'อุกฤษ' เสนอทางออก-เดินหน้าเลือกตั้ง แล้วยกร่าง รธน.ใหม่

'อุกฤษ มงคลนาวิน' เสนอทางออกแก้วิกฤติประเทศ เดินหน้าเลือกตั้ง จากนั้นตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่าย กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ 180 วัน แล้วให้ประชาชนลงประชามติ

9 ม.ค.2557 เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า วานนี้ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระ ว่าด้วย การส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) อดีตประธานรัฐสภา ได้มีแนวทางข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า  คอ.นธ. ในฐานะที่มีหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกระบวนการต่างๆ เพื่อผดุงหลักนิติธรรมและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายของประเทศ จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อให้ประเทศมีทางออกและสามารถเดินหน้าภายใต้กติกาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ทุกฝ่ายควรเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

2. พรรคการเมืองทุกพรรคมีหน้าที่ต้องส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้ง และมีหน้าที่เสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนพิจารณาและตัดสินใจเลือก โดยทุกพรรคควรที่จะเสนอนโยบายเกี่ยวกับ “การปฏิรูปการเมือง” ตามแนวทางของแต่ละพรรค

3. พรรคการเมืองใดได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และให้นำนโยบายการปฏิรูปการเมืองของพรรคการเมืองนั้น ที่ได้เสนอหรือหาเสียงไว้มาเป็นกรอบหรือหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป 

4. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้มีการตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการควรมาจากผู้แทนของพรรคการเมืองทุกพรรคหรือทุกฝ่าย โดยกำหนดระยะเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

5. เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

นอกจากนี้ คอ.นธ. ยังมีข้อเสนอเพื่อให้ทุกพรรคการเมืองนำไปใช้เป็นนโยบายหรือประเด็นในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1)   กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอายุคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่ให้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญว่า ภายในระยะเวลา 10 ปีแรก ให้อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ ระบบการเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตนั้น ควรนำ “ระบบการเลือกตั้งระบบเสียงข้างมากเด็ดขาด” มาใช้ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งรอบที่สอง ในกรณีที่ไม่ปรากฏ ว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงเด็ดขาดในการเลือกตั้งรอบแรก การเลือกตั้งในรอบที่สองนั้น จะกำหนดให้เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกในการเลือกตั้งรอบแรก เป็นผู้มีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งรอบที่สอง หรืออาจจะกำหนดให้การเลือกตั้งรอบที่สองเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 2 คนก็ได้ เช่น กำหนดว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดที่ได้คะแนนเสียงรอบแรกเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งรอบที่สองได้ ในกรณีนี้การเลือกตั้งในรอบที่สอง ย่อมใช้ระบบเสียงข้างมากสัมพัทธ์ ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดในการเลือกตั้งรอบที่สองถือว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

2) กำหนดให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ทุกครั้ง และหากพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้ง ให้ถือเป็นเหตุในการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง หรือเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง นอกจากนี้ ควรกำหนดให้เป็นเหตุในการเลิกหรืองดจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองที่ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือเป็นเหตุในการเรียกคืนเงินดังกล่าว ในกรณีที่ได้รับการจัดสรรเงินให้แล้ว

3) กำหนดจำนวนหรือองค์ประกอบขององค์กรอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ให้มีจำนวน ไม่น้อยกว่า 15 คน และการออกเสียงลงคะแนนวินิจฉัยเรื่องใดต้องมีคำแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนกรรมการ

4) แก้ไขปรับปรุงองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
4.1) ให้มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” แทน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วยตุลาการ จำนวน 15 คน
4.2) องค์คณะของตุลาการรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 3 ใน 5  และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งหมด
4.3) ตุลาการรัฐธรรมนูญที่มิใช่โดยตำแหน่งมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
4.4) ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่เฉพาะที่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนเท่านั้น โดยไม่ก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ให้มีอำนาจวินิจฉัยได้เฉพาะแต่ในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายเท่านั้น
4.5) กำหนดให้เฉพาะแต่คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามหลักนิติธรรมเท่านั้น ที่จะมีผลเป็นเด็ดขาด ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยหลักนิติธรรมของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ถือเสียงข้างมาก

5)  กำหนดให้มีกระบวนการอุทธรณ์หรือตรวจสอบทบทวนคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและเป็นไปตามหลักความยุติธรรม ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 278 ซึ่งบางคนอาจมีความเข้าใจว่า ได้มีการวางระบบการดุลและการคานอำนาจกันในระหว่างศาลที่ได้มาตรฐานเดียวกันและไม่น้อยไปกว่าคดีอาญาประเภทอื่น เพราะผู้ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่เมื่ออ่านบทบัญญัติมาตรา 278 วรรคสาม อย่างละเอียดแล้ว จะเห็นว่าหลักการตามมาตรา 278 วรรคสาม จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องการ “อุทธรณ์” และถึงแม้จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ แต่ก็ไม่ใช่การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และไม่ได้มาตรฐานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ซึ่งกำหนดว่า “บุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษาโดยเป็นไปตามกฎหมาย” นอกจากนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรกำหนดให้สามารถ “อุทธรณ์” หรือ “รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่” ได้

6) กำหนดให้ศาลปกครองต้องมีตุลาการหรือผู้พิพากษาสมทบที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านนั่งเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาด้วย โดยกำหนดในลักษณะไตรภาคีเช่นเดียวกันกับศาลแรงงาน เป็นต้น

7) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในทุกระดับมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และกำหนดให้ครอบคลุมถึงบุคคลสาธารณะในทุกประเภทด้วย เช่น บุคคลที่อาสาตนเข้ามาดำเนินกิจกรรมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เช่น แกนนำกลุ่มผลประโยชน์หรือตัวแทนในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง นักวิชาการอิสระที่เข้ามาเป็นสื่อกลางหรือกลไกในการเผยแพร่ความคิดเห็นต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง หรือบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพในด้านสื่อสารมวลชน เช่น ผู้ดำเนินรายการ ผู้สื่อข่าววิทยุโทรทัศน์ นักหนังสือพิมพ์ หรือคอลัมนิสต์ เป็นต้น ตลอดจนจะต้องมีการเปิดเผยบัญชีฯ ดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

8) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาตรา 9 ใหม่ โดยกำหนดให้การออกเสียงประชามติ ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียง “เพื่อมีข้อยุติ” หรือเป็นการออกเสียง “เพื่อให้คำปรึกษา” แก่คณะรัฐมนตรี ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท