Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บอกตรงๆ ว่า ผม ‘จำใจ’ ไปเลือกตั้งเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 ผมก็ไปเลือกตั้งของผมอยู่ดีๆ นี่แหละครับ แต่ครั้นพอเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมา ผมก็เกิดอาการไม่อยากไปเลือกตั้งขึ้นมาเสียอย่างนั้น

ทำไมน่ะหรือครับ?

เหตุผลเดียวเลยก็คือ รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ ‘สั่ง’ ว่าคุณมรึง (ในฐานะประชาชน) ต้องไปเลือกตั้งนะ โดยการกำหนดให้การเลือกตั้งกลายเป็น ‘หน้าที่’ ไม่ใช่ ‘สิทธิ’

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้การเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่ ‘ต้องทำ’ แบบเดียวกับการเกณฑ์ทหาร

ซึ่งผมไม่เห็นด้วย!

วิธีคัดค้านรัฐธรรมนูญแบบที่ว่า – เท่าที่สติปัญญาอ่อนด้อยของผมพอจะนึกออก ก็คือ ในเมื่อกำหนดกันมาแบบบังคับขู่เข็ญ ทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่อง ‘ภาคบังคับ’ (Compulsory) เหมือนมีครูผู้ปกครองถือไม้เรียวมาคอยกำกับลงโทษแบบนี้ ผมคงไม่หาญกล้าลุกขึ้นหักด้ามพร้าด้วยเข่า ดึงไม้เรียวครูมาหักทิ้งหรอกครับ สิ่งที่ทำได้ก็คือ ไม่เชื่อฟังคำสั่งนี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 (รวมถึง 2550 ซึ่งก็กำหนดให้การเลือกตั้งเป็น ‘หน้าที่’ ด้วย) เป็นต้นมา ผมจึงตัดสินใจจะไม่ไปเลือกตั้ง

การไม่ไปเลือกตั้งแปลว่าผมจะเสียสิทธิทางการเมืองหลายอย่าง รวมถึงการลงชื่อถอดถอนบุคคลหรือเสนอกฎหมายด้วย แต่เมื่อไม่ได้เสียสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผมก็พร้อมจะยอมเสียสิทธิเหล่านั้นโดยไม่ยี่หระกับมัน ทั้งนี้ก็เพื่อ ‘ประท้วง’ ต่อต้านการกำหนดว่าการเลือกตั้งต้องเป็น ‘หน้าที่’ และได้เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้หลายครั้งหลายคราว เช่นเคยเขียนไว้ในหนังสือ Genderism ถึงสิทธิที่จะไม่ไปเลือกตั้ง โดยเปรียบเทียบกับสิทธิที่จะเป็นกะเทยของผู้คน และคราวอื่นๆ อีกหลายครั้ง

ผมคิดว่าการ ‘บังคับ’ ให้คนไปเลือกตั้งนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการ ‘ดูแคลน’ ประชาชนว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาปฏักไปแทงเอาขอไปสับให้คนพวกนี้ออกมาเลือกตั้งกันเยอะๆ ตอนนั้นเราบอกกันว่าถ้ามีเสียงออกมาเลือกตั้งแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้ได้นักการเมืองที่ไร้คุณภาพ ได้มาแต่นักการเมืองแย่ๆ เลวๆ แต่ถ้ามีคนออกมาเลือกตั้งกันเยอะๆ นักการเมืองเลวๆพวกนี้ก็จะไม่สามารถ ‘แจกเงิน’ ซื้อเสียงได้มากพอ เป็นการเอา ‘น้ำดี’ มาไล่ ‘น้ำเน่า’ ออกไป เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะทำได้ก็คือต้อง ‘บังคับ’ ให้คนออกมาเลือกตั้งกันเสียเลย

แล้วการบังคับให้คนออกมาเลือกตั้งมีข้อเสียอย่างไรหรือ – คุณอาจถาม

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกแค่คับข้องใจว่าถูกบังคับเท่านั้น แต่ในทางทฤษฎีแล้ว เทอร์รี คาร์ล ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากสแตนฟอร์ด เรียกลักษณะการ ‘บังคับ’ ทำนองนี้ว่า ‘Electoralism’ หรือ ‘ลัทธิคลั่งเลือกตั้ง’

เขาอธิบายว่า ปรากฏการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับสังคมที่มีการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากการปกครองแบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) แบบใดแบบหนึ่ง เพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่การปกครองระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นจะตกอยู่ใต้การปกครองของกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่อยากจะผลักดันให้เกิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาโดยเร่งด่วน จึง ‘บังคับ’ ให้เกิดกระบวนการต่างๆ เพื่อการเปลี่ยนผ่านนั้น โดยกลุ่มผู้มีอำนาจจะคอยควบคุมตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งการ ‘สั่ง’ ให้คนไปเลือกตั้งด้วยการกำหนดให้เป็นหน้าที่ก็เข้าข่ายนี้เป๊ะ

เทอร์รี คาร์ล บอกว่า ไอ้เจ้าวิธีการแบบนี้น่ะ ที่สุดแล้วจะทำให้กระบวนการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ นั้นล้มเหลว ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านดำเนินไปถึงขึ้นเกิดสถาบันเสรีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ เพราะมันถูก ‘บังคับ’ มาตั้งแต่ต้นแล้ว แล้วมันจะเข้าสู่สภาวะที่เป็น ‘เสรีนิยม’ ได้อย่างไร

การบังคับเลือกตั้ง (ผ่านการบัญญัติไว้ในกฎหมายสูงสุดว่าการเลือกตั้งเป็น ‘หน้าที่’) สำหรับผมจึงเป็นเรื่องย้อนแย้งน่าวิ่งเหยาะๆ ไปเยาะเย้ยอย่างยิ่ง เพราะมันเหมือน ‘บังคับ’ ให้คนที่กำลังป่วยลุกขึ้นมาวิ่งเล่นในทุ่งกว้างอย่างเป็นอิสระเหมือนม้าศึก เสร็จแล้วก็บอกว่าเมื่อคนป่วยลุกขึ้นมาวิ่งกันเยอะๆ ย่อมแปลว่าทุกคนสบายดี

ด้วยเหตุนี้ Electoralism จึงขัดแย้งกับ Liberal Democracy แบบถึงแก่น!

การเริ่มต้นรณรงค์เสรีประชาธิปไตยด้วยการบังคับ ก็เหมือนกับการกลัดกระดุมเสื้อผิดเม็ด กลัดให้ตายคุณก็ใส่เสื้อให้ถูกต้องสมบูรณ์แบบไม่ได้ มีแต่จะกะเร้อกะรังน่าเวทนาเรื่อยไป และเอาเข้าจริง พูดให้ลึกที่สุด ผมคิดว่ากระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความอยากให้สังคม ‘เปลี่ยนผ่าน’ ไปเป็นประชาธิปไตยจริงๆ มากเท่ากับการที่ ‘อำนาจนิยม’ แบบเก่า พยายามทำให้คนต้องออกมาเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของประชาธิปไตยนั้น ถ้ามีคนออกมาเลือกตั้งเยอะๆ ก็จะทำให้เราไม่อับอายขายหน้านานาอารยประเทศ

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ การ ‘บังคับ’ ให้คนต้องออกมาเลือกตั้งผ่านการกำหนดในรัฐธรรมนูญให้เป็น ‘หน้าที่’ ก็คือสำนึกแบบ Provincialism แบบหนึ่งนั่นเอง!

เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่อยากร่วมอยู่ในกระบวนการน่าเวทนานี้ เพราะไม่อยากเป็นลูกแกะเซื่องๆ ที่ยอมให้ ‘อำนาจนิยม’ เป็นผู้ ‘บงการ’ ว่าทุกคนต้องเข้าไปอยู่ร่วมกับกระบวนการนี้

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมไม่ไปเลือกตั้ง

จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ถึงตรงนี้ คุณก็อาจถามขึ้นมาอีกว่า แล้วทำไมผมถึงไปเลือกตั้งในครั้งที่แล้วเล่า

ก่อนอื่น ต้องบอกกันเสียก่อนว่า – ผมไม่ได้ไปเลือกตั้งในครั้งที่แล้วตามที่รัฐธรรมนูญสั่ง ผมไปเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว ด้วยสำนึกว่าตัวเองไปใช้สิทธิ ไม่ได้ไปทำหน้าที่ และดังนั้น ผมจึงจำเป็นต้องประกาศให้ ‘รัฐ’ ทราบ – ว่าผมไม่ได้มาเพราะมีปฏักที่ไหนเสียบติดหลังหรือมีใครเอาแส้เอาไม้เรียวมาเฆี่ยนให้มา, ด้วยการ ‘เขียน’ ลงไปในบัตรว่า ผมมาใช้สิทธิ ไม่ได้มาทำหน้าที่ ซึ่งก็มีผลทำให้บัตรนั้นเป็นบัตรเสียไปในบัดดลในสายตาของรัฐ แต่ไม่ใช่ในสายตาของผม

ส่วนเหตุผลที่ผมไปเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว ก็เพราะผมเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้น สาระโดยแก่นของมันมีอะไร ‘สำคัญ’ กว่า Electoralism ที่ถูกกำหนดโดยอำนาจนิยมแบบเก่า เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมเชื่อว่าผู้คนไม่ได้ออกมาเลือกตั้งเพราะถูก ‘บังคับ’ โดยรัฐธรรมนูญ มากเท่าอยากออกมา ‘แสดงความเห็น’ ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต และผลการเลือกตั้งก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามีคนออกมา ‘ทำหน้าที่’ (น่าเสียดายที่ไม่ใช่การ ‘ใช้สิทธิ’) มากมายเป็นประวัติการณ์จนน่าจะสมเจตนารมณ์ของการ ‘บังคับเลือกตั้ง’ (จนน่าจะเลิก ‘บังคับเลือกตั้ง’ ด้วยการกำหนดให้เป็นหน้าที่ได้แล้ว)

แล้วถ้ามีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ผมจะไปเลือกตั้งหรือเปล่า – คุณอาจอยากถาม

คำตอบง่ายๆ ตรงนี้ก็คือ กับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมคงต้อง ‘จำใจ’ ไปเลือกตั้งอีกที แม้ว่ารัฐธรรมนูญยังมีลักษณะอำนาจนิยมค้ำคอประชาชนให้ไปเลือกตั้งอยู่ แต่กระนั้นก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า การได้เลือกตั้งก็ยังดีกว่าการไม่ได้เลือกตั้ง

สำหรับผม การเลือกตั้งไม่ใช่สวรรค์วิมานนิพพานเมืองแมนอะไรที่จะมาแก้ปัญหาทุกอย่าง หรือทำให้เราเป็นประชาธิปไตยกันได้ในทันที กระบวนการประชาธิปไตยมีอีกมากมายหลายขั้นตอน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนไหนก็ต้องยอมรับและเคารพเสียงส่วนอื่นด้วย

แม้กระบวนการตรวจสอบของเรายังบกพร่องและหละหลวม ประชาชนเลือกตั้งไปแล้วไม่มีโอกาส ‘ส่งเสียง’ มากเท่าที่ควร ไม่มีกระบวนการคานอำนาจที่ดีพอ แต่การเลือกตั้งก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไปว่า ‘ผล’ ของการ ‘ตัดสินใจ’ แต่ละครั้งเป็นอย่างไร จากนั้นเมื่อ ‘เห็นผล’ (ไม่ว่าจะดีหรือร้าย) ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ค่อยคิดปรับเปลี่ยน (จะใช้คำว่า ‘ปฏิรูป’ ก็ได้) ทั้งการคิดเรื่องการคานอำนาจ (เรื่องนี้ก็เคยเขียนไปแล้วว่าการคานอำนาจของการเมืองไทยนั้นประหลาด เพราะเหมือนสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้มีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ) เรื่องการตรวจสอบ (ที่ก็เคยเขียนไปแล้วเช่นกัน ว่าประชาชนยังไม่มี ‘กลไก’ ในการเปล่ง ‘เสียง’ ที่ ‘ดัง’ พอ หลังเลือกตั้งเสร็จแล้วว่าพอใจหรือไม่พอใจการทำงานอะไรของฝ่ายการเมืองบ้าง) หรือเรื่องยากที่สุด ก็คือเรื่องของ ‘วัฒนธรรม’ ในการใช้เหตุผล

 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร WAY 69 ฉบับเดือนมกราคม 2557

ที่มา: http://waymagazine.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net