ประชาธิปไตยกำลังถดถอย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โจชัว เคอร์แลนซิคเป็นนักวิจัยประจำ Council on Foreign Relations หรือสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานศึกษาวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของโลก องค์กรนี้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ตีพิมพ์วารสาร Foreign Affairs อันเป็นวารสารชั้นนำเกี่ยวกับความมั่นคง เคอร์แลนซิคมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และการปรับเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยของประเทศโลกที่สาม หนังสือเล่มใหม่ของเขาคือ Democracy in Retreat ซึ่งวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยในประเทศโลกที่สามไว้อย่างน่าสนใจ

ข้อเสนอหลักของเคอร์แลนซิคคือว่า ประชาธิปไตยกำลังถดถอยในหลายๆภูมิภาคของโลก และกลุ่มที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นเช่นนี้ก็ได้แก่ชนชั้นกลางที่เริ่มมองประชาธิปไตยด้วยสายตาที่เป็นปฏิปักษ์มากขึ้น เนื่องจากพวกเขามองว่าประชาธิปไตยไม่ได้ยังผลต่างๆที่เขาปรารถนาจะเห็น ดังนั้นชนชั้นกลางเหล่านี้จึงอยากหวนกลับไปหาการปกครองแบบเผด็จการที่เขาคิดว่าจะนำผลต่างๆเหล่านี้มาได้ เช่นการปกครองอย่างด้วยกฎหมาย การไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และที่สำคัญคือระบอบปกครองที่ทำให้พวกเขายังคงอำนาจและสิทธิพิเศษต่างๆอยู่ อย่างที่เคยเป็นมาก่อนที่ประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตย

เคอร์แลนซิคเปิดการอ้างเหตุผลของเขาด้วยการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ซึ่งเขาแบ่งออกเป็น “คลื่น” ที่มาเป็นระลอกๆ การเปลี่ยนแปลงหรือคลื่นของประชาธิปไตยระลอกแรกเกิดขึ้นในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่สิบเก้าและต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งระบบเศรษฐกิจที่เป็นโลกาภิวัตน์และการปรับเป็นสมัยใหม่ของประเทศอย่างเยอรมนีแลอิตาลีทำให้ประเทศเหล่านี้ปรับเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ตามอย่างของประเทศที่เปลี่ยนไปก่อนหน้านั้นแล้ว เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศสหรือเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนในระลอกแรกนี้จำกัดตัวอยู่เฉพาะประเทศในยุโรป เนื่องจากประเทศในทวีปอื่นๆยังคงเป็นอาณานิคมกันเกือบทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงในรัสเซียหลังจากการล่มสลายของระบอบพระเจ้าซาร์ ก็ทำให้เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ แต่แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกระลอกกลายเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ในช่วงระยะเวลาเดียวกันจีนก็เปลี่ยนจากระบอบจักรพรรดิมาเป็นการปกครองแบบสมัยใหม่ที่อย่างน้อยก็เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบภายนอก ญี่ปุ่นก็ปรับเปลี่ยนจากระบอบโชกุนมาเป็นประชาธิปไตยตามรูปแบบภายนอกเช่นเดียวกัน แต่ประเทศเหล่านี้ต่างก็ประสบกับความผันผวนอย่างรุนแรงที่เกิดจากการสิ้นสุดของสงคามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ประชาธิปไตยไม่สามารถหยั่งรากอยู่ได้นาน เยอรมนีกับอิตาลีเปลี่ยนไปเป็นระบอบเผด็จการฟาสซิสม์ จีนตกลงไปในวังวนของสงครามกลางเมือง รัสเซียเปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสม์และเกิดสงครามกลางเมืองอันเป็นปฏิกิริยาของการปฏิวัติบอลเชวิค ญี่ปุ่นกลายเป็นการปกครองที่นำโดยทหารเป็นหลัก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าคลื่นลูกแรกของการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยนั้นเต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคอันมาจากความยากลำบากจากสงคามและรวมไปถึงปัญหาร้ายแรงที่มาจากเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กระแสของประชาธิปไตยก็เข้าสู่ช่วงของคลื่นลูกที่สอง กระแสนี้เกิดจากการล่มสลายของประเทศเจ้าอาณานิคมที่บอบช้ำจากสงคราม ซึ่งทำให้เกิดการตื่นตัวเรียกร้องเป็นเอกราชของประเทศอาณานิคมต่างๆ ประเทศเหล่านี้มองหารูปแบบของการจัดการการปกครอง ซึ่งมีอยู่สองแบบในช่วงนี้ คือระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ กับระบอบคอมมิวนิสม์ของสหภาพโซเวียต ประเทศส่วนใหญ่เลือกระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคมากเช่นเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นผลมาจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพโซเวียต รวมไปถึงนโยบายของสหรัฐฯที่สนับสนุนเผด็จการทหารที่เป็นศัตรูกับคอมมิวนิสม์ สภาพเช่นนี้ทำให้หลายประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยในยุคหลังอาณานิคม ต้องตกไปอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ทำให้อุดมคติหรือเนื้อหาของประชาธิปไตยต้องสูญเสียไป

คลื่นลูกที่สามของกระแสประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1970 ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และกระแสต่อต้านสงครามและเผด็จการทหารของประชาชน ตัวอย่างของการต่อต้านดังกล่าวเห็นได้จากการต่อต้านสงครามเวียตนามในสหรัฐฯ การลุกฮือขึ้นของประชาชนในฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1968 และการปฏิวัติ “ดอกคาร์เนชั่น” ของโปรตุเกศในปี 1974 ลักษณะที่การต่อสู้ดังกล่าวมีร่วมกันคือ เป็นขบวนการที่ประชาชนต่างลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของกลุ่มทหารและพันธมิตรที่ได้อำนาจมาในยุคของสงครามเย็น ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ หลายๆประเทศเริ่มกลับมาเป็นประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหากันใหม่ ประกอบกับในช่วงต้นของทศวรรษ 1970 ประเทศหลายประเทศในเอเซีย รวมทั้งไทย ต่างก็มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางหันมาสนับสนุนประชาธิปไตย และทำให้อำนาจของทหารลดถอยลง

คลื่นลูกที่สามนี้ผสมผสานกับคลื่นลูกที่สี่ของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งได้รับแรงผลักดันอย่างมากจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงต้นของทศวรรษ 1990 ผลที่สำคัญก็คือว่าระบอบคอมมิวนิสม์ของสหภาพโซเวียตเป็นคู่แข่งสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และเมื่อสหภาพโซเวียตยุบตัวเองลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆรวมทั้งผู้นำทางความคิดในโลก ต่างก็เห็นพ้องกันว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นเพียงระบอบเดียวที่เหลืออยู่ และที่เป็นไปได้ และประเทศต่างๆไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกนอกจากประชาธิปไตยเท่านั้น นักคิดอย่างฟรานซิส ฟูกูยามา ถึงกับประกาศว่า “ประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว” ซึ่งหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ที่ประกอบด้วยการต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง ได้ถึงจุดจบแล้วเพราะประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ การเปลี่ยนแปลงในคลื่นลูกที่สามเกิดขึ้นในประเทศในละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออกแลเอเซียเป็นหลัก ส่วนในลูกที่สี่เกิดขึ้นในประเทศในอัฟริกา ซึ่งถึงแม้จะยากจนแต่ก็ได้รับกระแสของการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยอันสืบเนื่องมาจากการล่มสลายของสงครามเย็นและสหภาพโซเวียตด้วย

เมื่อมามองที่ประเทศไทย เราก็เห็นได้ว่าได้เดินตามกระแสของคลื่นลูกต่างๆตามประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ผลประการหนึ่งของการวิเคราะห์ของเคอร์แลนซิคก็คือว่า ความคิดของชนชั้นนำไทยบางกลุ่ม ที่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงและลักษณะของการเมืองของประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะ มีความเป็นพิเศษแยกต่างหากจากประเทศอื่นๆนั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยเป็นไปตามกระแสโลกล้วนๆ คลื่นลูกแรกก็มีผลกระทบในประเทศสยามอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากความพยายามของกลุ่มบุคคลต่างๆที่พยายามเสนอแนวทางการเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตยแก่ทั้งรัชการที่ห้าและหก รวมไปถึงกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ในสมัยรัชกาลที่หก จนกระทั่งประสบความสำเร็จในสมัยรัชกาลที่เจ็ดอันเป็นผลงานของคณะราษฎรในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สองหลายปี ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับคลื่นลูกที่หนึ่งของเคอร์แลนซิค อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่วมรบโดยตรง และไม่ได้เป็นประเทศอาณานิคม จึงไม่มีประสบการณ์แบบเดียวกับเพื่อนบ้านเช่นพม่า เวียตนามหรือมาเลเซียที่มีการต่อสู้เพื่อเอกราช แต่เมื่อมาถึงลูกที่สาม การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของไทยเกิดขึ้นในเหตุการณ์เดือนตุลาคม ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ซึ่งสอดคล้องอย่างมากกับการวิเคราะห์เรื่องคลื่นลูกที่สามของประชาธิปไตย อันประกอบไปด้วยการต่อสู้ของประชาชนและการต่อต้านอำนาจทหารที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามเย็น

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยครั้งใหญ่อีกครั้งในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ประกาศใช้ ยุคปลายทศวรรษ 1990 เป็นยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานไปทั่วโลก อันเป็นพลังมหาศาลของคลื่นลูกที่สี่ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยก็เกิดขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกันในประเทศอื่นๆ และเป็นไปตามการวิเคราะห์เรื่องการสิ้นสุดของสงครามเย็นและแนวคิดแบบ “จุดจบของประวัติศาสตร์” ของฟูกูยามา อย่างไรก็ตามประเด็นหลักของการวิเคราะห์ของเคอร์แลนซิคในหนังสือเล่มนี้ก็คือว่า ประชาธิปไตยในคลื่นลูกที่สี่ ซึ่งดูเหมือนกับว่ามีพลังแรงมากนี้ กำลังพบกับกระแสต่อต้านจากชนชั้นกลาง ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตยนั้นเอง ปัญหาคือว่าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีแนวทางแก้ไขได้อย่างไร

ข้อเสนอของเคอร์แลนซิคก็คือว่า แม้ว่าประเทศหลายๆประเทศจะเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยในช่วงปลายของทศวรรษ 1990 และตอนต้นของทศวรรษ 2000 แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ก่อให้เกิดผลสองประการซึ่งทั้งสองประการนี้ทำให้ชนชั้นกลางรู้สึกถูกคุกคามอย่างรุนแรก ประการแรกได้แก่การมองว่าประชาธิปไตยทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นมากขึ้น โดยเฉพาะคอร์รัปชั่นโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองที่มีฐานมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งบางครั้งก็คิดไปว่าไม่มีใครมาจัดการกับตนเองได้เพราะตนเองมีเสียงของประชาชนจำนวนมากสนับสนุนอยู่ อีกประการหนึ่งได้แก่การที่ประชาธิปไตยขยายตัวออกมายังคนส่วนมากของประเทศ ทำให้บทบาทของชนชั้นกลางในการชี้นำทิศทางของประเทศลดน้อยลงไป ในกรณีแรกชนชั้นกลางเห็นว่าผู้นำที่มาจากวิถีทางของประชาธิปไตย หากทำตัวเป็น “เผด็จการ” ไปเสียเองก็ทำให้ภาพพจน์ของประชาธิปไตยเสียหายมาก จนทำให้ชนชั้นกลางมองไปว่าการที่มีผู้นำเช่นนี้เป็นความผิดพลาดของระบอบประชาธิปไตยนั้นเอง ชนชั้นกลางรู้สึกถูกคุกคามอย่างมากเพราะว่า ผลประโยชน์ที่ตนเองเคยได้มาตลอดต้องมาถูกคุกคามและเปลี่ยนแปลงไปด้วยผู้นำเช่นนี้ และระบอบการปกครองแบบนี้ ส่วนในกรณีที่สอง ชนชั้นกลางจะถูกคุกคามโดยตรง และการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของชนชั้นล่างที่ถูกกีดกันจากแวดวงอำนาจทางการเมือง เป็นการคุกคามชนชั้นกลางโดยตรง

ผลก็คือว่าประชาธิปไตยในคลื่นลูกที่สี่กำลังถูกท้าทายและต่อต้านอย่างรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในเอเซียก็มีฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ในฟิลิปปินส์ คนชั้นกลางที่เคยต่อสู้กับประธานาธิบดีมาร์กอส และได้รับชัยชนะนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศได้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อสิบกว่าปีผ่านไปคนกลุ่มเดียวกันนี้ก็ออกมาต่อสู้กับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เช่นประธานาธิบดีเอสตราดา ที่ใช้ตำแหน่งของตนแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวพ้องอย่างน่าเกลียด การต่อสู้กับประธานาธิบดีเฉินซุยเปียนในไต้หวันก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวซในเวเนซุเอลาก็เป็นไปตามรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน

ปรากฏการณ์ในเวเนซุเอลาก็คล้ายๆกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อชนชั้นกลางผิดหวังกับประธานาธิบดีชาเวซ ที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดและดำเนินนโยบายแบบประชานิยมที่มุ่งเอาใจชนชั้นล่าง แทนที่ชนชั้นกลางจะร่วมมือกับนักการเมืองฝ่ายค้านเพื่อเอาชนะชาเวซในคูหาเลือกตั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่น้อย แต่ชนชั้นกลางก็กลับเลือกใช้วิธีออกมาประท้วงบนถนน และเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารเพื่อไล่ชาเวซออกไป ปรากฏว่าทหารออกมาทำรัฐประหารจริงๆ ชาเวซถูกคณะรัฐประหารจับขังไว้บนเกาะในทะเลแคริบเบียน แต่ชาเวซก็ได้ระดมกำลังกลุ่มคนที่สนับสนุนตนเอง รวมทั้งทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นฐานให้ตนเองเช่นกัน ทำปฏิวัติซ้อนจนได้รับชัยชนะ และชาเวซก็ได้กลับมายังทำเนียบประธานาธิบดีหลังจากที่ต้องหลุดออกไปในเวลาเพียงสี่สิบแปดชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากฐานกำลังของฝ่ายรัฐประหารมีแต่ในเมืองหลวงเท่านั้น (หน้า 93 – 94) สถานการณ์เหล่านี้มีแต่จะทำให้สถาบันของประชาธิปไตยต้องอ่อนแอลงไป สถานการณ์ปฏิวัติซ้อนโดยทหารชั้นผู้น้อยยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศต่างๆมักมีความคล้ายคลึงกัน เราก็ไม่สามารถประกันล่วงหน้าได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ข้อเสนอของเคอร์แลนซิคก็คือว่า เนื่องจากประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามอย่างหนักเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่ทำให้ประชาธิปไตยมั่นคงแข็งแรงจริงๆ ประการแรกได้แก่ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยกับการปกครองโดยหลักกฎหมายจะต้องไปควบคู่กันเสมอ ทั้งนี้เพื่อมิให้มีกรณีของผู้นำที่ได้อำนาจมาจากประชาชน แต่ใช้อำนาจนั้นๆในทางที่ผิด อีกประการหนึ่งก็คือว่า ต้องมีการแบ่งอำนาจและผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรมระหว่างชนชั้นกลางเก่าในเมือง กับชาวชนบทซึ่งในประเทศไทยกำลังกลายเป็นชนชั้นกลางใหม่ เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่อยู่ตรงกลางของการแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน ในบทที่สิบเอ็ดซึ่งเป็นบทสุดท้ายของหนังสือ เคอร์แลนซิคก็ได้เสนอแนวทางไว้อีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ (1) การจัดการกับความคาดหวัง (แม้ว่าประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งเสรีภาพในด้านต่างๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขต) (2) รักษาอัตราความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเอาไว้ (3) อย่าละทิ้งชนชั้นกลาง (คือให้ชนชั้นกลางมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง) (4) สร้างมาตรการที่ป้องกันไม่ให้เกิด “เผด็จการประชาธิปไตย” (คือผู้นำที่มาจากประชาธิปไตย แต่ใช้อำนาจในทางที่ผิด เช่นทักษิณ หรือฮิวโก ชาเวซ) (5) เอาทหารออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาด (6) เข้าใจ “โมเดลจีน” อย่างถ่องแท้ (ตัวอย่างของจีนที่พัฒนาได้โดยไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปกว่าภาพที่เห็นภายนอก จะเป็นไปได้ว่าจะเห็นความบกพร่องในด้านต่างๆมาก ทั้งนี้เนื่องจากจีนไม่ได้มีความโปร่งใสด้านข้อมูลข่าวสารเหมือนกับประเทศในโลกตะวันตก (7) ประกาศสงครามกับการคอร์รัปช้่น (อันนี้เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดก็น่าจะได้ (8) ทำความเข้าใจกับโอกาสที่เกิดขึ้น หมายความว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในโลกตะวันตก ควรใช้แรงกดดันประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ให้อยู่กับประชาธิปไตยด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการให้เงินสนับสนุน  (9) การสนับสนุนประชาธิปไตยที่ทำโดยประเทศตะวันตกควรเลือกสนับสนุนเฉพาะประเทศที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด (10) ก้าวข้าม “คนตัวใหญ่” (คือให้ความสนใจคนตัวเล็กๆ หรือประชาชนธรรมดาๆในประเทศที่กำลังเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่คนตัวใหญ่ที่มีอำนาจเท่านั้น) (11) ให้ความนับถือยกย่องผู้ชนะการเลือกตั้งที่ใสสะอาด (12) แต่รับรู้ว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงก้าวแรก (ของการเป็นประชาธิปไตย) เท่านั้น และข้ออื่นๆอีกหลายข้อ

กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอของเคอร์แลนซิคตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ไม่สามารถทำได้โดยวิถีทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย หากปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันของไทย เขาก็จะเสนอว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองโดยหลักกฎหมาย ความยุติธรรม และการแบ่งสรรอำนาจกับผลประโยชน์ที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายนั้น จำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยเสมอ ความคิดที่ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่สู้แบบอื่นเช่นเผด็จการไม่ได้ เป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง เพราะในเผด็จการถึงแม้ว่าอาจจะออกมาดีในช่วงแรก แต่ไม่มีหลักประกันเลยว่าจะไม่กลายเป็นระบอบที่กดขึ่ริดรอนเสรีภาพของประชาชนในระยะยาว ในทางตรงข้ามประชาธิปไตยแม้จะวุ่นวายในตอนแรก และทำให้เกิดมี “เผด็จการจากการเลือกตั้ง” แต่ทางแก้ก็มีอยู่ทางเดียว คือทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น บางคนมีความคิดผิดๆว่า ประชาธิปไตยไม่น่าเป็นทางเลือกอีกต่อไป เพราะก่อให้เกิดการคอร์รับชั่น การริดรอนเสรีภาพในบางกรณี แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ความเลวร้ายของประเทศเหล่านั้นจะมีมากกว่าประเทศประชาธิปไตย รวมทั้งประเทศที่ปกครองโดย “เผด็จการจากการเลือกตั้ง” ในระยะแรกมาก หากเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศไทยช่วงที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเลย เช่นระยะแรกๆหลังจากการทำรัฐประหารในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) หรือการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเห็นได้ว่าแม้แต่ประชาธิปไตยช่วงที่มองกันว่าเลวร้ายที่สุด ก็ยังดีกว่าระบอบเหล่านี้มาก

หนทางที่จะได้มาซึ่งการปกครองโดยหลักของกฎหมายที่เป็นธรรม มีอยู่ทางเดียวคือต้องลองผิดลองถูกกับกระบวนการประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีการถกเถียง มีการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด มีการแบ่งสรรทรัพยากรและโอกาสอย่างเป็นธรรม ประวัติศาสตร์บอกเราว่าการสร้างประชาธิปไตยด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้นำมาซึ่งประชาธิไตยที่แท้จริงเลย แต่เป็นเพียงฉากบ้งหน้าการปกครองแบบกดขึ่และทำลายเสรีภาพ ที่เอาฉากของความบกพร่องในระยะแรกของประชาธิปไตยมาเสนอเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อและสูญเสียความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยเท่านั้น

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา: http://philoflanguage.wordpress.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท