รายงาน : รวมปรากฏการณ์ ‘เงิบ’ ระแวงสักนิด ก่อนคิดจะแชร์

ช่วงการเมืองร้อนแรง เฟซบุ๊กถูกใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นช่องทางปลุกเร้าที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองร้อนแรงตามไปด้วย นับเป็นการสู้รบทางด้านข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ มีเป็นจำนวนมาก กระจายตัวอย่างรวดเร็ว และยากที่จะคาดถึงความกว้างไกลของมัน เพราะยอดแชร์นั้นเริ่มตั้งแต่หลักพันจนถึงหลายหมื่น  

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะสงครามข้อมูลข่าวสารคือ การบิดเบือน ทั้งโดยจงใจและโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น “ภาพเก่า เล่าใหม่” “ภาพอย่าง เรื่องอย่าง” ประชาไทจึงรวบรวมปราฏการณ์นี้บางส่วนของทุกฝั่งฝ่ายการเมืองมาเสนอ

บางส่วนเป็นความคิดสร้างสรรค์ (?) เพื่อความขบขำ แต่บางอันก็ขำไม่ออกเพราะกลายเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังโดยข้อมูลเท็จ ซึ่งน่าจะสร้างปัญหาให้กับการต่อสู้ทางการเมืองของไทยไปอีกนานพอควร

 

ความเงิบระดับตำนาน “โกงกันจนหยดสุดท้ายค่ะ”

ในโลกเฟซบุ๊ก ปรากฏการณ์ที่เมื่อมีใครโพสต์ข้อมูลใดๆ แล้วคนร่วมแชร์ ร่วมก่นด่า ออกตัวล้อฟรีไปแล้วในภายหลังมีผู้ตรวจสอบพบว่าข้อมูลนั้นๆ ไม่เป็นความจริง เราอาจเรียกอาการนี้ว่า “เงิบ”

ความเงิบระดับตำนานอาจต้องยกให้เพจ “กองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ” ที่มียอด like กว่า 30,000 บริหารโดย admin ชื่อ “พี่อ๋อย” สาวใหญ่ประกาศจุดยืนอย่างมั่นคงว่าจะต่อต้านระบอบทักษิณอย่างแข็งขัน แม้จะมีผู้กล่าวหาว่าเพจนี้เป็นเพจแดงแอบเนียน หรือเป็นเพจอำบ้าง แต่พี่อ๋อยและทีมงานก็ไม่ละทิ้งที่จะชี้แจงหรืออธิบายกับผู้สงสัยใจจุดยืนของเธอ

ผลลงานที่สร้างชื่อของเธอคือโพตส์เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา แฉการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้ายที่มีรายละเอียดการอนุมัติงบประมาณกว่า 557,517 ล้านบาทก่อนยุบสภา ในภาพนั้นมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีนั่งประชุมหัวโต๊ะ ส่งผลให้มีผู้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลของยิ่งลักษณ์

โพสต์นี้มียอดแชร์จำนวนมาก ทั้งที่แชร์โดยเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงพร้อมกับวิพากษณ์วิจารณ์รัฐบาลนี้อย่างหนัก ทั้งที่แชร์ไปเพื่อเสียดสีหรืออำต่อหรือประจานการโพสต์ของเพจนี้

ปรากฏมีเพจดังๆ และเซเล็บที่แชร์หรือนำเอาภาพนี้ไปโพสต์ต่อด้วยความเชื่อว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ไม่น้อย เช่น เพจของ กปปส. , มัลลิกา บุญมีตระกูล, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และเจ เจตริน วรรธนะสิน จากการตรวจสอบล่าสุด เหลือเพียงเพจเจิมศักดิ์(ดู) เท่านั้นที่ยังไม่มีการลบโพสต์นี้ แม้จะมีผู้ไป comment ชี้แจงว่าไม่ใช่การกระทำของรัฐบาลนี้ก็ตาม

จากการตรวจสอบข้อมูลของโพสต์เจ้าปัญหานั้น พบะว่าเป็นการอนุมัติงบประมาณในการประชุมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2554 ก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภา (ดู ไทยรัฐออนไลน์, 'ครม.มาร์ค'อนุมัติงบ ข้ามวันข้ามคืน กห.อู้ฟู่ 6 เรื่องฉลุย) ซึ่งเพจกองทัพประชาชนฯ ก็มีการโพสต์ยอมรับผิดและขอโทษต่อความผิดดังกล่าว พร้อมระบุว่ามีเซเลบคนดังท่านใดบ้างที่นำโพสต์ดังกล่าวไปแชร์หรือโพสต์ต่อในวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ด้วย 

โพสต์เจ้าปัญหาของเพจกองทัพประชาชนฯ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.

เพจ กปปส. เพจมัลลิกา บุญมีตระกูล เพจเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และเพจ เจตริน วรรธนะสิน

“(OH2)7H2O ค่ะ!” : รัฐบาลหมดความชอบธรรมใช้สารเคมีสีม่วงฉีดใส่ผู้ชุมนุม

ผลงานของเพจกองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณมีอย่างต่อเนื่อง อีกครั้งหนึ่งพี่อ๋อยและทีมงานแอดมินออกมาแฉว่า น้ำสีม่วงที่ตำรวจฉีดใส่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนั้นเป็นสารเคมีที่ชื่อ  “ไดไฮโดรเจนมอนอกไซด์เฮปตะไฮเดรต” (DHMO) หรือมีสูตรทางเคมีว่า (OH2)7H2O โดยอ้างว่ามีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังพุพอง หลายคนบาดเจ็บถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล รวมทั้งยืนยันด้วยว่า “หยดลงหิน หินมันยังกร่อนเลย”

ปรากฏมีข่าวด้วยว่า เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดมีแพทย์กลุ่มหนึ่งเข้าร้องเรียนประเด็นนี้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  

นอกจากนี้เว็บดราม่าแอดดิค เว็บศูนย์รวมเรื่องราวความดราม่าในโลกออนไลน์ได้บันทึกไว้ด้วยว่า ถึงขนาดมีนักวิชาการระดับรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็เชื่อไปด้วย

อีกโพสต์เจ้าปัญหา เมื่อ 3 ธ.ค.56 โดยเพจ กองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา น.พ.วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในฐานะหัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุถึงผลการตรวจตัวอย่างของเหลวที่ร่วมกับวชิรพยาบาลเก็บจากผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาที่มีการปล่อยสารสีม่วงออกมานั้นยืนยันว่า “ไม่ใช่สารเคมี”

พร้อมๆ กันนั้นชาวเน็ตและเว็บดราม่าแอดดิคก็ออกมาเฉลยว่าสูตรเคมีดังกล่าวที่เพจกองทัพประชาชนฯ ยกมานั้น แท้จริงแล้วมุขที่ชาวต่างประเทศใช้อำชาวโลก เพราะเป็นสูตรของน้ำเปล่าธรรมดา

 

มัลลิกากับภาพมวลมหาประชาชน  (แต่เป็นวันที่ 5 ธ.ค.55)

หลังเหตุการณ์นัดชุมนุมใหญ่ของสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับหมาเข่ง ในวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ค่ำวันนั้นเฟซบุ๊กแฟนเพจรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มัลลิกา บุญมีตระกูล ได้โพสต์ภาพการชุมนุมของคนจำนวนมากที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมกับข้อความว่า “ภราดรบอก 15,000 ถึงว่าเจรจาภาคใต้ไม่สำเร็จ ..มั่วนี่เอง” ส่งผลให้มีผู้กดถูกใจและแชร์ต่อจำนวนมาก(ขณะนี้โพสต์ดังกล่าวถูกลบไปแล้ว)

อย่างไรก็ตามมีผู้เข้าไปแย้งว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์วันที่ 24 พ.ย. แต่เป็นเหตุการวันที่ 5 ธ.ค.55 เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนมารับเสด็จ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ในวโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา (ดูภาพที่ ภาพแห่งความประทับใจ)

ภาพเปรียบเทียบจากเพจ “วิวาทะ” ซึ่งบันทึกไว้เมื่อวันที่ 24 พ.ย.56 

โพลล์สำรวจความเป็นผู้นำสูงปรี๊ดของยิ่งลักษณ์เทียบอภิสิทธิ์

ประมาณเดือน พ.ย. ที่ผ่านมามีการแชร์ภาพกราฟฟิคแสดงผลสำรวจของเอแบคโพลล์ เรื่องความเป็นผู้นำระหว่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่ายิ่งลักษณ์ได้รับการยอมรับในความเป็นผู้นำมากกว่าอภิสิทธิ์เพิ่มขึ้นทุกด้าน จนกระทั่งวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา เอแบคโพลล์จึงออกมาชี้แจงว่าเป็นภาพตัดต่อ ไม่ใช่ผลสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ (ดู เอแบคโพลล์แจงภาพตัดต่อโพลล์ความเป็นผู้นำ 'อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์')

ภาพตัดต่อจากบล็อก Go6TV ระบุว่าเป็นผลสำรวจของเอแบคโพลล์ในปี 2556 โดยเพจเสรีไทยได้สืบค้นและพบว่าภาพจากบล็อก Go6TV เป็นการตัดต่อมาจากการสำรวจเมื่อปี 2554
ที่มาของภาพ:
ขบวนการเสรีไทยเฟซบุ๊ค 

เมื่อ 6 ศพวัดปทุม ปี 53 กลายเป็นนักศึกษารามในเหตุปะทะ ปี 56

ช่วงปลายเดือน พ.ย.เป็นต้นมา ก่อนเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาล นักศึกษารามคำแหง กับเสื้อแดงที่ชุมนุมที่ะราชมังคลากีฬาสถาน ก็ปรากฏภาพในลักษณะ “ภาพเก่า เล่าใหม่” หรือการนำภาพเหตุการณ์ในอดีตมาโพสต์ใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อฝ่ายตนและทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดหนักจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกัน หลังจากคืนวันที่ 30 พ.ย. ต่อเช้าวันที่ 1 ธ.ค. ในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการโพสต์แชร์ภาพ คลิป เรื่องเล่าต่างๆ จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือภาพที่เพจ “กองทัพนิรนาม” ซึ่งมียอด like กว่าแสน ได้โพสต์ภาพผู้เสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมวนาราม จากการสลายการชุมนุม 19 พ.ค.53 พร้อมคำบรรยายภาพที่อธิบายว่าเป็นกลุ่มของตนเองซึ่งเสียชีวิตถึง 6 ศพ ทั้งที่ในเหตุการณ์ปะทะที่ย่านรามคำแหงมีผู้สียชีวิต 5 คน ประกอบด้วยนักศึษา 1 คน ผู้ชุมนุมเสื้อแดง 3 คน และวัยรุ่นไม่ทราบฝ่าย 1 คน

อย่างไรก็ตามเมื่อเพจดังกล่าวโพสต์ไปประมาณ 10 นาที มีคนกดไลค์และแชร์ไปจำนวนมาก รวมทั้งมีคนเข้าไปโต้แย้งว่าภาพดังกล่าวเป็นคนละเหตุการณ์ หลังจากนั้นไม่นานเพจนี้ก็ลบโพสต์ ส่งผลให้ผู้ที่แชร์ภาพต่อไปในตอนนั้นก็จะถูกลบไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ copy ภาพและข้อความไปโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กตัวเองก็ยังคงภาพและข้อมูลนี้อยู่ ทำให้มีการกระจายต่อเนื่องต่อไป แม้เพจใหญ่อย่าง “กองทัพนิรนาม” นี้จะลบโพสต์นี้ไปแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมฯ นั้น มี 1 ศพ ที่เป็นบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นั่นคือ “อัฐชัย ชุมจันทร์” ซึ่งทั้ง 6 ศพในภาพ ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้วว่า วิถีกระสุนปืนยิงมาจากทหาร (อ่าน ศาลสั่ง 6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร-ไม่มีชายชุดดำในที่เกิดเหตุ)

ภาพการโพสต์รูป 6 ศพวัดปทุมฯ ที่ถูกยิงเมื่อ 19 พ.ค.53 ของเพจกองทัพนิรนาม เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมอธิบายในทำนองเป็นภาพการเสียชีวิตของฝ่ายตนเอง (ปัจจุบันลบไปแล้ว)

นักศึกษารามตาย 4 ทำไมฟรีทีวีไม่เสนอข่าว

นอกจากภาพ 6 ศพวัดปทุมที่ถูกนำมา rerun แล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตของนักศึกษาก็เป็นประเด็นที่สร้างและทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี โดยช่วงแรกของการรายงานข่าวสื่อมวลชนกระแสหลักจะรายงานยอดผู้สียชีวิต 4 คน (ยังไม่รวมที่อีก 1 รายที่ถูกเผาในรถบัสตอนสายวันที่ 1 ธ.ค.) และเสนอตัวอย่างลงรายละเอียดว่าผู้เสียชีวิตเป็นใครเพียง 1 คน คือ นายทวีศักดิ์ โพธิแก้ว ซึ่งเป็นนักศึกษารามคำแหง แต่ไม่ได้รายงานด้วยว่ามีผู้ชุมนุมฝ่ายเสื้อแดงเสียชีวิตถึง 3 คน ส่งผลต่อความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกระทำต่อนักศึกษา แม้ภายหลังจากมีการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นใครบ้างก็ตาม

แม้ต่อมาข้อมูลในสื่อหลักทั่วไปจะคลี่คลายแล้ว แต่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กยังคงมีการโพสต์ว่ามีนักศึกษาเสียชีวิต 4 คน เช่น เพจค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพจ youlike south - คลิปใต้หรอยๆ ฯลฯที่เผยแพร่รายชื่อนักศึกษาเสียชีวิต คือ นายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว นายฉัตรชัย ดำประสงค์ นายเสน่ห์ จันเกิด และ นายจีระพงศ์ ครชาตรี มีผู้แชร์ข้อมูลต่อเกือบหมื่นครั้ง

การโพสต์ของเพจดังกล่าวส่งผลให้มีผู้กดไลค์และแชร์จำนวนมากทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเสียชีวิตหมดทั้ง 4 คน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเปรียบเทียบกับรายชื่อของศูนย์เอราวัณล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. พบว่ารายชื่อผู้เสียชีวิตที่ตรงกันว่าเสียชีวิตนั้นมีเพียง 1 ราย คือ นายทวีศักดิ์ ขณะที่ นายฉัตรชัย ดำประสงค์ นั้นเป็นผู้บาดเจ็บ และปรากฏว่าเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. เวลา 11.00 น. เนชั่น รายงานว่าได้เดินทางมากับ พล.ต.อ.เอก อังศนานนท์ รองผบ.ตร. เพื่อมาร่วมตัวสอบที่เกิดเหตุร่วมกับสื่อมวลชน โดยนายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า เขาพร้อมเพื่อนอีก 3 คนพบเห็นผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ เขาถูกลูกหลง ถูกกระสุนยิงเข้าบริเวณขาขวา โดยกระสุนมาจากฝั่งตรงข้ามหลังรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเพื่อนของเขาก็ถูกยิงได้รับบาดเจ็บแต่ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว ขณะที่ นายเสน่ห์ จันเกิด และ นายจีระพงศ์ ครชาตรี ศูนย์เอราวัณรายงานตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.แล้วว่าได้รับบาดเจ็บ โดยเสน่ห์ จันทร์เกิด ถูกกระสุนที่แขนขวา 1 นัด ส่วนนายจีระพงศ์ ครชาตรี ซึ่งศูนย์เอราวัณรายงานว่านามสกุล คลองชาตรีพงศ์ นั้น ถูกกระสุนที่ขาขวาเหนือเข่า 1 นัด

 

พลทหารเสื้อแดงตายกลายเป็นคนมาช่วย นศ. กับภาพที่ไทยคม ปี 53

เหตุปะทะที่ย่านรามคำแหง หนึ่งในผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงคือ พลทหารธนสิทธิ์ เวียงคำ แต่ถูกผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “โบว์ จ้า” ระบุว่าพลทหารธนสิทธิ์ เวียงธรรม เสียชีวิตเพราะฝีมือกลุ่มคนเสื้อแดง พร้อมทั้งนำภาพเหตุการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคม ซึ่งเป็นการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมเสื้อแดงกับเจ้าหน้าที่ทหาร (กรณีผู้ชุมนุมพยายามเข้าไปภายในรั้วสถานีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเชื่อมสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีเพิล ชาแนล หรือ พีทีวี เมื่อวันที่ 9 เม.ย.53) มาโพสต์ประกอบคำอธบายการเสียชีวิตของพลทหารธรรมสิทธิ์ (ดูภาพเหตุการณ์จริงวันที่ 9 เม.ย.53 ที่ ประมวลภาพเหตุการณ์ ปฏิบัติการสายฟ้าแล่บ "เสื้อแดง" ยึดสถานีดาวเทียมไทยคมใน 15 นาที !! (โดยเฉพาะภาพที่ 39) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1270807997)

โพสต์โดยผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า "โบว์ จ้า"

(ด้านซ้ายคือภาพที่สถานีไทยคมปี 2553 ภาพขวาคือภาพเพื่อนทหารมาร่วมงานศพ พลทหารธนสิทธิ์ )
จากการตรวจสอบเมื่อววันที่ 6 ธ.ค.โพสต์ดังกล่าวได้ถูกลบไปแล้ว (url : 
https://www.facebook.com/pc.bouety/posts/605643826150585)
 

นอกจากนี้ “โบว์ จ้า” ยังเผยแพร่ภาพสวดอภิธรรมศพพลทหารดังกล่าวนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นภาพเดียวกับภาพที่ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊ก ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ที่เข้าร่วมงานสวดอภิธรรมศพเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา 

น้องไอซ์ลูก ด.ต.ณรงค์ ไม่ใช่มวลชน คปท.

จากเหตุปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 ในนั้นคือ ด.ต.ณรงค์ ปิติสิทธิ์ ผบ.หมู่ สน.ตลาดพลู แต่ในค่ำวันเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจ กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นเพจต่อต้านรัฐบาลและการเลือกตั้งครั้งนี้ โพสตภาพเด็กชายคนหนึ่งสวมเสื้อสีเลือง กำลังดูศพ ซึ่งเพจดังกล่าวระบุว่า "ขอแสดงความไว้อาลัยให้กับมวลชนคปท.ขอให้วิญญานของท่านไปสู่สุขคติ ภารกิจที่เหลือพวกเราจะสานต่อเอง พวกทรราชย์จะต้องไม่มีแผ่นดินอยู่ เราขอสัญญา” (ซึ่งลบโพสต์ไปแล้ว)

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบเด็กชายคนดังกล่าวคือ น้องไอซ์ วัย 5 ปี เป็นบุตรชายของ ด.ต.ณรงค์ ซึ่งเพจ ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(Policespokesmen) โพสต์ตั้งแต่ เวลา 16.57 น. 26 ธ.ค. พร้อมระบุว่าเป็นภาพขณะนางณัฐฐราฯ ภรรยา ด.ต.ณรงค์ฯ พร้อมลูกชาย น้องไอซ์ วัย 5 ปี ขณะเข้ามาดูศพที่ รพ.ตำรวจ พร้อมกับกล่าวคำแรกแด่สามีว่า "กลับมา กลับมา" .... และน้องไอซ์ได้เรียกถามว่า "พ่อหนู่อยู่ไหน"

เพจ ‘Nation Channel’ แดงอุดรกับภาพยึดปืน จนท.ที่รัฐสภาปี 53 

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ Nation Channel แชร์ภาพและข้อความว่า "แดงอุดรลุกฮือประกาศ ไม่ยอมรับว่ารัฐบาลยุบสภาแล้ว ลั่นพร้อมสู้ตาย!!! แล้วไอ้ตะกวดที่ยืนข้างๆ มึงมาทำอะไรมิทราบ ความผิดซึ่งหน้ายิงปืนขึ้นฟ้า มึงยืนเป็นหมาเหงาเลย ไอ้เวรเอ้ย !! CR.เรื่องและภาพโดย กองทัพนิรนาม" (ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าวถูกลบไปแล้ว) อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบพบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเหตุการณ์ที่ นปช. บุกเข้ารัฐสภาพร้อมกับยึดปืนจากเจ้าหน้าที่และแยกแม็กกาซีนออกจากตัวปืน ซึ่งเป็นภาพที่เผยแพร่ใน CNN หัวข้อข่าว “Thai premier declares state of emergency amid protests” เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 และถูกเผยแพร่ต่อใน บล็อกเกอร์  OK Nation ที่ใช้ชื่อว่า “น.ส.คะน้า” เมื่อวันที่ 8 เม.ย.53 

ภาพที่บันทึกไว้โดยเพจ “วิวาทะ” ก่อนเพจ Nation Channel จะลบโพสต์ดังกล่าว

ภาพปืนที่ถูกเสื้อแดงยึด 10 เมษาถูกบอกว่าเป็นหลังเวทีที่ราชมังฯ

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ “กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ” ซึ่งเป็นเพจต่อต้านรัฐบาลที่มียอด like เกือบ 70,000 โพสต์ภาพเสื้อแดงพร้อมอาวุธปืนพร้อมข้อความอธิบายว่า “เบื้องหลังเวทีควายที่ราชมังคลา" ส่งผลให้มีผู้แชร์ต่อจำนวนมาก แต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นภาพที่ถ่ายโดย AFP เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 คาดว่าเป็นปืนยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ที่เข้ากระชับพื้นที่ผู้ชุมนุม นปช. นอกจากนี้เมื่อวันที่ 18 มี.ค.55 ภาพดังกล่าวยังถูกโพสต์โดยผู้ใช้ชื่อว่า “ดีเจเดี่ยว” ในเว็บบอร์ดขบวนการเสรีไทยฯ  ด้วย 

ภาพจากเพจ “วิวาทะ” ที่บันทึกไว้ก่อนเพจกองทัพประชาชนฯ จะลบ

มือปืน พธม.ปี 51 โผล่เหตุปะทะสนามกีฬาไทย-ญี่ปุน และหน้า 1 ไทยรัฐ

เหตุการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมต่อต้านการเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คุ้มครองการรับสมัครการเลือกตั้งที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 คน และผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน ในช่วงวันดังกล่าวมีการโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กจำนวนมาก โดยมีภาพหนึ่งคือภาพชายที่ดูเหมือนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังเล็งปืนสั้นอยู่ จนกระทั่งวันต่อมาไทยรัฐนำไปขึ้นหน้า 1 โดยระบุว่า "มีภาพชายลึกลับไม่ทราบฝ่ายถืออาวุธปืนในท่าพร้อมยิงแพร่ว่อนเน็ต"

แต่จากการตรวจสอบพบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเหตุการณ์ ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มวิทยุชุมชนคนรักแท็กซี่ ปากซอยวิภาวดี 3 เมื่อวันที่ 25 พ.ย.51 (ดูภาพ คลิก) รวมทั้งไทยรัฐเองมีการออกมาขออภัยในความผิดพลาดดังกล่าวด้วยในวันเดียวกันนั้นเอง ( 27 ธ.ค.) พร้อระบุว่า “ภาพชายลึกลับคนดังกล่าว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” (ดู ไทยรัฐแจง ภาพชายถือปืนไม่เกี่ยวม็อบปะทะตำรวจย่านดินแดง)

ภาพจากเพจ “วิวาทะ

พี่เบิร์ด เสื้อแดงนี่มันเสื้อแดงจริงๆ

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้โพสต์ภาพนักร้องชื่อดัง เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ สวมเสื้อสีแดงพร้อมข้อความแสดงความเสียใจว่านักร้องดังคนดังกล่าวไปร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงที่เมืองทองธานี (ปัจจุบันลบโพสต์นี้ไปแล้ว)  อย่างไรก็ตามภาพดังกล่าวจากการตรวจสอบกลับพบว่าเป็นภาพ งาน "ธงไชยคอนเสิร์ต แฟนซี แฟนซน" ที่ อิมแพคฯ เมืองทอง วันที่ 2 ส.ค. 52

ภาพจากเพจ “วิวาทะ” 

ข้าวเน่าเท่าภูเขา ภาพจากอินเดียนะจ๊ะนายจ๋า

อีกกรณีหนึ่ง เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Bohn Pory” โพสต์ภาพกองข้าวสารกลางแจ้งขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าเป็นกองข้าวเน่าจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล พร้อมคำตัดพ้อผู้ดำเนินการโครงการจนมีผู้แชร์ไปกว่าหมื่น แต่เมื่อตรวจสอบพบภาพเดียวกันในบล็อกชื่อ deepakkumaragarwal ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 12 มี.ค.56 ระบุว่าภาพดังกล่าวคือเหตุการณ์ในประเทศอินเดีย

ที่มาภาพจากเพจ “วิวาทะ” 

“กบ” ไม่ใช่ “นกหวีด” ติดคอ

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ชื่อ Funnyleaf @Funnyleaf โพสต์ภาพชายคนหนึ่งพร้อมระบุว่า "นกหวีดติดคอเกือบตาย วิ่งเข้าโรงหมอแทบไม่ทัน” อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่าภาพชายคนดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.ในสปริงนิวส์ ระบุว่า หนุ่มพม่าดวงซวยนอนหลับอ้าปาก กบกระโดดเข้าคอ ต้องวิ่งโร่ไปหาหมอโรงพยาบาลแม่สอด ให้เอาออกให้

ภาพจากเพจวิวาทะ

อันที่จริงปรากฏการณ์ภาพเก่าเล่าใหม่นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กแต่อย่างใด เพราะหากสังเกตก็จะพบว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นเป็นประจำ ไว้เว้นแม้แต่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่น ภาพหนึ่งในช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 

ภาพซ้าย : จากเพจ "ในหลวงในดวงใจ : My Beloved King" เผยแพร่เมื่อ 25 ต.ค.54 พร้อมกับข้อความว่า "พระองค์ท่านทรงทอดพระเนตรระดับน้ำจากหน้าต่างของ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยความห่วงใยประชาชน .... ภาพประทับใจวันนี้.."

ภาพขวา : จาก คม ชัด ลึก ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.53 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรการเชิดสิงโต ณ บริเวณชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช  

ข้อสังเกตปรากฏการณ์ “ภาพเก่า เล่าใหม่”

1.ส่วนมากจะเป็นการโพสต์โดยเริ่มต้นจากเพจใหญ่ๆ หรือเพจของเซเล็บ

2.ไม่กี่นาทีข่าวสารก็แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว โดยการ share หรือ copy ไปโพสต์ในเพจหรือบัญชีของแต่ละคน

3.เมื่อมีคนโต้แย้งข้อมูล เพจใหญ่ที่โพสต์เริ่มแรกก็จะลบโพสต์นั้น เมื่อลบแล้วจะส่งผลให้ข้อมูลนี้ในส่วนของคนที่แชร์ต่อๆ ไปนั้นหายไปด้วย แต่สำหรับพวก copy แล้วไปโพสต์ใหม่ในเพจตัวเอง ข้อมูลยังอยู่ครบ ทำให้การกระจายตัวของข้อมูลที่บิดเบือนนั้นยังคงอยู่ต่อไปได้

4.สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ตัวดี like ง่าย share ง่าย แต่ตรวจสอบยาก เพราะผู้เสพสื่ออาจไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะตรวจสอบ เช่น อ่านขณะเดินทาง อ่านขณะอยู่ในห้องเรียน หรือขณะทำงาน ฯลฯ อีกทั้งระบบก็ไม่อำนวยให้ตรวจเช็คด้วย

 

วิธีการตรวจสอบง่ายๆ โดย Google Images

หลายคนรู้แล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า Google มีฟังก์ชั่นที่ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบภาพได้ว่ามีการเผยแพร่ที่ไหนบ้าง เพียงก็อบปี้ URL ของภาพนั้น แล้วนำไปวางในฟังก์ชั่น “Search by image” กดปุ่ม search เพียงเท่านี้ google ก็จะค้นหาภาพดังกล่าวและปรากกฏผลลัพธ์ให้เห็นว่ามีการโพสต์ภาพนี้ไว้ที่ไหน เมื่อไรบ้าง หากภาพนั้นเป็นภาพที่ save มาจากอินเตอร์เน็ต และระบบของ Google ได้ทำการบันทึกไว้ก่อนหน้าแล้ว นี่เป็นช่องทางเบื้องต้นช่องทางหนึ่งสำหรับการตรวจสอบ ก่อนแชร์หรือเชื่อข้อมูลทีโพสต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กได้บ้าง

 

การแชร์มีความเสี่ยง

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แม้เพจต้นตอการเผยแพร่ความเงิบลบข้อมูลดังกล่าวไปแล้ว แต่ใช่ว่าข้อมูลนั้นๆ จะหยุดการแพร่กระจาย หรือได้รับการแก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้องได้ง่ายๆ การนำมาตัวอย่างที่ลบไปแล้วมานำเสนอในที่นี้อีกก็เพื่อการศึกษาตัวอย่างของคลื่นข้อมูล “เงิบ” ในช่วงหลังนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

เหตุหนึ่งที่โซเชียลเน็ตเวิร์กมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้คนในภาวะขัดแย้งแบ่งขั้วนั้น เพราะผู้คนเกิดความระแวงสื่อกระแสหลัก จึงหันมาเลือกเสพสื่อเลือกข้าง สื่อต้นทุนต่ำและสื่อที่มีลักษณะไม่เป็นทางการอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น นอกจากจะไว้ใจ "พวกเดียวกัน" แล้วยังเป็นการเสพเพื่อตอกย้ำจุดยืนตนเอง ผู้คนจำนวนมากเชื่อและแชร์โดยไม่ตรวจสอบ

หลายครั้งพบว่ามีการออกตัวล้อฟรีวิจารณาฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อทราบว่าไม่ได้เป็นจริงก็มักไม่พบการแก้ตัว แก้ไขข้อมูล หรือวิจารณ์ฝ่ายตนด้วยมาตรฐานหรือหลักกการเดียวกับที่วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม

มันอาจเป็นเหมือนดังที่จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ผู้เขียนงานชื่อดังอย่าง Animal Farm และ 1984 กล่าวไว้ว่า  "ทุกคนมักเชื่อในความโหดร้ายของศัตรูและไม่เชื่อในเรื่องร้ายกาจของฝ่ายตน โดยไม่แม้กระทั่งคิดที่จะตรวจสอบหลักฐาน"

อย่างไรก็ตาม นาทีนี้เราคงไม่สามารถฝากความหวังเรื่องการเท่าทันสื่อและข้อมูลออนไลน์ไว้กับคณะวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ของสถาบันการศึกษาใดๆ ได้ หรือแม้กระทั่งสื่ออาชีพเองก็กระโจนลงหลุมเงิบกันหลายครั้ง หลายหน คงมีแต่พลเมืองผู้กระตืนรือร้นด้วยกันเองนั่นเองที่จะช่วยกันสร้างมาตรฐานการเสพและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารยุคใหม่

เพราะการแชร์มีความเสี่ยง ผู้แชร์ควรศึกษาข้อมูลก่อนการแชร์ทุกครั้ง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท