Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ผมและเพื่อนมีโอกาสเดินทางไปเยือนนราธิวาส  เยือนพี่น้องทหารนาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์  ต.โคกเนียน อ. เมือง  สาเหตุหนึ่งของการเดินทางไปนราธิวาสดังกล่าว เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น สถานที่จริงและสภาพบรรยากาศของที่นั่น  ทั้งเชื่อว่า สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยเป็นที่รับรู้ ของผู้คนทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในบรรดาผู้คนเหล่านั้นมีคนอเมริกันรวมอยู่ด้วย

น.อ.นพดล ฐิตวัฒนะสกุล ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ภาคใต้  ได้บรรยายถึง สถานการณ์โดยรวมในเขตพื้นที่รับผิดชอบของท่าน 4 อำเภอของนราธิวาส คือ อ.เมือง อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ และ อ.ตากใบ ว่า สถานการณ์การใช้อาวุธปืนลอบยิงชาวบ้านน้อยลง  ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐหรือฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จึงอาศัยยุทธวิธีวางระเบิดตามจุดต่างๆ มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ อย่างมาก โดยเฉพาะการเดินทางไปตรวจไปตามจุดต่างๆของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ในส่วนนาวิกโยธินเอง จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการเดินเท้ามากกว่า

“ในการกู้กับระเบิดที่ฝ่ายก่อการร้ายวางไว้ ทหารนาวิกโยธินของเรา มีวิธีการปฏิบัติจำเพาะของเรา อาจต่างจากหน่วยงานอื่นบ้าง เน้นการกู้กับระเบิดอย่างรอบคอบ แม้จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ตาม เราต้องการให้เจ้าหน้าที่ปลอดภัย เลี่ยงการสูญเสียให้มากที่สุด”

หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ภาคใต้ บอกว่า ทุกวันนี้ฝ่ายก่อการร้ายก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ ตลอด ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ใช้อำนาจตามกรอบของ พ.ร.ก. การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีการหาข่าวและข้อมูลในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน แม้ว่าในส่วนหนึ่งทางหน่วยฯ เองจะมีฐานข้อมูลประชาชนในพื้นที่อยู่แล้วก็ตาม ทั้งนี้ต้องการขยายข่ายอำนาจรัฐเข้าไปในพื้นที่แย่งชิงประชาชนให้มากขึ้น นอกเหนือไปจากการดูแลขวัญและกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อการปฏิบัติหน้าเป็นไปอย่างสมบูรณ์มากที่สุด

“กลุ่มผู้ก่อเหตุมีไม่มาก แต่มีอิทธิพลสูง   หลายกรณีเกิดจากความขัดแย้งกันเองในท้องถิ่น เช่น  การค้าน้ำมันเถื่อน ยาเสพติด และสินค้าหนีภาษี  เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้กระทั่งพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ก็ไม่ปลอด ภัย ดังนั้นปฏิบัติการด้านการข่าวและจิตวิทยามวลชนจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เราต้องไปคลุกกับชาว บ้าน กินน้ำชากับเขา”

การเน้นสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ ทางหน่วย(ค่าย) มีโครงการ “นาวิกนาวีสัญจร”  ลงพื้นที่พร้อมด้วยชุดแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษาโรค   รวมถึงการสอนด้านศิลปาชีพ   สร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน พร้อมทำความเข้า ใจกับชาวบ้านทั้ง 4 อำเภอ ในพื้นที่  46 ฐานปฏิบัติการ  

ก่อนหน้านี้ บางพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส เป็นเขตปลอดอำนาจรัฐไทย ไม่มีคนนอกกล้าเข้าไป ทางหน่วยก็เป็นหน้าที่ที่จะเข้าไปในพื้นที่ เพื่อทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขาปลอดภัย แสดงให้เห็นว่าเราสามารถดูแลเขาได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาต่างๆ นอกเหนือไปจากปัญหาอุดมการณ์ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่น เช่น กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน

“เรามีฐานข้อมูลของผู้ก่อเหตุ  แม้ว่าอยู่ในช่วงของการใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ก็ตาม  แต่เราไม่ได้ใช้วิธีการรุนแรง ให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง จากผลการใช้จิตวิทยามวลชน ทำให้ข้อมูลเริ่มเข้ามา เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เราก็นำมาขยายผล เก็บข้อมูล สร้างเป็นฐานข้อมูลของเรา”  ผบ.เฉพาะกิจนาวิกโยธิน นราธิวาสกล่าว

นอกจากนี้ การไปเยือนนราธิวาสเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ผมทราบข้อมูลจากพื้นที่ ดังนี้

1.ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จะยังคงมีอยู่ต่อไป ทหารและฝ่ายความมั่นคงหน่วยงานอื่นๆ ส่วนหนึ่งมองว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่จะดำรงอยู่ต่อไป แต่ก็รับได้ (ทำใจได้) แม้ส่วนส่วนหนึ่งจะการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้บ้าง อย่างเช่น การซุ่มยิง แต่ก็ยังมีผู้ก่อร้ายที่ประสงค์จะก่อเหตุอยู่ ยุทธศาสตร์การให้การเมืองนำการทหารอย่างการปกครองตนเอง ไม่อยู่ในแนวคิดของหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่ความคิดของหน่วยงานความมั่นคง คือ การต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ (แน่นอนว่า ฝ่ายความมั่นคงนำเอา วิธีการด้านจิตวิทยามวลชนมาใช้ควบคู่กันไปด้วย)  แม้ว่าเราไม่อยากให้มีการสูญเสีย แต่เมื่อเปรียบเทียบบทเรียนกับความขัดแย้งในบางประเทศ อย่างเช่น อังกฤษ (ไอร์แลนด์) ฟิลิปปินส์(มินดาเนา) ศรีลังกา(จาฟฟ์นา)  อินโดนีเซีย(อาเจะห์) เป็นต้นแล้ว สถานการณ์ในไทยยังดีกว่าสถานการณ์ในประเทศเหล่านี้  

2.วัตถุระเบิดที่นำมาบอมบ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพบว่า ถูกผลิตในรัฐกลันตัน มาเลเซีย ก่อนส่งเข้าไทยเพื่อใช้ในการก่อการ นัยนี้แสดงถึงท่าทีของทางการมาเลเซียในการร่วมมือกับ ฝ่ายไทยว่าเป็นไปอย่างจริงใจหรือไม่? เพราะสถานที่ผลิตวัตถุระเบิดอยู่ในพื้นที่ของมาเลเซีย

3.ความร่วมมือแก้ไขปัญหาระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทำแบบสักแต่ว่าทำ แต่ไม่ได้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม อย่างแท้จริง รัฐบาลมาเลเซียตีสองหน้า โดยเฉพาะปัญหาจากบุคคล 2 สัญชาติ ที่เดินทางข้ามไปมาระหว่างไทย-มาเลเซีย  รัฐบาลมาเลเซียรู้ แต่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทย อีกนัยหนึ่งความร่วมมือของทางการมาเลเซียที่ให้กับทางการไทย เป็นเพียงแค่คำพูดสวยหรูเท่านั้น

4. องค์กรก่อการร้ายมีหลายกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มเดียว มีการทำงานอย่างไม่เป็นเอกภาพ และมีสมาชิกกระจัดกระจาย รวมถึงมีแนวโน้มแตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆมากขึ้น

5. การเจรจาอย่างเปิดเผยของทางการไทย มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่มากขึ้น และทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ยากขึ้น เช่น การเจรจาระหว่างทางการไทยที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มาเลเซีย การเจรจาดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มก่อการร้ายอีกหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของบีอาร์เอ็น เมื่อมีการเจรจาของทางการไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาดังกล่าวก็ส่งแรงกดดันด้วยการก่อเหตุสร้างความรุนแรงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่จำนวหนหนึ่งมองว่า การเจรจาจึงไม่ควรทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ(ให้สื่อรู้)จะดีกว่า

6.ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้  ไม่ได้เกิดจากปัญหาเชิงอุดมการณ์ (แบ่งแยกดินแดน)  เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งและผลประโยชน์ด้านอื่นด้วย เช่น ยาเสพติด ค้าของเถื่อนหรือของหนีภาษี ที่มีชื่อมากที่สุด คือ การค้าน้ำมันเถื่อน เพราะมีให้เห็นแทบทุกที่ทั่วไป  นอกเหนือไปจากความขัดแย้งของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จนกระทั่งต้องมีการจัดการกันเอง

7. ยังมีพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่อับแสงอยู่บ้าง แม้ว่าไม่มากนักก็ตาม กรณีนี้หมายถึงพื้นที่ที่ไม่ ปลอดภัยสำหรับการเดินทางเอาเสียเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฝ่ายไทยพยายามเข้าไปขอคืนพื้นที่และ แย่งประชาชนกลับมา

8.ไม่ค่อยมีการพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นมากนัก มีแต่การพูดถึงการสร้างโครงสร้างพื้น ฐาน เช่น ถนนหนทาง ซึ่งไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า การก่อการร้ายจะหายไป  นราธิวาสมีถนนที่ดีและใหม่ อยู่เป็นส่วนใหญ่   เพราะงบประมาณลงไปจำนวนมาก แต่ก็ยังมีปัญหาการก่อการร้ายอยู่ การสร้างถนนหรือกิจการสาธารณะของรัฐไทยไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาแบบถาวร

9. ฝ่ายความมั่นคงเห็นด้วยหากจะมีการสร้างรั้ว ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อสกัดและป้องกันปัญหาการหนีข้ามแดนไปมาของผู้ก่อการร้าย การลงทุนนี้น่าจะเหมือนกับโครงการสร้างรั้วตามแนว ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เพื่อป้องกันการหลบหนีเข้าสหรัฐฯของคนเม็กซิกัน

สภาพการณ์ของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการซุ่มยิงและการวางกับระเบิดนั้น ต้องยอมรับว่าเกิดจากการเข้าไม่ถึงและการเข้าไม่ทันของเจ้าหน้าที่ ทำให้เป็นโอกาสของผู้ลงมือซึ่งกระทำ แบบสงครามกองโจร คอยซุ่มกระทำการเมื่อฝ่ายบ้านเมืองเผลอ หรือในเขตพื้นที่ที่ปราศจากกำลังเจ้าหน้าที่ ในขณะนั้นๆ  ซึ่งเป็นการอาศัยจังหวะและมุมมืดกระทำการ รวมทั้งการซ่อนเร้นตัวตน และหลบหนี

ในความเห็นของผม มองว่า การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้นอกจากพิจารณา จากประเด็นปัญหาการเมืองแล้ว ประเด็นการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยมาตรการหรือนโยบายด้านเศรษฐกิจ ก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ซึ่งในส่วนของปัญหาชายแดนใต้ที่เรื้อรังมานานไม่ง่ายนักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว

แต่จะต้องพัฒนาเพื่อจะทำให้มุมมืดมุมอับใน 3 จังหวัดหายไป กลายเป็นมุมสว่างขึ้นมาให้ได้มากและเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการเสียชีวิตไปมากกว่านี้

คิดเล่นๆจากกรณีและประสบการณ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ผมเห็นว่าอย่างน้อยมี 2  แนวทางในการเปิดมุมสว่างในพื้นที่ 3  จังหวัดชายแดนใต้

แนวทางแรก คือ การนำโครงการขนาดใหญ่(เมกกะโปรเจคท์)หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เข้าไปในพื้นที่ แต่ต้องเป็นโครงการและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จริงๆ มูลค่าของโครงการน่าจะต้องเป็นหมื่นล้านบาทขึ้นไป  ผนวกกับการกำหนด 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าแนวชายแดน ตามกรอบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)

แนวทางที่สอง คือ การเปิดบ่อน (คาสิโน) แข่งกับบ่อนเคนติ้ง(Genting  Casinos)ในประเทศอิสลามเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย โดยเลือกบางพื้นที่ที่เหมาะสมขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง อาจเป็นพื้นที่บนเขาบูโด หรือพื้นที่อื่นใดก็ได้ เพราะอุตสาหกรรมการพนัน ถือเป็นตัวดึงคน ดึงนักท่องเที่ยวให้เข้าไปในพื้นที่อย่างเร็วและจำนวนมากที่สุด  เหมือนดังกรณีของหลายเมืองในต่างประเทศที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน 

เมื่อพื้นที่ถูกเปิดออกสู่แสงสว่างด้วยผู้คนจำนวนมาก จะมีผลต่อการค่อยๆหายไปของเงามืดของการก่อการร้ายที่ทาบทาพื้นที่อยู่

สำหรับประเทศไทยยากที่รับแนวทางที่สอง แต่ผลของการดัดจริตทางด้านศีลธรรมในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างดีว่าเราได้สูญเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไปมากมายเพียงใด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net