‘ชัยชนะที่ไม่พอเพียง’ ของพรรคประชาธิปัตย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพจากมติชนออนไลน์

บทความนี้ไม่ต้องการอ้างอิง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะ แต่เห็นว่ามีการอ้างอิงหลักการ กติกา วิถีทางประชาธิปไตยมาวิจารณ์กันมากแล้ว เพียงแต่ต้องการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่าในที่สุดแล้วพรรคการเมืองที่อ้างเรื่องปกป้องสถาบันกษัตริย์ อ้างความจงรักภักดีในการต่อสู้ทางการเมือง ได้ยึดถือแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการต่อสู้ทางการเมืองหรือไม่

แต่จะอย่างไรก็ตาม แม้การวิเคราะห์จะสรุปได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการต่อสู้ทางการเมือง หรือกระทั่งปฏิบัติการทางการเมืองสวนทางกับหลักปรัชญาดังกล่าว ผมก็จะ “ไม่” สรุปว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่จงรักภักดี เพราะเป็นเรื่องไร้สาระที่จะตัดสินคนอื่นเช่นนั้น บทความนี้เพียงต้องการจะอธิบายว่า เอาเข้าจริงพรรคประชาธิปัตย์ยึดหลัก “ความถูกต้อง” อะไรกันในการต่อสู้ทางการเมือง (ซึ่งที่จริงเขาอ้างอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือวิถีทางประชาธิปไตยกับความจงรักภักดี)

พรรคประชาธิปัตย์ประกาศยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) เพื่อล้มระบอบทักษิณ และ 2) เพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติคือสถาบันพระมหากษัตริย์ การปฏิรูปของประชาธิปัตย์ชัดเจนว่ามีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งคือ เพื่อล้มล้างสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ (?)”

แน่นอนว่า ในสายตาประชาธิปัตย์ระบอบทักษิณนอกจากจะใช้นโยบายประชานิยมอย่างขัดกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติด้วย เราจึงน่าจะลองวิเคราะห์ดูว่า “แนวทางการต่อสู้ทางการเมือง” ของประชาธิปัตย์สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกว่าระบอบทักษิณหรือไม่

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? ขออ้างอิงคำอธิบายของ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง (จากวิกิพีเดีย) ว่า

เป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำต่างๆ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องอาศัยความรู้ และคุณธรรม เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน กล่าวคือ เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ส่วน เงื่อนไขคุณธรรม คือ การยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน ฯลฯ

เป็นความจริงว่า การต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้สำเร็จเป็นชัยชนะของประชาธิปัตย์ แต่ชัยชนะที่พอเพียงหรือพอประมาณ และมีเหตุผลอยู่ตรงไหน?

ก็ต้องตอบว่า อยู่บนกรอบกติกาประชาธิปไตย คือทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้นตกไปได้ ทำให้รัฐบาลยุบสภาได้ นี่คือชัยชนะที่มีเหตุผล เพราะอธิบายได้ว่าเป็นไปตามระบบรัฐสภา เป็นไปตามหลักการ กติกา หรือวิถีทางประชาธิปไตย

แต่การที่ประชาธิปัตย์และ กปปส.ร่วมมือกันขับไล่รัฐบาลรักษาการ ล้มเลือกตั้ง เพื่อยึดอำนาจรัฐตั้งรัฐบาลคนกลาง (?) และสภาประชาชนคนดี (?) มาปฏิรูประเทศตามโมเดลของฝ่ายตนเอง (?) ย่อมเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ตามกรอบของหลักการ กติกา หรือวิถีทางประชาธิปไตยอีกต่อไป นี่จึงเป็นการกระหาย “ชัยชนะที่เกินพอเพียง” ด้วยการต่อสู้ใน “วิถีทางที่เกินพอดี” เพราะเกินเลยล้ำเส้นของหลักการ กติกา หรือวิถีทางประชาธิปไตยไปแล้ว

ส่วนเรื่อง “ความมีภูมิคุ้มกัน” ก็ชัดเจนว่า การนำม็อบขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้งนั้นทำให้คนเสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมากแล้ว การปิดกรุงเทพฯ ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง รัฐประหาร และสงครามการเมือง แนวทางที่มีภูมิคุ้มกันมากที่สุดในสถานการณ์ที่ประชาชนทั้งประเทศมีความเห็นต่างในเรื่อง “ความชอบธรรม” ของรัฐบาลมากขนาดนี้คือ “การเลือกตั้ง” แต่ประชาธิปัตย์ปฏิเสธแนวทางที่มีภูมิคุ้มกันนี้ กลับเลือกต่อสู้ในวิถีทางนอกกรอบรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศ จึงเป็นการนำสังคมสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงอย่างเลือดเย็น

ส่วน “เงื่อนไขความรู้” นั้น ประชาธิปัตย์พยายามตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 7 อย่างบิดเบือนเพื่อสนับสนุนแนวทางของ กปปส. เป็นการใช้ความรู้บิดเบือนหลักการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกตัวเอง

และสำหรับ “เงื่อนไขคุณธรรม” นั้น ในสังคมประชาธิปไตย “คุณธรรม” ย่อมหมายถึงการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ แต่การพยายามล้มการเลือกตั้งเป็นการไม่เคารพสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชน ขัดต่อหลักความเสมอภาค 1 คน 1 เสียง ทำให้เกิดความแตกแยกซึ่งเป็นการทำลายหลักความเป็นพี่เป็นน้องหรือภราดรภาพของสังคม การยึดอำนาจรัฐไปปฏิรูปประเทศตามโมเดลของฝ่ายตนเองก็ไม่ใช่การปฏิรูปที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมจริง จึงขัดกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันอย่าง “เสรี” และ “เป็นธรรม”

ยิ่งกว่านั้น การต่อสู้ด้วยวิถีทางนอกระบบที่สุมเสี่ยงต่อความรุนแรงนองเลือด ยิ่งสะท้อนว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช้เงื่อนไข “การมีคุณธรรม” ในการต่อสู้แต่อย่างใด สะท้อนข้อเท็จจริงว่าพรรคการเมืองพรรคนี้เคยสลายการชุมนุมปี 2553 อย่างไร้มนุษยธรรม วันนี้การต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขาก็ยังดำเนินไปในแนวทางเดิมๆ อย่างขาดมโนธรรมสำนึกในการปกป้องชีวิตของประชาชนอย่างจริงจัง เพราะทั้งๆ ที่มีหนทางหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อประชาชนทอดวางอยู่ตรงหน้าคือ “การเลือกตั้ง” แต่พวกเขาก็ไม่เลือกเดินในทางนี้

สรุปว่า ในฐานะพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ยึดมั่นในระบบรัฐสภา ไม่ได้ต่อสู้ทางการเมืองอย่างเคารพหลักการ กติกา หรือวิถีทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สิ่งที่พรรคนี้ทำมาตลอดคือการอ้าง “การกระทำผิดกติกา” ของฝ่ายตรงข้าม (เช่น คอร์รัปชัน,แก้รัฐธรรมนูญลักไก่ ลักหลับ ฯลฯ) เพื่อให้ความชอบธรรมกับฝ่ายตนสามารถล้มฝ่ายตรงข้ามด้วย “วิถีทางนอกกติกา” ได้

ฉะนั้น นอกจากจะเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ยึดมั่น ในหลักการ กติกา หรือวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว แม้จะอ้างว่าพวกตนเทิดทูน ปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้ยึดแนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ยอมรับ “ชัยชนะอย่างพอเพียง” ตามระบบที่ฝ่ายตนเองได้ไปแล้ว แต่ต้องการชนะด้วยวิถีทางนอกระบบเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มีที่ยืนบนเวทีการเมือง

จึงไม่รู้ว่า พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ต้องการให้สังคมแก้ปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางไหนกันแน่ แนวทางประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ยิ่งไม่ใช่อีก

หรือว่าแนวทางรูปธรรมของประชาธิปัตย์ คือการเดินนอกกติกาสร้างเงื่อนไขซ้ำเติมความแตกแยกให้บานปลายไม่รู้จบ จนต้องเกิดรัฐประหารซ้ำรอยปี 2549 อีกครั้ง และเกิดสงครามกลางเมืองเลยหรืออย่างไร แล้วพรรคการเมืองพรรคนี้จะรับผิดชอบอย่างไร
 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท