Skip to main content
sharethis

<--break->

ในห้วง 10 ปีไฟใต้ มีคนตายไปแล้วกว่า 5 พันคน แต่ในห้วงปีที่ผ่านมาเกิดวาระของการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี มีความพยายามในการสร้างพื้นที่กลางหรือพื้นที่สาธารณะที่ที่ทุกคนสามารถพูดคุยได้อย่างปลอดภัย ซึ่งนำโดยภาคประชาสังคมในพื้นที่

แต่ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ยังไม่เห็นการพูดคุยสันติภาพ ยังไม่เกิดพื้นที่กลางเพื่อการพูดคุยหาทางออกร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะระหว่างคู่ขัดแย้งและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

หรือว่าความขัดแย้งในชายแดนใต้/ปาตานี มีการปฏิรูปไปก่อนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยไปแล้ว และจะเปรียบเทียบความขัดแย้งในชายแดนใต้/ปาตานีกับความขัดแย้งในกรุงเทพขณะนี้กันอย่างไร

ก่อนหน้านี้ในเวที "ปฏิรูปประเทศไทย: ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ที่ห้องประชุมอีหม่ามอัล-นาวาวี วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดโดยเวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ มีการถกแถลงกันเรื่องนี้

ในเวทีมีผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.เอกชัย ไชยนุวัติ จากมหาวิทยาสยาม ในฐานะโฆษกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) รศ.อับดุลเลาะ อับรู จากม.อ.ปัตตานี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการภาคใต้ และอ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล จาก ม.อ.หาดใหญ่ โดยมีนายจอม เพชรประดับ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเป็นการบันทึกเทปรายการ ทันสถานการณ์บ้านเมือง ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 NBT แต่ละคนที่พูด มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

ยุกติ มุกดาวิจิตร

ผมมาปัตตานีเป็นครั้งที่ 3 มาครั้งนี้เพราะประทับใจความตื่นตัวทางประชาธิปไตยของคนที่นี่ อยากให้กำลังใจประชาชนในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส คนที่นี่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคใต้ ที่คิดไม่เหมือนที่นี่ซึ่งสวนทางกับประชาธิปไตย ทั้งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นแนวทางที่สำคัญ

ผมสรุปบทเรียนได้จากงานวิจัยของผมเองว่า จริงๆ แล้วประชาธิปไตยเป็นสมบัติของประชาชนมากกว่าสิ่งที่นักวิชาการหรือชาติตะวันตกยื่นให้

เราผ่านประสบการการเรียนรู้ประชาธิปไตยมามากมาย ถ้าเปรียบเทียบสิ่งที่เห็นระหว่างคนในเมืองกับในชนบท ซึ่งเราสงสัยว่าทำไมคนในกรุงเทพมหานครหรือคนในเมืองจึงปฏิเสธประชาธิปไตย ทำไมถึงคัดค้านกระบวนการเลือกตั้ง

เราพบว่าชาวกรุงเทพมีทัศนคติที่บอดอย่างหนึ่งว่า เขามองว่าประเทศไทยคือกรุงเทพ และกรุงเทพนี่และที่เป็นประชาธิปไตย เป็นเพราะคนที่อยู่ในกรุงเทพได้รับการโอบอุ้มดูแลมาตลอด ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็แล้วแต่ งบประมาณแผ่นดินกว่า 70 % ลงที่กรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นคนกรุงเทพไม่ต้องไปพึ่งกระบวนการประชาธิปไตยเลย เพราะได้รับอุ้มชูมาตลอด

ทำไมคนกรุงเทพถึงไม่พอใจกับกระบวนการปฏิรูปที่เกิดขึ้นมา เพราะเห็นว่างบประมาณเริ่มไหลไปที่อื่นมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีการโกงอยู่ แต่ถามว่าเมื่อก่อนที่งบประมาณลงไปที่กรุงเทพจำนวนมากไม่มีการโกงหรือ ก็มีตลอดเวลา แต่เขาสามารถที่จะปิดตาข้างเดียวได้ ตราบใดที่เขาสามารถได้รับการดูแลอุ้มชูตลอดเวลา แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกสั่นคลอด เริ่มรู้สึกว่างบประมาณกระจายไปที่อื่นมากแล้ว นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนกรุงเทพไม่ต้องสนใจการเลือกตั้ง

ประการที่สอง คนกรุงไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตย การเลือกตั้งและดอกผลจากการเปลี่ยนแปลงในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาทำให้คนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนในชนบทเติบโตและตื่นตัวทางการเมืองขึ้นมา

ต่อคำถามที่ว่า คนที่พูดว่าเสียงของคนกรุงเทพดังกว่า คือนักวิชาการ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าเขาพูดจากผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่า ความรู้ความเข้าใจที่มี ภาพความเข้าใจชนบทของคนกรุงเทพคือ ชนบทที่สวยงาม เรียบง่าย ใสซื่อบริสุทธิ์ จึงคิดว่าคนชนบทถูกหลอกได้ง่ายๆ ถูกซื้อ นั่นคือปัญหา เขาไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยมันแพร่กระจายไปหมดแล้ว

วันนี้ผมมาปัตตานียังแปลกใจมากว่า สัญญาณอินเตอร์เน็ตแรงมาก ทุกวันนี้คนชนบทรับรู้กับความเปลี่ยนแปลงได้มาก คนกรุงเทพรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นก็รู้เหมือนกัน

เอกชัย ไชยนุวัติ

ปาตานีก็เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป เพราะรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ จะเขียนไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อำนาจบริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติเป็นองค์กรใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะให้ตุลาการมาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับการให้อำนาจนั้นขึ้นไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

ผมมาปัตตานีครั้งแรก ภรรยาถามว่ามาทำไม กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย ผมคิดอย่างนี้ว่า ถ้าผมไม่มาผมไม่รู้ ถ้าผมจะตายก็ตายเพราะรู้ดีกว่า ดีกว่าไม่รู้

อีกอย่างคือ รัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลชุดแรกที่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งผมตกใจมาก ผมสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง แต่นักศึกษาไม่ตกใจ บอกว่าจริงๆแล้วเขาก็เจรจากันมานานแล้ว แต่รัฐบาลชุดนี้เป็นชุดแรกที่ยอมรับว่ามีการเจรจา แล้วก็มีอุปสรรคมาตลอด แต่นี่คือวาระของการปฏิรูป

ถ้าท่านไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ ถ้าท่านไม่ชอบที่เขาเจรจากัน ท่านก็ไม่ต้องเลือกเขา ท่านไม่ชอบแนวทางของปาตานีที่มันเป็นอยู่อย่างนี้ ท่านก็ไปหานักการเมืองว่าแต่ละคนว่าอย่างไร ท่านก็เลือกเขา เขาไม่ทำตามคราวหน้าท่านก็ไม่เลือกเขา นี่คือประชาธิปไตย

ทาง สปป.บอกว่า การจะปฏิรูปประเทศนั้นต้องผ่านการเลือกตั้ง ผมเขียนบทความลงมติชนฉบับวันที่ 10 มกราคม 2557 ก็คงจะโดนรัฐบาลด่า เพราะผมเขียนว่าสภาปฏิรูปที่รัฐบาลสร้างขึ้นมา เราเรียกว่าสภาอำมาตย์ปฏิรูป สิ่งที่รับไม่ได้เลยคือ อันดับหนึ่งที่ขึ้นมาเป็นกรรมการสรรหาคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในทางสังคมศาสตร์เรารับไม่ได้ เพราะถ้าผู้นำของเราหมายถึงคนที่ประชาชนเลือก นั่นคือผู้นำสูงสุดในการบริหารประเทศ แต่วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ คนกรุงเทพสนใจอยู่แค่นี้ มีการข่าวค่อนข้างชัดว่า ทหารออกมาแน่เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ เราพูดกันแค่นี้ แต่คนที่ปัตตานีตื่นตัว ถ้าผมไม่มาผมก็ไม่เห็นว่าเขาตื่นตัวอย่างไรa

อับดุลเลาะ อับรู

คำถาม – พูดถึงปัญหาทางภาคใต้กับความขัดแย้งในกรุงเทพมหานครมีความคิดอย่างไร

ตอบ - มีคำหนึ่งที่มีคนพูดถึงและมีคนถามผมเยอะว่า มันจะไปอย่างไร จะเกิดอะไรและปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไร คำนั้นคือ ชัตดาวน์แบงค็อค รีสตาร์ทไทยแลนด์

เราเป็นคนแบบนี้ คนที่ถามเราจะฟังเราและเชื่อเรา ซึ่งการปิดกรุงเทพจะสะเทือนทั้งประเทศ และจะสร้างประเทศไทยใหม่แต่ไม่ทำด้วยคนทั้งประเทศ บอกชัดๆว่า การทำประเทศไทยใหม่นั้นต้องทุกองคาพยพ แต่นี่มีไม่กี่ร้อยคนอย่างนี้จะครอบคลุมกับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่

ในสังคมมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนมุสลิมอยู่ 80% เพราะฉะนั้นอาจจะไม่เห็นว่าทำไมมันไม่เหมือนกับคนพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นั่นแสดงให้เห็นว่าคนส่วนน้อยประมาณ 20% เขาก็แสดงกิจกรรมที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับใคร แต่คนอีก 80% ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับใคร

ถ้ามองแบบเอาสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชมาเทียบ เราก็จะเห็นว่าคนใน 3 จังหวัดนี้ สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งและเขาก็มีคนที่ต้องการจะเลือกเพื่อเข้าไปสู่ในรัฐสภาเพื่อเป็นเสียงของพวกเขา ส่วนประเด็นที่ว่ามีการซื้อเสียงหรือไม่นั้น ต้องตัดออกเพราะทั่วโลกมันก็มี มันเป็นกระบวนการที่ยาวมากเพื่อที่จะขจัดเรื่องการซื้อเสียง เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องจัดการทั้งข้างในและข้างนอก

ข้างในคือเรื่องการศึกษาว่า เราจะปฏิรูปการศึกษากันอย่างไร เพื่อให้คนเป็นคน และข้างนอกก็คือ เราจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไรเพื่อที่จะทำให้คนที่ไม่เป็นคนให้เป็นคน เพราะฉะนั้นสองตัวนี้ เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าเราจะเขียนประเทศไทยขึ้นบนแผ่นกระดาษวันเดียวให้เป็นประเทศไทยที่สมบูรณ์แบบ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทาง

แม้แต่บุคคลที่ยิ่งใหญ่ในอดีต เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู หรือศาสดามูฮัมหมัด ทั้งที่ในความเชื่อของอิสลามคือ พระเจ้าสามารถทำให้สมบูรณ์ได้ โดยมนุษย์ไม่ต้องพึ่งความคิดของมนุษย์ แต่อิสลามกว่าจะมีความสมบูรณ์ก็ใช้เวลาตั้ง 22 ปี โดยผ่านความพยายามของศาสดา ขณะที่พระพุทธเจ้าทำให้เกิดความสมบูรณ์ของพระพุทธศาสนาเกือบ 50-60ปี ตั้งแต่ท่านตรัสรู้ กว่าจะได้บันทึกเป็นกิจกรรม กิจการหรือวิถีชีวิตขึ้นมา เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องผ่านประสบการณ์

ถ้าเรามองในอดีต มีหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าจะดี เป็นตำราอายุประมาณ 700-800ปี ชื่อ “มุก็อดดิมะห์” ของ “อิบนูคอลดูน” มีคนถามนักปราชญ์ท่านนี้ว่า ทำไมประชาชนถึงไม่เลือกบุคคลที่เป็นสายเลือดของท่านศาสดามาเป็นผู้ปกครองต่อจากท่าน ท่านอิบนูคอลดูดูนตอบไปว่า เพราะมันเป็น group feeling เพราะคนมีความรู้สึกร่วมกัน พวกเขาส่วนใหญ่มีความรู้สึกร่วมกันแบบนี้ เขาก็เลือกคนแบบนี้

ถ้าเราบอกว่าภาคเหนือ-อีสานมีความรู้สึกร่วมกันที่จะเลือกพรรคนี้ ส่วนคนทางภาคใต้มีความรู้สึกร่วมกันที่จะเลือกคนพรรคนี้ ก็คือตัวแทนของพวกเขาที่จะเข้าไปข้างใน

ในประเทศของเราคิดจะเอาระบอบหนึ่งตั้งไว้ แล้วก็กล่าวหาว่าที่มันเกิดปัญหาขึ้นมาก็เพราะมันเกิดจากระบอบนี้ เช่น ระบอบสุเทพ ระบอบทักษิณ ถ้าเราเอา 2 ระบอบนี้มาตั้งไว้ คนที่นี่เขาถามว่า ถ้าระบอบทักษิณให้มีการเลือกตั้ง แต่ระบอบสุเทพไม่มีการเลือกตั้ง ปัญหาของภาคใต้จะเป็นอย่างไร

เพราะปัญหาของภาคใต้จำเป็นต้องหาบุคคลซึ่งมีความรู้ของภาคใต้ไปเป็นตัวแทนของพวกเขาไปพูดในสภา ถ้ามันไม่มีบุคคลหรือขาดช่วงของการหาบุคคลไปเป็นตัวแทนพูดในสภาแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

ถาม – อาจจะมีการแต่งตั้งบุคคลที่พอใจโดยที่ไม่ให้ประชาชนเลือกไปเป็นตัวแทนในสภาจะได้หรือไม่

ตอบ – มันผิดธรรมชาติ ผิดกฎเกณฑ์ ผิดกติกา ผิดข้อเท็จจริง พูดง่ายๆคือมันไม่ถูกต้อง คนที่นี่เขาจะเงียบๆ ผมอยากจะแสดงข้อมูลอย่างหนึ่งคือ หลังจากเหตุการณ์กรือเซะหรือตากใบ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยไม่ได้รับเลือกตั้งซักคน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นสูสีกัน แต่ประเด็นนี้ก็กลายเป็นประเด็นหากินของพรรคประชาธิปัตย์ไปด้วย อันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีความฉลาดขึ้น แต่ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดแรงต้านขึ้นมา และแรงต้านอย่างนี้จะเกิดองค์ความรู้ที่ คิดว่าระยะเปลี่ยนผ่านอย่างนี้ ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปในทางที่ดี ประเทศไทยจะก้าวหน้ามาก แต่ถ้าเปลี่ยนผ่านในทางที่ไม่ดี ผมว่าเราถดถอย

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

คำถาม – เปรียบเทียบความรุนแรงในกรุงเทพกับภาคใต้จะมีแสงสว่างของสันติภาพหรือไม่

ตอบ – เมื่อเปรียบเทียบประสบการณ์ที่เราเห็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความรุนแรงในระยะ 10 ปีที่ผ่านมากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพขณะนี้ ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากบทเรียนจากเหตุการณ์ภาคใต้ว่า มี 3 องค์ประกอบ คือ ประชาธิปไตย ความยุติธรรมและสันติภาพ

ทั้ง 3 ประการเดินคู่ขนานกันไปและความคิดก็ต่อเนื่องกันไป ปฏิบัติการแยกออกจากการไม่ได้ เพราะว่าประชาธิปไตยคือกระบวนการที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน โดยไม่แยกชนชั้นวรรณะและชาติพันธ์ ศาสนา ทุกคนเท่ากันหมดหนึ่งคนหนึ่งเสียง ซึ่งเป็นการเลือกโดยมีวิจารณญาณ เหตุผล ซึ่งอาจจะมีสิ่งที่มากระทบคือการซื้อเสียง การทุจริต

แต่การใช้เหตุผลของมนุษย์ ลึกๆแล้วมันสำคัญที่สุด เพราะต้องพูดคุยกันผ่านกระบวนการประชาธิปไตย มีบางคนพูดว่า พื้นที่กลาง พื้นที่สาธารณะจะเกิดขึ้นได้ ก็โดยกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเหตุผล ทุกคนกล้าที่จะแสดงออก ไม่ข่มขู่ ไม่ทำร้ายกัน ไม่ใช้ความรุนแรง และนำมาสู่สิ่งสุดท้ายที่เราต้องการ คือ สันติภาพ หรือสันติสุข

เพราะสังคมต้องการความสันติในการแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผล เมื่อเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงขึ้น เราก็จะแก้ด้วยการพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพราะทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน กระบวนการรัฐสภา ประชาธิปไตยและด้วยความยุติธรรม ก็จะนำมาสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการสันติ ทุกอย่างก็จะมีความต่อเนื่องกัน

ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้มันชัดเจนคือ มีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตย และรัฐบาลทุกยุคสมัยโดยเฉพาะในช่วงหลังที่พยายามเข้ามาแก้ปัญหานี้ ซึ่งเป็นความรุนแรงและความขัดแย้งที่สะสมกันมาเป็นสิบๆปี จากความผิดพลาดต่างๆในอดีต มันถูกปรับถูกแก้ด้วยกระบวนการต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย

แม้แต่ในช่วงรัฐบาลทักษิณที่ทำผิดพลาดในช่วงแรก ประชาชนตัดสินโดยการไม่เลือกตัวแทนพรรคไทยรักไทยในช่วงนั้น ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่แสดงออกถึงเจตนาหรือเจตจำนงของประชาชนใน 3 จังหวัดนี้ว่า ต้องการลงโทษพรรคการเมืองในตอนนั้น แต่ต่อมาก็เปลี่ยนไป คือเมื่อแก้ปัญหาได้แล้วก็ให้โอกาสที่จะมีสิทธิได้เข้ามาต่อสู้อีก มีโอกาสถูกรับเลือกตั้งขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นในตอนหลัง การเลือกตั้ง ส.ส.ภาคใต้จะก้ำกึ่งกันในหลายพรรค ไม่มีใครได้เสียงส่วนเดียว นี่คือลักลักษณะประชาธิปไตยในพื้นที่

อีกอย่างคือ ประชาธิปไตยทำให้เกิดการพูดคุย ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดนี้กล้าที่พูดแสดงออกในเรื่องสันติภาพ กระบวนการสันติภาพ โดยการไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นและกลุ่มอื่นๆ

ถามว่ามันเกิดจากรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ก็ไม่ใช่ แต่มันเกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องกันมา รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็เคยมีการพูดคุยสันติภาพ พยายามจะทำแต่ไม่กล้าเปิดเผย แต่รัฐบาลชุดนี้กล้าเปิดเผย กล้าเซ็นสัญญาที่จะตกลงพูดคุยกันต่อไป ซึ่งมีการพูดคุยกัน 2-3ครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

สังเกตดูว่าระดับของความรุนแรงจากในช่วงแรกของ 10 ปีจะสูงมาก จากนั้นก็ค่อยๆลดลงมาอยู่ในระดับที่มั่นคงที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ระดับความรุนแรงมันไม่หายไปแต่คงที่ คือไม่ลดลงและไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลอย่างแยกไม่ได้จากกระบวนการสันติภาพ ซึ่งได้มาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจ คือ ในข้อเรียกร้องของขบวนการบีอาร์เอ็นที่มี 5 ข้อ ซึ่งมีข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับสิทธิของคนมลายูปาตานี ซึ่งหัวใจสำคัญของข้อเรียกร้องนี้คือ จะต้องผ่านการยอมรับจากรัฐสภา บีอาร์เอ็นต้องการให้มีระบบรัฐสภาที่มีความชอบธรรมและเป็นตัวแทนของประชาชนและยอมรับปัญหานี้ นายกรัฐมนตรีต้องยอมรับปัญหานี้ นี่คือกระบวนการประชาธิปไตย

บีอาร์เอ็นต้องการให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อจะแก้ปัญหาอย่างสันติในพื้นที่นี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการสันติภาพและต้องการประชาธิปไตย จึงได้สะท้อนออกมาจากการที่คนใน 3 จังหวัดนี้ ส่วนใหญ่ต้องการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากความต่อเนื่องของประชาธิปไตย ความยุติธรรมและสันติภาพ

ถาม – อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมที่จะคุยกันได้ ในขณะที่ส่วนกลางคุยกันไม่ได้และไม่ต้องการจะคุย

ตอบ – มี 2 ปัจจัยที่เป็นข้อสังเกต คือ ประการแรก ความขัดแย้งในภาคใต้เป็นความขัดแย้งที่ถึงตายแล้ว ตายในทีนี้หมายถึงตายหนักๆ มีคนตายถึง 5,000 กว่าคนแล้ว มันเป็นความรุนแรงที่ทะลุซอยไปแล้ว ทุกคนรู้ว่าความรุนแรงมันน่ากลัวมาก คนที่อยู่กับความรุนแรงจะรู้จักความรุนแรงที่สุด

เราต้องการให้ความรุนแรงยุติ ต้องการให้มีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการสันติ ไม่อยากเห็นภาพของคนตายทุกวัน ทั้งถูกยิง โดนระเบิดและมีการฆ่าตายอย่างโหดร้ายทารุนมาก ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นเราต้องการให้เกิดสันติภาพ ต้องการให้เปลี่ยนความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง มาสู่ความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง

ประการที่สอง คือ เกิดการสร้างพื้นที่ร่วม พื้นที่กลาง ที่คนทุกๆฝ่ายเข้าร่วมกันเพื่อพูดถึงกระบวนการสันติภาพ ความจริงแล้วกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพมันเกิดจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคมก่อนด้วยซ้ำไป โดยรัฐบาลได้ปรับนโยบายที่จะมาแก้ปัญหาในทางสันติโดยการเจรจา ซึ่งเกิดมาจากการสร้างพื้นที่กลาง พื้นที่สาธารณะที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้เกิดสันติภาพ แล้วรัฐบาลก็นำไปปรับใช้

ส่วนปัญหาในส่วนกลางก็คือ มีความรุนแรงแต่ในทางปฏิบัติหรือในทางความเป็นจริงแล้วมันยังไม่ถึงปลายทางของความรุนแรง ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าอยากจะให้ไปถึง ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะถ้าหากเปรียบเทียบดูว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 1.8 ล้านคน ในช่วง 10 ปี มีคนตายไปแล้วตอนนี้ประมาณ 5,900 คนแล้ว ถ้าเทียบกับคนทั้งประเทศที่มี 65 ล้านคน ถ้ามีความขัดแย้งเหมือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 10 ปี จะเกิดอะไรขึ้นถ้าความรุนแรงไปสุดซอย นี่คือสิ่งที่น่ากลัว

เพราะฉะนั้นเราจะหยุดมันได้หรือไม่ ก็ต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยนี่แหละ โดยการเลือกตั้ง หาทางออกทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่มี แล้วผมเชื่อว่าจะทำได้

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

ถาม – เข้าไปทำวิจัยชิ้นเล็กๆในกลุ่มผู้ชุมชุม กปปส.กลุ่มผู้ชุมนุมคิดอะไร

ตอบ – ในหลักการผมยืนยันกับการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็เห็นความจำเป็นของการปฏิรูป สมัยนี้หมดยุคของผู้นำคุยกับผู้นำแล้ว การเมืองมีความเป็น Mass มากขึ้น ผมสนใจว่าคนเข้าร่วมชุมนุมด้วยเหตุผลอะไร ผมนึกถึงทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ผมคิดว่ายังใช้ได้ โดยเฉพาะกับคนในกรุงเทพ แต่ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างในอดีต

ในม็อบผมเห็นคนอยู่ 2 กลุ่ม ผมเรียกว่าม็อบชั่วคราว กับม็อบค้างคืน ม็อบชั่วคราวคือ คนที่อยู่ในกรุงเทพ มีบ้านอยู่ในกรุงเทพ จะไปร่วมชุมนุมกันประมาณ 6 โมงเย็นจนกระทั่งกำนันได้พูดก็จะกลับบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงาน พนักงานออฟฟิส ส่วนม็อบค้างคืน จะเป็นผู้หญิงและมีอายุเป็นส่วนใหญ่

คำถาม คือ เวลาเราเห็นการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ควรจะมีอุดมการณ์มากำกับ สิ่งที่ผมเห็นเนื้อหาสาระในม็อบนี้มีอยู่ 2 ชั้น คือ สิ่งที่ยึดโยงม็อบชั่วคราวได้คือวาทกรรมการโกง คอรัปชั่น

คนอีกกลุ่มคือม็อบค้างคืน ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคใต้ ภาคอีสานก็มี กรุงเทพก็มี ภาคกลางก็มี วาทกรรมที่ยึดโยง ม็อบกลุ่มนี้คือ วาทกรรมเรื่องการหมิ่นสถานบันพระมหากษัตริย์

สองวาทกรรมนี้ เป็นตัวตรึงคนไว้

ถาม – กปปส.มองว่าใครหมิ่น

ตอบ - ผมคุยกับคนสูงอายุที่กินนอนอยู่ในม็อบ เขาบอกว่ารัฐบาลละเลยในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเราเข้าใจได้ในลักษณะของคนรุ่นหนึ่ง

สิ่งที่ผมสนใจคือ ม็อบที่มีคนที่มีการศึกษา เอาเข้าจริงเวลาเราจะพูดถึงจินตนาการของคนชนชั้นกลาง เวลาเขามองคนต่างจังหวัด เวลานี้นักศึกษาคงรู้จักเพลงนี้ดี ชื่อเพลงภูมิแพ้กรุงเทพ ผมอยากให้กลับไปดูมิวสิกวีดิโอนี้อย่างละเอียด

สิ่งที่ผมเห็นจากมิวสิกวีดิโอนี้คือ อันแรกสุดเวลาคนกรุงเทพมองคนต่างจังหวัด คือ หนึ่งความใสซื่อบริสุทธิ์ ในมิวสิกนี้ ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น เอาแค่ภาคใต้ วันนี้ผมอยากให้กลับไปมองว่ามีวัยรุ่นกี่คนที่ยังนุ่งผ้าปาเต๊ะอยู่

สิ่งที่ผมติดใจมากที่สุดคือการสื่อสาร ในมิวสิกนี้พูดถึงบ้านของกำนันที่ชาวบ้านมานั่งดูทีวี ผมเคยเห็นบรรยากาศแบบนี้เมื่ออายุ 6 ปี ชาวบ้านไปดูทีวีที่ร้านน้ำชา เพราะเป็นสถานที่ทันสมัยที่สุดในหมู่บ้าน

สิ่งนี้มันสะท้อนให้เห็นจินตนาการที่มีต่อคนต่างจังหวัด ด้วยเหตุนี้ เวลาคนกรุงเทพพูดถึงต่างจังหวัด ทำไมถึงไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้ง เพราะท้ายที่สุดการเลือกตั้งมันขับเคลื่อนด้วยเงิน

แต่ถ้าถามให้ลึกจริงๆมีคนหนึ่งซึ่งชัดเจนว่าเป็นคนเสื้อเหลือง ผมถามเขาว่า ถ้าผมจ้างหนึ่งพันบาทให้ไปร่วมชุมนุมกับพวกเสื้อแดงจะเอาไหม เขาบอกไม่เอา แล้วไหนว่าเงินซื้อได้ เช่นเดียวกันในกรณีของคนเสื้อแดง ต่อให้พรรคเพื่อไทยทุ่มเงินมหาศาลในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสงขลาขึ้นไป แต่ทำไมไม่เคยชนะ

ผมคิดว่าประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นมาในลักษณะของกระบวนการ มีกระบวนการในการลองผิดลองถูก เราไม่สามารถที่จะสร่างประเทศไทยใหม่ได้เพียงวันหรือสองวัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สร้างกลไกในการตรวจสอบและอยู่กับระบบ

ช่วงที่ 2

คำถาม – ในสภาวะของความขัดแย้งที่มีคนกลุ่มหนึ่งไม่เอาการเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยกับกับวิถีทางประชาธิปไตย กับอีกคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง พยายามที่จะรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งนี้จะจบลงอย่างไร สงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นหรือเปล่า การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์จะเกิดขึ้นหรือไม่

ยุกติ – ประชาชนจะไม่ยอมแน่นอนถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ถ้ามีใครพยายามตัดกระบวนการนี้จะเกิดการลุกฮือแน่นอน

เอกชัย – ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้มีกฎหมายรองรับ แต่ให้เลื่อนก่อนหรือปฏิรูปก่อนนั้นไม่มีกฎหมายรองรับ

ครั้งนี้ถ้า กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ชนะ นอกจากจะมีคนกรุงเทพ คนต่างจังหวัดแล้ว ก็จะมีคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะกลายเป็นคนที่ถูกลืมไปเลย ทั้งที่มีคนตายกันมาเยอะแล้ว พวกเขาก็จะลืมท่านไปอีก

คำถาม – มีคนพูดว่า ถ้า กปปส.ชนะ ประเทศไทยก็จะมี 3 ส่วน คือ ไทยเหนือ-อีสาน ไทยใต้และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพอย่างนี้จะเกิดขึ้นในแผนที่ประเทศไทยหรือไม่

เอกชัย –ก็เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้วที่ขบวนการบีอาร์เอ็นลงนามในการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องเลือกรัฐบาลนี้ ที่สำคัญถ้าไม่มีระบอบประชาธิปไตยท่านก็ไม่มีสิทธิเลือก

อับดุลเลาะ – ถ้าผมถามว่า ขณะนี้มีระบอบไหนหรือระบบไหนที่ดีที่สุดในการปกครองประเทศชาติ คนอาจจะบอกว่าคอมมิวนิสต์ จากคอมมิวนิสต์ได้เปลี่ยนไปเป็นระบอบที่เป็นกระแสโลก

ถ้าเรามองในอิสลามเอง ถึงแม้ว่าในโลกมุสลิมจะไม่ใช้ระบบของอิสลาม 100% แต่เราก็เห็นทิศทางของกระแสหลักที่เข้าไปในสังคมมุสลิม โลกมุสลิมเยอะมาก ถ้าเราบอกว่ากระแสหลักนี้คือระบอบประชาธิปไตย นั่นก็เท่ากับว่า เรายอมรับว่าทุกวันนี้ระบอบประชาธิปไตยดีที่สุด อย่างน้อยก็สามารถให้คำตอบกับอะไรต่อมิอะไรดีที่สุด เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยก็ไม่ต้องไปอธิบาย

อีกเรื่องที่จะบอกคือ สังคมมุสลิมจะเก็บอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเราไม่ค่อยจะเข้าใจ คือ สังคมมุสลิมเวลามีปัญหาอะไรขึ้นมา เขาก็จะบอกว่า แล้วอิสลามว่าอย่างไร อิสลามมีคำตอบไหมกับสิ่งที่คุณพูดอยู่ แล้วสิ่งที่คุณหลงใหลอยู่กับประชาธิปไตยนั้นมันเป็นคำตอบของอิสลามหรือเปล่า เพราะอิสลามเป็นระบอบ อิสลามเป็นวิถี นี่เป็นการมองจากมุมสูง

แต่ถ้าเรามองมาจากมุมล่าง คำถามเดียวกันก็เกิดขึ้น นั่นคือ เราอยู่ในสังคมที่มีวิถีอิสลามหรือไม่ เมื่อไม่มีวิถีอิสลาม อีกคำถามหนึ่งคือ แล้วเราอยู่ในวิถีอะไร

ชัดเจนว่าประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยที่เรากล่าวอ้าง ก็ยังมีคำถามจากประชาชนและปัญญาชนที่นี่เหมือนกันว่า ถ้าประชาธิปไตยไม่เกิดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ อย่างน้อยที่สุดในกระบวนการเลือกตั้ง แสดงว่าประเทศไทยมีสองคำที่คนที่นี้ใช้ คือ democracy กับ kuku besi (กูกู บือซี) ถ้าไม่เกิด democracy ก็เกิด kuku besi ก็คือการใช้กรงเล็บไปรุมยำประเทศ

คนที่นี่ก็พูด คือ เรื่องของ kuku besi เป็นเรื่องของเผด็จการ เป็นเรื่องของการยึดอำนาจ เป็นการก่อรัฐประหาร เป็นคำปกติของคนที่นี่พูดกัน กูกู คือ เล็บ บือซี คือ เหล็ก

ปัญหาทางภาคใต้ เมื่อคนมุสลิมในภาคใต้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย คำถามของคนที่นี่ก็คือว่า democracy ที่เรามีอยู่ตอนนี้สามารถที่จะโอบกอดวิถีทุกวิถีได้ไหม หรือถ้าระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยหรือถ้าเราพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในอนาคต สามารถอุ้มกอดวิถีอิสลามได้ด้วยโดยยอมรับในประวัติศาสตร์ ยอมรับวัฒนธรรม ยอมรับชาติพันธ์ วิถีอันนี้ก็สามารถที่จะอยู่ได้ การแก้ปัญหาภาคใต้ก็จะแก้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็แก้ประชาธิปไตยให้สามารถโอบกอดทุกวิถีในประเทศไทยให้ได้

ศรีสมภพ – ในเมื่อเรามองว่าประชาธิปไตยทำให้เกิดความยุติธรรมและสันติภาพ ผมเชื่อว่า ถ้าเราเดินด้วยความตั้งใจจะให้เกิดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ โดยหลักแล้วประชาธิปไตยมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนหาทางออกร่วมกันให้ได้

ภายใต้เส้นทางประชาธิปไตย มันต้องตกลงกัน ต้องยอมรับกันแต่ละฝ่ายเพื่อหลังการเลือกตั้งมาร่วมกันปฏิรูปหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อจะแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ให้ได้ เส้นทางนี้ดีที่สุดแล้ว เพราะอะไร เพราะเส้นทางนี้ คนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศก็จะไม่ยอม คือคนมีสิทธิเลือกตั้ง 48 ล้านคนต้องการให้มีการเลือกตั้ง คือคนส่วนใหญ่

อาจจะมีคนอีกส่วนหนึ่งที่บอกว่า ยังไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง แต่ให้ปฏิรูปก่อน แต่คนส่วนมากจะไม่ยอม เพราะถือว่าเขามีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องประชาธิปไตย แต่ต้องการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากนั้นยังต้องการให้ทั้งสองฝ่ายมาคุยกันแต่หลังจากเลือกตั้งไปแล้ว นั่งคุยกัน มีกลไก มีระบบที่จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน ปฏิรูปด้วยกันในตอนนั้น คือต้องยอมรับกระบวนการประชาธิปไตยก่อน และต้องยอมรับสิทธิซึ่งกันและกันก่อน ถึงจะเกิดกระบวนการสันติภาพในประชาธิปไตย

ซากีย์ – มีข่าวจะเกิดรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา แต่อยากให้ย้อนไปดูตัวเลขการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ตอนนี้มีประมาณ 2 ล้านกว่าคน น่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกให้เห็นถึงเค้าลางอะไรบางอย่าง ถ้าหากท่านคิดจะทำอะไรที่ไม่เอากติกา

เพราะผมเข้าไปอยู่ในม็อบ จึงรู้ว่าความไม่ไว้วางใจของชนชั้นกลางที่มีต่อนักการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ขอเถอะว่าถ้าท่านต้องการปฏิรูปแล้ว อย่าทำลายหลักการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net