั้นด้วยความศักยภาพภายในตน หากชนชั้นกลางจะอ้างถึงสำนึกสาธารณะ (Public Mind) ชนชั้นกลางควรตระหนักว่าตนเองในฐานะปัจเจกบุคคลจำต้องเป็นแบบอย่างของความเป็นอารยะ (Civilization) ในฐานะผู้ที่รู้จักโลกกว้างมากกว่า ผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีทางการสื่อสารมากกว่า และผู้ที่ฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างซับซ้อนผ่านระบบการศึกษามามากกว่า โดยยังไม่ต้องพูดถึงความเป็น “อาริยชน” [1] ซึ่งเป็นเป้าหมายการแสดงออกทางสังคมในระดับที่สูงกว่านั้น แต่กลายกลับเป็นว่าชนชั้นกลางมิได้เป็นอย่างนั้น กล่าวคือ “ชนชั้นกลางเป็นแบบอย่างของความเป็นอนารยะเสียเองและบางประเด็นเถื่อนถ่อยยิ่งกว่าชนชั้นล่าง” เพื่อชนชั้นกลางจะได้ปรับปรุงตนเองในฐานที่จะก้าวสู่ความเป็นอารยะและอาริยชนในลำดับถัดไป อันเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมที่จับต้องได้ให้กับชนชั้นล่างผู้เข้าถึงโอกาสน้อยกว่า ขอสรุปความเป็นอนารยะของชนชั้นกลางไว้ ดังนี้

(1) ชนชั้นกลางชอบทิ้งเหตุผลแล้วโจมตีบุคคล (Ad Hominem)

เป็นประเภทของการทิ้งเหตุผลที่พบมาก เกิดควบคู่กับตรรกะวิบัติแบบใส่สีตีไข่ (Straw man) และตรรกะวิบัติแบบสรุปไปเองเหมาเข่ง (Fallacy of relative to absolute) ซึ่งการสวนโต้ลักษณะนี้มักเห็นได้ชัดว่า ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล (appeal to emotion) นำไปสู่ความคิดสุดโต่งแบบไม่ขาวก็ดำ (Black or White) คือมีภาพที่ชัดมากๆ ของ “คนเลว” ซึ่งไม่ว่า “คนเลว” จะพูดอะไรก็เป็นผิดไปเสียหมด หาสาระไม่ได้ ไม่อาจเชื่อถือ โดยไม่พิจารณาบริบทแวดล้อมของเนื้อหาสาระ บ่อยครั้งจะตัดข้อความเพียงบางส่วนแล้วนำมาโจมตี (Fallacy of accent) สะท้อนให้เห็นความไม่เข้าใจบริบทหรือจุดหมายปลายทางของเนื้อหา จนนำไปสู่การสรุปแบบไม่สมเหตุสมผล ยิ่งกว่านั้น อาจเป็นการสรุปแบบจับแพะชนแกะไปเลยก็ได้ (ignoratio elenchi)  เห็นได้ว่า พฤติกรรมเช่นนี้ห่างไกลจากความมีอารยะ ไม่สามารถเป็นแบบอย่างให้ใครประพฤติเลียนแบบได้ ที่น่าสังเกตคือการสวนโต้แบบนี้สะท้อนให้เห็นภาวะทางจิตวิทยาและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ด้อยจนผิดสังเกต ย้อนแย้งกับอุดมคติแห่งการศึกษานั่นคือ การศึกษาจะช่วยพัฒนาวุฒิภาวะและความฉลาดทางอารมณ์ให้พ้นจากความป่าเถื่อนไปสู่ความเป็นอารยะ แต่ในความเป็นจริง ดูเหมือนว่า การศึกษาได้จัดเก็บความป่าเถื่อนและความเป็นอนารยะไว้อย่างแนบเนียนภายใต้หน้ากากแห่งศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งตะกอนแห่งความเถื่อนถ่อยจะพลุ่งพล่านขึ้นมาอย่างไร้ขีดจำกัดเมื่อถูกยั่วล้อทางศีลธรรม

(2) ชนชั้นกลางชอบอ้างคนหมู่มาก (Ad Populum)

การอ้างคนหมู่มากเพื่อกระทำบางอย่างไม่ชอบด้วยเหตุผล เป็นต้น รัฐบาลไม่ควรอ้างว่ามีคนจำนวนมากเลือกตนเข้ามาจึงมีความชอบธรรมถึงแม้จะเป็นความจริง เพราะจะทำให้โต้แย้งได้ว่าข้อความนี้ไม่สมเหตุสมผล นำไปสู่การโจมตีเชิงเสียดสี เช่น เสียดสีว่า “พวกมากลากไป” แล้วก็เริ่มตรรกะวิบัติแบบใส่สีตีไข่ (Straw man) เพราะความชอบธรรมของรัฐบาลไม่จำเป็นต้องอธิบายด้วยเสียงข้างมาก แต่ความชอบธรรมของรัฐบาลเกิดขึ้นจากกติกาที่ได้เขียนไว้อย่างนั้น (กลับกันถ้ากติกาเขียนไว้ว่า พรรคใดที่คนเลือกน้อยที่สุดก็ให้พรรคนั้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นั่นแปลว่า ความชอบธรรมของรัฐบาลนี้มาจากจำนวนคนเลือกที่น้อยที่สุด) เป็นเรื่องของกติกา ดังนั้น ไม่ควรสวนโต้ตรรกะวิบัติด้วยตรรกะวิบัติ

เช่นเดียวกัน การชุมนุมทางการเมืองโดยใช้ตรรกะวิบัติแบบอ้างคนหมู่มาก เห็นได้ชัดในตัวมันเองว่าไม่สมเหตุสมผล และถ้าตัดข้อความเพียงวรรคเดียว (Fallacy of accent) จากกฎหมายมาใช้อภิปรายยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชอบด้วยเหตุผลด้วยประการทั้งปวง ว่ากันตามวิธีคิดเชิงคณิตศาสตร์ จำนวนตัวเลขของผู้ชุมนุมทั้งสองคู่ขัดแย้งนั้น เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก กลายเป็นว่าวิธีเดียวที่จะวัดมิติเชิงคณิตศาสตร์ของประชากรในแง่จำนวนคือใช้กลไกของรัฐ ซึ่งมีอำนาจ (Authority) ในการสั่งการผู้ใต้ปกครองอย่างแท้จริง
แล้วถ้าการอ้างเหตุผลพัฒนาความวิบัติไปจนถึงขั้นอ้างคุณภาพของจำนวน นั่นยิ่งเป็นการทิ้งเหตุผลที่เลวร้ายหนักเข้าไปอีก ภายใต้กติกาที่กำหนดไว้เรื่องความเสมอภาค เป็นต้น แนวความคิดที่ว่าคุณภาพของ 1 สิทธิ์ที่มาจากชนชั้นล่างย่อมไม่เท่ากับคุณภาพของ 1 สิทธิ์ที่มาจากชนชั้นกลาง หรือชนชั้นปัญญาชน กล่าวในทางตรรกศาสตร์ นั่นคือ ข้อความนี้ไม่เป็นจริงภายใต้กรอบที่เขียนไว้ แต่สมมติว่าจะให้กรอบนี้เป็นจริงก็ต้องปฏิวัติระบอบการปกครองเสียใหม่ หรือไม่ก็หาวิธีการแก้ไขกฎกติกาให้ได้ด้วยการโน้มน้าวประชาชนส่วนใหญ่ (มิติเชิงคณิตศาสตร์) ให้คล้อยตาม

(3) ชนชั้นกลางชอบคิดตื้นเขิน

ทั้งๆที่ชนชั้นกลางควรแบกรับสำนึกสาธารณะในฐานะแบบอย่างและผู้ช่วยเหลือชนชั้นล่าง ซึ่งจะเป็นการกระจายสัดส่วนแห่งความเสมอภาคสู่ปวงชน แต่ชนชั้นกลางกลับนิยมที่จะรับฟังข้อมูลข่าวสารแบบไม่ขาวก็ดำ (Black or White) และไม่ยอมทำความเข้าใจว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน (Complexity) การให้เหตุผลแบบกำปั้นทุบดินของนักคิดในอดีต ก็ไม่อาจตอบคำถามได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป ในความเป็นจริงนักคิดรุ่นหลังได้อภิปรายแนวคิดของคนรุ่นก่อนไว้ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว น่าแปลกที่ ฐานข้อมูลทางความคิดของชนชั้นกลางวนเวียนอยู่กับนักคิดเพียงไม่กี่คนจากยุคเก่ามากๆ และเป็นข้อมูลที่ขาดการตีความอย่างรอบด้านอีกด้วย เป็นต้น ไม่มีการตีความแบบอรรถปริวรรต (Hermeneutic) ดังนั้น ตัวแบบที่ชนชั้นกลางเห็นด้วยและยอมรับในเชิงการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปเองกลับแอบอิงอยู่กับโลกทัศน์ที่ไม่รอบด้าน  ซึ่งขาดการวิจารณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า เหตุใดจึงไม่อ้างถึงนักคิดร่วมสมัยเดียวกันกับพวกเรา และแนวคิดหลักในการปฏิรูป (Ideology) วางอยู่บนรากฐานของสำนักคิดแบบใด วิธีวิทยา (Methodology) ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นเป็นอย่างไร เห็นได้ว่า ชนชั้นกลางในฐานะปัญญาชนควรทำงานในส่วนนี้ให้ชัดเพื่อแสดงความจริงใจทางวิชาการ ไม่ใช่พยายามเอาชนะคะคานกันด้วยคารมและการตีฝีปากซึ่งเป็นการทิ้งเหตุผล ที่จริงชนชั้นกลางควรตระหนักว่า ถ้าชนชั้นกลางถือเอาว่าชนชั้นล่างไร้การศึกษา ดังนั้น ภาระหน้าที่ย่อมตกมาอยู่ที่ชนชั้นกลางเสียเองในอันที่จะศึกษาหาความรู้ทางวิชาการให้ครบถ้วน เพื่อนำไปอธิบายแก่ชนชั้นล่างด้วยวิธีสานเสวนา (Dialogue)

(4) ชนชั้นกลางชอบสับสนเรื่องความเท่าเทียม

การดูหมิ่นดูแคลนซึ่งเป็นการทิ้งเหตุผลสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นกลางสับสนเรื่องความเท่าเทียม อยู่ตลอดเวลา จริงอยู่ที่ว่า ทุกชนชั้นเป็นคนเท่าเสมอกันโดยมิติทางกายภาพซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการเท่ากันเชิงคณิตศาสตร์ก็ได้ นั่นหมายถึง ต่อให้รัฐไม่กำหนดคนก็เท่ากันอยู่เช่นนั้น แต่เหตุที่รัฐกำหนดเพราะเคยมีการถือว่าบางเผ่าพันธุ์ไม่ใช่คนเท่ากัน เช่น การเหยียดสีผิวในประเทศอเมริกา ในความเป็นจริง โลกทุกวันนี้กำลังขับเคลื่อนด้วยความเท่าเทียมกันเชิงสัดส่วน นั่นหมายถึงมี “กติกา” ที่ปวงชนยอมรับร่วมกัน (ประชามติ) และมี “คนทำงาน” เพื่อลดช่องว่างให้กับปวงชนซึ่งมาจากการเลือกโดยสมัครใจของปวงชน  (เลือกตั้ง) แน่นอนที่สุด กฎเกณฑ์กติกาต่างๆได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยของปวงชนในอาณาบริเวณนั้น และสามารถแก้ไขได้เสมอหากปวงชนมีความประสงค์จะแก้ไข สำหรับประเทศไทยเป็นที่เห็นเด่นชัดว่ามี “ความเหลื่อมล้ำสูง” นั่นหมายถึงช่องว่างระหว่างชนชั้นมีมากในความเป็นจริง ดังนั้น นักวิชาการไม่ได้เป็นผู้สร้าง “ชนชั้น” แต่ “ชนชั้น” มีอยู่โดยตัวมันเองอาศัยช่องว่างทางสังคม ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อช่องว่างในสังคมไทยมีความแตกต่างกันมาก ชนชั้นกลางจึงเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะบุคคลวัยทำงานของสถาบันต่างๆที่ขับเคลื่อนทิศทางของสังคม การปัดความรับผิดชอบแล้วหลบอยู่เบื้องหลังชนชั้นสูง (Elite) มีแต่จะทำให้ชนชั้นสูงเป็นที่เกลียดชังมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เห็นแก่ตัว และสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของการชิงดีชิงเด่นกันของเผ่าพันธุ์ในลักษณะไพร่สอพลอเจ้านายและพร้อมจะโป้ปดมดเท็จเจ้านายด้วยในเวลาเดียวกัน

สรุป

ตัวอย่างเป็น 4 ประการนี้เมื่อนำมาเรียงร้อยกันจะเห็นว่าเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความเป็นอนารยะที่เถื่อนถ่อยไม่ต่างจากคำที่พวกเขาใช้เหยียดหยามฝ่ายตรงข้ามแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายยังผลิตซ้ำสิ่งที่ชนชั้นล่างทำไม่ได้อีกด้วยนั่นคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ซึ่งคือการกดบังคับชนชั้นล่างให้อยู่ใต้อาณัติภายใต้วาทกรรมสถาปนาอ้างความชอบธรรมต่างๆ ถ้าความคิดในใจชนชั้นกลางสรุปไปเรียบร้อยแล้วว่า ชนชั้นล่างโง่เขลา ไร้การศึกษา ตามืดบอด นั่นคือเป็นการขยายช่องว่างทางชนชั้นให้แตกต่างกันยิ่งขึ้นในตัวมันเอง กลายเป็นว่าเมื่อเกิดความแตกต่างทางความคิดในสังคม ชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงกว่าชนชั้นล่างและมีตำแหน่งหน้าที่เป็นเจ้าคนนายคนกลับเลือกทิ้งเหตุผล(Fallacy) และสวนโต้ด้วยตรรกะวิบัติขั้นหยาบอย่างโจมตีบุคคล (Ad Hominem) โดยอ้างความชอบธรรมจากพรรคพวกของตัวเองในการตีตราและตั้งกฎกติกาขึ้นเองโดยไม่ผ่านประชามติเพื่อบังคับใช้กับรัฐที่มีฐานรากจากประชามติ นอกจากนี้ยังไม่ส่งเสริมการเรียนรู้อื่นใดนอกจากยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังแบ่งแยกฝักฝ่ายด้วยผรุสวาท (Hate Speech) ซ้ำร้ายยังแสดงความใจดำด้วยการอ้างถึงสิทธิเสรีภาพที่ตนควรมีควรได้ ทั้งที่เห็นได้ชัดว่าพวกของตนดูถูกความเป็นคน แบบนี้จึงเป็นการผลิตซ้ำการกดบังคับที่หนักหน่วงและสร้างความโกรธแค้นให้กับชนชั้นล่างที่เข้าถึงโอกาสน้อยกว่า เพราะชนชั้นล่างที่ยังต้องทำมาหากิน ถูกตีตราไปแล้วว่าโง่ จน เจ็บ เป็นขี้ข้าของนายทุน ถูกเขาหลอก เอาเงินซื้อได้ ป่าเถื่อน ถ่อยสกุล ไม่มีสกุล ไร้การศึกษา ไม่ควรค่ากับประชาธิปไตยแห่งปวงชน นี่เองคือถ้อยคำจากของชนชั้นกลางผู้ถือว่าตนมีอารยะ?

เมื่อชนชั้นกลางทิ้งเหตุผลแบบนี้จึงไม่เรียกอารยะขัดขืน จึงไม่อาจเป็นแบบอย่างแก่ชนชั้นล่าง

แล้วชนชั้นกลางจะอ้างสำนึกสาธารณะได้อย่างไร ในเมื่อตนเองไม่มี หรืออาจไม่เคยมี?

จึงไม่เป็นอารยะและไม่เป็นอาริยะด้วยประการฉะนี้

 

อ้างอิง
[1] "อาริยชน" (เสขบุคคล) ได้แก่ ความต้องการลดละ ต้องการเสียสละ ต้องการเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยการพยายาม หาทาง ให้เป็นไปได้ และ สามารถเป็นไปได้จริง ชนิดเป็นขั้น เป็นตอน ตามทฤษฎีของพุทธ
จากสื่อและการเผยแผ่ธรรมะ เครือข่ายชุมชนอโศก. ความรัก 10 มิติ (ฉบับเขียนใหม่) URL : http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Book/book009/page14.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท