คุยกับผู้สังเกตการเลือกตั้งนานาชาติ: “ไทยมีระบบยุติธรรมการเลือกตั้งที่เข้มสุดในเอเชีย”

สัมภาษณ์ อิชาล สุเปรียดี ผอ.องค์กรเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี ต่อมายาคติเรื่องการเลือกตั้งในไทย, การทุจริตคอร์รัปชั่น, พร้อมตอบคำถาม ทำไมการเลือกตั้งถึงเป็นทางออกของความรุนแรง
 
สองสัปดาห์ที่แล้ว องค์กรเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ ANFREL (อันเฟรล) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเรื่องสถานการณ์ในประเทศไทย โดยชี้ว่า การขัดขวางกระบวนการการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับบทบาทของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ในฐานะทางออกจากความขัดแย้ง
 
ประชาไทคุยกับผู้อำนวยการองค์กรอันเฟรล อิชาล สุเปรียดี ชาวอินโดนีเซียที่ได้เดินทางสังเกตการณ์การเลือกตั้งประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียมาเป็นเวลากว่า 9 ปี จากอัฟกานิสถาน เนปาล ไปจนถึงปาปัว และอาเจะห์ ต่อความสำคัญของการเลือกตั้งในสถานการณ์ความรุนแรง บทบาทของกกต.ที่ควรจะเป็น และมายาคติเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งในประเทศไทย
 

อิชาล สุเปรียดี ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี
 
0000
 
 
ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในไทยเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน เพื่อที่จะทำการปฏิรูป คุณเคยเห็นขบวนการเคลื่อนไหวเช่นนี้ในที่อื่นๆ ที่เคยสังเกตการณ์บ้างหรือไม่
 
เราต้องนึกอยู่เสมอว่า ประเทศในเอเชียมีความหลากหลายมาก ทั้งด้านภาษา ความเชื่อ เชื้อชาติ และแตกต่างในทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง นี่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยแตกต่างกันไปในหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ในการเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งแต่ละครั้ง เราจะยึดหลักการสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย โดยแต่ละครั้งก่อนจะตัดสินใจ เราจะทำการประเมินล่วงหน้าเพื่อที่จะดูว่า มีตัวบ่งชี้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ 
 
ในภารกิจการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ANFREL ยึดแนวทางของคำประกาศว่าด้วยหลักการสำหรับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติ โดยเอกสารนี้ร่วมลงนามจากหลายองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ สหภาพยุโรป องค์การระหว่างรัฐอเมริกัน และสหภาพแอฟริกา
 
เราใช้ตัวบ่งชี้อย่างน้อย 3 อย่าง ที่จะกำหนดว่าการเลือกตั้งนั้นๆ บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ 
1. การประกันว่าจะต้องมีเสรีภาพเบื้องต้น ได้แก่ เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสมาคม ในหมู่พรรคที่ลงแข่งขัน ในหมู่ประชาชน รวมถึงสื่อ
2. การมีกฎหมายเลือกตั้งที่ครอบคลุม ที่ให้โอกาสผู้ลงสมัครเลือกตั้งจากทุกฝ่ายเท่าๆ กัน ไม่มีข้อยกเว้นแก่พรรคใดๆ 
3. มีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็นกลางและมีความเป็นมืออาชีพ
 
ฉะนั้นก็จะเห็นว่า เสรีภาพขั้นพื้นฐาน กฎหมาย เสรีภาพสื่อ เสรีภาพของภาคประชาสังคม จะต้องถึงมาตรฐานขั้นต่ำที่เรากำหนดไว้ จากนั้นเราจึงตัดสินใจลงไปสังเกตการณ์ ถ้าองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่สมบูรณ์ เราอาจจะตัดสินใจไม่เดินทางไปสังเกตการณ์
 
อย่างการเลือกตั้งในบังกลาเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา ANFREL และผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆ จึงตัดสินใจไม่ไปสังเกตการณ์ เพราะอาจพบว่าองค์ประกอบที่ทำให้เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมยังขาดหายไป
 
พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่ลงสมัครในครั้งนี้ คุณคิดอย่างไรกับข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านที่ให้ปฏิรูปก่อนแล้วเลือกตั้งทีหลัง
 
มันเป็นสิทธิการตัดสินใจของพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งจะมีบรรยากาศการแข่งขันและมีความหมายมากขึ้นหากได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มการเมืองในประเทศ
 
เรายอมรับข้อเรียกร้องของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มอื่นๆ ที่ให้มีการปฏิรูป และรณรงค์เพื่อให้เกิดความโปร่งใส การตรวจสอบได้และความยุติธรรมในประเทศี้ นี่เป็นหลักการที่ดีในระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติ
 
ถึงแม้จะมีการหยิบยกข้อหาการซื้อเสียงขึ้นมาพูดและทำให้คนเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่มีประโยชน์ มันอาจจะดีกว่าถ้าเราจะให้การศึกษาประชาชนด้านประชาธิปไตย การตื่นรู้ทางพลเมือง และการให้การศึกษาผู้เลือกตั้ง ประชาชนไทยต่างเห็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผู้ชุมนุมพยายามจะล้มรัฐบาลในหลายปีที่ผ่านมา ด้วยวิธีการบอยคอตต์และความรุนแรง เราหวังว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเปลี่ยนไปและชาวไทยจะสามารถมีรัฐบาลที่มีความน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ และการสมานฉันท์จะเกิดได้ในที่สุด
 
ตอนนี้มีคนนำเอาสถานการณ์ในบังกลาเทศมาเปรียบเทียบกับไทยค่อนข้างมาก คุณช่วยอธิบายให้ฟังอีกทีได้ไหมว่าบริบทเป็นอย่างไร
 
เรื่องราวของไทยและบังกลาเทศมีความคล้ายกันมากในแง่ของกลุ่มที่แข่งกันในการรับเลือกตั้ง ในไทยคร่าวๆ คุณมีฝ่ายเหลืองกับแดง ในบังกลาเทศ คุณมี “สองสตรีน่าอัศจรรย์” ทั้งสองคนเป็นผู้นำพรรคที่ใหญ่ที่สุด คือพรรคบังกลาเทศแห่งชาติ หรือบีเอ็นพี และอวามิ ลีค ทั้งสองคนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเพราะต่างเป็นลูกสาวของฮีโร่ระดับชาติทั้งคู่ พวกเขาสลับกันชนะการเลือกตั้งมานานแล้ว นี่เป็นสองพรรคการเมืองหลักๆ 
 
หลังจากที่ชีค ฮาซีนา ได้ขึ้นสู่อำนาจครั้งล่าสุด เธอได้แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐบาลรักษาการ และก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดขึ้นซักพัก เกิดการจับกุมผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรคเจไมอาห์ อิสลามมิยาห์ ซึ่งหัวหน้าพรรคพึ่งจะถูกดำเนินคดีอาชญากรรมสงคราม นอกจากนั้นผู้นำพรรคการเมืองหลายพรรคก็ถูกจับ และยังมีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีความรุนแรงเกิดขึ้นบนท้องถนนมากขึ้น สรุปคือว่า มีความเสี่ยงน้อยมากสำหรับชีค ฮาซีนาที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเมื่อเทียบกับของไทย เพราะผู้ชุมนุมในบังกลาเทศไม่ได้เรียกร้องให้เธอลาออก พวกเขาแค่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจะมาจากการเลือกของศาลฎีกา
 
จุดยืนของ ANFREL ของสถานการณ์ในบังกลาเทศเป็นอย่างไร
 
ในบังกลาเทศ พรรคฝ่ายค้านส่วนใหญ่ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง และทำให้ที่นั่งอย่างน้อยครั้งหนึ่งจะถูกชนะโดยพรรครัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ฉะนั้นนี่ไม่ยุติธรรม อันเฟรลจึงเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนจนกว่าจะสามารถเจรจากันได้ สิ่งที่ประชาชนประท้วงกันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติประชาชน ความเหนือกว่าของประชาชนอะไรอย่างนั้น ไม่เหมือนกับในประเทศไทย
 
มีความผิดปกติในการเลือกตั้ง และการทุจริตอะไรที่คุณได้พบมาในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ บ้าง สิ่งเหล่านี้ควรใช้เป็นข้ออ้างในการนำมาปฏิรูปการเลือกตั้ง แล้วค่อยเลือกตั้งหรือไม่
 
การปฏิรูปทางการเมืองและการเลือกตั้งนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน การเลือกตั้งที่ดีจะนำมาซึ่งรัฐบาลที่ดี แน่นอนว่ามันไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป ANFREL ได้เรียนรู้ว่า การเลือกตั้งส่วนใหญ่ในเอเชียนั้นไม่ได้ดีสมบูรณ์ แต่ละประเทศก็มีปัญหาต่างกันไป
 
การเลือกตั้งในประเทศไทยสมควรได้รับคำชมเชยในแง่การจัดการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถจัดการได้ดี ANFREL ได้จัดพิมพ์รายงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 2554 ในสองภาษาคือไทยและอังกฤษ ซึ่งสรุปว่าในภาพรวม การเลือกตั้งเป็นไปด้วยดี เราพบเห็นปัญหาในเรื่องการจัดการการเลือกตั้งล่วงหน้า กรณีของการซื้อเสียงนั้นถูกรายงานและจัดการโดยคณะรรมการการเลือกตั้งด้วยใบเหลืองและใบแดงแล้ว
 
การเลือกตั้งที่สม่ำเสมอนั้นให้ความแน่นอนในหลายแง่ มันเป็นการประกันว่าสิทธิการเลือกตั้งสากลจะเกิดขึ้น ความคิดเห็นของทุกๆ คนจะถูกนับรวม ข้อเสนอการปฏิรูปการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ดีหากมันเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้น จะต้องมีคนตอบคำถามให้ได้ว่า ใครจะเป็นคนทำการปฏิรูป วาระอะไรบ้างที่จะเห็นร่วมกัน ความชอบธรรมและความสำเร็จจะรับประกันได้ไหม มีแรงต้านจากกลุ่มอื่นๆ หรือไม่
 
อย่างที่สอง การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นการให้อาณัติแก่รัฐบาล อย่าลืมอาณัติของประชาชน เมื่อประชาชนเห็นร่วมกันว่า จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ทุกๆ สี่ปี ก็ต้องอย่าลืมสิ่งนั้น ถ้าคุณคิดว่ารัฐบาลแย่ โกงกินคอร์รัปชั่น คุณสามารถลงโทษพวกเขาได้ด้วยสองวิธี หนึ่ง ด้วยกระบวนการศาลที่อิสระ สอง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อย่าไปกากบาทให้พวกเขา
 
ในประเทศที่มีความรุนแรงอย่างในอัฟกานิสถานหรืออิรัก บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นอย่างไรบ้าง
 
ต้องอธิบายเพิ่มว่า อัฟกานิสถานเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการเลือกตั้ง รัฐสภาอัฟกานครั้งที่ 7 เกิดขึ้นในปี 2492 (ค.ศ.1949) แต่ประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักเนื่องจากกลุ่มติดอาวุธ การเข้ายึดครองประเทศจากต่างชาติ การต่อสู้ระหวางชนเผ่าและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ จึงทำให้อัฟกานิสถานเป็นอย่างทุกวันนี้ 
 
อย่างแรก การเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับอัฟกานิสถาน สอง อันเฟรลเป็นองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศองค์กรแรกที่ได้รับเชิญไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในปี 2547 ตอนแรกเราคิดว่าจะไม่ไป แต่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติเพื่อที่จะเสริมสร้างการเลือกตั้ง สร้างระบบบประชาธิปไตยและให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนและผู้นำของเขาผ่านการเลือกตั้ง ประชาชนอัฟกานิสถานมากขึ้นที่เห็นว่าไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าที่พวกเขาจะเลือกรัฐบาลได้ดีเท่ากับการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ดีกว่าการใช้ความรุนแรงห้ำหั่นกัน เกมนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วจากกระสุนปืนมาสู่บัตรเลือกตั้ง ถึงแม้ว่ากระสุนปืนจะถูกกว่า ถ้าผมไม่ชอบคุณ ผมสามารถสังหารคุณได้ ทำไมผมจะต้องลงแข่งการเลือกตั้ง ใช้เงินและใช้เวลาเพื่อมาหาเสียง กระสุนนึงก็แค่ร้อยบาทเท่านั้นเอง
 
แต่วัฒนธรรมของการสู้รบระหว่างขุนศึก กลุ่มก่อความไม่สงบ การต่อสู้รบเหล่านี้ มันจะต้องถูกเปลี่ยนด้วยประชาธิปไตย นั่นคือเหตุผลที่เราเดินทางไปที่นั่นและแสดงภราดรภาพของเรา ตอนนี้ประชาชนชาวอัฟกานิสถานเชื่อว่าการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะเป็นวิถีทางที่นำไปสู่รัฐบาลที่ดี ซึ่งสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดีและเสถียรภาพทางการเมือง
 
ในหลายประเทศ การเลือกตั้งถูกจัดขึ้นภายใต้ข้อกังวลด้านความปลอดภัย ในติมอร์ตะวันออก ระหว่างการลงประชามติปี 2542 แม้จะอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ การคุกคามทางความมั่นคงและความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนเอกราชและฝ่ายที่สนับสนุนการปกครองตนเอง และความรุนแรงต่างๆ นาๆ การเลือกตั้งก็ยังเกิดขึ้น และมันกำหนดชะตาประเทศใหม่แก่ติมอร์ตะวันออก มีคนกี่คนที่เสียชีวิตจากความรุนแรงครั้งนั้น แต่มันก็ควรมีสิ่งที่มีความชอบธรรม นั่นคือการเลือกตั้ง
 
ในอัฟกานิสถาน ถ้าคนออกไปเลือกตั้ง เขาจะถูกข่มขู่ว่าถูกตัดนิ้ว แต่คนที่มีความกล้าหาญก็ยังออกไปเลือกตั้ง เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่คุณสามารถร่วมตัดสินใจและถูกนับรวม พวกเขามีสิทธิที่จะแสดงมันออกมา พวกเขาสามารถเลือกผู้สมัครเอ บี ซี หรือใครก็ตาม 
 
ฉะนั้นการเลือกตั้งคุ้มค่ากับความรุนแรงเหล่านี้อย่างนั้นหรือ
 
ถ้าเรามีตัวเลือก แน่นอนว่าเราอยากให้การเลือกตั้งจัดขึ้นในบรรยากาศที่สงบสุขและเอื้ออำนวย นี่เป็นคำถามที่ยากนะครับ ในระบอบประชาธิปไตย เราเชื่อว่าการเลือกตั้งที่สม่ำเสมอสำคัญต่อเสถียรภาพ อย่างในตอนแรกของอัฟกานิสถาน คณะกรรมการการเลือกตั้งยังเป็นคณะที่ประกอบไปด้วยคนจากนานาชาติและคนท้องถิ่นเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น แต่พออีกซักพัก พวกเขาก็จะปล่อยไป ตอนนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นชาวอัฟกานทั้งหมด
 
เช่นเดียวกันกับในติมอร์ตะวันออก ในครั้งแรกนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดตั้งขึ้นมาด้วยความสนับสนุนจากสหประชาติ ตอนนี้ก็ปล่อยไป ในกัมพูชาและประเทศอื่นๆ ก็เป็นแบบนี้ พวกเขาช่วยเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับกกต. หลังจากที่กกต.จัดการกันเองได้ พวกเขาก็จะไป พวกเขาสนับสนุนให้คนเชื่อว่าหนึ่งคน หนึ่งเสียงนั้นเป็นทางออก 
 
กกต. ของไทยถูกวิจารณ์ว่าดูเหมือนจะเข้าข้างการชุมนุมกปปส. โดยเสนอแนะให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป คุณมองว่าอย่างไรบ้าง
 
ผมคิดว่ามันควรจะมีเหตุผล เพราะการเลือกตั้งควรจะจัดขึ้น มันไม่ใช่เกี่ยวแต่เรื่องความปลอดภัยเท่านั้น ผมคิดว่าควรจะมีคำอธิบายจากกกต.ที่ชัดเจนมากกว่านี้ การเลื่อนการเลือกตั้งนั้นปกติมากในบังกลาเทศ ติมอร์ตะวันออก เนื่องจากความไม่แน่นอนหรือการไม่เห็นด้วยระหว่างพรรคการเมือง พวกเขามักจะเลื่อนออกไปบ่อยครั้ง เป็นอาทิตย์ไปจนถึงเป็นเดือน แต่สิ่งที่สำคัญที่กกต.ต้องอธิบายคือถึงเมื่อไหร่ นานแค่ไหน มีกรอบระยะเวลาหรือไม่
 
การรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผมก็เข้าใจสถานการณ์ของกกต. เพราะ หนึ่ง พวกเขาเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ สอบ พวกเขาต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าหากับระบบราชการ จนท. ในระดับจังหวัดต่างๆ การจัดการทางเทคนิคต่างๆ รวมถึงแรงกดดันทางการเมืองด้วย ผมเชื่อว่าเขาก็มีแรงกดดันทางการเมืองเยอะ เช่นเดียวกับทุกคนในประเทศนี้ก็คงจะรู้สึก นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องงบประมาณ แง่มุมทางกฎหมาย ถ้าผมเป็นกกต. ก็ต้องดูว่าถ้าจะเลื่อน จะละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งใน 28 เขตของ 8 จังหวัด ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ คุณคิดว่ากกต.ควรทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้
 
ในกรณีของอัฟกานิสถาน ครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ในเขตโซนสีแดง (ปัญหาความมั่นคง) ฉะนั้นในหลายเขตเลือกตั้งนั้นไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การเลือกตั้งเกิดขึ้นในที่ที่มีความปลอดภัยมากพอ ถ้าคุณต้องการจะทำตามกระบวนการแบบเดียวกันนี้ก็อาจจะสามารถทำได้ แต่ต้องทำได้ตามกฎหมายของไทย
 
หรือกกต. อาจจะใช้อำนาจขอเพิ่มเวลาการรับสมัครออกไปอีกสองสามวัน หรือใช้อำนาจเพื่อรับสมัครผู้สมัครที่ไม่สามารถไปลงทะเบียนได้ แต่ไปแจ้งความแสดงเจตจำนงกับตำรวจแล้ว มีหลายอย่างที่กกต.สามารถทำได้ในแง่เทคนิคหรือการจัดการ
 
ในส่วนของวันเลือกตั้งและการหาเสียง แน่นอนว่าถ้าคุณอยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ และกังวลเรื่องความปลอดภัย คุณสามารถเรียกกำลังเสริมจากทหารหรือตำรวจเพื่อดูแลความปลอดภัย กกต.มีอำนาจดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในแง่ลบก็จะตามมา ตัวอย่างเช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นั่นมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีกับกฎหมายพิเศษต่างๆ ฉะนั้นก็คงต้องมาคุยกันว่าจะจัดการอย่างไรใน 28 เขตดังกล่าว
 
แต่ในสถานการณ์ปรกติ ถือว่ามีเสรีภาพที่จำกัดใน 28 เขตดังกล่าวเนื่องจากภัยด้านความมั่นคง มีการหาเสียงอย่างจำกัดเท่านั้นในการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา และมีแต่ประชาธิปัตย์เท่านั้นที่เข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ได้ สรุปง่ายๆ คือพื้นที่นี้อยู่ภายใต้การคุมของประชาธิปัตย์ ถ้าผมเป็นฝ่ายค้าน ผมก็จะดำเนินการเลือกตั้งต่อไปโดยไม่มี 28 เขตดังกล่าว แต่ปัญหาคือจำเป็นต้องมี 95% ของที่นั่งในสภาทั้งหมด จึงจะสามารถเปิดสภาได้
 
ในอัฟกานิสถาน ในพื้นที่ที่มีอันตรายนั้นก็จะไม่มีการเลือกตั้ง แต่มันก็เพียงพอแล้วที่จะเปิดสภา สถานการณ์ในตอนนั้นแย่ลงด้วยซ้ำ พื้นที่ชายแดนที่ติดกับปากีสถานนั้นแดงทั้งหมด แต่การเลือกตั้งก็ยังควรต้องเกิดขึ้น มันควรจะเดินหน้าต่อไป
 
ตัวอย่างหนึ่งคืออาเจะห์ การเลือกตั้งในอาเจะห์ถูกเลื่อนออกไปสามสี่ครั้ง เพราะการขัดขวางจากผู้ชุมนุม การโจมตีและเผาสำนักงานกกต. ในปาปัวและอาเจะห์ กกต. ต้องมาเปิดสำนักงานชั่วคราวในโรงแรม ในอิเรียนจายา เมืองหลวงของปาปัว กกต.ต้องใช้สนง.ใหญ่ของตำรวจเป็นสนง. ชั่วคราวของกกต.ด้วยซ้ำ
 
ในสถานการณ์ของประเทศไทย มันมีช่องว่างระหว่างสองด้าน คือการเลือกตั้ง และการปฏิรูป ทั้งสองฝ่ายควรหันเข้าหากันและหารือระหว่างกัน แม้แต่การปฏิรูป ก็ไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้งนี้ถ้าหากอีกฝ่ายมีผู้สนับสนุนที่ไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ถ้าคุณต้องการจะโค่นรัฐบาล อย่ามาล้มกันแบบนี้ แต่ควรทำด้วยความเคารพกฎหมายและรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดแผลเป็นและทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อออกไปอีก
 
เราอาจจะดูวิธีที่ประชาชนชาวเนปาล “ลงโทษ” ผู้นำพรรคเหมาอิสต์ แม้ว่าในการเลือกตั้งปี 2551 เขาได้รับความนิยมสูง แต่พรรคเหมาอิสต์ก็ทำไม่ได้ดีเท่าไหร่ และหลายคนก็ผิดหวังกับการนำของรัฐบาล รวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่นต่างๆ แม้จะผิดหวังแค่ไหน ประชาชนชาวเนปาลเชื่อ และแปรเปลี่ยนความผิดหวังดังกล่าวผ่านช่องทางการเลือกตั้ง และเขาก็ทำเช่นนั้นสำเร็จ ในการเลือกตั้งปี 2556 ที่เพิ่งผ่านมา คะแนนเสียงสำหรับพรรคซีพีเอ็น-เหมาอิสต์ นั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด
 
แม้ประชาชนชาวเนปาลมีความเปราะบาง แต่พวกเขาก็เชื่อในความสามารถของตนเองที่ได้ “แสดงออก” เสียงและมุมมองต่อการนำทางการเมืองผ่านทางบัตรเลือกตั้ง แม้ว่าการเดินทาง คมนาคมขนส่ง การสื่อการ อัตราการอ่านออกเขียนได้จะเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา คุณคิดว่าชาวชนบทในประเทศไทยไม่สามารถทำแบบเดียวกันได้หรือ ผมคิดว่าเรากำลังประเมินพวกเขาต่ำเกินไปหากเราคิดเช่นนั้น
 
การเลือกตั้งเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทุกๆ เสียงถูกนับ การเลือกตั้งถูกกำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ สหภาพแอฟริกา โดยเฉพาะในสหภาพแอฟริกานั้นเขาเข้มงวดมาก ในธรรมนูญของเขา ระบุไว้ว่า ความพยายามที่จะโค้นล้มรัฐบาลด้วยความรุนแรงจะถูกลงโทษ
 
คุณสามารถวิ่งหนีจากการเลือกตั้งด้วยหลายเหตุผล แต่อย่างที่ผมว่า เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญคุณไม่สามารถวิ่งหนีจากมันไปได้
 
มีข้อกล่าวหาต่างๆ จากผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลว่า การเลือกตั้งนั้นเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นและการซื้อเสียง จากการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งผ่านๆ มา คุณได้รับข้อร้องเรียนทุจริตอะไรบ้าง
 
ANFREL มักมีข้อชมเชยต่อการเลือกตั้งในประเทศเสมอมา ยกเว้นในปี 2554 ที่การเลือกตั้งล่วงหน้าถูกย่นเวลาลง จาก 2 วันเป็น 1 วัน และทำให้เวลาลดลง และยังมีการเปลี่ยนแปลงระบบเรื่องผู้ที่เลือกตั้งในเขตใดๆ เมื่อปี 2550 จะต้องเลือกตั้งในเขตเดิมปี 2554 ซึ่งประชากรหลายส่วนย้ายที่อยู่ไปแล้ว แต่นี่ถูกกำหนดในกฎหมาย ไม่ได้เปลี่ยนโดยกกต. กกต.มีหน้าที่ทำตามกฎหมายเท่านั้น
 
อย่างที่สอง เรารับรู้กรณีของการซื้อเสียง แต่กกต.ก็รับทราบและได้จัดการไปแล้ว ด้วยการให้ใบเหลืองและใบแดง แน่นอนว่า ANFREL ไม่มีอำนาจในการป้องกันหรือสอบสวนสิ่งเหล่านี้ แต่กกต.ก็สามารถจัดการได้
 
คุณไม่สามารถกล่าวหาคนนั้นคนนี้ด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น คุณต้องมีหลักฐาน ผมคิดว่าถ้าทุกคนสามารถนำหลักฐานมาได้ กกต.ยินดีที่จะแจกใบเหลืองหรือใบแดง พวกเขาไม่สามารถกล่าวหาคนจากความรู้สึกเท่านั้น ในทุกประเทศ ถ้ามันมีกรณีใดๆ คุณต้องมีสองอย่าง คือ หลักฐาน และพยาน บางครั้งคุณไม่ต้องใช้พยานเลยด้วยซ้ำ แค่วีดีโอก็เพียงพอแล้ว ไม่มีใครรอดหรอกถ้าวีดีโอสามารถมัดตัวได้
 
ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายและระบบยุติธรรมการเลือกตั้งที่เข้มที่สุดในเอเชีย ทำไมน่ะหรือ เพราะประเทศไทย จากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย สามารถลงโทษผู้สมัครด้วยใบเหลืองและใบแดง และยังสามารถแบนพรรคการเมืองได้ด้วย ในประเทศของผม (อินโดนีเซีย) กรณีเหล่านี้แทบจะเป็นศูนย์ ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ยังเป็นเรื่องยากที่จะลงโทษคนด้วยข้อหาทุจริตการเลือกตั้ง นี่หมายถึงประเทศไทยมีระบบยุติธรรมการเลือกตั้งที่มีผลกระทบมากที่สุด
 
ในแง่ของกรอบระยะเวลาในการนำหลักฐานและลงโทษผู้กระทำผิดก็เช่นเดียวกัน มันค่อนข้างจะก้าวหน้าที่ระยะเวลานั้นได้เปิดให้มีการสอบสวนได้จนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป นี่หมายถึงว่า ถ้าใครยังมีหลักฐานก็สามารถนำมาให้ผู้สอบสวนได้ โชคร้ายที่อย่างในอินโดนีเซีย เราถูกจำกัดด้วยระยะเวลา เรามีเวลาเพียง 7 วันเท่านั้นเพื่อที่จะรับข้อร้องเรียนและการสอบสวนหลังจากการเลือกตั้ง หากพ้น 7 วันไปแล้วไม่มี ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย 
 
ฉะนั้นเป็นเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องแย่และเต็มไปด้วยการซื้อเสียง ผมเองก็เคยเชื่อแบบนั้น จนกระทั่งมีคนบอกผมว่าคนในภาคเหนือเลือกพรรคเพื่อไทยในปาร์ตี้ลิสต์ และเลือกประชาธิปไตย์ในระดับเขต ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ฉลาดสำหรับคนเลือกตั้ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท