Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันนี้ดิฉันเองได้มีโอกาสฟังลุงท่านหนึ่งที่พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน  ได้มีประโยคหนึ่งว่า “เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใต้ต้นมะขามไม่ได้ ต้องมาแก้ในรัฐสภา” ดิฉันเองก็งงว่าอะไรคือ “ต้นมะขาม?” จึงนั่งนึกแล้วก็ถึง “บางอ้อ” ต้นมะขามก็คือต้นไม้บนถนนราชดำเนิน แต่ดิฉันเองก็มองไปอีกมุม คือ ต้นมะขามมันมีมานานแล้วเพราะดิฉันก็เห็นมาแต่เด็กๆ เพราะบ้านดิฉันเองก็อยู่ย่านเมืองเก่า เรียนโรงเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยย่านเมืองเก่า  ต้นมะขามถ้าในความหมายที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็จะมองถึงอาชีพค้าบริการที่มีอยู่บนถนนแห่งนี้ แต่ดิฉันกลับมองอีกมุม คือ มันคือต้นไม้ที่จะตอบคำถามเราเรื่องประชาธิปไตยได้ดีกว่าใครเลยๆ ถ้าเราสามารถสนทนากับต้นมะขามได้

ต้นมะขามมาได้อย่างไร? แรกเริ่มการสร้างถนนราชดำเนินสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปลูกต้นมะขามริม 2 ฝั่งถนน หรือแม้กระทั่งถนนอื่นๆในพระนครที่ได้เกิดขึ้นใหม่ ต้นมะขามมีใบขนาดเล็กให้ร่มเงาที่ดีได้ ด้วยใบขนาดเล็กทำให้เวลาร่วงลงพื้น จะไม่สกปรก และเป็นต้นไม่ขนาดใหญ่จึงทำให้สร้างร่มเงาได้ดีและมีใบสีเขียวอ่อนที่สร้างสีเขียวให้พระนครในยุคที่เริ่มมีอาคารบ้านเรือนมากขึ้น พื้นภาวะที่สีเขียวในพระนครเริ่มลดลง ต้นมะขามเหล่านี้มีหลายต้นอายุยาวนานกว่าร้อยปี ยาวนานกว่าประชาธิปไตยไทยด้วยซ้ำในบางต้น

ต้นมะขามมอบความรู้? หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ก็ได้ใช้ลานพระบรมรูปทรงม้าในการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสมัยรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยที่ใหญ่ๆของเราในอดีตก็คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์เดือนตุลาคมและพฤษภาทมิฬ ก็ได้มีการใช้สถานที่แห่งนี้ในการแสดงออกทางการเมืองเพื่อส่งสารไปยังรัฐทั้งรัฐบาลเผด็จการ คณะรัฐประหาร ที่นำมาซึ่งการสูญเสียจำนวนมากทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เรื่อยมาถึงปัจจุบันไม่ว่าเสื้อสีใดก็ยังคงจับจองพื้นที่แห่งนี้ และก็นำมาสู่การสูญเสียเช่นในอดีต แต่มีจุดที่น่าสนใจ คือ ความรุนแรงเช่นในอดีตลดน้อยลง เพราะ เราเรียนรู้ตลอดเวลาถึงความเจ็บปวดในอดีต และพยายามไปสู่อนาคตอย่างระมัดระวังมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็น คือ ประชาชนเรามีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆในห้วงเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ครั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นการตื่นตัวในหมู่นักปกครองที่มีด้วยกันเอง ผ่านมาถึงการศึกษาที่พัฒนาขึ้นจากนโยบายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่ให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ถือเป็นดาบสองคมต่อระบอบเผด็จการ นำไปสู่การตื่นตัวในสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ปะทุขึ้นในเหตุการณ์เดือนตุลาคมในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะปัญญาชนที่ได้ออกมา ผลผลิตของผู้คนจากเหตุการณ์นี้ได้ส่งมอบมายังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี2535ในคราบชนชั้นกลางของสังคม คำว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และได้ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งที่ประกาศว่าตนจะไม่รับ เป็นเวลาที่ทหารต้องกลับค่ายหลังจากออกมาเริงร่าเป็นเวลาเนินนานทางการเมือง จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 และได้เข้าสู่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้เกิดการลุกขึ้นทวงถามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของกลุ่มชนชั้นที่เรียกกันว่าชนชั้นรากหญ้า พวกเขาเติบโตมาด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าไปมีพื้นที่ในระบบเศรษฐกิจมากกว่าในยุคใดๆที่ผ่านมา ผ่านระบบยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่มีอัตราเร่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงรู้สึกถึงโอกาสที่เขาต้องมีสิทธิมีเสียงในสังคมด้วยเช่นกัน และเรื่อยมาถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ก็คือชนวนการปะทุทางการเมืองใน 7 ปีที่ผ่านมา เพราะ ปัญหาทางประชาธิปไตยไม่ได้ถูกแก้ด้วยประชาธิปไตย

ต้นมะขามกำลังเตือนสติ ด้วยการกระทำ? ต้นมะขามริมถนนราชดำเนินมีขนาดใหญ่แตกต่างกันเสมือนคนไทยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ต้นมะขามที่มีอายุแตกต่างกันเสมือนคนไทยที่มีหลากหลายช่วงวัยที่แตกต่างกัน ต้นมะขามที่มีรูปร่างแตกต่างกันไปในการแตกกิ่งผลิใบเสมือนคนไทยที่มีความแตกต่างทางความคิด แต่ต้นมะขามก็อยู่บนถนนเดียวกันได้ มีกิ่งไม้ที่เกี่ยวพันธ์กัน มีคุณค่าเท่ากัน เช่นเดียวกับคนไทยที่ต้องอยู่บนแผ่นดินไทยเดียวกันให้ได้ถึงแม้จะคิดต่างกัน เพราะ ไม่มีใครคิดเหมือนกันไปเสียทุกเรื่องได้ และทุกคนต้องมีความสัมพันธ์กันเพราะไม่มีใครอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ได้ ที่สำคัญเราต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ผ่านศักดิ์ศรีต่อหน้ากฎหมาย ผ่านระบอบการปกครองประชาธิปไตยด้วยการมี 1 คน 1 เสียงเท่ากัน ถือเป็นความเสมอภาค และมีเสรีภาพที่สามารถแสดงออกได้แต่ห้ามละเมิดกฎหมายและผู้อื่นด้วย การเลือกตั้งและการปฏิรูปประเทศไม่สำคัญเท่า การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าเรามีคำนี้อยู่ในสังคมปัญหาทุกอย่างเราคุยกันได้แน่นอนและสามารถนำพาสังคมหลีกหนีความรุนแรง และทุกๆฝ่ายที่จะปฏิรูปประเทศก็อย่าลืมปฏิรูปตนเองด้วย

ถ้าต้นมะขามสามารถพูดได้? เขาคงบอกทางออกทางการเมืองให้เราได้ แต่ด้วยการที่ต้นมะขามพูดไม่ได้ เราก็คงต้องมองจากบริบทรอบข้างต้นมะขามและการกระทำของต้นมะขาม ผ่านการที่เขามองเห็นการเมืองไทยนานที่สุด เขาปรับตัวตลอดการเปลี่ยนแปลง เขาเติบโตมาเพราะน้ำฝนที่ตกลงมาหรือจากการรดน้ำของเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญบริเวณโคนต้นมีคนที่หมดลมหายใจทางการเมืองได้นอนเคียงข้างและเลือดของพวกเขาก็คือสิ่งที่รดน้ำต้นมะขาม ต้นมะขามเขาไม่เคยเรียกร้องใดๆ เขาไม่เคยหลีกหนีปัญหา ต้นมะขามอยู่ที่เดิมเสมอ ต้นมะขามกำลังบอกเราว่า ในระบอบประชาธิปไตยคุณต้องอดทนในการรับฟังคนอื่นที่คิดต่าง คอยให้ที่พักพิงแก่ผู้ได้รับความเจ็บปวด ไม่เอาความเจ็บปวดมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยไม่เปลี่ยนแปลงผ่านการเดินตามกติกาและรู้จักปรับตัวในเข้ากรับสถานการณ์เพื่อยืนหยัดอย่างมั่นคง   ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ต้นมะขามสำหรับดิฉัน คือ ต้นไม้ประชาธิปไตยไทยนั่นเอง

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ปรัชญา  นงนุช ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
               
                
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net