Exclusive วรเจตน์ ภาคีรัตน์: วินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ความน่าเอือมระอาของศาลรัฐธรรมนูญ

ประชาไทสัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นอีกครั้งที่ศาลวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ชี้ การเมืองไทยวิกฤตเพราะใช้หลักกฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งสื่อและสังคมไม่เคยตามทัน และสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำคือการ “ทำซ้ำ” เงื่อนปมทางการเมืองไปสู่การหาทางออกนอกระบอบประชาธิปไตย แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่จะไม่ซ้ำเดิมคือประชาชนจำนวนไม่น้อยนั้นตื่นตัวและ เรียนรู้เพิ่มขึ้นแล้ว และสามารถวิจารณ์การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญได้เองด้วยซ้ำ สำหรับประเด็นการพิจารณาพ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านนั้น เขาเห็นว่าศาลมีอำนาจในการวินิจฉัย แต่เมื่อพิจารณาแนวทางการไต่สวนวันนี้ เขาเห็นว่าศาลกำลังก้าวล่วงเข้าไปแทรกแซงนโยบาย และแสดงความผิดหวังที่นักการเมืองไทยกลัวศาลจนลนลาน ไม่กล้าปฏิเสธคำถามที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาล

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรา 190 ซึ่งอ้างหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

วรเจตน์: ความจริงต้องเริ่มต้นจากประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลก่อน ว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหรือไม่ในการเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคงเป็นเหมือนเดิมที่เราเคยวิพากษ์วิจารณ์ไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจเหนือคดี เพราะเหตุว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจโดยแท้ของรัฐสภา แล้วรัฐธรรมนูญไทยไม่เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบกระบวนการอันนี้ได้

ข้อพิจารณาอยู่ที่มาตรา 68 เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย กรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญไทยห้ามเอาไว้อยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ห้ามแก้เรื่องรูปของรัฐจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ กับห้ามแก้ไขรูปแบบการปกครอง ก็คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ เรื่องอื่นไม่ได้ห้าม

เพราะฉะนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้มาตรา 190 ว่าได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเลย และเกินไปกว่าเรื่องที่รัฐธรรมนูญห้ามแก้ด้วย คล้ายๆ ว่าตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องห้ามแก้ขึ้นมาเต็มไปหมด โดยอ้างหลักนิติธรรมบ้าง อ้างหลักเรื่องการแบ่งแยกอำนาจบ้าง ซึ่งมันไม่เป็นข้อห้ามในทางรัฐธรรมนูญ

เราจะเห็นได้ว่า อันนี้ศาลรัฐธรรมนูญผิดทั้งในแง่ที่ว่า เขาไม่มีเขตอำนาจเหนือคดี แล้วก็แม้เขาจะรับเข้ามาแต่เหตุที่อ้างในการวินิจฉัยก็เป็นเหตุที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามเอาไว้

ประเด็นการวินิจฉัยการแก้มาตรา 190 ถ้าดูจากเหตุผลที่ศาลให้ไว้ เราจะเห็นได้ว่า ในแง่ของรูปแบบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแบบพิธีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงอำนาจของสภาอย่างมาก คล้ายๆ กับศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมสภา คล้ายๆ กับจะบอกว่าที่ประธานสภากำหนดกรอบการแปรญัตติ หรือกำหนดการปิดอภิปรายนั้นทำไม่ได้ ทั้งที่ความจริงเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาโดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ผลของการวินิจฉัยนี้ กลายเป็นว่าต่อไป เวลาสภาประชุมอะไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปก้าวล่วงได้ว่า การประชุมของสภา ประธานสภาสั่งยุติการประชุมโดยที่ไม่ถูกต้อง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นผู้ที่ควบคุมการประชุมสภาเอง อำนาจก็จะใหญ่มากกว่าประธานสภา ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกจะเป็นแบบนี้

เรื่องของกรอบแปรญัตติก็เหมือนกันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้าง อันนี้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมอยู่แล้ว ผมแปลกใจที่บอกว่าขัดกับข้อบังคับการประชุม เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างว่าขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อไหน นี่ก็จะเป็นปัญหาเหมือนกับที่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่บอกว่า การแก้ไขมาตรา 190 เหมือนกับลิดรอนอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภา คำตอบก็คือ เรื่องนี้รัฐสภาแก้ของเขาเอง ศาลรัฐธรรมนูญไปยุ่งอะไร คนที่แก้คือรัฐสภา เขาเห็นว่าการแก้มาตรา 190 แบบนี้จะให้ความสะดวกมากกว่าในเชิงของการทำหนังสือสัญญา แล้วความจริงในทางหลักการ อำนาจในการทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจในทางบริหาร ไม่ใช่อำนาจทางนิติบัญญัติ เพียงแต่เรื่องสำคัญๆ รัฐธรรมนูญก็จะกำหนดว่าอาจจะต้องผ่านหรือขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน ส่วนว่าแค่ไหนเพียงใด เป็นดุลยพินิจของสภาเองในการกำหนด

พูดง่ายๆ คือเรื่องนี้สภาพอใจจะกำหนดแบบนี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปบอกว่าเป็นการละเมิดอำนาจของสภา คำตอบก็คือรัฐสภาเป็นคนแก้เอง แล้วคุณจะไปยุ่งอะไรกับเขา เขาเห็นว่าการแก้ในลักษณะแบบนี้มันถูกต้องอยู่แล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปอ้างเรื่องการทำลายดุลยภาพในการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้อง สุดท้ายก็ไปสรุปว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

คำถามก็คือแล้วอะไรคือผลของคดีล่ะ ตกลงในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะให้ทำอะไร มันก็ไม่ได้บอกว่าตกลงแล้วจะยังไงต่อ ก็เหมือนกับคดีแก้ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง พูดง่ายๆ อันนี้ในความเห็นผม มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือผิดตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง คือผิดตลอดสาย เป็นการซ้ำรอยเรื่องของการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ตั้งแต่ผมศึกษา และเห็นคำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลมาเยอะ ผมไม่พบว่ามีคำวินิจฉัยที่ไม่สามารถยอมรับได้เลยในทางกฎหมายได้เท่ากับเรื่องแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง และเรื่องแก้มาตรา 190 เป็นอันที่ 2 ซ้ำรอยเดิม ผลก็คือตอนนี้ประเทศไทยก็ปกครองโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ในทางหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างถึงการไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกสบายใจขึ้นที่รัฐสภามีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้มันซ้ำอันเดิม

วรเจตน์: อันนี้ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ที่ใช้คำว่า ‘ตรวจสอบถ่วงดุล’ มันผิด คือเราต้องแยกระหว่างการตรวจสอบถ่วงดุลกับการที่องค์กรๆ หนึ่งมีอำนาจเหนือองค์กรอีกองค์หนึ่งอย่างสิ้นเชิง ผมถามว่าอะไรคือการตรวจสอบถ่วงดุลเมื่อคุณล้วงเข้าไปถึงเรื่องของการควบคุมการประชุมสภาของประธานสภา คุณบอกว่าประธานสภาขอมติให้ปิดการอภิปราย คำถามก็คือ เวลาคุณจะไปตรวจสอบถ่วงดุล ตรวจสอบถ่วงดุลแค่ไหน ตรวจสอบถ่วงดุลจนคุณเป็นคนควบคุมการประชุมรัฐสภาเลยหรือ ถ้าอย่างนั้นรัฐธรรมนูญก็ออกแบบให้คุณเป็นประธานที่ประชุมสภาไปเลยหมดเรื่องหมดราว คงไม่ต้องมีข้อบังคับการประชุมสภาหรอก

จริงๆ ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล แต่เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นไปเหนือองค์กรอื่นและเหนือรัฐธรรมนูญภายใต้เสื้อคลุมของการตรวจสอบถ่วงดุล เอาเสื้อคลุมตรวจสอบถ่วงดุลมาสวม ทำให้คนทั่วไปเห็นหรือเคลิ้มไปว่ามันคือการตรวจสอบถ่วงดุล แต่จริงๆ มันไม่ใช่แล้ว มันคือตัวเองขึ้นไปเหนือรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ผมเรียนแบบนี้

สำหรับผม ผมยืนยันมาตลอดว่า คำวินิจฉัยแบบนี้ไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรค 5  จึงไม่มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เนื่องจากผลเห็นว่ากรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 197 เพราะไม่มีฐานแห่งอำนาจจากรัฐธรรมนูญ นี่เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะเขาจะมีมติได้ ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐสภาไม่มีมติแบบนี้

พูดง่ายๆ ในระบบพวกนี้ นักการเมืองกลัวศาล กลัวจนในที่สุดศาลสั่งอะไรมาก็ยอมตามหมด ทำตามหมด ไม่ต้องดูว่าตกลงมันใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด แล้วมันก้าวล่วงเข้ามาในอำนาจของตัวไหม แล้วต่อไปจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันยังไง เวลาจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญไปตลอดกาล ซึ่งระบบอย่างนี้เป็นไปไม่ได้หรอก วันหนึ่งมันก็ต้องล้มไปโดยสภาพ

อันนั้นเป็นผลในทางกฎหมาย แล้วผลทางการเมืองล่ะ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาแบบนี้มันสร้างเงื่อนปมอะไร

วรเจตน์: ก็เหมือนอันเดิม ทำให้ศาลโดยอาศัยคำวินิจฉัยนี้ แล้วสภาในตอนนี้ไม่อยู่ในสภาวะที่จะตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสถาปนาตัวเองขึ้นไปเหนือองค์กรอื่นในทุกองค์กร

เราต้องเข้าใจว่าในสภามีความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา ความเห็นไม่มีทางตรงกัน เมื่อไม่มีทางตรงกันก็ขึ้นกับว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบให้ความเห็นที่ไม่ตรงกันแก้ไขแบบไหน บางกรณีออกแบบให้คุ้มครองเสียงข้างน้อยเอาไว้โดยการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นกลไกคุ้มครอง บางกรณีเขาเห็นว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาคุ้มครองทุกกรณีแล้วจะกลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือองค์กรอื่น เขาจะเปิดโอกาสให้สภาวินิจแยไปโดยเสียงข้างมากในสภานั้นเอง แต่ละเรื่องจะมีการออกแบบที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น กรณีสภาตราพระราชบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เขาเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบว่า พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

แต่กรณีของการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญวางกลไกการแก้ไขยากกว่าการตรากฎหมายธรรมดาอยู่แล้ว ต้องใช้เสียงข้างมากเป็นพิเศษ เขาจึงไม่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ เขาให้แก้กันโดยกลไกเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ไม่เหมือนกรณีการตรา พ.ร.บ.ที่ใช้เสียงมากธรรมดา แล้ว พ.ร.บ.ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ อันนี้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้

เรื่องนี้คนไม่เข้าใจ มักจะสับสนว่า ทำไมเวลารัฐสภาตราพระราชบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ แต่ทำไมสภาแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญถึงตรวจสอบไม่ได้

เวลาที่ผมอธิบาย ผมบอกว่ามันไม่เหมือนกันไง อำนาจในการตราพระราชบัญญัติเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญในระดับรองลงมา เพราะ พ.ร.บ.อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญสูงกว่า พ.ร.บ. ศาลรัฐธรรมนูญเขาคุมอยู่ เวลาสภาตรา พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญ เขาตรวจสอบได้โดยกลไกรัฐธรรมนูญ

แต่ว่าอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่สูงกว่า มันเป็นระนาบของการเข้าไปแก้ตัวรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญพยายามช่วงชิงหรือสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นมา ในคำวินิจฉัยครั้งที่แล้วเรื่อง ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

ที่ผมบอกว่าเป็นเรื่องตลกที่เข้ามาชี้ว่าการแก้ไข ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งขัดต่อหลักประชาธิปไตย ในโลกนี้ใครก็หัวเราะ ผมให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศ เขาก็หัวเราะ ต่างประเทศเองก็เขียนว่าไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจในลักษณะแบบนี้ มีที่เดียวในโลกคือที่ อะเมซซิ่งไทยแลนด์ แห่งนี้นี่เอง

ดูแนวทางศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวางหลักมาตรา 3 เพื่อเชื่อมโยงมาตรา 68

วรเจตน์: คือมาตรา 3 เขียนเรื่องหลักนิติธรรม ก็เป็นเรื่องที่ศาลหยิบเข้ามาอ้างตามใจ อย่างที่ผมเคยบอกว่าโดยการวินิจฉัยแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คุ้มครองความเป็นสูงสุดของกำหมายรัฐธรรมนูญในทัศนะของผม แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้แทนของเสียงข้างน้อยไป คือเป็นฝ่ายในทางการเมืองไป ไม่ใช่เป็นคนกลางในการตัดสินคดีในทางกฎหมาย อันนี้ดูจากเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เองนะ

ผมถึงบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีทัศนะในทางการเมือง ทัศนะส่วนตัวที่มีต่อฝ่ายค้าน ต่อฝ่ายที่มีเสียงข้างมากในสภาอย่างไรก็ได้ มันเป็นสิทธิในทางการเมืองของคุณ ไม่เป็นปัญหา คุณแสดงออกโดยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อคุณเป็นตุลาการ บทบาท ข้อจำกัดอำนาจมีอยู่แค่ไหน ต้องตระหนัก ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา

คำวินิจฉัยแบบนี้ จริงๆ ผมอาจจะไม่ต้องให้สัมภาษณ์เลย เพราะผมคิดว่าวันนี้คนทั่วๆ ไปเขาเห็น เขาสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ได้เองแล้ว การวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านคดีเรื่อง ส.ว.มาจากการเลือกตั้งมันมาถึงจุดที่ว่าไม่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคเข้ามาอธิบายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คือคนทั่วๆ ไปที่มีจิตใจเป็นธรรมที่พอจะเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด เขาสามารถบอกได้ว่าอันนี้มันใช่หรือไม่ใช่ มันมาถึงจุดที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถเห็นได้แล้ว

ตอนนี้สังเกตดูประเด็นที่ตอบไม่ได้ อย่างเช่น มาตรา 68 ที่เขียนว่าต้องผ่านอัยการก็ไม่มีการพูดถึงแล้ว ลืมไปโดยปริยาย มาตรา 68 บอกไว้ว่าเป็นเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่พูดถึงแล้ว เพราะตอบไม่ได้

มาตรา 68 ออกแบบมาเพื่อกรณีที่บุคคลหรือคณะบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น กรณีการชุมนุมของ กปปส.นี่แหลเป็นเรื่องของมาตรา 68 เป็นเรื่องใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แล้วมีปัญหาว่าจะไปล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ การเสนอสภาประชาชนอะไรต่างๆ จะทำให้กลไกรัฐธรรมนูญใช้ไม่ได้หรือเปล่า อันนี้แหละที่ตรงกับมาตรา 68 ที่จะเอามาใช้ ของที่มันตรงๆ บอกว่าไม่ใช่ แต่ของที่มันไม่ใช่เลย เขาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับบอกว่าเป็นสิทธิหน้าที่ หรือไม่พูดถึงเลย

ตอนนี้มีกระแสเรื่องการปฏิรูป ศาลรัฐธรรมนูญก็สร้างเงื่อนปมทางการเมืองมาหลายครั้ง อาจารย์มองว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องปฏิรูปอะไร

วรเจตน์: ไม่ต้องปฏิรูปอะไร ทำตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ว่ายุบไป คือตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องถูกยุบอย่างเดียว ไม่มีทางอื่น ยุบแล้วตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเป็นองค์กรชั่วคราวเพื่อทำภารกิจของตัวศาลรัฐธรรมนูญ ที่นิติราษฎร์เคยเสนอเป็นคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

ผมอยากจะอธิบายบางอย่างเพิ่มเติมคือ มีสื่อมวลชนฉบับหนึ่งได้โค้ทคำพูดของผม ตอนที่ผมวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่บอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยจะไม่ผูกพันรัฐสภาตามาตรา 216 วรรค 5 กับอีกทีหนึ่ง ผมพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญยังมีผลบังคับใช้อยู่ และเราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไปจนกว่าจะมีการแก้

สื่อมวลชนฉบับหนึ่ง ได้เอาคำพูดของผม 2 ครั้งไปเทียบกัน แล้วพยายามจูงให้คนเห็นว่าผมพูด 2 ครั้งแตกต่างกัน จริงๆ ไม่ได้แตกต่างกันเลย ผมพูดจากหลักการเดียวกัน แต่คนซึ่งอาจจะมีอคติ หรือมีสติปัญญาพร่องอยู่ไม่บริบูรณ์ อาจจะรู้สึกว่ามันขัดกัน
อธิบายง่ายๆ ว่า เวลาที่เราบอกคำว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เรายกรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุด เวลาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำวินิจฉัยต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ถ้าคำวินิจฉัยขัดหรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นของรัฐ อย่างเช่น รัฐสภามีสิทธิที่จะบอกว่าคำวินิจฉัยนี้ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญผูกพันที่จะวินิจฉัยไปตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้น ที่ผมบอกว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดกับรัฐธรรมนูญเอง คำวินิจฉัยต้องไม่ผูกพันองค์กรอื่น อันนี้คือการเคารพรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ทำนองเดียวกับที่ผมบอกต่อไปว่า รัฐธรรมนูญตราบที่ยังไม่แก้ คุณก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น เว้นแต่ว่าคุณจะแก้ไขมัน พูด 2 ครั้งไม่ได้ขัดกันเลย พูดในหลักการอันเดียวกันคือ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

แต่บางคนเข้าใจว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เท่ากับรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐธรรมนูญ มันเป็นเพียงการกระทำขององค์กรของรัฐที่เกิดขึ้นจากตัวรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นมันจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

คำถามก็คือว่า เวลาที่องค์กรอื่นของรัฐกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนบอกว่าขัด คำถามของผมง่ายๆ เลยก็คือว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเองวินิจฉัยเรื่องขัดกับรัฐธรรมนูญ จะทำยังไง นักกฎหมายบางคนบอกว่า ไม่ต้องสนว่าจะเป็นยังไง คำวินิจฉัยมาก็เป็นไปตามคำวินิจฉัย แล้วยกตัวอย่างว่า ถ้าคนไม่เคารพคำวินิจฉัยแล้วบ้านเมืองจะอยู่ยังไง ตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล จะเป็นอะไรยังไง ไปยกตัวอย่างพวกนั้นไป

ผมถามง่ายๆ ถ้าคำวินิจฉัยของศาลมันผิดชัดๆ อย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประหารชีวิตคนผมถามว่าจะมีใครหน้าไหนในประเทศนี้อ้างว่าคำวินิจฉัยนี้ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร แล้วราชทัณฑ์จะต้องบังคับและต้องปฏิบัติตาม มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ แค่นี้ก็พิสูจน์แล้วว่าโดยตรรกะ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจละเมิดรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเขาละเมิดรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นที่เป็นองค์กรในทางรัฐธรรมนูญเหมือนกัน เขาย่อมมีสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อำนาจพิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงมิได้ผูกขาดของศาลรัฐธรรมนูญเอง

ถ้าองค์กรอื่นกระทำขัดรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการลงโทษได้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีบทลงโทษ

วรเจตน์: ใช่ จะมีปัญหาว่าใครเป็นคนชี้ ซึ่งผมบอกว่าคนชี้ก็คือตัวองค์กรในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน รัฐสภาก็ชี้ได้นี่ ก็มีมติได้ ทีนี้พอมีมติก็จะมีคนเอาไปพูดกันว่าสภาไม่เคารพศาล ผมถามว่าแล้วศาลเคารพรัฐธรรมไหมล่ะในความเห็นของสภา มันเป็นแบบนี้

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญคือ การควบคุม ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการตรากฎหมาย การตราพระราชบัญญัติ เป็นภารกิจหลัก ซึ่งเวลาเขาคุม คุมโดยเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ เขาไม่มีอำนาจคุมในเรื่องความเหมาะสม

ผมยกตัวอย่าง ในวันนี้ (8 ม.ค.2557) มีการไต่สวนเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ผมเห็นว่าคำถามบางคำถามเป็นคำถามในแง่ความเหมาะสมทางนโยบายนะ ถามเรื่องข้อดีข้อเสีย มันเป็นเรื่องความเหมาะสมทางนโยบาย ไม่ใช่เรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเหมาะสมทางนโยบายศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปคุม เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะวินิจฉัยเอง

พูดง่ายๆ ในระบบแบบนี้ เราไม่ได้ถือศาลรัฐธรรมนูญเป็นพระเจ้าที่จะวินิจฉัยทุกอย่าง ผูกพันทุกคนได้ในทุกเรื่อง อำนาจของเขาจำกัดอยู่ที่ว่าเขาต้องผูกพันกับกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ ถ้าเรายอมให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปก้าวล่วงเรื่องที่เป็นนโยบายเมื่อไหร่ เสร็จครับ มันก็ทำนโยบายกันไม่ได้ พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนทำนโยบายไม่ได้ เพียงเพราะศาลอาจจะมองว่านโยบายอันนี้ไม่ดี

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่คนคุมศีลธรรมที่จะบอกว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี มาตรที่ศาลจะต้องใช้คือรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าคุณไปคุมเรื่องเกณฑ์ความเหมาะสม มันเกินไปกว่ากรอบความชอบธรรมที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ คุณจะขาดความชอบธรรมในทางรัฐธรรมนูญเอง

แล้วเรื่องนี้ผมคิดว่า ถึงจุดหนึ่งคนทั่วๆ ไปก็จะฉุกคิดว่า เราเลือกพรรคการเมืองนี้มาเพื่อจะให้ทำนโยบาย เช่น ทำรถไฟความเร็วสูง เป็นเสียงข้างมากเลือกมา แล้วจะมีคนบอกว่านโยบายนี้ไม่เหมาะสม ถามว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม ใครตัดสิน ประชาชนต้องตัดสินผ่านกลไกในกระบวนการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่องค์กรที่เป็นศาลที่จะมาชี้เรื่องความเหมาะสมในเชิงการใช้อำนาจ

ที่ผมรู้สึกเบื่อหน่ายก็คือว่า ผมรู้สึกว่าบ้านเราโดยเฉพาะนักการเมือง ผมว่ากลัวศาลมากเกินไป คำถามบางคำถามที่ศาลถามมา ถ้าไม่เป็นประเด็น เป็นเรื่องความเหมาะสม ศาลต้องใช้เกียรติรัฐมนตรีหรือฝ่ายการเมือง แล้วรัฐมนตรีก็ต้องตอบว่านี่เป็นประเด็นเรื่องความเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของศาล เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่จะเป็นคนตัดสินใจเอง ถ้าเป็นประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเขาอาจจะต้องตอบ ถ้าเป็นเรื่องความเหมาะสมก็ไม่จำเป็นต้องตอบ

ปัญหาอันหนึ่งของบ้านเรา คือคำวินิจฉัยของศาลจำนวนหนึ่ง เป็นการคล้ายกับว่าใช้โอกาสในแง่การทำคำวินิจฉัยในการตำหนิประณามบุคคล บางทีผมยังแปลกใจเลยว่าบางทีฟังคำวินิจฉัยเหมือนฟังคำฟ้อง เป็นคำฟ้องมากกว่าเป็นคำวินิจฉัย

ประเด็นหนึ่งที่ติดมากๆ และผมคิดว่าคำถามนี้ทุกคนควรถามให้ดังสนั่นหวั่นไปเลยว่า ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วอ้างว่าสภาทำผิดข้อบังคับการประชุม ผมอยากฝากให้สื่อมวลชนช่วยถามหน่อย ข้อไหน อ้างข้อหน่อย เพราะว่าผมไปดูแล้วไม่มี และผมเห็นว่าสภาทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม

นิติราษฎร์เคยแถลงเรื่องนี้ไป อาจจะมีประเด็นเยอะ แล้วมีคนไปพูดถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญปลอม พูดถึงเรื่องไม่ให้เวลาในการแปรญัตติ พูดถึงเรื่องเสียบบัตรแทนกัน แล้วก็ใช้ประเด็นนี้เป็นวาทกรรมว่ารัฐสภาทำผิด แล้วผมแปลกใจมากๆ เลยที่ฝ่ายนักกฎหมายของรัฐบาลทำไมไม่พูดประเด็นนี้ อันนี้มันมีเหตุผลและน้ำหนักที่จะต้องพูด ร่างรัฐธรรมนูญปลอมก็ไม่ใช่ ไปอ่านดูดีๆ ไม่มีใครคัดค้านเลย เพราะรัฐธรรมนูญที่ทุกคนได้รับตอนที่รับหลักการวาระ 1 เป็นฉบับเดียวกันหมดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล

เรื่องที่บอกสภาทำผิดข้อบังคับการประชุม เรื่องกำหนดเวลาแปรญัตติน้อยเกินไปนั้น ไม่จริง สภาทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม แถลงการณ์นิติราษฎร์ระบุเลขข้อด้วยว่าเป็นข้อไหน ที่ไม่ระบุนั้นเป็นศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ไม่บอกว่าที่ผิดข้อบังคับการประชุมคือข้อไหน ผมยังรออยู่ทุกวันนี้ว่าช่วยเอามาให้ดูหน่อยว่าเขาผิดข้อไหน ไม่มี

เรื่องเสียบบัตรแทนกันก็เหมือนกัน การพิสูจน์ในทางหลักฐานก็ไม่ชัด ต่อให้ตรวจสอบได้ชัด ก็ไม่เป็นจำนวนเสียงพอที่จะล้มตัวรัฐธรรมนูญได้ มันเหมือนกับนักศึกษาเข้าสอบ ห้องหนึ่งมีคนเข้าสอบ 300 คน คนหนึ่งทุจริตการสอบ ผู้คุมสอบปรับตกทั้ง 300 คน คนอื่นไม่เกี่ยวด้วย ทำนองเดียวกันเหมือน ส.ส.ลงคะแนน ส.ส.ส่วนใหญ่ลงคะแนนไปตามเจตนาที่บริสุทธิ์ถูกต้องของเขา มีจำนวนหนึ่งฝากคนอื่นลงคะแนนแทนซึ่งผิดข้อบังคับการประชุม ก็ต้องตัดเสียงส่วนนั้นออกไป ไม่ได้เอาเสียงตรงนั้นมาทำลายคนอื่น มันก็เปรียบกับห้องสอบ คุณก็สอบของคุณไป อีกคนทุจริตการสอบ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับผม ทำให้ข้อสอบที่ผมเขียนไปมันเจ๊งไปด้วย มันไม่ถูกหรอก โดยระบบ มันไม่ถูกต้อง

อย่างที่ผมบอก แล้วนี่เป็นปัญหาของสังคมไทย ปัญหาของสื่อด้วย คือการเลือกข้าง หมายถึงพอใจแบบนี้แล้วไปพูดต่อกัน เหมือนคดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ ถามว่ามีใครสักกี่คนอ่านคำวินิจฉัยละเอียด มีใครสักกี่คนตามไปตรวจสอบว่าที่ตัดสินมาถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า รวมทั้งคนที่มาวิจารณ์ด่าๆ กันด้วย ผมท้าได้เลย พูดตามๆ กันทั้งนั้น ไปถามจริงๆ ไม่เคยอ่าน ก็เชื่อตามกัน แล้วศาลใช้เรื่องคอร์รัปชั่นทุจริตเชิงนโยบายมันคืออะไร แล้วมันเป็นองค์ประกอบความผิดในทางกฎหมายหรือเปล่าที่จะเอาใช้ในการวินิจฉัยตัดสิน นี่คือปัญหาทั้งหมดของการใช้กฎหมายในบ้านเราแล้วแก้ยากด้วย

อาจารย์กำลังพูดถึงปัญหาที่ค่อนข้างยาวนานหลายปีแล้ว ซึ่งใช้เทคนิคในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยที่สังคมไทยไม่สามารถตามได้ทัน หรือลงไปในรายละเอียดได้

วรเจตน์: ผมติดตามเรื่องนี้มาหลายปี เห็นมาโดยตลอด ลองย้อนบางประเด็นนะ บางเรื่องสังคมไทยเราก็ลืมไปเฉยเลย เรื่องล่าสุดเรื่อง กกต. คุณวาสนา เพิ่มลาภ

หลายปีก่อนตอนที่ประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง แล้วในบางเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครคนเดียว กกต.ต้องเปิดรับสมัครใหม่แล้วมีผู้สมัครคนอื่นมาสมัครเพิ่ม ต่อมาก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีว่าทำผิดกฎหมาย

ในตอนนั้นในทางวงการกฎหมายมันชัดเจนว่า ผู้ที่ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นตอนนั้นรับฟ้อง แล้วไม่ให้ประกัน กกต. ผมจำได้เลยเรื่องนี้ผมไปออกทีวีรายการถึงลูกถึงคนของคุณสรยุทธหลายปีก่อน ไปนั่งเถียงกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ปัจจุบันท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาของงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมบอกว่าการไม่ให้ประกันนั้นไม่ถูก เพราะการได้รับการประกันเป็นสิทธิ แต่ตอนนั้นสังคมตามสื่อก็เรียก กกต.ชุดสามหนาทำไม่ถูก เวียนเทียนสมัครนู่นนี่ สุดท้ายก็ไม่ให้ประกัน จับ กกต.ขังไว้ ต่อมา กกต.ก็ลาออก แล้วเปลี่ยน กกต. ผ่านไปหลายปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แล้วคดีไปถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาก็พิพากษากลับบอกว่าที่ดำเนินการวันนั้นคนฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง ก็เหมือนกับที่ผมพูดในเวลานั้นว่าไม่มีอำนาจฟ้อง

ถึงวันนี้ โอเค กกต.ชุดคุณวาสนาพ้นความรับผิดไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นใครรับผิดชอบ เขาถูกไม่ให้ประกันตัว เขาเสียตำแหน่ง กกต.มีใครรับผิดชอบให้เขา สังคมไทยเคยคิดย้อนกลับไปตรงนี้ไหม และผลมันสะเทือนมาขนาดไหน สุดท้ายพอเปลี่ยนตัว กกต.เสร็จ ไทยรักไทยยังยืนยันให้มีการเลือกตั้งต่อ กกต.ชุดใหม่มาคุณกลัวอีกว่าไทยรักไทยจะชนะเลือกตั้ง ก็รัฐประหารวันที่ 19 กันยาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แล้วเรากำลังจะทำซ้ำประวัติศาสตร์แบบนี้อีกรอบหนึ่งในเวลานี้

เราไม่เคยสนใจอะไรเลย แล้วสังคมนี้ไม่เคยมองเลยว่าใครยืนอยู่ตรงจุดไหน หลักการคืออะไร เป็นสังคมอื่นเขาสว่างจ้ากันจนตาจะมืดบอดอีกรอบหนึ่งแล้ว คือสว่างแล้วสว่างอีกจนจะบอดอีกทีหนึ่งแล้ว สังคมเราก็ยังเหมือนเดิม สื่อมวลชนก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีจรรยาบรรณเหมือนเดิมที่เคยเป็น เขียนข่าวก็เลอะเทอะมั่วซั่วเหมือนเดิม แล้วคนก็เชื่อกันไปเหมือนเดิม

แต่ว่ามันอาจจะไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะถ้าดูจากพัฒนาการทางสังคม คนจำนวนหนึ่งเขาตื่นขึ้นแล้ว อันนี้ดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันจึงยากกว่าเดิม ถามว่าเขามีเครื่องมืออย่างอื่นไหม ก็ไม่มี ต้องใช้เครื่องมือแบบเดิมๆ ในสภาวะปัจจัยของประชาชนที่เปลี่ยนไป สื่ออาจจะเหมือนเดิม ผมยังไม่เห็นสำนึก ยังทำเหมือนเดิม สื่อที่โจมตีผมก็โจมตีเหมือนเดิม หนักกว่าเดิมอีก เขียนผิดๆ ถูกๆ ใครเป็นสมาชิกนิติราษฎร์บ้างยังผิดๆ ถูกๆ เลย บอกนิติราษฎร์แปลงกายเป็นสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย แปลงกายที่ไหน นิติราษฎร์ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่มีการแปลงการก็บอกว่าแปลงร่าง เละเทอะเรื่อยเปื่อย กลับดำเป็นขาวกลับขาวเป็นดำ กลับสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก และสิ่งที่ถูกให้เป็นผิด

คนจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะอินไปแล้ว ไม่ใช้สติปัญญาคิดตรึกตรอง ไม่ดูอดีต ผมถึงพูดว่าคุณย้อนกลับไปดูข้อกฎหมายสิ ผมสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ มีนักศึกษาคนหนึ่งผมไม่แน่ใจโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊ก บอกว่าที่ผมสอนว่าในหลักการเขาเถียงไม่ได้ มันถูกต้อง แต่เขาขอทิ้งหลักการนี้ไปก่อน เขาขอไปกู้ชาติ ที่ผมพูดมาเรื่องนายกรัฐมนตรีรักษาการลาออกไม่ได้ ถูกต้องหมดเลย เขาบอกว่านี่เป็นหลักการในทางกฎหมายมหาชน แต่เขาบอกขอทิ้งหลักการตรงนี้เถอะ เขาจะไปกู้ชาติ

ในความรู้สึกผม นักศึกษาคนนี้ยังดีที่รู้ว่าอันนี้ถูก แต่ยังไม่บิดหลัก ที่แย่คือพวกนักกฎหมายที่บิดหลักการหมด เวลาผมเห็นนักกฎหมายบางคนที่บอกรักษาการนายกรัฐมนตรีลาออกได้ ผมพูดจริงๆ นะ ผมอยากจะอาเจียนเลย เพราะคนที่พูดครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนบอกว่า ลาออกไม่ได้ สื่อไม่เคยไปดุว่าคนพวกนี้เคยมีความเห็นอะไรยังไง พอมาวันนี้ข้าพเจ้าอยากได้รัฐบาลพระราชทานคนกลางเต็มแก่เลย บอกว่าลาออกได้

อาจารย์บอกว่ากำลังเกิดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

วรเจตน์: ใช่ หมายถึงว่าการทำซ้ำคงไม่เหมือนเดิมทั้งหมด แต่ลักษณะการซ้ำของเรื่อง ตอนนี้เรามาถึงจุดเหมือนกับเลือกตั้งโมฆะ แล้วจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ แล้วมันไปไม่ถึงการเลือกตั้งอันนั้น มันมีรัฐประหารก่อน

ตอนนี้ก็จะอยู่ในสภาวะก่อนถึงวันเลือกตั้ง แล้วคำถามเป็นเหมือนเดิมเลย จะมีรัฐประหารก่อนไหม รัฐประหาร 19 กันยาคืออะไร บอกว่าคาราวานคนจนกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะปะทะกันในวันที่ 20 บอกว่ามีรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าไม้ขนคนเข้ามาเตรียมจะตีกัน

พลเอกสนธิ (บุญยรัตกลิน) เอาเหตุนี้มาอ้าง แล้วก็ยึดอำนาจเลย คนก็ดีใจบอกว่าเราหลีกเลี่ยงการปะทะ การนองเลือดได้ ผมขำมากๆ เลย คุณจินตนาการเอาเองทั้งนั้นเลย ผมพูดง่ายๆ นะถ้าเกิดจะตีกัน ทำไมคุณไม่มาช่วยรัฐบาลรักษาความสงบล่ะ เวลาคนตีกันคุณต้องยึดอำนาจเหรอ คนตีกันเป็นเหตุให้ต้องยึดอำนาจเหรอ ผมตลก งงมากๆ เลย นี่จะเอาอีกแล้ว เดี๋ยวจะออกมาตีกัน ตีกันคุณก็เข้ามารักษาการณ์ จัดการ ทหารก็มาเป็นผู้ช่วยตำรวจในการจัดการได้ คำถามคือคุณจะจัดการได้ไหม

แต่ว่าอะไรคือ คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้ คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้ก็คือคำตอบของพลเอกสนธิไง ที่ถามว่าแล้วใครสั่งให้ท่านทำรัฐประหาร พลเอกสนธิตอบให้ตายก็ตอบไม่ได้ ตราบเท่าที่เรามีคีย์เวิร์ดแบบนี้อยู่ในสังคมไทย ‘ให้ตายก็พูดไม่ได้’ แล้วคุณจะแก้ปัญหากันยังไง คุณจะปฏิรูปอะไรผมถามหน่อย มันไม่มีหวังหรอกตราบเท่าที่สิ่งแบบนี้ คำพูดแบบนี้หมดไป ที่บอกว่าตายก็พูดไม่ได้ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป นั่นแหละเราถึงจะแก้ปัญหาของประเทศนี้ได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท