Skip to main content
sharethis
 
10 ม.ค.2557 ตั้งแต่เวลา 17.30 น.ประชาชนทยอยเข้าร่วมกิจกรรม "จุดเทียนเขียนสันติภาพ" ครั้งที่ 3 ในชื่อ "พอกันที หยุดความรุนแรง เปิดใจ ไปเลือกตั้ง" ของกลุ่ม "พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง" ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร จนเต็มพื้นที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ และสกายวอล์ค BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ โดยในวันนี้หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครปิดทำการตั้งแต่เวลา 15.00 น.
 

 
ประชาชนที่มาร่วมจุดเทียนได้ร่วมทำกิจกรรมย่อย อาทิ เขียนแสดงความคิดเห็นลงบนโพสต์-อิท เข้าคูหากาตามใจ เขียนผ้าระบายความรู้สึก อ่านกวีดนตรีลำนำ และมีการส่งเสียงการตะโกนว่า "พอกันที" และ "เอาเลือกตั้ง" เป็นระยะ
 
ในเวลาประมาณ 18.30 น.ประชาชนร่วมกันจุดเทียนในครั้งแรกและร่วมยืนสงบนิ่ง 1 นาทีไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมือง หลังจากนั้นได้อ่านคำแถลงร่วมกัน และมีการร้องเพลง Imagine ของ John Lennon พร้อมกับโบกมือไปตามจังหวะ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีกลุ่มประชาชนที่ร่วมทำกิจกรรมจุดเทียนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดินทางมาเข้าร่วมด้วย ต่อมาประชาชนบางกลุ่มยังไม่เดินทางกลับและยังมีผู้เดินทางมาเข้าร่วมเรื่อยๆ จึงการจุดเทียนอีกครั้งและร่วมกันยืนเป็นรูปวงกลมสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

กิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นและประชาชนทยอยแยกย้ายกันในเวลาประมาณ 19.30 น.
 
 
 
วรารัตน์ กระแสร์ อายุ 24 ปี เจ้าของป้าย ระบุข้อความ “If you want to kill corruption End thasinocracy It must be done In the next election” ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายในช่วงท้ายของการจัดงานซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้ทยอยกันเดินทางกลับแล้ว เนื่องจากมีผู้ตะโกนตั้งคำถามว่าเธอถูกว่าจ้างให้มาถือป้ายดังกล่าวและไล่เธอให้ออกจากพื้นที่จัดกิจกรรม กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เธอได้เดินถือป้ายรอบๆ งาน มาตั้งแต่ 6 โมงเย็น โดยช่วงแรกๆ ก็มีคนถ่ายรูป และขอยืมป้ายไปถ่ายรูปบ้าง ไม่มีปัญหา เพราะคิดว่าอยู่ในพื้นที่ที่มีคนมาสนับสนุนการเลือกตั้งเหมือนกัน
 
“ป้ายที่ทำขึ้นมานี้ ใจความไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ แต่ได้ไอเดียมาจากการดู สปป.และเราก็เห็นด้วยกับทางกลุ่ม สปป.และเห็นว่าทางกลุ่มพอกันทีฯ เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นที่จะสนับสนุนเลือกตั้ง จึงทำป้ายนี้ขึ้นมา” วรารัตน์กล่าวพร้อมระบุว่าไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าข้อความของเธอจะมีปัญหา
 
วรารัตน์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาอาจอยู่ที่การใช้คำว่า Thasinocracy ซึ่งเธอเลี่ยงสะกดคำว่า Thaksinocracy ตรงๆ พร้อมอธิบายข้อความดังกล่าวว่า คนที่เชื่อว่าระบอบทักษิณมีจริง คือกลุ่มชัตดาวน์และยังเชื่อว่าสภาประชาชนจะทำให้คอร์รัปชั่นหมดไป ทั้งที่จริงๆ แล้วการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยนั้นสามารถตรวจสอบว่ารัฐบาลไหนคอร์รัปชั่นได้ จึงคิดว่าประโยคนี้น่าจะสื่อสารกับคนที่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง และเป็นการประชดประชันกลุ่มคนที่กลัวระบอบทักษิณ และวาทกรรมการโกง การคอร์รัปชั่นด้วย โดยส่วนตัวเธอเห็นว่าถ้าทุกคนเลือกตั้ง ระบอบทักษิณก็จะไม่มีแล้ว เพราะนี่คือระบอบประชาธิปไตย
 
วรารัตน์ยอมรับว่า เธอไม่ได้คิดเหมือนกันว่าแต่ละคนอาจจะตีความต่างไป เพราะเพิ่งตระหนักว่าคำว่า Thasinocracy เป็นคำที่เซนซิทีฟกับสังคมไทย และลักษณะการนำคำว่าทักษิณไปใช้ในแต่ละฝ่ายการเมืองก็แตกต่างกันด้วย ต่อไปนี้อาจต้องระวังมากขึ้น
 
เธอกล่าวด้วยว่า ปัญหาการเมืองตอนนี้มันลุกล้ำเข้ามาในความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมมากจนเลยเถิด ขาดการตีความ ความฉุกคิด ความอดทน ไม่ว่าใครที่เราสงสัยแม้แต่นิดเดียว เราพร้อมที่จะขับไส โห่ไล่ แสดงความรังเกียจ โดยที่ไม่รู้สาเหตุที่มาของปัญหาว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เรื่องที่เจอวันนี้ไม่ต่างจากการโคว้ทเอาคำพูดสั้นๆ มาแปะหน้าฟีด และคนในรูปที่พูดนั้นก็จะโดนล่าแม่มด โดนด่า โดนคุกคาม
 
อย่างไรก็ตาม วรารัตน์ กล่าวว่า เธอจะยังคงไปร่วมกิจกรรมเช่นนี้อีกอย่างแน่นอน ถ้าไม่ถูกแบนเสียก่อน
 
“เราเองก็เลือกแล้วว่าถ้าทำป้ายนี้ขึ้นมา เราต้องอธิบายความคิดของเราให้ได้ ต้องรับให้ได้ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราเองก็ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสื่อที่เราทำขึ้นมาเช่นกัน เราเองแม้จะเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รู้สึกกลัว แต่มันสอนให้เราอดทนที่จะรับฟัง อยู่กับความขัดแย้ง แม้จะกลุ่มที่มีความคิดแนวทางเดียวกันก็ตาม”
 
วรารัตน์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้ เริ่มมีแววส่อการใช้ความรุนแรงเรื่อยๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ปะทะที่รามคำแหงและสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เห็นอีกฝ่ายที่ต้องการเร่งเร้าความรุนแรง เรียกร้องกติกานอกรอบ ตอนนี้เดาไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่เมื่อยุบสภาแล้ว อำนาจกลับมาที่เราอีกครั้ง ในฐานะคนตัวเล็กขอใช้สิทธิในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
 
คลิปเหตุการณ์เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.
 
 
 
ทั้งนี้ คำประกาศที่ประชาชนร่วมอ่านมีรายละเอียด ดังนี้
 
พอกันที หยุดความรุนแรง
เรา ประชาชน ไม่เอาความรุนแรงทุกรูปแบบ
เราเห็นต่างกัน เราขัดแย้งกัน แต่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ฟังเสียงเราบ้าง เราคนเท่ากัน 
พอกันที หยุดสร้างเงื่อนไขความรุนแรงเพื่อหวังผลทางการเมือง
เปิดใจ ไปเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557
 
“พอกันที”  ___ “ความรุนแรง”  
“2 กุมภา   ___  “ไปเลือกตั้ง”
 
 
สาส์นจากใจ กลุ่ม “พอกันที!”
ต่อกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ ครั้งที่ 3 
ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ วันที่ 10 ม.ค. 2557 17.30-19.30 น.

 
เพียงเทียนไขและหัวใจรักสันติ ร่วมเปล่งเสียงสัญญาณสันติภาพ
 
เทียนแห่งสันติได้ถูกจุดต่อๆ กันไปทั่วผืนแผ่นดินไทย เปล่งเสียงสัญญาณแห่งสันติภาพกังวานก้อง เราจะยืนหยัดอยู่ร่วมกับความขัดแย้งอย่างอดทน แต่จะไม่เปิดโอกาสให้ความรุนแรงทางการเมืองเข้าทำลายสังคมของเราอีกต่อไปแล้ว
 
ถึงแม้จะถูกป้ายสี ใส่ความ บิดเบือนเพียงไร หัวใจของเรายังคงเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อทุกคน บางครั้งเราอาจโกรธ ท้อแท้ และหวาดกลัว แต่เราก็จะตั้งสติ และเดินหน้าสร้างสันติภาพต่อไป
 
ในฐานะกลุ่มเล็กๆ ที่เชื้อเชิญทุกท่านมาแสดงตน ณ ที่นี้ เราขอโอกาสนำเสนอแนวทางและจุดยืนของกลุ่ม “พอกันที!” เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณา

1. เปิดรับ ไม่ผลักไส
จุดเทียนเขียนสันติภาพ ณ หอศิลปกรุงเทพฯ เป็นกิจกรรมที่เปิดสำหรับทุกท่าน โดยมีจุดร่วมกันคือหัวใจรักสันติ และเคารพในหลักกติกาประชาธิปไตยที่ทุกคนเสมอภาคกันด้วยหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง โดยยืนยันการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
 
ท่านสามารถนัดกันใส่เสื้อสีใดก็ได้ตามการตัดสินใจของท่านและกลุ่มของท่านเอง กิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพยินดีต้อนรับ
 
อนึ่ง เรายินดีอย่างยิ่งถ้าท่านสามารถสร้างกิจกรรมของกลุ่มตนเองในพื้นที่ต่างๆ ได้ โดยมีจุดยืนและกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันกับเราทั้งหมด เพียงมีหัวใจรักสันติภาพและยืนยันหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงร่วมกัน

2. หลากหลาย แต่อยู่ร่วมกันได้
ผู้เข้าร่วมในกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมารวมทั้งครั้งนี้ ต่างมีความหลากหลายและเป็นตัวของตัวเอง เรารับผิดชอบต่อการแสดงความคิดเห็นของเรา เราเคารพในการแสดงความเห็นของผู้อื่นและยินดีรับฟัง เราอาจจะผิด คนอื่นอาจจะผิด เราเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง
 
เราแต่ละคนที่มาอาจจะมีความคิดบางอย่างไม่ตรงกัน แต่พวกเราก็พร้อมจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ และพวกเราเลือกวิธีการจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง เราเห็นว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งถือเป็นการจัดการความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรงวิธีหนึ่งในกรอบกติกาที่เรามีร่วมกัน
 
เรายินดีที่มีคนทุกสีและคนไร้สีมาร่วมจุดเทียนกับเรา และยินดีที่สามารถทำให้คนมีชื่อเสียงหลายท่านออกมาร่วมรณรงค์ไม่เอาความรุนแรงไปกับพวกเราได้ ในพื้นที่ที่เรามีข้อตกลงร่วมกันว่าทุกคนล้วนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ถึงแม้ว่าข่าวสารที่ปรากฏออกไปอาจจะทำให้คนเข้าใจสับสน แต่เราก็ยังคงเปิดรับทุกท่านเสมอ เพราะทุกคนที่มา ณ ที่นี้ล้วนไม่เอาความรุนแรงทุกรูปแบบ

3. มาไว ไปไว
เนื่องจากเงื่อนไขเรื่องสถานที่ กิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพวันศุกร์นี้จำเป็นต้องกระชับเวลาให้สั้นที่สุด 17.30-19.30 น. ขอความร่วมมือทุกท่าน เมื่อเสร็จสิ้นการจุดเทียนโซ่มนุษย์ (human banner) แล้ว ให้แยกย้ายกระจายตัวโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ทีมงานจัดการเคลียร์พื้นที่

4. ขอเป็นดังกัลยาณมิตร
เรียนพี่น้องที่ร่วมชุมนุมกับ กปปส. และเครือข่าย เราขออภัยหากสารที่สื่อออกไปอาจจะสร้างความไม่พอใจแก่ท่าน ทำให้พวกท่านถูกเข้าใจผิด หรือผลักพวกท่านออกไป นั่นอาจเป็นเพราะการสื่อสารของเราไม่ดีพอ รวมทั้งสถานการณ์ข่าวสารที่สับสนอยู่ ณ เวลานี้
 
เราขอยืนยันว่าเราเคารพในหัวใจรักประเทศชาติของพวกท่าน แม้บางอย่างเราอาจเห็นไม่ตรงกัน เพียงแต่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่หน้า ม. รามฯ สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น ถนนวิภาวดี ผลักเราออกมาเปล่งเสียง “พอกันที!”
 
ไม่ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นมาจากการเริ่มต้นของฝ่ายใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเราหวังว่าคำ “พอกันที!” จะดังไปถึงผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย ดังไปถึงผู้หวังผลทางการเมืองจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ความโกรธอาจจะเป็นอารมณ์ที่พุ่งขึ้นจากการถูกผลักไสให้เป็นอื่นเมื่อคิดต่างกัน แต่เราจะไม่ปล่อยให้มันพัฒนาไปเป็นความเกลียดชังที่ทำให้เราไม่สามารถสื่อสารอย่างสันติกันได้อีกต่อไป
 
เราหวังว่าเสียงของเราจะเป็นดั่งเสียงของกัลยาณมิตรร่วมสังคมเดียวกัน และเรายินดีน้อมรับคำติเตียนจากท่านเช่นกัน

5. สื่อสารเพื่อสันติภาพ
เรียนพี่น้องสื่อมวลชนทุกสำนัก เราเชื่อในวิจารณญาณและเคารพเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของท่าน เราคงทำได้เพียงบอกถึงความห่วงใยของเราถึงข่าวสารที่อาจกระพือความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย
 
กลุ่มพอกันที!
9 มกราคม 2557
 
 
ติดตามกิจกรรมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก : พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง  https://www.facebook.com/YaBastaThailand
 
 
ชมภาพ
 

 

 

 

 

 

 

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net