Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การต่อสู้แย่งอำนาจกันของชนชั้นนำทางการเมืองสองกลุ่มได้ทำให้เกิดการระดมมวลชนขึ้นมาเป็นฐานของการเคลื่อนไหวทางการเมือง

หากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถยึดอำนาจหรือเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด มวลชนก็จะถูก “ถีบหัวส่ง” ทันที หากทิ้งระยะยาวนานออกไป มวลชนจะกลายเป็นตัวปัญหาให้แก่ระบอบของอำนาจที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ เพราะมวลชนที่ถูกปลุกเร้าจะจริงใจและมุ่งหวังกับเป้าหมายที่เกิดจากการปลุกเร้านั้น

ระหว่างการแย่งชิงอำนาจ ชนชั้นนำก็จะสร้างการอธิบายที่เร้าระดมปลุกใจแก่มวลชนว่าพวกเขากำลังทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ และเป็นการแผ้วถางทางให้แก่อนาคตที่สดใสของชาติ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรืออ้างว่าจะต้องต่อต้านผู้ที่กำลังทำลายระบอบประชาธิปไตย

การอธิบายนี้จะเชื่อมตัวตนของมวลชนแต่ละคนให้เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง มวลชนแต่ละคนจึงมีความหมายและความสำคัญต่ออนาคตของชาติเป็นอย่างยิ่ง ชุดการอธิบายที่จะเร้าระดมอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้ก็ต้องสอดคล้องไปกับระบอบอารมณ์ความรู้สึกของคนกลุ่มนั้นหรือคนชนชั้นนั้นๆ ไม่มีทางที่มวลชนจะรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างเข้มข้นหากชุดคำอธิบายนั้นไม่สอดคล้องต้องกับ “จริต” ส่วนตัวและ “จริต” ทางสังคมของคนกลุ่มนั้น/ชนชั้นนั้น

การเร้าความรู้สึกด้วยการทำให้ปัจเจกภาพหลอมรวมเข้าด้วยกันเพื่อพันธกิจที่ยิ่งใหญ่กลับทำให้ “ปัจเจกภาพ” มีสาระที่สำคัญมากขึ้น เพราะเราเป็นคนหนึ่งในชนชั้นกลาง เราจึงมีพันธกิจที่จะต้องรักษาระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เพราะเราเป็น “ไพร่” ที่ต้องต่อสู้กับอำมาตย์เพื่ออนาคตของเราและลูกหลานของเรา เป็นต้น

การสร้างการอธิบายที่มีพลังในการปลุกเร้านี้จะต้องสัมพันธ์อยู่การ “เลือกสรร” ส่วนของโลกทัศน์มาให้สัมพันธ์กับตำแหน่งแห่งที่ทางชนชั้นของคนกลุ่มนั้นๆ กล่าวคือ ชนชั้นกลางก็จะเลือกบางส่วนของโลกทัศน์มาชี้นำปฏิบัติการทางการเมืองของตน เช่น ลูกจีนกู้ชาติ ขณะที่ชนชั้นกลางใหม่ก็จะเลือกเอา “คนเท่าเทียมกัน” มานำปฏิบัติการทางการเมือง

“ลูกจีน” (ซึ่งหมายถึงผู้มีฐานะ) และ “คนเท่าเทียมกัน” เป็นตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมหรือชนชั้นที่เป็นตัวเชื่อมเข้ากับปฏิบัติการต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นโลกทัศน์ครอบคลุมอยู่

การปลุกเร้ามวลชนให้เข้าสู่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำเกิดขึ้น เพราะชนชั้นนำไทยไม่ต้องการให้การเมืองเดินไปสู่ระบบประชาธิปไตยจริงๆ เพราะหากเป็นกระบวนการเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตย พวกเขาที่ได้กุมอำนาจอยู่ก็มีโอกาสที่จะถูกควบคุมด้วยพลังของประชาชน

กลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจมากขึ้นเพราะกระบวนการเลือกตั้งซึ่งเป็นฐานของระบบประชาธิปไตยได้เปิดทางให้แก่นักธุรกิจกลุ่มหนึ่งเบียดตัวขึ้นมามีอำนาจได้ ความต้องการของกลุ่มนี้ ก็คือทำให้การเมืองในระบบประชาธิปไตยมีการควบคุมจากฝ่ายของตนที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งรวบอำนาจไปจนหมดสิ้น รวมถึงต้องการขัดขวางและปิดกั้นโอกาสที่กลุ่มนำของชนชั้นนำใหม่จะสามารถครอบงำบางคนในกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองวัฒนธรรมได้

กลุ่มอำนาจเก่านี้ไม่สามารถที่จะใช้เครื่องมือหรือกลไกทางการเมืองอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกการสร้างการเคลื่อนไหวของมวลชนขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวนำไปสู่โอกาสในการใช้เครื่องมือและกลไกการเมืองในการกำราบอำนาจของกลุ่มใหม่

ขณะเดียวกัน กลุ่มอำนาจใหม่ที่ใช้การเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยเป็นฐานความชอบธรรม แต่เนื่องจากว่าต้องการจะใช้การเลือกตั้งเป็นเพียงฐานจึงไม่ได้ใส่ใจที่จะสร้างกลไกการตรวจสอบหรือถ่วงดุล รวมทั้งพยายามที่จะรวบอำนาจทุกอย่างให้อยู่ในกำมือของตนเพียงฝ่ายเดียว จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจเก่า แต่เพราะกลุ่มอำนาจใหม่ไม่ได้สร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งประกอบกับความตั้งใจที่จะ “สกปรก” มาตั้งแต่ต้น (คดีซุกหุ้นซึ่งถือว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ระบบยุติธรรมบิดเบี้ยว) จึงทำให้เมื่อถูกบีบให้ออกจากอำนาจด้วยมวลชนและกลไกอำนาจรัฐใน พ.ศ.2549 (และยุบพรรคในช่วงเวลาต่อมา) จึงหันกลับมาสู่การสร้างกองทัพมวลชนขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาทางกลับคืนสู่อำนาจ

การเคลื่อนไหวของมวลชนจึงขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องเล่นในเกมการเมืองมวลชนเช่นเดียวกัน การปะทะกันทางความคิดและการใช้ความรุนแรงระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่ายจึงเกิดขึ้นภายใต้การกำหนดและความต้องการของชนชั้นนำสองกลุ่ม

แม้ว่าชนชั้นนำทางการเมืองสองกลุ่มจะสามารถระดมผู้คนให้เข้าร่วมกับฝ่ายของตนได้อย่างมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะกันได้อย่างเด็ดขาด การสนับสนุนมวลชนของฝ่ายตนไว้ให้มีพลังต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การสร้างความเกลียดชังกันบนฐานตำแหน่งแห่งที่ของสังคมจึงเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงไม่ให้มวลชนอ่อนกำลังลง

การคิดถึงอนาคตของสังคมและแสวงหาทางที่จะทำให้คนทั้งหมดอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกันจึงไม่มีทางเกิดได้ เพราะชนชั้นนำทั้งสองกลุ่มไม่ปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น หากกลุ่มใดเกิดมีเจตนารมณ์ที่ดีงามและหวังจะสร้างสังคมที่สมานฉันท์และเริ่มสลายมวลชนฝ่ายตน ก็จะถูกอีกฝ่ายตามขยี้ทันที

การเคลื่อนไหวของมวลชนทั้งสองฝ่ายจึงตกอยู่ภายใต้เงาอำมหิตของชนชั้นนำสองกลุ่มที่สถานการณ์เริ่มเร่งเร้าให้ต้องทำลายกันจนถึงที่สุด ส่วนบ้านเมืองจะพังพินาศอย่างไร ชนชั้นนำทั้งสองกลุ่มไม่ได้กังวลเท่ากับการกลัวว่าอีกฝ่ายจะได้อำนาจมากกว่าตน

 

 

ที่มา:http://www.bangkokbiznews.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net