แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทยในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา   มีเพื่อนแพทย์หลายคนเข้ามาพูดคุยสอบถามผมเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองไทยด้วยความเป็นห่วง   ทุกคนแปลกใจเมื่อผมยืนยันที่จะกลับไปอยู่อาศัยในประเทศไทยเมื่อเรียนจบไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร   เพื่อนแพทย์คนหนึ่งบอกผมให้พิจารณาให้รอบคอบเนื่องจากเขามีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยที่ดีขึ้นมากหลังจากที่ครอบครัวอพยพภัยสงครามมาจากประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง   เพื่อนชาวอินเดียบอกว่าเขาเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความทุกข์จากการอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น   อาจารย์แพทย์ชาวอเมริกันพูดทีเล่นทีจริงให้ผมไปคุยกับเพื่อนชาวอาหรับถึงวิธีการใช้ชีวิตท่ามกลางระเบิดและกระสุนปืนกลางเมืองหลวง   ผมได้แต่ยิ้มและหัวเราะเบาๆพร้อมๆกับความรู้สึกกังวลและเสียใจที่อยู่ภายใน

ผมมักจะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากคนที่อยู่ในสังคมรอบตัวผม   ด้วยความต่างนี่กระมัง ทำให้ผมเฝ้าติดตาม ศึกษาทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย   พยายามตั้งคำถามและหาคำตอบว่าเพราะอะไรเราจึงเห็นต่างกัน เราจะอยู่กับความขัดแย้งนี้ได้ไหม เราจะจัดการความโกรธเกลียดชังที่มีอยู่ในตัวเราอย่างไร เราจะต้องทนอยู่ในสังคมที่มีการรัฐประหารหรือการฆ่ากันกลางเมืองทุกๆสิบห้าปีไปอีกนานแค่ไหน   สุดท้ายผมก็ยังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์ให้กับตัวเอง   แต่ผมก็อยากจะแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ของผมในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้   เผื่อว่ามันจะสามารถทำให้ความรุนแรงและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ลดน้อยลงแม้แต่นิดเดียวก็ยังดี

จากการติดตามปัญหาทางการเมืองมาหลายปีผ่านสื่อ รวมถึงข้อคิดเห็นต่างๆในโลกโลกออนไลน์   เราจะเห็นแนวโน้มของความขัดแย้งและอารมณ์รุนแรงในระดับบุคคลและสังคมที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ  จากจุดเริ่มต้นของความไม่รู้ ความเห็นต่างไม่เข้าใจและไม่ไว้วางใจกัน  ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงระลอกแล้วระลอกเล่า   ความกลัวความโกรธที่ถูกปลุกเร้ามากขึ้นโดยแกนนำ สื่อ และ มวลชนทั้งจากฝ่ายเดียวกันและฝ่ายตรงกันข้าม   ได้พัฒนาขึ้นเป็นความเคียดแค้นเกลียดชังต่อกัน   หลายครั้งความรู้สึกเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความคิดและการกระทำที่รุนแรง อันนำมาซึ่งความสูญเสียในที่สุด   มันเป็นความทุกข์ทรมานที่คนไทยทุกคนคงรับรู้สัมผัสได้  

ผมเคยไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของทั้งสองสีเสื้อ   ต่างฝ่ายต่างมีมวลชนจำนวนมาก   ฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยชนชั้นกลางในกรุงเทพและเมืองใหญ่เป็นส่วนใหญ่   มีเพื่อนฝูง และคนรู้จักที่ผมเคารพนับถือเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก   อีกฝ่ายยกขบวนกันมาไกลจากหลายจังหวัด   มีทั้งคนหนุ่มสาว ผู้เฒ่าและวัยกลางคน   ทั้งสองกลุ่มมีความต่างกันหลายอย่าง ทั้งสีเสื้อ การแต่งตัว หน้าตา มือตบ ตีนตบ นกหวีด   อุดมการณ์ความฝันทางการเมืองก็ต่างกัน   แกนนำของทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการให้ข้อมูลความรู้ สร้างความหวัง รวมทั้งเพาะบ่มความเกลียดชังและความรุนแรงต่อฝ่ายตรงกันข้าม   แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีความเหมือนกันหลายอย่าง   พวกเขามีความปรารถนาที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เชื่อว่าชาติจะพัฒนารุ่งเรืองได้ถ้าตนเองชนะ   ทั้งสองกลุ่มมีอารมณ์ที่ฮึกเหิม มีแววตาที่มุ่งมั่น มีความโกรธเกลียดในระดับเดียวกัน   แต่ที่สำคัญที่สุด พวกเขาล้วนมีชีวิตเลือดเนื้อ   เป็นคนเหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย

ความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ดำเนินมาเกือบจะสิบปีแล้ว   ผู้เชี่ยวชาญหลายๆคนสรุปว่าเราจะต้องอยู่กับความขัดแย้งนี้ไปอีกนาน   มันเป็นความจริงที่โหดร้ายที่ทุกๆอย่างไม่สามารถตกผลึกได้ในชั่วข้ามคืน   ผมเริ่มหมดหวังกับผู้นำส่วนใหญ่ของขั้วขัดแย้งทั้งสองฝ่ายที่นอกจากจะไม่สามารถบรรเทาความแตกแยกในชาติได้ ซ้ำยังพยายามสร้างทางตัน เพิ่มเงื่อนไขขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆจนมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงเป็นระยะ   ชัดเจนว่าความตึงเครียดทางการเมืองจากด้านบนได้ส่งผลกระทบลงมาสู่ระดับประชาชนคนทั่วไป   หลายๆครั้งผมเห็นความเกลียดชังเหล่านี้แทรกลึกไปถึงระดับบุคคล ลงไปในความสัมพันธ์ของครอบครัว เพื่อนฝูง ศิษย์อาจารย์   และความรู้สึกด้านลบที่เกิดจากความขัดแย้งยังดำเนินไปอย่างไม่มีท่าทีที่จะสิ้นสุด   จนไม่นานนี้ผมเริ่มมีความคิดว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ เราอาจจะต้องเริ่มจากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัวเราในระดับประชาชนคนธรรมดา

คนเราล้วนเติบโตอย่างแตกต่าง ถูกบ่มเพาะผ่านประสบการณ์ส่วนบุคคล ครอบครัวและสังคมที่หลากหลาย รับข้อมูลข่าวสารบ้านเมืองจากต่างแหล่ง   แล้วทำไมเราจะต้องคิด ชอบหรือเลือกเหมือนกัน   อุดมคติหรือคุณค่าทางบ้านเมืองของคนฝ่ายหนึ่งคือการเชิดชูพิทักษ์ไว้ซึ่ง คุณธรรม ชาติ ศาสนา และ สถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง   ขณะที่อีกฝ่ายเรียกร้องสิทธิความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย   ไม่ใช่ว่าแต่ละฝ่ายปฏิเสธคุณค่าของฝ่ายตรงข้ามโดยสิ้นเชิง เพียงแต่พวกเขาลำดับความสำคัญของคุณค่าเหล่านี้ไม่เท่ากัน   ค่านิยมในใจที่ไม่เหมือนกันนี้ หลายครั้งนำมาซึ่งการรับรู้ เข้าใจและรู้สึกต่อสถานการณ์ที่ต่างกัน นำมาซึ่งความคิด การพูดและการกระทำที่ต่างกัน เราจึงมีความคิดเห็นและสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองที่ต่างกัน   แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าทั้งสองฝ่ายล้วนยึดถือคุณค่าอันดีงาม ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องสิ่งพวกเขาคิดว่าดีต่อชีวิตของพวกเขาและประเทศชาติ  

มันจึงเป็นเรื่องปกติมากๆที่แต่ละคนในสังคมจะเห็นต่างทางการเมือง   แต่มันคงเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆถ้าเราเห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงที่เกินขอบเขตต่อผู้เห็นต่าง   เป็นที่น่าเสียดายที่หลายๆคนหลงลืมข้อเท็จจริงเหล่านี้

ก่อนที่จะกล่าวถึงกลุ่มคนที่เป็นคู่ขัดแย้ง ผมอยากจะพูดถึงกลุ่มคนที่เป็นกลาง พลังเงียบ ไทยเฉยหรือไทยอดทน   ผมสังเกตว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่าสีใดๆทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์   ผมยอมรับในความเป็นปัจเจกและขอคารวะความอดทนของพวกท่าน   ผมเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตไปได้   พวกท่านเป็นกำลังสำคัญเสมอมาในการพัฒนาฟื้นฟูยามที่ประเทศหลุดพ้นจากหล่มโคลนของความขัดแย้ง   ผมสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มนี้รักษาจุดยืนของความเป็นกลางนี้ไว้   ขณะเดียวกันผมอยากที่จะได้ยินเสียง ได้อ่านความคิดและได้เห็นการแสดงออกของท่านมากขึ้น    เพราะผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สติกับสังคมที่แตกแยก ลดความสุดโต่งจากสองฝ่ายที่ขัดแย้ง และรังสรรค์ทางออกที่ประนีประนอมเพื่อนำไปสู่ความปกติสุขในระยะยาว

ขออนุญาตเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องหนึ่ง   ผมคิดว่าผมพอเข้าใจความรู้สึกด้านลบที่คนกลุ่มหนึ่งมีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงเวลานี้พอสมควร เพราะผมเคยมีความรู้สึกอย่างนี้มาก่อนและผมเห็นว่ามันเป็นความรู้สึกรุนแรงที่กลุ่มคนทั้งสองฝ่ายมีคล้ายกัน   ผมไม่เห็นด้วยกับการที่กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองเริ่มจากการรัฐประหารในปี2549   ความโกรธเกลียดชังในตัวผมต่อเหล่าทหารขึ้นสูงสุดในช่วงปฏิบัติการกระชับพื้นที่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมปี2553   จนกระทั่งเย็นวันหนึ่ง ผมตัดสินใจซื้อขนมและน้ำดื่มนำไปให้กลุ่มทหารที่ตรึงกำลังอยู่หน้าคอนโดของผม ผมบอกนายทหารท่านหนึ่งว่าผมไม่เห็นด้วยกับการที่พวกเขาใช้อาวุธสงครามกับประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย   นายทหารท่านนั้นขอโทษผมและกล่าวว่าเขาและเพื่อนทหารต้องทำตามคำสั่ง ถ้าเลือกได้เขาก็ไม่อยากทำหน้าที่นี้ เพราะเขารู้ว่าผู้ชุมนุมก็เป็นคนไทยด้วยกัน เบื้องหลังเครื่องแบบและอาวุธของ พวกเขาก็เป็นคนไทย มีคนรักและครอบครัวรออยู่ที่บ้านเหมือนกัน   เราจบบทสนทนาและไหว้อำลาซึ่งกันและกัน   หลังจากเหตุการณ์นั้น แม้ว่าผมยังคงไม่เห็นด้วยกับบทบาทของสถาบันทหารในการเมืองไทยเหมือนเดิม แต่ความโกรธที่มีอยู่ภายในต่อทหารในระดับบุคคลนั้นลดลง

ผมเคารพเพื่อนและคนรู้จักที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ แม้เห็นจะเห็นต่างจากเนื้อหาของการประท้วงนั้นหลายประการ แต่มันก็เป็นสิทธิในการแสดงออกโดยชอบธรรม และผมก็มีสิทธิในการร่วมชุมนุมเหมือนกันในบางเวลามิใช่หรือ   มองในแง่บวกมันเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตย เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความตื่นตัวทางการเมืองของคนทุกชนชั้น   แต่เราทั้งสองฝ่ายคงต้องค่อยๆเรียนรู้ว่าจะใช้สิทธิของเราได้มากน้อยแค่ไหนโดยไม่ไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่น และแสวงหาข้อตกลงร่วมกันว่าเจ้าหน้าที่สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อคงความสงบของบ้านเมือง   และที่สำคัญกลุ่มคนที่ขัดแย้งกันทั้งสองฝ่ายคงต้องช่วยกันติดอาวุธทางความรู้ให้มากขึ้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้นำสายเหยี่ยวที่พร้อมจะนำมวลขลเข้าประหัตประหารกัน   เราคงต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ว่าเราจะสามารถต่อสู้กันทางการเมืองอย่างไร จะผลักดันอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีคุณค่าของแต่ละฝ่ายได้อย่างไร โดยที่ความขัดแย้งไม่จบลงด้วยการเสียเลือดเนื้อหรือสงครามกลางเมือง

มีคำกล่าวเตือนว่าเพื่อนฝูงและคนรู้จักไม่ควรพูดคุยเรื่องการเมือง เพราะอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์   เราได้ยินบ่อยๆว่าครอบครัวทะเลาะกันเพราะอยู่กันคนละสี เห็นการ“block”หรือ“unfriend”กันในโลกออนไลน์   บางครั้งเราอยู่ในการถกเถียงทางการเมืองที่เต็มไปด้วยการยั่วยุ อารมณ์รุนแรงและคำหยาบคาย   ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการงดพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้   ในบางสังคมเราอาจต้องหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หากตัวเราหรือคู่สนทนาไม่พร้อมหรือถ้ามีแนวโน้มที่จะสร้างความบาดหมางในความสัมพันธ์   แต่ผมอยากสนับสนุนให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราท่านสามารถพูดคุยรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างสุภาพและเสรี   ผมโชคดีที่มีเพื่อนและคนรู้จักที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างอยู่รอบตัว   ผมเลือกที่จะไม่“unfriend”กับเพื่อนที่เห็นต่าง รวมถึงยินดีที่จะพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนรู้จักเหล่านั้น   จากประสบการณ์มันไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์รอบตัวของผมลดระดับน้อยลงเลย   เพราะเราไม่ได้พูดคุยเพื่อเอาชนะ หรือเพื่อโน้มน้าวให้เปลี่ยนฝั่ง เราหลีกเลี่ยงการยั่วยุอารมณ์ที่รุนแรงและคำหยาบคายในบทสนทนา   บ่อยครั้งที่พบว่าเราเห็นเหมือนกันในบางประเด็นแม้เราจะอยู่กันคนละสีเสื้อ   ผมเชื่อว่าเรายังสามารถที่จะพูดคุยหยอกล้อกันและร่วมโต๊ะอาหารกันได้เหมือนเดิมแม้จะยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน   การพูดคุยในรูปแบบนี้ ทำให้ผมได้รับรู้ข้อมูลและมุมมองใหม่ๆ ช่วยให้ผมได้วิเคราะห์แยกแยะอันจะนำมาซึ่งความเข้าใจและปัญญาที่มากขึ้น สอนให้ผมอดทนและเคารพต่อความเห็นต่าง  มันทำให้อารมณ์และความคิดที่สุดโต่งลดลง และ ที่สำคัญที่สุดทำให้ผมตระหนักว่าคนที่เห็นต่างล้วนมีตัวตนอยู่จริง และ เราก็ล้วนเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าไม่ได้มากน้อยไปกว่ากันเลย

สุดท้ายนี้ หวังว่าเราจะผ่านวิกฤตทางการเมืองนี้ไปได้อย่างไม่รุนแรง   เริ่มที่ตัวเรา เริ่มที่คนแต่ละคนในระดับประชาชนเรียนรู้ที่จะอยู่ในความขัดแย้งอันเจ็บปวดนี้ร่วมกัน   ทำความเข้าใจว่าคนแต่ละคนไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อสีเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องชอบหรือเกลียดเหมือนกันเพราะมันเป็นไปไม่ได้   ฝึกฝนที่จะอดทนและเคารพซึ่งกันและกัน   ศึกษาหาความรู้เพื่อพูดคุยรับฟังและแสดงออกทางการเมืองกันอย่างมีสติและอารยะ เพื่อให้ความโกรธกลัวเคียดแค้นที่มีอยู่ลดลง   พร้อมกันปฏิเสธความรุนแรง และ ให้คุณค่ากับชีวิตของคนอย่างเท่าเทียม   เมื่อนั้นเสียงของประชาชนหลายๆคนคงจะประสานกันได้อย่างมีพลังพอที่จะส่งไปถึงผู้กุมอำนาจในสังคม ให้ร่วมกันนำพาประเทศชาติผ่านความขัดแย้งนี้ไปอย่างประนีประนอม เพื่อลูกหลานของเราจะได้อยู่อาศัยในสังคมที่สงบสุขและดีกว่าวันนี้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท