Skip to main content
sharethis

22 ธ.ค.2556 สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิชาการและประชาชนหลากหลายอาชีพ จัดกิจกรรม "คนเท่ากัน เดินหน้าเลือกตั้ง ร่วมกันปฏิรูป" ณ อาคารบรรยายรวม 4 (บร.4) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยในงานมีการอภิปรายสไตล์ทอล์กโชว์ โดยนักวิชาการ กวี และนักกิจกรรม และมีการอ่าน "คำประกาศแห่งความเสมอภาค" เพื่อเป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัยว่าระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางจะลงหลักปักฐานอย่างเข้มแข็งมั่นคงได้ถ้าเราไม่เริ่มจากการยอมรับเสียก่อนว่า คนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมจำลองคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้มาร่วมงานเข้าคูหาเขียนคำประกาศแห่งความเสมอภาคของตนเองด้วย 

 



พวงทอง ภวัครพันธุ์: หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงมีความหมาย เป็นสิทธิพลเมืองที่ไม่มีใครมาพรากไปได้

การที่เราต้องมาพบกันวันนี้เพราะวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเลวร้ายลง โดยชัดแล้วว่าคนกลุ่มหนึ่งพยายามฉีกรัฐธรรมนูญและเขียนใหม่ขึ้น โดยโอนอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่ง สถานการณ์การเมืองขณะนี้ดำเนินมาต่อเนื่องและเลวร้ายลง โดยเฉพาะเมื่อมีการแต่งตั้ง กปปส. มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงมาร่วมแสดงความชอบธรรมในการยึดอำนาจของประชาชน เขาสามารถที่จะประกาศได้อย่างไม่ต้องปกปิดและไม่อายอีกต่อไปว่า ประชาชนคนไทยไม่เท่ากัน เสียงคนมีการศึกษา ฐานะร่ำรวย เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าคนชนบท คนที่ด้อยการศึกษา

ถ้าเราปล่อยให้ปรากฏการณ์นี้ดำเนินต่อไปจะทำให้สังคมไทยไปสู่ภาวะมิคสัญญี พวกเราในฐานะนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ จึงเห็นว่าเราต้องรวมตัวกันประกาศตัวในนาม “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” ว่าไม่อาจจะยอมรับความคิดที่ว่าคนไม่เท่ากัน เมื่อดูเหตุผลของพวกอภิชนาธิปไตยก็อิงกับหลักการง่ายๆ ว่าพวกเขาเป็นผู้ทรงคุณธรรม เป็นคนที่จะตัดสินว่าอะไรที่ดีที่สุดให้กับประเทศ รัฐสภาเป็นระบบที่คนโง่เลือกคนเลวเข้ามาบริหารประเทศ

ปัญหาคนดีและคุณธรรมเป็นปัญหาปรัชญามาหลายศตวรรษ แต่นิยามความดีไม่ได้มีมาตรฐานเดียว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนโกงหรือไม่โกง หรือคอร์รัปชั่นเท่านั้น แต่ขึ้นกับระบอบการเมืองแต่ละสมัยด้วย ระบอบที่เคยอ้างว่าดีที่สุดแต่ในเวลาต่อมากลับได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นระบอบเลวร้ายที่สุด เช่น ยุคของฮิตเลอร์-นาซี ตอนที่ฮิตเลอร์ขึ้นมานั้นเขาให้สัญญาว่าเยอรมนีจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมหลังแพ้สงคราม จะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ เด็กดีของเยอรมนีจะต้องปฏิบัติตามผู้นำโดยไม่ตั้งคำถามและแพะรับบาปก็คือคนยิวที่ถูกมองว่าทำให้สังคมล้าหลังและแพะรับบาปเหล่านี้ถูกสังหารไปกว่า 5 ล้านคน

หลังจากนั้น คนเยอรมันยุคหลังนาซีเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกผิดที่ปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและไม่ขัดขวางอาชญากรรมนั้น

ยกตัวอย่างประเทศที่ใกล้เข้ามาคือยุคเขมรแดง ประชาชนที่ดีคือชาวนา เป็นกระดูกสันหลังที่ทำงานอย่างหนักแต่ถูกกดขี่ขูดรีโดยเจ้าหน้าที่รัฐและชนชั้นกลาง เมื่อเขมรแดงปฏิวัติได้สำเร็จ คนกลุ่มแรกที่ถูกสังหารก็คือ คนมีการศึกษา คนในเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ

ใกล้เข้ามาอีกหน่อย คือ โลกทุกวันนี้ได้ประจักษ์ถึงความโหดร้ายทารุณของระบอบที่อ้างความดีตามหลักศาสนามาปกครองอย่างทารุณโหดร้าย ภายใต้การปกครองของกลุ่มคลั่งศาสนาตาลีบัน หลักการศาสนาถูกนำมาตีความและมีการลงโทษประชาชนอย่างรุนแรง

มีสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เผชิญกับความโหดเหี้ยมของตาลิบัน บอกว่าสำหรับเขารัฐบาลที่ห่วยแตก แต่วิจารณ์ได้ดีกว่ารัฐบาลที่อ้างศาสนาและความดี แต่ไม่รอที่จะใช้ความรุนแรงปราบประชาชน เพราะมองว่า พร้อมขจัดคนเลวไป

เหตุการณ์เหล่านี้บอกว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ชี้เป็นชี้ตายโดยตรวจสอบไม่ได้ เมื่อนั้นหายนะจะมาสู่ประชาชน ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน แม้จะเป็นระบอบที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถคัดกรองคนดีเข้ามาในระบบได้ แต่อนุญาตให้ตรวจสอบรัฐบาลได้ เราไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกลากหายไปในความมืด ไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกยิงทิ้งตายเหมือนหมาข้างถนนแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

เราอยู่ภายใต้วาทกรรมความสามัคคีมานานแล้ว ทำให้เห็นว่าผลประโยชน์ของเราเป็นหนึ่งเดียว ไม่เห็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกับกรรมการ คนเมืองกับชนบท และเพศสภาพ ระบบการเมืองที่จะจัดการความขัดแย้งเป็นระบบที่ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

หลายคนเข้าใจว่าหัวใจของประชาธิปไตย คือการประกันสิทธิเสรีภาพปัจเจก แต่จริงๆ ระบอบประชาธิปไตยคือการจัดการผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายอย่างยุติธรรม วิธีการที่ยุติธรรมจึงสำคัญพอๆ กับเป้าหมายที่ยุติธรรม ประเทศที่ผ่านความรุนแรงมาทั่วโลกเขาจึงขอหยุดอยู่ที่ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเพราะเขามองว่าหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงนั้นยุติธรรมที่สุด

แน่นอนประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของฟ้าประทาน มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมดีเอ็นเอประชาธิปไตยหรือเผด็จการ สังคมไทยอยู่กับการรัฐประหารเนิ่นนานกว่าการเลือกตั้ง ทำไมไม่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ต่อรอง

ประชาชนทุกวันนี้เรียนรู้เรื่องอำนาจของตัวเองและประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเฉพาะคนในชนบทหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงมีความหมาย หมายถึงสิทธิและศักดิ์ศรีของพลเมืองที่ไม่มีใครมาพรากไปได้ การบอกว่านักการเมืองตรวจสอบไม่ได้ แต่การที่ต้องล่าถอยเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นตัวอย่างที่เห็นว่าต้องฟังประชาชน

นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระต่างๆ ที่เข้ามาตรวจสอบจนรัฐบาลแทบทำอะไรไม่ได้เลย ทำให้มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบองค์กรอิสระเหล่านี้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นตัวก่อวิกฤตให้สังคมเสียเอง

น่าเสียใจที่เราบอกว่าประชาชนมีความรู้เรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น แต่คนมีการศึกษาในประเทศนี้ไปสนับสนุนแนวคิดสภาประชาชนที่ไปมอบอำนาจให้กับคนเพียงกลุ่มเดียว ตอนที่จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจากจอมพล ป. ด้วยเหตุผลคอร์รัปชั่น แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตไปก็ถูกเปิดเผยทรัพย์สินสี่ร้อยกว่าล้าน พร้อมที่ดินจำนวนมากที่หาที่มาที่ไปไม่ได้ ส่วน รสช. ขึ้นมายึดอำนาจชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นพลเอกสุจินดา คราประยูรบอกว่าไม่ต้องการอะไรจากการรัฐประหาร เมื่อเราใจง่ายยกอำนาจให้คนบางกลุ่มแล้วสิ่งที่แลกมาก็คือชีวิตที่เสียไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อพฤษภา 2535

ความขัดแย้งขณะนี้คนในเมืองด่าทอดูถูกคนมีการศึกษาอย่างหยาบคายและเปิดเผย ราวกับว่าพวกเขาไม่รู้ นับวันเราจะสร้างความเกลียดชังความแบ่งแยก และอยากจะเตือนว่าคนที่ท่านดูถูกนั้นเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้และเขาอ้างสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย โปรดเลิกคิดว่าคนชนบทเลือกรัฐบาลและคนเมืองล้มรัฐบาล ด้วยเหตุนี้สมัชชาประชาธิปไตยจึงต้องยืนยันหลักการที่ว่าคนเราเท่ากันไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหน ฐานะอย่างไร ล้วนเท่าเทียมกันไม่มีใครมีสิทธิทางการเมืองมากไปกว่ากัน

นิธิ เอียวศรีวงศ์: การเลือกตั้งคือการประชุมประชาชน

ท่ามกลางสังคมไทยที่กลายเป็นสังคมที่มีคนตื่นตัวทางการเมืองจำนวนมาก การปฏิรูปเป็นสิ่งพึงกระทำในกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่สามารถประชุมนักปราชญ์หรือผู้รู้จำนวนน้อยเพื่อตัดสินใจว่าจะปฏิรูปอะไร อย่างไร แล้วยัดเยียดให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ เพราะการปฏิรูปทุกอย่างมีคนได้และเสียเสมอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการต่อรอง ถกเถียง แสดงเหตุผล จนกว่าจะเห็นพ้องต้องกันพอสมควรว่าจะต้องปฏิรูปอะไร เดินไปทางไหน จึงไม่มีเหตุผลที่จะแยกการปฏิรูปและการเลือกตั้งออกจากกัน อันที่จริงการเลือกตั้งคือการประชุมประชาชนทั้งประเทศในการช่วยกันคิดว่าจะเลือกพรรคไหนที่เสนอแนวทางปฏิรูปที่ประชาชนเห็นชอบมากที่สุด ทั้งสองเรื่องนี้จึงไม่ควรแยกออกจากกัน เพราะแท้ที่จริงมันคือกระบวนการอันเดียวกัน และเป็นสิ่งที่ผูกขาดไม่ได้

ระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนเช่นนี้เราหลีกหนีไม่พ้น อย่างไรก็ต้องใช้ระบบตัวแทน ถ้าไม่ใช้เสียงข้างมากแล้วจะใช้อะไร เมื่อพูดถึงเผด็จการเสียงข้างมากนั่นหมายถึงคุณไม่เปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้แสดงความเห็นของตัว อย่างไรก็ต้องเปิดโอกาสได้เสนอความเห็นของเขาซ้ำแล้วซ้ำอีกในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่อาจเปลี่ยนความเห็นแล้วหันมาสนับสนุนเสียงข้างน้อย ซึ่งอาจกลายเป็นเสียงข้างมากในอนาคต ฉะนั้น เผด็จการรัฐสภาจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่โหวตแล้วเป็นอย่างไร แต่อยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้แก่การคัดค้านนอกสภามากน้อยแค่ไหน

หลัก primary vote

หลักการก็คือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเป็นคนเลือกคนที่เป็นตัวแทนของตนเองผ่านการลงคะแนนเสียง คล้ายการเลือกตั้ง แต่บางประเทศให้เฉพาะผู้ที่ลงนามเป็นสมาชิกของพรรค บางประเทศกฎเหล่านี้ก็หลวมหน่อย ใครก็ลงชื่อได้ว่าพรรคควรส่งใครลงเลือกตั้ง แต่ต้องระวังว่าถ้าเปิดกว้างเกินไป พรรคฝ่ายตรงข้ามจะไปลงคะแนนให้คนไม่ได้เรื่องที่สุดลงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ของประเทศไทยเป็นระบบเลือกโดยคณะกรรมการบริหารพรรค ให้หัวหน้าพรรครับรอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีมุ้งเล็กใหญ่ในนั้น ส่งคนของเขาเข้าไป สรุปสั้นๆ คือ กรรมการบริหารพรรคคือคนเลือกลูกน้องตัวเองเป็นผู้สมัคร แต่ primary vote คือตัวป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ชี้นิ้วเอาพรรคพวกตัวเองเป็นผู้สมัครของพรรคได้ง่ายๆ

ข้อเสียของ primary vote อย่างน้อยที่สุดทำให้กลไกทางการเมืองซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ดีในแง่ ส.ส.แต่ละคนต้องคอยพะวงว่า การกระทำของตนในสภาจะกระทบต่อกลุ่มคนที่เลือกตนเองหรือไม่ นอกจากนี้มันยังทำให้ผลประโยชน์ท้องถิ่นมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียในตัวเอง เช่น บริษัทโกดักในอเมริกาในสมัยหนึ่ง โกดักจ้างคนเยอะเป็นฐานคะแนนเสียงในรัฐได้ ทำให้กลไกเลือกผู้สมัครไม่ว่าพรรคใดต้องเอื้อผลประโยชน์ต่อโกดักเสมอไป นอกจากนี้มันอาจเป็นสิ่งที่ทำให้พรรคเล็กอยู่ยากขึ้น เพราะหากคุณเป็นที่นิยม พรรคใหญ่ต้องมาเกี้ยวไปเข้าพรรค

Primary vote จะแก้วาทกรรมเผด็จการรัฐสภาได้ไหม

แก้ได้บางส่วน เช่น สมัชชาคนจนเคยยึดหัวเขื่อนปากมูลปีหนึ่ง แต่ไม่เคยมี ส.ส.ไปเยี่ยมเขาเลย ไม่เคยที่เข้าไปพูดคุยถึงปัญหา ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบ primary vote ยังไงๆ เขา (ส.ส.) ต้องไป ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นมันจะสะท้อนเข้ามาในรัฐสภามากขึ้น

ปิยบุตร แสงกนกกุล: 5 หลักการพื้นฐานประชาธิปไตย และข้อเสนอต่อชนชั้นนำจารีต

จะพูดสองประเด็น คือ เรื่องประชาธิปไตย และเรื่องวิกฤตทางการเมืองปัจจุบัน
 
ประเด็นแรก ทำไมเราต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประชาธิปไตยมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เท่าที่สำรวจตรวจสอบมา สรุปองค์ประกอบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ 5 ข้อใหญ่คือ 1.อำนาจเป็นของประชาชน และประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจโดยวิธีการต่างๆ ไม่ใช่อำนาจของพระเจ้า ไม่ใช่มรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ ประชาชนคนสามัญธรรมดาจะแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจอย่างไรในเมื่อมีจำนวนมากและมีความหลากหลาย ประชาชนคือหน่วยทางการเมืองหนึ่งจะตัดสินใจเป็นมติได้อย่างไร นำสู่ข้อ 2
 
2.การตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยเสียงข้างมาก ไม่ได้ตัดสินโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่การตัดสินใจนั้นหากต้องเกิดกับบุคคลเดียวหรือคณะเดียวก็ต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
 
3.เมื่อการตัดสินใจมาจากเสียงข้างมาก จะสรรหาเสียงข้างมากนั้นได้อย่างไร เมื่อประชาชนมีความหลากหลาย มีชนชั้น วรรณะ ชาติตระกูล ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ได้ตัดสินใจร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างที่ว่านั้น มีความเสมอภาคทางการเมือง ทำให้เสรีภาพทางการเมืองมีน้ำหนักเท่ากัน
 
4.เพื่อไม่ให้การตัดสินใจของเสียงข้างมากเป็นไปตามอำเภอใจ จึงจำเป็นต้องรับรองสิทธิเสรีภาพให้บุคคลอื่นด้วยเพื่อให้มีทางเลือกอย่างแท้จริง ต้องให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการจัดตั้งพรรค เมื่อเสียงข้างมากตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง คนที่เป็นเสียงข้างน้อยก็สามารถแสดงความเห็น รณรงค์ผลักดันให้วันข้างหน้าเกิดการสลับสับเปลี่ยนเสียงข้างมากได้
 
5.ต้องมีความอดทนอดกลั้น ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่าย 
 
อย่างไรก็ตาม การปกครองระบอบประชาธิปไตยก็มีจุดอ่อนอยู่ อาจล่าช้า อาจไร้ระเบียบ ทำให้คนที่มีวิธีคิดแบบเผด็จการหรือฟาสซิสม์ฉวยเรื่องนี้มาทำลายประชาธิปไตย พวกเขาไม่ได้ต้องการย้อนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พวกมีแนวคิดฟาสซิสม์มักอ้างว่าตนเองก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่จำเป็นต้องปฏิรูปข้อบกพร่องของประชาธิปไตย พวกเขาอาศัยชื่อประชาธิปไตย แต่โดยรายละเอียดของฟาสซิสม์พบว่า มี  5 องค์ประกอบ
 
1.ต่อต้านระบบรัฐสภา ในสายตาเขา รัฐสภาเป็นที่รวมตัวของกลุ่มผลประโยชน์หลากหลาย เหมือนโรงละครแสดงความเห็น ถกเถียง ทะเลาะเบาะแว้งกัน หามติได้ยาก ไม่ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ควรมาจากสรรหาจากหลากหลายวิชาชีพและให้ผู้นำเป็นผู้เลือกว่าใครบ้างจะมานั่งในสภา 2.ต่อต้านปัจเจกชนนิยม ต้องการมองประชาชนทั้งหมดในฐานะเอกภาพองค์เดียว ต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว จึงจำเป็นต้องมีท่านผู้นำมาหนึ่งคน ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่รวมตัวเป็นเอกภาพ 3.ต่อต้านเสรีนิยม ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่าง 4.เป็นชาตินิยม เพราะการใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือจะทำให้ประชาชนเป็นเอกภาพ 5.ฟาสซิสม์สนับสนุนบรรษัทมากกว่าเกษตรกร
 
ถามว่า ทำไมต้องเลือกการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองให้บุคคลได้พูด แสดงความเห็นท่ามกลางผลประโยชน์ที่แตกต่าง มีแต่วิถีทางแบบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะหาฉันทามติร่วมกันได้ จะไม่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู แต่มองเป็นคู่แข่งขันทางการเมือง และแข่งขันกันตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ศัตรูทางการเมืองที่ต้องกำจัด ประชาธิปไตยเป็นวิธีการที่ทำให้มนุษย์จัดการความขัดแย้งได้อย่างสันติ สามารถทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ตนเองไม่ชอบได้โดยไม่ต้องนองเลือด
 
ประเด็นเรื่องวิกฤตการเมืองไทย ขอเท้าความ 7 ปีที่ผ่านมา อาจเริ่มต้นเมื่อทักษิณตัดสินใจยุบสภา ให้เลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ฝ่ายค้านบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง มีการรณรงค์ให้มีรัฐบาลพระราชทาน ในหลวงตรัสว่ามาตรา 7 ใช้ไม่ได้ และการเลือกตั้งแบบพรรคเดียวไม่เป็นประชาธิปไตยให้ศาลเข้ามาจัดการ จากนั้นมีการปลด กกต. ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เกิดการรัฐประหาร คณะรัฐประหารจัดวางกลไกต่างๆ จำกัดขั้วการเมืองของทักษิณ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย รัฐธรรมนูญ 50 ผ่านประชามติ ศาลพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ พรรคพลังประชาชนชนะ ปลดสมัคร สุนทรเวชออกจากนายกฯ เกิดกรณีปราสาทพระวิหาร นพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศลาออก พธม.อาศัยประเด็นพระวิหารและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ยึดสนามบิน ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคอื่น พธม.ยุติการชุมนุม มีการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นปช.ชุมนุม ปี 52 ปี 53 เกิดเหตุการณ์สลายชุมนุม อภิสิทธิ์ยุบสภา เลือกตั้งได้ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ หาเสียงว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อจะแก้ศาลรัฐธรรมนูญขัดขวาง มีการตรา พ.ร.ก.เหมาเข่ง รัฐบาลถอยสุดซอย ศาลรัฐธรรมนูญบอกแก้ไม่ได้ รัฐบาลเอาร่างมาจากขั้นตอนทูลเกล้าฯ ยุบสภา เลือกตั้ง
 
จะเห็นการประทะขัดแย้งตลอดเวลาจากขั้วการเมืองสองขั้ว ขั้วเลือกตั้ง เสียงข้างมาก กับขั้วที่ไมได้มาจากการเลือกตั้งมีบารมี ทุนทางวัฒนธรรมสูง ผันกายเป็นศาล องค์กรตรวจสอบ กองทัพ ฯลฯ ชนชั้นนำทางจารีตประเพณี ชั้วจากเลือกตั้งไม่ได้ถูกหมด ผิดพลาดหลายหน แต่อีกขั้วเลือกจัดการด้วยกลไกนอกระบบ 7 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าไม่สำเร็จ กำจัดไม่ได้แล้วยังผนึกกำลังเข้มแข็งและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขั้วเลือกตั้งจะศรัทธาประชาธิปไตยจริงหรือไม่ไม่ทราบได้ แต่เขาชนะในกติกาประชาธิปไตย การจัดการต้องอาศัยกติกาประชาธิปไตยจึงจะถูกต้องชอบธรรมและยั่งยืน แต่ชนชั้นนำใช้วิถีทางอื่น แต่ก็ยังไม่สำเร็จ พวกเดิมยังชนะเลือกตั้งอีก ทำอย่างไร ริบเอาเสียงประชาชนที่เป็นฐานที่มาของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างน้อยก็ชั่วคราว
 
ความขัดแย้งนี้ ไม่ใช่สุเทพและพวกกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กปปส.กับระบอบทักษิณ เสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่มันมีปมปัญหาใหญ่ของการเมืองไทยคือ การเปลี่ยนผ่านของสถาบันการเมืองชั้นนำของการเมืองไทย ฝ่ายการเมืองเก่าไม่ต้องการให้กลุ่มนี้มีอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน ฝ่ายชนชั้นนำจารีตประเพณีใช้วิธีที่ผิดตลอด ครั้งนี้ฝ่ายชนชั้นนำจารีตประเพณี จะเลือกทางไหน ถ้ามีโอกาสนั้นอีกต้องพินิจพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าจะชี้ขาดอย่างไร มีแต่วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้ชนชั้นนำจารีตได้ดำรงอยู่ต่อกับประชาชน การตัดสินวิถีทางประชาธิปไตย อาจทำให้ชนชั้นนำชนะ แต่ชนะชั่วคราว ชนะศึกแต่ไม่ชนะสงคราม และอาจเป็นการเปิดฉากจุดจบของชนชั้นนำจารีตฯ
 
ชนชั้นนำมีทางออกทางเลือกอยู่ คือ เปิดทางให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 แล้วเดินหน้าร่วมมือกันปฏิรูปการเมืองตามครรลองประชาธิปไตย หนทางนี้หนทางเดียวเท่านั้นที่จะหนีสงครามกลางเมืองได้พ้น และทำให้ชนชั้นนำฯ อยู่รอดและอยู่ร่วมกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ
 

วาด รวี: ถ้าไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์และความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์ นั่นคือยังไม่โตพอที่จะเป็นมนุษย์


เมื่อไม่นานนี้ มีการจัดอันดับ 45 ภาพที่ส่งผลสะเทือน หนึ่งในนั้นคือ ภาพของเด็กชายวัยห้าขวบ ซึ่งป่วยเป็นลูคีเมียรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ซานฟรานซิสโกแต่งตัวเป็นแบทแมนผู้ต่อสู้กับฝ่ายอธรรม เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นโดยมูลนิธิ Make-a-wish ร่วมมือกับเทศบาล ประชาชน สื่อ และดารา เพื่อทำฝันของเด็กชายวัยห้าขวบที่อยากเป็นแบทแมนให้เป็นจริงด้วยการนำชุดแบทแมนมาให้สวมและจัดฉากเหตุการณ์ขึ้นให้เมืองซานฟรานซิสโกกลายเป็นเมืองก็อทแธม มีคนแสดงเป็นผู้ร้าย มีคนแต่งเป็นแบทแมนผู้ใหญ่ ให้ความช่วยเหลือแบทแมนเด็กให้แสดงบทบาท หนังสือพิมพ์ San Francisco Chronicle ออกฉบับพิเศษ ฉบับเมืองก็อตแธม ให้งบ 105,000 ดอลลาร์ เพื่อเปลี่ยนเมือง ประชาชนมากกว่าหมื่นคนร่วมมือจัดฉาก ทั้งหมดเพื่อเติมเต็มความฝันของเด็กชายห้าขวบที่กำลังป่วยเป็นลูคีเมีย ประเด็นของเรื่องที่อยากพูดคือ ทุกคนทราบดีกว่าแบทแมนเป็นเพียงการ์ตูน เป็นจินตนาการเฟื่องฝันไม่ใช่ความจริง แต่ความจริงคือ เด็กชายที่กำลังป่วยมีความฝันแบบนี้และมีความสุขจริง แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงการจัดฉาก

ถึงตรงนี้ขอให้พิจารณาภาพอีกภาพ เป็นหนึ่งใน 45 ภาพ ซึ่งเกิดที่เมืองไทย

พิจารณาแต่ภาพ อาจเข้าใจว่าเป็นมิตรภาพที่หยิบยื่นให้ระว่างการเผชิญหน้า แต่ทุกคนในประเทศและสื่อต่างประเทศตีความว่าไม่ใช่เพราะทหารกับผู้ชุมนุมไม่เคยเผชิญหน้ากับทหาร ตรงข้าม ทหารออกมาปฐมพยาบาลประชาชนที่ปะทะตำรวจขณะเข้าบุกยึดสถานที่ราชการ เมื่อเห็นภาพนี้ นึกถึงชื่อมูลนิธิที่จัดงาน Make-a-wish เจ้าของมือที่ยื่นดอกไม้ ไม่ได้ยื่นเพราะปรารถนาสันติภาพ แต่เพราะต้องการให้ทหารทำความใฝ่ฝันของเขาให้เป็นความจริง ความใฝ่ฝันนั้นคืออะไร

รูปคน 2 คน ทางซ้าย คือ เพนกวิน วายร้ายในแบทแมน ขวาคือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกต่อต้าน สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือมีการจัดฉากให้ปราบทักษิณ ซึ่งถูกอุปโลกน์เป็นวายร้ายและฝ่ายอธรรมในความรู้สึกของผู้ชุมนุม สิ่งที่เหมือนกันระหว่างสองเหตุการณ์ คือ มีคนป่วยที่ฝันอยากปราบปรามเพนกวินผู้ชั่วร้าย และมีการจัดฉากให้คนป่วยได้แสดงบทฮีโร่ ได้ความร่วมมือจากนายกเทศมนตรี ประชาชน และสื่อมาร่วมแสดงละครหลอกคนป่วย สิ่งที่แตกต่างกันคือ เหตุการณ์แรก ผู้ป่วยคือเด็กห้าขวบ ที่เป็นลูคีเมีย และเหตุการณ์ยุติอย่างเรียบร้อย เพราะทุกคนทราบดีว่าเป็นการจัดฉากเพื่อให้เด็กมีความสุข เหตุการณ์หลัง ผู้ป่วยไม่ใช่เด็ก ไม่ได้มีคนเดียว ไม่ได้เป็นลูคีเมีย และเหตุการณ์ยังไม่ยุติ เพราะผู้ชุมนุมต้องการเปลี่ยน กทม. อย่างถาวรให้เป็นเมืองก็อทแธมตลอดกาล เพราะเชื่อจริงๆ ว่าทักษิณ คือเพนกวิน

แต่คนที่รู้ดีที่สุดว่าข้อเท็จจริงของทักษิณและเพนกวินไม่เหมือนกันก็คือสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำม็อบนกหวีด แต่คนปักใจเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจก็มีไม่น้อยและนั่นคือความเศร้า ใครหรืออะไรที่ทำให้คนจำนวนมากคิดและเชื่อเหมือนเด็กห้าขวบ ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่สามารถแยกแยะ ไม่รู้หรือว่าการเติบโตที่แท้จริงไม่ใช่การเรียกร้องหาพ่อ แยกแยะความดีจากความชั่ว หรือปราบเพนกวินได้สันติสุขจะบังเกิดเท่านั้น แต่คือการแยกแยะถูกผิดด้วยข้อมูล ไม่ใช่จินตนาการ มองจากมุมของคนอื่น นอกจากมุมของตัวเอง รับผิดชอบต่อศีลธรรมของตัวเอง ถ้าไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์และความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์ นั่นคือยังไม่โตพอที่จะเป็นมนุษย์

สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด):  วันนี้คือยุคเสียงนกเสียงกา เสียงดังไปทั่ว ต้องเคารพความเป็นจริงนี้

ปัจจุบัน ทำรายการชื่อ "ประชาชน 3.0" มีที่มาจากพัฒนาการของเว็บไซต์ โดยเริ่มแรก เว็บ 1.0 ยกตัวอย่างเว็บของหน่วยงานราชการ เปิดดูได้อย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้ ต่อมาวิวัฒนาการเว็บเปลี่ยน มีโครงสร้างให้คอมเม้นท์ เช่น เว็บข่าว เขียนคอมเม้นท์ได้ แต่เนื้อหาหลักเจ้าของเว็บเป็นคนทำ ด้วยพัฒนาการทำให้มีเว็บแบบนี้มากขึ้น

ตอนนี้มาถึงเว็บ 3.0 แปลกตรงที่คนทำเว็บหรือเขียนคอนเท้นท์คือคนที่เข้าไปอ่านเอง เป็นเรื่องของประชาชนที่จะเข้าไปสร้าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ บล็อก ให้คนอื่นอ่านและวิจารณ์ และไปคอมเม้นท์ของคนอื่น เป็นยุคที่ประชาชนนำเสนอ เขียนเอง คอมเม้นท์กันเอง

อำมาตย์ 1.0 - นักการเมือง 2.0 - ประชาชน 3.0 ในโลกของประชาธิปไตย มีรูปแบบการปกครองโบราณแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อำมาตย์ 1.0 ผู้ปกครองเชื่อว่ามีสิ่งที่เลิศ เชื่อว่าดีและให้อยู่เฉยๆ ห้ามแสดงความเห็น ต่อมา ระบบนี้ได้รับความนิยมลดน้อยลง

มายุคนักการเมือง 2.0 ดีหน่อย ก้าวหน้าขึ้นนิดนึง เพราะนักการเมืองมาจากการที่ประชาชนเลือก และเนื่องจากเป็นระบบที่ประชาชนเป็นคนเลือก จึงยอมให้วิจารณ์ได้ ต่างจากระบบแรก ที่ดูได้อย่างเดียว มาวันนี้ คิดว่ายุคที่กำลังเดินทางไป หรืออยู่ในยุคการเปลี่ยนยุค คือยุคประชาชน 3.0 ที่ประชาชนต้องออกมาพูดว่าคิดอะไร มีความฝันอะไร แล้วก็ออกมาพูดและคอมเม้นท์กันเอง มีส่วนร่วม ไม่เหมือนระบบนักการเมือง 2.0 ที่รับเหมาทำ คนดูได้แค่เม้นท์ ไม่มีสิทธิทำ

ทั้งนี้ เมื่อถึง ประชาชน 3.0 ไม่ได้แปลว่าไม่มีอำมาตย์ ไม่มีนักการเมือง เหมือนวงการเว็บ แม้มีเว็บ 3.0 ยังมีเว็บ 1.0 2.0 แต่ความนิยมต่างกัน แต่ในระบบปฏิบัติการทางการเมือง ยุคประชาชน 3.0 หากทั้งสองส่วนจะดำรงอยู่ต้องอัพเกรดเป็น 3.0 เพื่อให้ประชาชน 3.0 อยู่ร่วมกันได้

ผมเชื่ออย่างลึกซึ้งว่าพัฒนาการของสังคม เปลี่ยนแปลงเนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารเดิมรับฟังวิทยุ เช่น วิทยุแห่งประเทศไทย หรือวิทยุยานเกราะ เครื่องมือสื่อสารอยู่ในชนชั้นผู้ปกครอง ยุคต่อมา ได้ดูทีวี ตนเองจำเหตุการณ์หกตุลาได้ว่า ยืนอยู่ตรงบ้าน ดูทีวีรายการที่แปลกที่สุดสำหรับเด็กแปดขวบ เห็นจอขาวดำ เห็นคนโกลาหล ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่จำได้ว่ามีการฆ่ากัน ณ ที่แห่งหนึ่ง ต่อมามีทีวีดาวเทียม มีทีวีมากกว่าฟรีทีวีห้าหกช่องเราได้รับโอกาสในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และเห็นว่าที่อื่นๆ ในโลกนี้ เขาดูอะไรกัน

ทีวีคือโลกทัศน์ของคนในยุคสมัยหนึ่ง จิตภัสร์ ที่เห็นว่าคนในชนบทไม่เข้าใจประชาธิปไตย นั้นโลกทัศน์คงมีขนาดเท่ากับทีวีที่บ้านเขา คนกรุงไปบ้านนอก เอาแต่ถ่ายรูป มัวแต่ทัวร์เก้าวัด จึงไม่น่าแปลกใจที่จะไม่เข้าใจชนบท ต่อมายุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก เกิดจากรูปแบบการสื่อสารระหว่างกันเอง ทุกครั้งที่เทคโนโลยีเปลี่ยน รูปแบบการสื่อสารของมนุษย์เปลี่ยน เมื่อนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุย์เปลี่ยน สังคมเปลี่ยน กระทบต่อเนื่องกัน เราหลบการเปลี่ยนปลงนี้ไม่ได้ มาวันนี้คือยุคเสียงนกเสียงกา เสียงดังไปทั่ว ต้องเคารพความเป็นจริงนี้ นั่นจึงทำให้มีเสียงนกหวีด แต่นกหวีดก็ต้องยอมรับว่าจะมีอีกเสียง คือกา (กบาท) ในวันที่ 2 ก.พ.

เกษียร เตชะพีระ: เราจะปกป้องประชาธิปไตยต่อไป ไม่ว่าเราจะชนะหรือแพ้ก็ตาม

"สึนามิ “มวลมหาประชาชน”
ท่วมทับแผ่นดินจนจมมิดหาย
กวาดล้างทุกสิ่งสรรพ์อันเรียงราย
กลบกลืนกลับกลายเป็นผืนน้ำ

คนจมน้ำกลั้นลมอมอากาศ
อีดอัดใจจะขาดทุกเช้าค่ำ
เสียงนกหวีดปรี๊ดรอบเข้าครอบงำ
ได้แต่เก็บปากคำถอนหายใจ

คนอีกมากอยากมีศักดิ์ศรีบ้าง
มิถูกใครแอบอ้างขึ้นเป็นใหญ่
สิทธิ์หนึ่งเสียงเทียมเท่าโดนเหมาไป
เหยียบประชาธิปไตยไต่บัลลังค์

ประเทศถูกลากตรงไปลงเหว
เพื่อขจัด “ความเลว” อย่างคลุ้มคลั่ง
เมา “ความดี” หูดับไม่รับฟัง
คนไทยทั้งชาติอึ้งตะลึงงัน

สนามรบศพเกลื่อนเหมือนวับหาย
เลือดที่นองคนที่ตายคล้ายความฝัน
“มวลมหาประชา" ปลื้มล้วนลืมมัน
กระทืบเท้าเป่าสนั่นประกาศชัย

“สึนามิมวลมหาประชาชน” ได้รับแรงบันดาลใจจากเฟซบุ๊กของจอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนโตของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งบรรยายถึงความอึดอัดคับข้องของคนส่วนใหญ่ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งกล่าวในประโยคแรกว่า "เพื่อน...ทุกครั้งที่คุณไปชุมนุมกับ กปปส.คุณกำลังเหยียบหัวผมและอีกหลายๆ ล้านคนโดยไม่รู้ตัว?"

ประเด็นที่สองคือการถกเถียงนักวิกชาการที่สนับสนุนและให้ความชอบธรรมกับการเคลื่อนไหวของ กปปส.นั่นคือ ธีรยุทธ บุญมี และสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์

ดูเหมือนว่าศพที่ถูกลืม คนที่ตาย เป็นประเด็นที่ลืมไปของนักวิชาการกปปส. สืบเนื่องจากที่เปิดตัว ปปส. ครั้งที่แล้วผมได้กล่าวไว้กว่า รัฐบาลผลักดันกฎหมายนิรโทษเหมาเข่ง เป็นข้อบกพร่องที่สำคัญ จังหวะนั้นเองเป็นความพยายามของบุคคลบางกลุ่มที่จะสร้างสถานการณ์ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นขยายบานออกไป เปลี่ยนจากเรื่องพ.ร.บ.เป็นเรื่องอื่น แปรสิ่งที่ปกติเป็นไปไม่ได้ทางการเมือง ทางกฎหมาย ให้กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการเมืองเสนออำนาจสำเร็จรูปกับคนไทยทั้งประเทศ และสิ่งเหล่านี้ความพยายามเหล่านี้ก็ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มต้นที่ธีรยุทธ บุญมี ซึ่งแถลงข่าวไปเมื่อวันที่10 ธ.ค. ธีรยุทธอธิบายการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนว่า เป็นการปฏิวัติของประชาชนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เอ๊ะ! แล้ว 14 ตุลาล่ะ แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าเราเทคว่านี่คือ ปฏิวัติประชาชนครั้งแรก เรื่องนี้สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ขยายความชัดเจนขึ้น การเคลื่อนไหวนี้ใหญ่สุดไม่เคยมีมาก่อน เป็นสถานการณ์พิเศษ กฎหมายปกติทั่วไปใช้ไม่ได้ ต้องยกอำนาจเด็กขาดสมบูรณ์ให้ กปปส.ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องตรวจสอบ และไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำการเปลี่ยแปลงของประเทศ

ลักษณะร่วมของธีรยุทธ สมบัติ และแกนนำทั้งหลายของ กปปส.คือ เขาหมกมุ่นจดจ่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้ครั้งเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นมันแยกขาดได้อย่างไรกับความขัดแย้งใน 7-8 ปีที่ผ่านมา ถ้าเอาปฏิวัติของประชาชนครั้งนี้วางไปที่ที่มันควรอยู่ใน7-8ปีที่ผ่านมา มันคือ การปฏิวัติของประชานหรือสงครามกลางเมืองหลายระลอกกันแน่

ความสูญเสียของการประชาชนเคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะปี 2553เฉพาะที่ตายเป็นร้อย บาดเจ็บอีกนับพัน รอยเลือดของพวกเขาเกลื่อนอยู่แถวๆ ที่คุณสุเทพพามวลชนไปนั่งชุมนุมอยู่ มันเกลื่อนอยู่แถวราชประสงค์ ลุมพินี ที่สุเทพฯ พามวลชนเดินไป ทำไมไม่เห็น ทำไมไม่คิดถึงว่านี่คือเพื่อนคนไทยด้วยกัน ชีวิตความตาย เลือดเนื้อของเขา ไม่มีความหมายสำคัญสำหรับพวกคุณขนาดนั้นเลยหรือ

ดังนั้น ขบวนการ กปปส.ที่ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลกัษณ์ หากนับเป็นการปฏิวัติประชาชนก็เป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 8ปี นั่นแปลว่า เราอยู่ในประเทศที่อกแตก คนไทยแบ่งเป็นสองฝ่าย มีการนองเลือดแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ถ้าไม่ต้องการให้คนไทยต่อสู้ดุเดือดรุนแรงต่อ ต้องผลักดันให้ความขัดแย้งอยู่ในกรอบกติกาอันสันติ มีทางเดียวคือ เราต้องไปเลือกตั้ง ให้อำนาจของเสียงข้างมากและสิทธิที่จะเห็นต่างองเสียงข้างน้อยค่อยๆ หาทางออกจากความขัดแย้ง ถ้ามีกรอบกติกาที่ดีเราหาทางออกได้ แต่ถ้าคุณไม่ฟังคนไทยอีกครึ่งประเทศหรืออาจมากกว่านั้น แล้วรวบอำนาจยัดความเห็นให้คนที่เหลือ เราจะไม่มีบ้านเมืองให้อยู่

ในสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ เผด็จการเสียงข้างน้อยจะนำสู่การนองเลือดรุนแรง ต้องต่อสู้ในกรอบประชาธิปไตยเท่านั้น มีเท่านี้ที่อยากจะบอกกับอาจารย์ธีรยุทธ อาจารย์สมบัติ กปปส. คุณไม่ได้ทำการปฏิวัติประชาชนในพื้นที่ว่างเปล่า เราสู้กันมาหลายรอบ คนตายไปเยอะแล้ว ทำไมยังเลือกวิธีที่จะผลักให้คนไทยฆ่าฟันกันอีก เพื่ออะไร
สิ่งที่ กปปส.กำลังทำไม่ต่างจากรัฐประหารเพียงแต่อาศัยมวลชน เราไม่มีทางรู้ว่าประเทศจะสูญเสียขนาดไหน ไม่ใช่เราไม่ต้องการการปฏิรูป แต่ต้องทำโดยคนไทยทั้งหมดทำไปด้วยกัน เคารพศักดิ์ศรีและอำนาจที่เท่ากัน เรื่องนี้ไม่มีใครได้เต็มร้อย ที่เดียวที่คุณจะได้เต็มร้อยคือที่ที่คนตรงข้ามคุณตายหมด

มีเพื่อนนักวิชาการกระซิบถามว่าเราจะยันกับเขาไหวไหม ผมได้แต่ตอบว่า  ต่อให้แพ้เขาก็ต้องเจอกับประชาชน ประเทศนี้เป็นของเขาเท่ากับที่เป็นของเราทุกคน เราจะปกป้องประชาธิปไตยต่อไป ไม่ว่าเราจะชนะหรือแพ้ก็ตาม

จิตรา คชเดช: “สังคมเผด็จการ” มองคนเป็นฝุ่นละออง ตายไป 90 กว่าคนยังไม่มีใครเห็น

มุมมองของคนงานในโรงงานจากประสบการณ์จากสิ่งที่เห็นมา สังคมนี้มีการมองผู้คนหลายแบบ “สังคมชนชั้น” บางคนไม่เคยทำอะไรเลย ไม่ได้สร้างคุณค่า ไม่ได้ทำงานอะไรเลยแต่คนยกย่อง แต่คนที่ทำงานแทบตายแต่ยังยากจน คนก็จะมองว่าที่ยากจนเพราะขี้เกีย และถูกมอมเมาว่าการจะทำให้ร่ำรวยก็ทำได้โดยเปลี่ยนชื่อ สะเดาะเคราห์ ไหว้ของดำ ฯลฯ จะได้รวยขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น แต่เหล่านี้คือความหวังของคนจน เพราะพวกเขาเห็นว่าคนอีกชั้นหนึ่งไม่ต้องทำงานเขาก็รวยได้ คนเลยหวังอยากเป็นแบบนั้น

ความเป็นจริงที่ทำให้คนยากจนเพราะมีการเอาเปรียบกันทางสังคม แล้วมาบอกว่าเรายากจนเพราะไม่ทำงาน ในระบบทุนนิยมมองคนเป็นเครื่องจักร จะนิ้วขาด แขนขาด ก็ไม่ต้องปรับปรุงอะไร ดังนั้น การจะทำให้คนเป็นคนที่มีคุณค่า สามารถต่อรองสิทธิต่างๆ ของตนเองได้ต้องส่งเสริมเรื่องการรวมตัวของคนเป็นสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ตาม แม้จะให้สิทธิรวมตัวแต่ก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ คนงานจำนวนมากที่ใช้ชีวิตในเมืองต้องกลับไปเลือกตั้งที่บ้านเกิดทั้งที่ไม่รู้จักผู้ลงเลือกตั้งด้วยซ้ำ มันเลยทำให้คนงานไม่มีสิทธิเท่าเทียมทางการเมือง นอกจากนี้กฎหมายยังเขียนไว้อีกว่า สหภาพแรงงานไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องทางการเมือง เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ ระบบสังคมนี้อนุญาตให้เราทำงานแปดชั่วโมงเพื่อทำกำไรให้นายทุนเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมี “สังคมคนดี” ที่มองคนชนบทว่าโง่และขายเสียง คนดีเหล่านี้เลยมาเป่านกหวีดด้วย พูดด้วย จนฟังอะไรไม่รู้เรื่อง เป็นการดูถูกเหยียดหยามให้คนไม่เท่ากันโดยใช้วาทกรรมต่างๆ จริงๆ แล้วคนที่โง่คือคนที่พูด เพราะคนชนบทนั้นเลือกตั้งเยอะมาก แถบทุกกระบวนการ ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. แม้แต่จะทำอะไรก็มีการลงมติหย่อนบัตร จึงบอกได้เลยว่าคนชนบทไม่ได้โง่ เขาเลือกสิ่งที่จะทำให้เขากินดีอยู่ดี เขาไม่เลือกคุณเพราะคุณไปมองเขาโง่ สังคมคนดีอันที่จริงแล้วไม่มีการตรวจสอบ นักการเมืองผ่ากระบวนการตรวจสอบจึงรู้ว่าใครดีใครเลว แต่คนดีไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบแถมบอกว่าเลวไม่ได้อีก

“สังคมนักวิชาการ” มองว่าสังคมคนที่การศึกษาต่ำกว่าไม่มีสิทธิเท่าตัวเอง แต่ก็เป็นเฉพาะ ดร.บางคน พวกนี้พยายามปลุกปั่นบอกว่าคนที่ไม่จบปริญญาตรีไม่มีคุณภาพ คนที่จะมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพไม่ได้มองกันเรื่องจบปริญญาตรีหรือไม่ เพราะประเทศนี้ยังไม่ส่งเสริมให้คนเรียนฟรีเท่ากันทั้งหมด โอกาสทางการศึกษาของเด็กต่างจังหวัดและในเมืองก็ต่างกันมาก คุณไม่ขยายระบบการศึกษาคุณภาพให้ทั่วถึงเท่าเทียม เมื่อรัฐยังไม่ส่งเสริมเรื่องนี้ พอมีรัฐบาลหนึ่งส่งเสริมการเรียนฟรีระดับหนึ่ง มีทุนกู้ยืมให้เข้าถึงการศึกษาได้ก็มีคนมาคัดค้าน

“สังคมเผด็จการ” มองคนเป็นฝุ่นละออง ตายไป 90 กว่าคนยังไม่มีใครเห็น สังคมเผด็จการมองว่าคนอื่นไม่มีคุณค่าเท่าตัวเอง ไม่มีสิทธิเท่าตัวเอง มันกำลังจะเกิดขึ้นถ้าเรายอมให้การเลือกตั้งเลื่อนไป ยอมให้มีการตั้งสภาประชาชน ใครเห็นต่างก็จะหายไปจากสังคมนี้ ถูกอุ้มหาย ถูกฆ่าตายโดยไม่ถูกจารึกเป็นวีรชนด้วยเพราะเขาเห็นต่างทางเมือง หลายปีมานี้ เขาถูกฆ่า ถูกจำคุก หายไปจากสังคมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“สังคมประชาธิปไตย” มองคนเท่ากัน หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง ไม่ว่ามีการศึกษาระดับไหน เพศอะไร เชื้อชาติออะไร เราอยู่ในประเทศนี้ต้องมีสิทธิในการส่งคนเข้าสู่รัฐสภา เราต้องมีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเดินหน้าเลือกตั้ง เดินหน้าระบอบประชาธิปไตย วันที่ 2 ก.พ.ต้องเดินหน้าให้มีการเลือกตั้ง พรุ่งนี้เป็นวันแรกเปิดรับสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ เราต้องส่งเสียงดังๆ ว่า ใครขัดขวางการเลือกตั้งเท่ากับไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

ยุกติ มุกดาวิจิตร: 5 มายาคติชาวกรุงต่อชาวชนบท

มายาคติของชาวกรุงต่อคนชนบท หนึ่ง คนชนบท โง่ จน เจ็บ ตลอดเวลา เงินเลยซื้อได้- มีข้อมูลเยอะมากที่จะถกเถียง สามารถค้นได้เต็มไปมด ความจนมีอยู่แค่ไหนในประเทศ ความจนลดลงมากจากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ ชนชั้นกลางมีมากขึ้นในปัจจุบัน เกิดชนชั้นกลางใหม่ ชั้นกลางรากหญ้า คนจบปริญญาตรีมากขึ้น มีงานวิจัยที่บอกว่า นโยบายสามสิบบาทได้ผล เกษตรกรน้อยลง รายได้จากเกษตรกรรมน้อยลง ไทยไม่ได้เป็นเกษตรกรรมอีกต่อไป ที่เคยเรียนกันมาเป็นเรื่องในอดีต หรือเป็นเรื่องโกหกกันไปแล้ว ชนบทเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่สังคมที่ใสซื่อ เรียบง่าย หรือให้ใครมาหลอกได้อีกต่อไป มายาคติแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว

สอง คนชนบทไม่ได้เสียภาษี -ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง รัฐเก็บภาษีจากภาษีทางอ้อม คือภาษีจากการจับจ่ายใช้สอย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ได้มากกว่าภาษีทางตรง โดยเก็บได้ 57% เก็บภาษีทางตรงได้ 24% โดยมี 19% เก็บจากภาษีธรรมดา แล้วคนชนบทเสียภาษีไหม ทั้งคนเมืองคนชนบทต่างเสียภาษีจากการจับจ่ายใช้สอย แล้วประชากรใครมากกว่า คนในชนบทมากกว่า แล้วใครเสียภาษีมากกว่ากัน คนชนบท เพราะจำนวนประชากรมากกว่า เมื่อคนชนบทเสียมากกว่าย่อมมีสิทธิได้รับสัดส่วนบริการจากรัฐไม่น้อยหรือมากกว่าคนกรุงด้วยซ้ำ

สาม คนชนบทถูกระบบอุปถัมภ์ครอบงำ- ระบบอุปถัมภ์ไม่มีแล้วในชนบท ในหนังสือพิมพ์ ย้อนไป 20 ปีก่อน มีเจ้าพ่อยิงกัน ปัจจุบัน แทบไม่เห็น จังหวัดใหญ่ๆ ที่มีพรรคการเมืองครองเสียงยาวนาน เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี เที่ยวที่แล้วยังเสียบางเขตให้นักการเมืองหน้าใหม่ งานของประจักษ์ ก้องกีรติ บอกว่ายิ่งสังคมไทยเป็นประชาธิปไตย ระบบอุปถัมภ์ยิ่งน้อยลง คนชนบทไม่ได้ต้องให้มาอุปถัมภ์อีก มีแต่พวกคุณนั่นแหละที่หวังพึ่งใครคนนั้นตลอดเวลา

สี่ คนชนบทเลือกตั้งไม่เป็น- คนชนบทมีตัวแทนอย่างน้อย สองคนในสภาตำบล สภาจังหวัด และส.ส.เขตและระดับบัญชีรายชื่อ เลือกตั้งบ่อยมาก ยิ่งระบบเก่าก่อนหน้านี้ยังมีการเลือกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โดยเดิมจะอยู่ในวาระทุก 4 ปี แต่ปัจจุบัน เลือกครั้งเดียว 60 ปี ชาวบ้านบ่นว่าเลือกครั้งเดียว ไม่มีโอกาสถอดถอน และการซื้อเสียงมีมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งแบบเก่า ทำไมเกิดระบบแบบนี้

หลังรัฐประหาร 2549 จะเห็นว่าการขึ้นมาของอำนาจเผด็จการแต่ละครั้งลิดรอนอำนาจประชาชนไปเรื่อยๆ จะยอมให้อำนาจเบ็ดเสร็จมาลิดอำนาจประชาชนไปอีกหรือ อำนาจที่มีจะเท่าเดิมไหม อย่ามาสอนประชาธิปไตยให้คนชนบท คนชนบทรู้ดีกว่าคุณ

ห้า นักการเมืองท้องถิ่นถูกพรรคการเมืองครอบงำ- ถ้าการปฏิรูปไปอยู่ในมือ กปปส. ข้อเสนอเรื่องหนึ่งต้องถูกดึงมาแน่ นั่นคือ การให้มี อปท. แบบใหม่ ที่ไม่มีการเลือกตั้ง สรรหาคนดีจากท้องถิ่นมาเป็นตัวแทนประชาชน ไม่ให้มีนักการเมืองท้องถิ่นถูกครอบงำจากพรรคใหญ่

การเลือกตั้ง อปท. อบจ. ชาวบ้านใช้เกณฑ์เลือกคนในท้องถิ่นต่างจากการเลือกการเมืองระดับประเทศ ชาวบ้านเลือก อบต. อบจ. เหมือนเป็นร้านสะดวกซื้อ มีปัญหาในชุมชน ถนนพัง ร.ร.เสียหาย เรียกใช้ได้ทันที ส่วน ส.ส. พรรคการเมือง เหมือนตลาดสด อาทิตย์นึงไปครั้ง นานๆ ไปที ซื้อนโยบาย ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ชาวบ้านเลือกพรรคเป็นหลัก เมื่อไปทำวิจัยได้คำตอบว่าอยากให้ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ จึงเลือกพรรคนี้ เพราะนิยมชมชอบในนโยบาย ไม่เหมือนคนกรุง เลือกสมาชิกสภาเขต โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่เคยได้ยินว่าเป็นใคร ไม่ต้องสนใจเพราะไม่ต้องพึ่งเขา ไม่จำเป็น การเลือกตั้งระดับชาติแคร์จริงไหม คนที่อยู่มาสองปีกว่ายังไม่ทำอะไร คนกรุงยังเลือกซ้ำเลย คำพูดว่าเอาเสาไฟฟ้ามาตั้งก็จะเลือกมาจากภาคไหน ภาคใต้ คนที่เลือกพรรคๆ หนึ่งแล้วมาเคลื่อนไหว ไม่ได้ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลด้วยซ้ำ ดังนั้น ข้อนี้จึงใช้ไม่ได้ หก คนชนบทไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย ผมคิดว่าที่พูดมาทั้งหมดไม่มีอะไรต้องพูดแล้ว (ฉีกโน้ตทิ้ง)


คำ ผกา: ไม่มีประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าหยุดไว้ก่อนก็คือการล้มล้างประชาธิปไตย

เรามักได้ยินว่าคนไทยยังไม่พร้อม คนชนบทไม่พร้อมเพราะถูกซื้อ-หลอกโดยนักการเมือง จึงต้องปฏิรูป เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ต้องวางกติกาเลือกตั้งให้บริสุทธิ์และเป็นธรรมก่อน ประชาธิปไตยรอได้ เราจะโต้ตอบวาทกรรมนี้อย่างไร

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กลุ่มคนที่ต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็อ้างว่าคนไทยไม่พร้อม ไม่มีการศึกษา ผ่านไป 80 ปี กลุ่มคนที่ไม่ต้องการระบอบนี้ ก็ยังใช้เหตุผลและวาทกรรมแบบเดิมว่า สังคมไทยยังไม่พร้อม นี่เป็นวาทกรรมที่ได้รับชัยชนะในการต่อสู้ทางอุดมการณ์มาตลอด การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา มีการจัดสรรผลประโยชน์ การเข้าถึง การกระจุกตัวของความเจริญ เพื่อให้ชนชั้นกลางกลุ่มนี้เป็นพันธมิตรทางอุดมการณ์กับอนุรักษ์นิยม เพื่อให้ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง

ดอกผลของการพัฒนาได้สร้างชนชั้นกลางที่ปฏิเสธกำพืดไพร่ของตัวเอง แยกตัวอย่างจากชนชั้นร่วมกำพืด ภาษาสำเนียง รสนิยม และล่าสุด นิยามตัวเป็นผู้รู้ทางการเมือง ช่วยกอบกู้ชีวิตเพื่อนร่วมชาติที่ยังโง่อยู่ให้หลุดพ้นจากการครอบงำของนักการเมืองโฉดขายชาติ สิ่งที่ทำคือ หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน มีสิทธิได้มากกว่านี้ในฐานะพลเมือง แต่เราไม่สามารถมีสิทธิได้น้อยกว่านี้ น้อยกว่านี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่คนเท่ากันเสมอภาคกัน เราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ไม่มีจริง เพราะประชาธิปไตยออกแบบมาให้คนดี คนชั่ว ในสังคมไม่ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการฆ่าฟันกัน เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่ผู้พ้นกิเลส เต็มไปด้วยความชั่ว ชัง ดี เลว โลภ ริษยา เมตตา คละเคล้ากัน

หัวใจของประชาธิปไตย คือการประกันสิทธิของพลเมืองเท่ากัน พร้อมกลไกถ่วงดุลสามฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ พร้อมกำหนดช่วงเวลาการอยู่ในอำนาจ ทุกสี่ปี อำนาจจะกลับมาที่พลเมือง เพื่อมีสิทธิเลือกอีกครั้ง หากผิดพลาด เรามีโอกาสเลือกใหม่เสมอ การมีโอกาสเลือกใหม่เสมอ แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยคือระบอบที่ถ่องแท้ในความบกพร่องของมนุษย์ ผิดบ้างถูกบ้าง ทุกครั้งที่เลือกคือประสบการณ์และและการเรียนรู้

ไม่เชื่อว่ามนุษย์เลือกผิดไม่ได้ หรือเรียนรู้ไม่ได้ ไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ที่ติ เพราะประชาธิปไตยคือพลวัตที่ขับเคลื่อนโดยพลเมืองในสังคม ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องสำเร็จรูปที่นักปราชญ์ ไม่กี่ร้อยกำหนดให้ ประชาธิปไตยไม่สามารถลอยมา ไม่มีคำว่าพร้อม เพราะต้องเรียนรู้ ผิดถูกเอง ไม่มีประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าหยุดไว้ก่อนก็คือการล้มล้างประชาธิปไตย ประชาธิปไตย อยากได้ต้องเลือกเอง ทำเอง ต่อรองด้วยตนเองไม่มีใครถากถางประชาธิปไตยให้ใครได้ เพราะมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ทุกคนเลือกใหม่ได้เสมอ ไม่มีใครแย่งสิทธินั้นไปจากเรา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: คำถามสำคัญคือ จะรักษาระบบหรือจะทำลายระบบในนามสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเก่า

อยากจะพูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองครั้งนี้โดยมองย้อนกลับไปกับประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน หากจำกันได้ ปี 2519 มีความแตกแยกทางความคิดทางกรเมืองของกลุ่มต่างๆ อย่างรุนแรงตอนนั้นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นก่อนเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2519 ว่า ในปัจจุบันพูดกันว่า แม้มีการเลือกตั้งเราจะมีรัฐบาลที่มั่นคงไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองมีมากมาย รัฐบาลก็ต้องผสมหลายพรรค ขาดเสถียรภาพ เข้าสภา ส.ส.ก็คงขายตัวกันอีก ที่พูดกันมากกว่าคือจะมีการเลือกั้งจริงหรือ นั่นคือสภาพเมื่อปี 2519  ตอนนั้นอาจารย์ป๋วยหนักใจมาก เพราะประชาธิปไตยเพิ่งหยั่งรากไม่ถึง 3 ปี อาจารย์ป๋วยคิดว่า ในระยะนี้ใครจะเป็นรัฐบาล จะเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวาไม่สำคัญ ข้อสำคัญคือจะเป็นประชาธิปไตยหรือจะคิดล้างประชาธิปไตย นักการเมืองทั้งหลายที่เลื่อมใสในระบบประชาธิปไตย ควรหาวิธีให้โอกาสประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึกในประเทศ แล้วจะซ้ายหรือขวาค่อยว่ากัน

ตอนนั้นสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยของราษฎรเพิ่งได้ปลูกฝังในประเทศไทยหลังเหตุการณ์การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่พอมาปี 2519 คงยังจำกันได้ว่า บรรยากาศตอนนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างพลังฝ่ายซ้ายก้าวหน้ากับฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม ต่อมามีคนชั้นกลางใน กทม. สนับสนุนฝ่ายขวาเพราะกัวกระแสคอมมิวนิสต์จะยึดและเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เรื่องนี้ฝ่ายขวาได้เปรียบเพราะมีสื่อรัฐโจมตีฝ่ายซ้าย ทำให้คนชั้นกลางคล้อยตาม แม้แต่พระเถระผู้ใหญ่ก็ยังพูดได้ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป เหตุการณ์ฆ่ากลางกรุงจึงเกิดขึ้นได้ โดยการป้ายสีว่านักศึกษาแสดงละคนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

การยกคำพูดของอาจารย์ป๋วยมาเป็นอุทธาหรณ์เพื่อแสดงให้เห็นความคล้ายคลึงของเหตุการณ์ในขณะนี้ ในอดีตการเคลื่อนไหวการป้ายแบบนี้จะยุติลงด้วยการยึดอำนาจของคณะอะไรซักอย่าง แต่ในคราวนี้ปัจจัยและองค์ประกอบหลายอย่างไม่เหมือนทั้งปี 2519 และ 2549 ที่สำคัญคือ พลังประชาชนจำนวนมากในชนบทตื่นตัวและจัดตั้งกันมาระดับหนึ่ง ทำให้ต่อรอง เคลื่อนไหวต่อสู้ได้ การตัดสินใจของกำลังส่วนกลางแต่ฝ่ายเดียวไม่สามารถทำได้เบ็ดเสร็จโดยไม่คำนึงถึงการต่อต้านในรอบนอกกรุงเทพฯ  แม้แต่คนชั้นกลางในเมืองก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ เป็นทิศทางเดียวกัน คนส่วนนี้ไม่ใช่พลังเงียบที่จะปลุกตามความต้องการของฝ่ายนำคนเดียวได้ พวกเขามีเครื่องมือสื่อสารส่วนตัวหาข้อมูลได้ตลอดและไม่สามาถรปิดกั้นได้ แต่ถ้าจะมีปัญหาก็คือ การมีสถานีดาวเทียมปลุกระดมความเชื่อ ความเกลียดชังในฝ่ายตน การแบ่งแยกอย่างสุดขั้วของสีและกลุ่มทางการเมืองทำให้เสรีภาพในการเข้าถึงการสื่อสารกลายเป็นการด่า การป้ายสี มากกว่าการเข้าถึงข้อมูล กลายเป็นสนามรบทางความคิดมากกว่าสนามข่าวสารเสรี ประเด็นที่อาจารย์ป๋วยวิเคราะห์และเตือนไว้นั้นน่าสนใจ อาจารย์ป๋วยบอกว่า อย่ามัวหมกมุ่นว่าพรรคไหนจะชนะ พรรคไหนจะเป็นรัฐบาล แต่ควรมุ่งความสำคัญไปที่จะเป็นประชาธิปไตยหรือจะคิดล้างประชาธิปไตย ควรทำให้ระบบมั่นคงเสียก่อน

สภาพการณ์ปัจจุบันก็คล้ายกัน คำถามสำคัญคือ จะรักษาระบบหรือจะทำลายระบบในนามสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเก่า ถ้ามองไปนอกประเทศจะเห็นว่าการเมืองและความขัดแย้งที่เกิดในไทยไม่ได้มีแห่งเดียวในโลก ปรากฏเหตุกาณณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นหลายแห่ง เป็นปัญหาของเสียงข้างมาก ความไม่ถูกต้อง ความไม่พอใจส่วนข้างน้อย ประเทศอย่างอียิปต์เป็นตัวอย่างที่สำคัญ นักวิชาการตะวันตกเรียกสิ่งทำนองนี้ ประชาธิปไตยเกิดใหม่ สำหรับประเทศไทยสิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจัยทำลายประชาธิปไตยไม่ใช่กองทัพ แต่เป็นประชาชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะคนชั้นกลางใหม่ ไม่ใช่จากพรรคการเมืองหรือองค์กรของรัฐ เป็นพลังใหม่ที่ควบคุมยาก ทุกประเทศล้วนพัฒนาไปกับโลกาภิวัตน์ คนชนบทที่ตัดขาดจากโลกการเมืองแบบสมัยก่อนแทบไม่เหลือ การต่อต้านคัดค้านรัฐบาลใดๆ ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน การปิดกั้นไม่ได้ของประชาชนหลากหลายกลุ่มและสถานที่ อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นภาพที่ขัดกันของประชาธิปไตยเกิดใหม่ เพราะเวลาเดียวกันสิ่งเหล่านี้ก็สามารถเกิดพลังต้านทำลายระบบได้เช่นกัน

โดยสรุป ประชาธิปไตยเกิดใหม่มีพลังทั้งบวกและลบ มีพลังทั้งในทางสร้างและทำลาย สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลสร้างนโยบายใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ยาก ภายในระบบแบบนี้ใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดยังไม่เห็นคำตอบ ที่สำคัญยิ่งกว่า การต่อสู้แบบสร้างความเกลียดชัง ดูถูกความเป็นคนของอีกฝ่าย ล้วนเป็นหนทางสู่ความรุนแรง เริ่มจากคำพูดและความคิดก่อนที่จะปะทุกลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพ สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาก็เดินในหนทางและแนวคิดแบบนี้ เราจะปล่อยให้สังคมไทยเดินสู่หนทางเช่นนั้นหรือ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์:อย่าได้มีใครหน้าไหนมาตัดสินใจแทนประชาชนเลย

ไม่คิดว่าวันนี้ต้องมาพูดเรื่องคนเท่ากันเพราะเวลาที่มองไปในที่ที่ชุมนุม ยังไม่พบว่ามีใครเหาะไปชุมนุมได้เลย ความเป็นคนเท่ากัน ไม่จำเป็นต้องอธิบายมาก เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ลงทางทิศตะวันตก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เราผ่านการเจ็บปวด บอบช้ำมาหลายหนในระบอบประชาธิปไตย หลายคนคงสงสัยทำไมเกิดขึ้นอีก คงมีบุคคลจำนวนไม่น้อย ที่เห็นคนไม่เป็นคน มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในคนอื่น ทำไมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงสำคัญ

วันที่ 2 ก.พ. มีความหมายมากกว่าธรรมดา เพราะไม่รู้ว่าหากสูญเสียแล้ว จะยังมีประชาธิปไตยได้อีกหรือไม่ ประชาธิปไตยดีอย่างไร มนุษย์ได้ทดลองระบอบการปกครองมามากแล้ว ปัจจุบัน ประเทศอายระทั้งหลายใช้ระบอบนี้ เป็นระบอบการปกครองเดียวที่ให้มนุษย์ได้เปล่งศักยภาพได้เต็มที่ คนที่บอกว่าคนไม่เท่ากัน นอกจากดูถูกคนอื่นแล้วยังดูถูกตัวเองด้วย

ในการรณรงค์ ฝ่ายหนึ่งบอกว่า หนึ่งคนหนึ่งเสียง อีกฝ่ายบอกว่าคนไม่เท่ากัน แค่นี้ขนาดของหัวใจมันก็ไม่เท่ากันแล้ว มีคนบอกว่าตอนนี้ประเทศถึงทางตันแล้ว อุปมาเหมือนห้องประชุมนี้ มีทางออกธรรมดา แต่มีคนกลุ่มหนึ่งไปปิดประตูแล้วร้องบอกว่าไมมีทางตัน มันสุดจะพรรณาหรือพ้นจากความสามารถทางภาษาของผมที่จะอธิบายความคิดเช่นนี้ได้

วันนี้มีคนบอกว่ายอมรับไม่ได้ ต้องปฏิรูปก่อน เมื่อจะปฏิรูปในส้งคมใหญ่ ต้องมีความชอบธรรมก่อน ถามว่าใครมีความชอบธรรม กปปส. เป็นใคร คนอื่นไม่มีสติปัญญาคิดหรือ ว่าประเทศจะเดินไปแบบไหน ทำไมต้องคุณคนเดียว ทำให้ประเทศไร้ทางออก ยุบสภา ให้นายกฯ ลาออก ให้ ครม.รักษาการพ้นไป เพื่อเกิดสุญญากาศ เสนอให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถามว่าทำไมต้องทำตามคุณ

มีคนบอกว่า นายกฯ ลาออกจากรักษาการได้ เมื่อดูข้อกฎหมาย เมื่อยุบสภา ครม.สิ้นสุดลง โดยที่ยังอยู่ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่า ครม.ชุดใหม่ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประช่าชนจะมาทำหน้าที่ ในกรณีปกติธรรมดา แม้นายกฯ ลาออกโดยไม่ยุบสภา ครม. ทั้งคณะจะพ้นจากตำแหน่ง แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าสภาจะเลือกชุดใหม่มา จะเห็นว่า แม้แต่ลาออกแล้วยังรักษาการ แต่กลับมีคนเสนอให้ลาออกซ้ำ เรื่องนี้ทำให้ย้อนไปถึงความคิดเรื่องเลือกตั้ง คนบางกลุ่มอาจถูกตัดสิทธิ์ได้ เช่น อายุไม่ถึง 18 ปี เป็นคนไร้ความสามารถ วิกลจริต แต่ถ้ามีใครบอกว่าคนอื่นไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แปลว่าจะบอกว่าคนอื่นเป็นคนวิกลจริตหรือ คนที่ชี้ไปที่คนอื่นหรือตัวเองกันแน่ที่วิกลจริต

การเคลื่อนไหวในเวลานี้ก็เห็นภาพว่าต่อเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองหลายหน สุเทพ เทือกสุบรรณ บอกว่าจะนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่สงสัยว่าการไม่ยอมรับการแข่งขันในการเลือกตั้ง ปิดสถานที่ราชการ ระหว่างทางต้องเป็นระบอบอันธพาลธิปไตยแน่ๆ

บัดนี้มีคนกังวลว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะเกิดหรือไม่ เนื่องจากนักการเมืองฝ่ายค้านพรรคใหญ่ที่สุดลงมติแล้วว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ เคยทำมาแล้วสองครั้ง คือปี 2495 และ 2549 คนร่วมสมัยคงเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นตามมา สุดท้ายทหารออกมายึดอำนาจเพื่อไม่ให้เกิดเลือกตั้ง บอกว่า กกต.ไม่เป็นกลาง วันนี้ไม่ลงเลือกตั้งอีก ไม่ทราบว่าเพราะอะไร พรรคการเมืองพรรคนี้บอกว่า 2549 กกต.ไม่เป็นกลาง มีความพยายามทำให้พ้นจากตำแหน่ง ไม่ให้ประกันตัว กกต. เดือนที่แล้ว ศาลฎีกาเพิ่งพิพากษายกฟ้องเพราะบอกว่าผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง ถามว่าเกิดความรับผิดชอบอย่างไรต่อกรณีนี้ มาวันนี้ไม่ลงเลือกตั้งอีก ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง แปลว่าคิดจะทำลายระบบหรือ คิดว่าระบบที่เป็นอยู่ไม่สามารถอยู่กันได้ แล้วไม่ถามคนส่วนใหญ่หรือว่าคิดอย่างไร

การบอยคอตเลือตั้งไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น การจัดการเลือกตั้งนั้นจะเกิดจาก กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ถ้าบอกว่าการเลือกตั้งโกงทั้งสิ้น ถามว่าคุณต้องชนะเท่านั้นหรือ การเลือกตั้งถึงจะบริสุทธิ์ คนที่ไม่รักในประชาธิปไตย ต่อให้เอาท้าวมาลีวราชมาจัดการเลือกตั้ง ยังบอกว่าไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรมอยู่ดี คุณไม่ต้องการแก้แบบสันติวิธี

มีการบอกว่า รัฐบาลขาดความชอบธรรม เพราะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เราต่างก็เห็น แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ไม่ใช่คุณที่จะมาบอกและชี้ ถ้าไม่ชอบธรรม ก็ไปรณรงค์ให้ประชาชนเห็น คนส่วนใหญ่จะไม่เลือกเอง วิธีขับไล่รัฐบาลคือ ไปเลือกพรรคที่ชอบก็จบแล้ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในเวลานี้ ที่สุดแล้วมีเหตุผลที่มากไปกว่านั้น หลายคงทราบว่าการเคลื่อนไหวของสุเทพ หน้าฉากหลังฉากเป็นคนละอย่างกัน เพราะข้อเสนอไม่ตอบโจทย์ปฏิรูปการเมืองไทย โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่ต้องการการปฏิรูป แต่มีเป้าหมายแฝง บอกเพียงแต่ตั้งสภาประขาชชน แล้วจะปฏิรูปประเทศต่อ แต่ไม่มีใครรู้ว่าไปทางไหน ไม่แยแสประชาชนอีกสี่สิบกว่าล้านคน ที่รอการเลือกตั้ง

ทำไมม็อบนี้มีผลต่อสังคมไทย มองว่านี่เป็นปัญหาอุดมการณ์ ประชาธิปไตย เวลานี้ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยและปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ความขัดแย้งวันนี้ได้เลยผ่านเรื่องของทักษิณมาสู่เรื่องที่ว่าเราจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

ในโลกสมัยใหม่ เราไม่สามารถปฏิเสธระบอบนี้ได้อีก ในโลกที่ตระหนักสิทธิ ไม่มีใครปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือได้อีก ต้องเดินตามประชาธิปไตย เคารพมนุษย์ ให้มีศักยภาพเต็มที่ เพื่อคนได้เปล่งประกายความสามารถของตัวเอง บ้านเมืองจะก้าวหน้า ไม่ถูกปิดกั้นหรือกะลาครอบไว้

คนบางจำพวกกำลังประดิษฐ์กะลารูปขวาน เพื่อใช้ครอบประเทศ ถ้าทำสำเร็จ เมื่อมองจากอวกาศลงมา จะพบว่าประเทศต่างๆ มีแม่น้ำ ภูเขา ธรรมชาติ มีการแก้ปัญหา แต่มีประเทศหนึ่งจะถูกครอบด้วยกะลา เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องไม่ยอมให้ประเทศตกอยู่ในะลา ต้องลุกมาบอกว่าคนเหมือนกัน เสียงเหมือนกัน ถูกผิดเป็นการตัดสินใจของเราเอง อย่าได้มีใครหน้าไหนมาตัดสินใจแทนประชาชนเลย

ฝากเรียนรัฐบาลรักษาการ การเลือกตั้งกำหนดต้องเดินหน้า พรรคที่ไม่พร้อมลงเลือกตั้ง ต้องให้โอกาสไปปฏิรูปพรรคตัวเอง ให้สำนึกประชาธิปไตยซึมลงไปในทุกอณู ให้โอกาสในการร่วมปฏิรูปการปกครอง ปฏิรูปการเมืองไทยทุกหมวด รวมถึงกองทัพ ภารกิจเบื้องหน้า หากมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ต้องไม่ทำงานนโยบายปกติธรรมดา ไม่ว่าต้องการหรือไม่

ชะตากรรมของประเทศต้องคิดถึงเชิงโครงสร้าง ผู้ลงสมัครไม่ใช่แต่จะคิดชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อมีเลือกตั้งจะปฏิรูปประเทศต่ออย่างไรให้ประชาธิปไตยที่เจริญ มั่นคง และยั่งยืน ฝากถึงสถาบันชั้นนำ สถาบันจารีต องค์กรอิสระ ศาล อย่าได้ฝืนกระแสของโลก นี่เป็นคำเตือนจากใจจริงของผม คุณไม่สามารถทำให้คนที่ตื่นแล้ว กลับไปมืดบอดได้อีกต่อไป คุณไม่มีทางเอาพวกเราทั้งหมดออกไปจากประเทศนี้ได้ คุณอยากเห็นการฆ่ากันแล้วนับหัวหรือว่าสุดท้ายใครเหลือมากกว่ากัน หวังว่าชนชั้นนำเหล่านั้นจะตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง แม้ความหวังนี้จะริบหรี่ราวแสงหิ่งห้อย ถ้าไม่เชื่อ เราจะอยู่ตรงนี้ เมื่อถึงเวลาทุกคนจะลุกขึ้นมาต่อสู้พร้อมๆ กัน เราจะไม่ยอมให้ใครพรากระบอบประชาธิปไตยไปจากเราได้อีก

 


ช่วงถาม-ตอบ ต่อคำถามว่า หากไม่มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 จะทำอย่างไร

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เสนอว่าถ้าวันที่ 2 ก.พ. ไม่มีการเลือกตั้งให้นัดกันในวันที่ 2 ก.พ. ออกมาทำให้เกิดสัญลักษณ์กากบาททั่วประเทศ เพื่อบอกว่าเราเลือกการเลือกตั้ง

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ย้ำว่า ขณะนี้ รัฐบาลต้องยืนยันว่ามีการเลือกตั้งไม่ว่าจะมีการขัดขวางการรับสมัคร เผาคูหา ก็ต้องทำ ประชาชนยืนยันว่าต้องมี รัฐบาลก็ต้องทำให้มี

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า หากจะไม่มีการเลือกตั้ง ก็เพราะภัยธรรมชาติ แต่ถ้าต้องเลื่อนจากการกระทำของมนุษย์ คือขัดขวางการเลือกตั้ง พรรคมีสิทธิไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง แม้ไม่ว่าสมควร แต่พรรคไม่มีสิทธิขัดขวางการเลือกตั้ง เพราะต้องให้คนอยากเลือกได้เลือก ไม่เช่นนั้นจะเกิดสภาพแบบนี้เอาพรรคการเมืองเดียวล้มการเลือกตั้งทั้งหมด เหมือนเด็กเอาแต่ใจ เอาไว้ไม่เกิดการเลือกตั้งค่อยว่ากัน แต่ยืนยันว่าต้องมี ทุกคนต้องยืนยัน และอย่าไปกังวลว่าไม่มี ถ้าตอนนี้คนบอกไม่มี เดี๋ยวไม่มีจริงๆ ต้องบอกว่ามี ถึงจะมี

คำ ผกา กล่าวว่า ถ้าวันที่ 2 ก.พ. ไม่มีการเลือกตั้ง สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือจุดจบของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีพรรคที่ตั้งขึ้นมายาวนานที่สุดไหนบอยคอตการเลือกตั้งได้ถึงสามครั้ง หมดสภาพความเป็นนักการเมือง ไม่มีเครดิตกลับมาในเวทีการเมืองไทยอีก สอง คนที่พยายามล้มการเลือกตั้ง ขอให้ย้อนไปดูว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อปี 2490 ขอให้นึกถึงลูกหลานของคุณในยี่สิบปีข้างหน้าที่จะโตใต้ระบอบอำมหิต อีกยี่สิบปีข้างหน้า ลูกหลานของคุณจะลุกออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และวันนั้น ปลายกระบอกปืนจากระบอบอำมหิตที่คุณสร้างขึ้นมาจะหันมาสู่ลูกหลานของคุณ 

เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า เงื่อนไขที่พวกเขาไม่รีบให้จัดการเลือกตั้ง ไม่ใช่เพราะเขาคิดว่ามันไม่ใช่เป้าหมายสำคัญที่สุด แต่สำหรับพวกเขา ประเด็นที่ต้องการไม่ให้มีการเลือกตั้ง ก็เพราะต้องการอำนาจสมบูรณ์ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเท่ากับรวบอำนาจสมบูรณ์เหนือแผ่นดินอยู่บนมือของพวกเขา ถ้าเราเจออำนาจสมบูรณ์ที่ไม่ใช่ตัวแทนของเรา เราไม่กลัว มันเป็นอำนาจของเราโดยชอบที่ถูกปล้นไป จะทวงคืนด้วยอำนาจของเราที่ทำได้ สู้กันครึ่งปีก็สู้ครึ่งปี สู้กันสิบปีก็สู้สิบปี   การได้มาซึ่งประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ถ้าเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นไปได้ อย่าให้มีคนไทยต้องตายเพราะการต่อสู้ของเราแม้แต่คนเดียว



 00000

 

คำประกาศเจตนารมณ์

คนเท่ากัน

ประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นที่ “คนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมือง”
เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ได้แปลว่า ต้องคิดเหมือนกัน และยอมรับนิยามความดีและคนดีของคนบางกลุ่มเป็นมาตรฐานเดียว

เสมอภาคเท่าเทียมกัน แปลว่า ยอมรับว่าคนอื่นที่คิดต่างจากเรา “คิดเองเป็น” สามารถมีเหตุผล เห็นข้อเท็จจริง ตระหนักเข้าใจผลประโยชน์ของตนเองเป็น และฉะนั้นจึงสามารถมีความคิดทางการเมืองต่างจากเราได้ และคัดค้านปฏิเสธความคิดเห็นของเราได้เป็นธรรมดา

ถึงจะแตกต่างขัดแย้งกันแต่เราสามารถหาทางออกทะเลาะถกเถียงต่อรองรอมชอมกันอย่างสันติได้ ตราบเท่าที่เรายอมรับว่าคนอื่นที่คิดต่าง มีผลประโยชน์ต่างจากเรานั้น คิดเองเป็นเหมือนเรา สามารถมีเจตนารมณ์ทางการเมืองของตัวเองเหมือนเรา และฉะนั้นจึงต้องมีสิทธิพลเมือง อำนาจทางการเมืองและศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกับเรา

ประเทศไทยที่มีอนาคตต้องการระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรงมั่นคงพอจะประคองรองรับคนไทยที่คิดเห็นแตกต่างขัดแย้งกันทางการเมืองให้อยู่ด้วยกันและทะเลาะกันไปพลางอย่างสันติได้ โดยผ่านเหตุผลข้อเท็จจริงการออกเสียงแสดงมติตามกฎเกณฑ์กติกาเสรีประชาธิปไตยสากล ที่เคารพมติเสียงข้างมาก พร้อมกับปกป้องสิทธิเสรีภาพในอันที่จะเห็นต่างของบุคคลและเสียงข้างน้อยไปพร้อมกัน

ระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางจะลงหลักปักฐานอย่างเข้มแข็งมั่นคงได้ถ้าเราไม่เริ่มจากการยอมรับเสียก่อนว่า

“คนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการเมือง”

ขั้นต่ำที่สุดของประชาธิปไตยคือสิ่งนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net