SEAPA แนะเร่งสืบสวนกรณีสื่อถูกทำร้าย

องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการยกระดับความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวที่รายการข่าวการชุมนุม ระบุชัดเจนว่าสื่อตกเป็นเป้าและมีการเว้นโทษแก่ผู้กระทำผิด

23 ธ.ค.2556  จากกรณีมีการทำร้ายร่างกายสื่อที่เข้าไปทำข่าวในการชุมนุมของ กปปส. วานนี้และวันนี้ องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการยกระดับความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวที่รายการข่าวการชุมนุม

"เราขอย้ำว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ใด การทำร้ายผู้สื่อข่าวก็ไม่ชอบธรรม หรือควรยอมรับ

"การวิจารณ์สื่อไม่ควรเกิดขึ้นในรูปแบบของความรุนแรง เพราะสื่อนั้นมีหน้าที่รายงานข่าวต่อสาธารณะในวงกว้างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้" กายาทรี เวนกิทสวารัน ผู้อำนวยการบริหาร SEAPA กล่าว

ผู้อำนวยการบริหาร กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าสื่อตกเป็นเป้า และมีการเว้นโทษ SEAPA ขอเรียกร้องให้มีการสืบสวนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรมต่อการทำร้ายสื่อ รวมถึงผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลต้องสื่อสารไปยังผู้สนับสนุนด้วยว่าต้องไม่คุกคามหรือทำร้ายสื่อ

ทั้งนี้ SEAPA ระบุว่า กรณีทำร้ายร่างกายสื่อ วานนี้เกิดขึ้นกับสื่อสามราย โดยสองรายเป็นผู้สื่อข่าวหญิง โดยผู้ชุมนุมกล่าวหาว่าการรายงานข่าวการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์มีอคติ

โดย เพ็ญพรรณ แหลมหลวง ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย สื่อของรัฐ ซึ่งลงจากรถรายงานข่าว ถูกผู้ชุมนุมล้อม หลังจากมีชายคนหนึ่งตะโกนว่า "ขี้ข้าทักษิณ" ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวกล่าวขอโทษผู้ชุมนุม พร้อมยืนยันว่าไม่ได้รายงานจำนวนผู้ชุมนุม เธอถูกสาดน้ำใส่และถูกชายคนหนึ่งดึงและต่อยที่แขนซ้ายเพื่อป้องกันไม่ให้เธอออกจากพื้นที่ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ขณะที่ผู้ช่วยช่างภาพถูกผู้ชุมนุมผลักและเกือบถูกทำร้ายหากไม่มีการห้ามปราม รถถ่ายทอดสดถูกโจมตีขณะพวกเขาออกนอกพื้นที่ โดยเพ็ญพรรณได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิตแล้ว

อีกเหตุการณ์หนึ่ง วารุณี ซื่อสัตย์สกุลชัย ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ของเอกชนเกือบถูกผู้ชุมนุมทำร้ายหลังรายงานข่าวจากราชดำเนิน แต่เธอโชคดีที่หลบไปได้ทัน

และล่าสุดวันนี้ วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้สื่อข่าวจากช่องไทยพีบีเอส ฟรีทีวี ถูกโห่ และเกือบถูกประชาทัณฑ์โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเนื่องจากเขาไปรายงานข่าวการรับสมัครลงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ที่ศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ข่าวรายงานว่า เขาต้องซ่อนตัวอยู่ในรถของทีวีอีกช่อง ด้านแกนนำผู้ชุมนุมระบุว่าผู้ชุมนุมเข้าใจว่าวราวิทย์เป็นผู้สมัครพรรค เนื่องจากแต่งกายเป็นทางการและไม่ได้ใส่ปลอกแขนสีเขียวที่ออกโดยสมาคมนักข่าวฯ ขณะที่ทีมข่าวทีวีและหนังสือพิมพ์หลายสิบคนติดอยู่ในอาคารกีฬาฯ สถานีตำรวจดินแดง และดีเอสไอ หลังสถานที่ดังกล่าวถูกยึดโดยผู้ชุมนุม

SEAPA ระบุว่า นับแต่การชุมนุมของ กปปส. 2 เดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์คุกคามหรือขัดขวางการทำงานของผู้สื่อข่าวโดยผู้ชุมนุมหรือการ์ดเป็นระยะ ผู้ชุมนุมบุกไปสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 6 แห่ง 2 ครั้ง เพื่อประท้วงการรายงานข่าวการชุมนุมซึ่งพวกเขามองว่ามีอคติและรายงานไม่ครบถ้วน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท