ประมวลภาพ: จุดเทียนเขียนสันติภาพ เดินหน้าเลือกตั้ง ต้านรัฐประหารในที่ต่างๆ(15 ม.ค.)

15 ม.ค.2557 ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรม "จุดเทียนเขียนสันติภาพ" เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ต่อต้านการรัฐประหารและสนับสนุนให้เคารพเสียงของคนทั้งประเทศเดินหน้าเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้ โดยในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางผุดไอเดียใหม่จัดกิจกรรม “จุดเทียนย้อนแสง แยงอำนาจอันไม่เป็นธรรม” ด้วย โดยประชาไทได้รวบรวมภาพกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ที่จัดกิจกรรมเมื่อเย็นจนถึงค่ำวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมาบางส่วนดังนี้

 

"จุดเทียนย้อนแสง" แย้งอำนาจอันไม่เป็นธรรม ในรั้วราชภัฏลำปาง

ภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรมล้อมรอบต้นโพธิ์ บริเวณคณะมนุษษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ภาพโดย ผดุงเกียรติ กันทะสัก
 
ช่วงเย็น ที่ลำปางมีการจัดกิจกรรมที่ชื่อ "จุดเทียนย้อนแสง" เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งและต่อต้านรัฐประหาร โดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษา เล็งว่าจะมีการจัดนับถอยหลังการเลือกตั้งทุกสัปดาห์นับจากนี้ โดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาอิสระเปิดเผยตัวว่า กิจกรรม "จุดเทียนย้อนแสง" เป็นการดำเนินการในฐานะส่วนตัว และเคลื่อนไหวในนามประชาชนกลุ่มหนึ่ง มีแนวความคิดที่ว่า ต้องการจะสื่อสารกับสังคมให้ทราบถึงความตระหนักในความสำคัญของประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง และการต่อต้านรัฐประหาร ความเคลื่อนไหวนี้ตอกย้ำว่า การจุดเทียนนั้นเป็นสัญลักษณ์ร่วมกับความเคลื่อนไหวจุดเทียนทั่วประเทศ เพียงแต่ว่ากิจกรรมนี้นิยามคำว่าเทียนและให้น้ำหนักแตกต่างกันไป นั่นคือ มองว่าการจุดเทียนในสถานการณ์ปกตินั้น เราจุดในความมืด แต่เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ เราจึงต้องการจุดเทียนในความสว่างเพื่อท้าทายความสว่างที่มีนัยถึงอำนาจอันไม่เป็นธรรมที่กำลังเข้ามาคุกคาม การจุดเทียนกลางวันจึงเป็นการจุดเทียนย้อนแสง เป็นการแย้งอำนาจอันไม่เป็นธรรมดังกล่าวในตัว อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญของการเคลื่อนไหวนี่มุ่งเน้นไปที่การมุ่งสู่การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภา โดยเห็นว่า ศัตรูที่แท้จริงนั้นหาใช่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด แต่มันคือ รัฐประหาร และโครงสร้างการเมืองอันบิดเบี้ยวต่างหาก 
 
โดยเวลา 16.30 น. คนค่อยๆทยอยมาสมทบร่วมกิจกรรมได้แก่ “เขียนโปสการ์ดถึงนายกรัฐมนตรีในอนาคต” เพื่อแสดงให้เห็นถึงว่า ความเคลื่อนไหวนี้มองเลยไปถึงการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งมากกว่าจะมาถกเถียงกันว่า ควรจะเลือกตั้งหรือไม่แล้ว กิจกรรมนี้มีคนเข้าร่วมประมาณ 70 คนประกอบด้วยอาจารย์และนักศึกษา ต่อจากนั้นก็เป็นการเริ่มจุดเทียนแล้วทยอยเดินล้อมต้นโพธิ์ จากนั้นก็เริ่มจุดเทียนแสดงสัญลักษณ์ต่อสู้กับอำนาจไม่เป็นธรรมนั่นก็คือ แสงอาทิตย์ในทิศตันตก ระหว่างนั้นก็เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้พูดถึงความรู้สึกและความคิดเห็น และจบกิจกรรมด้วยการนับถอยหลังอีก 18 วันจะก้าวไปสู่การเลือกตั้ง 
อนึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้ตั้งต้นให้เกิดการต่อยอดในครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมีการจัดกิจกรรมต่อยอดในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมอื่นๆเสริมและเพิ่มเติมอีก เช่น ล้อมวงกินข้าวเย็น, ปิกนิก พูดคุยแลกเปลี่ยนรอเลือกตั้ง โดยมุ่งเน้นการสื่อสารพูดคุยกันมากขึ้นกว่าเดิม 
 
อารีฟีน อับดุลอารี นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมคนหนึ่ง ให้ความเห็นต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงและรัฐประหารว่า “ผมว่าการเลือกตั้งนี่แหละ คือสิ่งพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่รัฐประหารไม่ใช่เลย” ขณะที่ผดุงเกียรติ กันทะสัก นักศึกษาอีกคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมคิดว่าการเลือกตั้งน่าจะเป็นทางออกที่ดีของประชาชน ในหลายๆด้าน แสดงความเป็นเสรีชนที่มีสิทธิ์ที่จะเลือกที่จะปฎิบัติ สำหรับการจัดงานผมว่า การจัดงานจุดเทียน มันไม่ได้หมายถึงคนที่สนับสนุนรัฐบาลมันหมายถึงควาต้องการของคนที่ต้องการประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นใครก็ร่วมการรณรงค์ได้แม้กระทั้งม็อบ กปปส. คุณจะถือนกหวีดมาเป่ามาร่วมงานจุดเทียนก็ได้ ถ้าต้องการความเป็นประชาธิปไตย มันเป็นกิจกรรมที่บางทีอาจจะปรับความเข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตยในกิจกรรมนั้นแฝงอยู่” 
 
กิจกรรม “เขียนโปสการ์ดถึงนายกรัฐมนตรีในอนาคต” ภาพโดย Silhouette Democrazy
 
โปสการ์ดถึงนายกรัฐมนตีในอนาคต ภาพโดย ผดุงเกียรติ กันทะสัก
 
 
กิจกรรม “เขียนโปสการ์ดถึงนายกรัฐมนตรีในอนาคต” ปรากฏเนื้อความที่น่าสนใจดังนี้ 

“เอารถไฟความเร็วสูง เพื่อความเท่าเทียมในการเดินทาง”

“ขอ สติ จงเป็นเครื่องกำกับการตัดสินใจทุกครั้ง เมื่อท่านต้องตัดสินใจ ขอให้ อุดมการณ์ เป็นไฟส่องทางทุกทางเมื่อท่านต้องเลือกสักทาง ขอ คุณธรรม เป็นเครื่องหนุในเมื่อท่านขาดพลังใจ และเหนืออื่นใดขอให้ท่านนำสันติสุขกลับมาให้บ้านของเรา บ้านที่ชื่อว่า ประเทศไทย

“ควรมีการปกครองที่เท่าเทียมกัน ควรลดภาษีมูลค่าเพิ่ม และตั้งนโยบายไว้ก็ควรจะทำให้ได้”, “ควรพัฒนาให้ประชาชนรากหญ้า ให้อยู่ดีมีเงินทองมากกว่านี้ พัฒนาเศรษฐกิจให้พืชผลทางการเกษตรมีราคาดีมากกว่านี้”, “สร้างประเทศไทยให้ก้าวหน้า รับใช้ประชาชนให้ทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่ในชาติพันธุ์ไหน”

“สัญญากันไว้ยังจำได้ไหมนายกคนดี? อยากให้ท่านนายกเห็นความสำคัญของเสียงข้างน้อย ส่วนหนึ่งของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน”

“ฝากถึงนายกในอนาคต ขอให้ยึดเอาความสุจริต ซื่อตรงในการครองประเทศในอำนาจในทางที่ถูกต้องและคำนึงความทุกข์ของประชาชนทุกภาคส่วน”

“คุณคือตัวแทนของประชาชน ประเทศไทยคือที่อยู่ของคนไทย อยากให้ดูแลคนไทย แผ่นดินไทย ไม่ใช่เอากำไรเข้าแต่ตัวเอง”

“นายกที่เราอยากได้ คือ ต้องเป็นคนที่ทำเพื่อชาติเพื่อประชาชนโดยแท้จริงต้องจัดการบริหารประเทศให้ทั่วถึงทั้งในเมืองและในชนบทอาทิ ต่างจังหวัด เพราะบางจังหวัด ความช่วยเหลือของรัฐน้อยมาก และอยากให้ดูแลชาวนา เพราะชาวนาก็เหมือนรากฐานของแผ่นดิน”

“ขอให้นายกรัฐมนตรีทำงานโดยยึดกฎกติกาและจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตย โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ และเคารพในความเป็นมนุษย์ของทุกคน”

 
ภาพโดย Silhouette Democrazy
 
 

มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

กลุ่มรักษ์ประชาธิปไตยขาวทองประกอบด้วยคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย ร่วมกันจุดเทียนเขียนสันติภาพ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง เคารพผู้อื่น และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามกฏหมาย

มหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์ จ.นครปฐม 

 

 

 

นักศึกษากลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันร้องเพลง Imagine ในกิจกรรมจุดเทียนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 2 เพื่อตอกย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วย กับการสร้างชนวนเหตุที่นำไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ และไม่ยอมรับอำนาจนอกระบบ โดยเฉพาะการรัฐประหาร กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม 

แถลงการณ์กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย (ศสป.) ฉบับที่ 1

เรื่อง แนะนำกลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย (ศสป.) แสดงจุดยืนรักษาประชาธิปไตยและต่อต้านความรุนแรง

อ่านที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

 

ถึง         ผู้เข้าร่วมกิจกรรม  ผู้ติดตามรายงานข่าว  ประชาชน และสื่อมวลชนทุกท่าน

            กลุ่มของเรามีชื่อว่า “กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย” ชื่อย่อว่า ศสป. เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของนักศึกษาคณาจารย์ และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยศิลปากรผู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสนใจระดมความคิดและความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังโหมกระหน่ำในปัจจุบัน กลุ่ม ศสป. ขยายผลมาจากกลุ่มที่ริเริ่มจัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อสันติภาพ ที่สะพานสระแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ด้วยตระหนักว่า การเปิดพื้นที่ให้กับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและการสร้างความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองนั้น เป็นพันธกิจอันสำคัญยิ่งของสถาบันการศึกษา ซึ่งต้องมีบทบาทช่วยส่องแสงแห่งสรรพวิชาให้สว่างจ้า เพื่อนำพาสังคมให้พ้นจากความมืดมิดแห่งความเข้าใจผิด อคติ และความรุนแรงทั้งปวง และด้วยตระหนักว่า เหตุการณ์ทางการเมืองย่อมส่งผลต่อประชาชนพลเมืองทุกคนทั่วถึงกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ทรัพย์สิน สังคม และหลักการประชาธิปไตยของประเทศ

ด้วยประจักษ์แจ้งในเหตุเหล่านี้ ด้วยความห่วงใยต่อสังคมไทย และด้วยความตระหนักรู้ในเหตุและผล และความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม กลุ่ม ศสป. เล็งเห็นว่า สถาบันการศึกษาควรแสดงบทบาททางปัญญาเพื่อหาทางออกให้สังคมมากกว่าร่วมเป็นภาคีความขัดแย้งบาดหมางเสียเอง จึงได้รวมตัวกันอย่างอิสระ เปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นต่าง ๆ ได้ถกเถียงหารือถึงแนวทางการเรียกร้อง เพื่อยับยั้งความรุนแรงและรักษาหลักการการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ การหารือและการจัดกิจกรรมของกลุ่ม ศสป. จะเป็นไปอย่างเสมอภาค โดยสมาชิกทุกคนเสมอภาคกัน ไม่มีบุคคลใดเป็นแกนนำ

ด้วยจุดยืนในการรักษาหลักการประชาธิปไตยและต่อต้านความรุนแรง กลุ่ม ศสป. จึงขอจุดเทียนเพื่อเปล่งแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด แสงเทียนจะเป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญาญาณที่จะช่วยให้สังคมรอดพ้นจากความสูญเสีย ณ หุบเหวไร้ก้น  เป็นแสงแห่งความหวังที่จะจุดต่อ ๆ กันไปนับร้อยเล่ม พันเล่ม หมื่นเล่ม ทั่วประเทศ เพื่อบอกว่าเราทั้งหลายมีความหวังในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นระบอบที่รับประกันความหวังของเราว่า อำนาจการปกครองรัฐที่แท้จริงมาจากประชาชนพลเมืองทั้งหลายอย่างเท่าเทียม มิใช่จากระบอบอื่นใดที่ทำลายสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันในการปกครองตนเองของพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

และด้วยแสงเทียนเล็ก ๆ ในมือนี้ กลุ่ม ศสป. ขอเปล่งเสียงประกาศเจตนารมณ์ 5 ข้อ ดังนี้

1. ศสป. ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งการใช้ภาษา สัญลักษณ์ การใช้กำลังสรรพาวุธเข้าทำร้ายกัน ตลอดจนการละเมิดกฎหมายและการบั่นทอนทำลายหลักการประชาธิปไตย  

2. ศสป. สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.57 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิทุกคนได้แสดงออกทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม เท่าเทียม สันติ และเป็นไปตามกติกาสากล

3. ศสป. ต่อต้านรัฐประหาร ตลอดจนการแทรกแซงกดดันต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย

4. ศสป. สนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง อันเป็นหนึ่งในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่ต้องได้รับการปกป้องอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน เพื่อความก้าวหน้าของวัฒนธรรมประชาธิปไตย ทั้งนี้การแสดงออกใด ๆ ต้องไม่ขัดกับเจตนารมณ์ในข้อ ๑. และ

5. ศสป. ยึดมั่นในความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน จะต้องไม่มีการแบ่งแยก ลดทอน และเพิ่มพูนสิทธิเสรีภาพของใครคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ให้ต่ำกว่า หรือเหนือกว่าคนอื่น หรือกลุ่มอื่น

ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองอันน่าหวาดหวั่น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องไม่เพิกเฉยต่อวิกฤตการณ์เหล่านั้น ทั้งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิดขึ้น และอาจเกิดขึ้น  เราต้องไม่ลืมเศษซากที่หลงเหลือจากความรุนแรงแต่ละครั้ง เราต้องไม่ติดกับดักแห่งความผิดพลาดร้ายกาจอีก เราต้องก้าวต่อไปอย่างสุขุม ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม มีความอดทนอดกลั้น และไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อมิตรภาพ ภราดรภาพ และสันติภาพของทุกชีวิตในสังคม

 

ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและความปรารถนาดีแก่สังคมไทยในห้วงวิกฤติ

กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย

15 ม.ค. 57

แบริ่ง กทม.

ชุมชนแบริ่งรวมตัวกันจุดเทียน สนับสนุนการเลือกตั้ง และยุติการชุมนุมอันเป็นเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง ซ.สุขุมวิท107(แบริ่ง) ภาพโดย Sim Hyatt

หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง ถนนกรุงเทพกรีฑา

ซังฮี้ กทม.

ภาพโดย Fragile Pm พร้อมกล่าวด้วยว่า "วันนี้ผมได้มาร่วมกิจกรรมที่สี่แยกซังฮี้ ซึ่งมีประชาชนในชุมชนสวนอ้อยชุมชนใกล้เคียงมาร่วมแสดงออกจุดยืนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนร่วมกันตะโกนว่า 2 กุมภา เราจะไปเลือก และตะโกนว่า เราจะไปเลือก ไม่เอาเทือก วันนี้จัดเป็นวันที่สามแล้ว และจะมีทุกวันเพื่อให้มีการเลือกตั้ง พรุ่งนี้ใครอยู่ใกล้ไปร่วมกันได้ที่สี่แยกซังฮี้ครับ"

ซอยจรัล 57/2 กทม.

ภาพโดยคำเกิ้ง แห่งทุ่งหมาหลง และคำเกิ้งระบุด้วยว่า เวลา 19.00น ประชาชนในซอยจรัล 57/2 ได้พากันจุดเทียนที่บริเวณปากซอย และจุดเทียนเดินไปปักเทียนที่หน้าบ้านศิลปอาชา ในขณะที่เดินผ่านซอยต่างๆ ได้ตระโกนคำว่า 2 กุมภา ไปเลือกตั้งๆๆ ตลอดเส้นทาง หลังจากปักเทียนแล้วก็ได้ผลัดกันอ่านบทกวี ก่อนแยกย้ายกันกลับ 

สี่แยกมีนบุรี กทม.

ภาพจาก Sulawan

ตะกั่วป่า พังงา

ภาพจากเพจ พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง 

 

มหาสารคาม

 


เรื่องและภาพโดย จตุรงค์ ดำดี

ณ บริเวณลานกิจกรรมตลาดน้อย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มนิสิต มมส. ปกป้องประชาธิปไตย จัดกิจกรรมรวมพลคนรักประชาธิปไตย ตอน ต้านรัฐประหาร ยุติความรุนแรง เดินหน้าเลือกตั้ง ซึ่งการจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะไม่อยากให้คนไทยต้องมาฆ่ากันอีกเหมือนอย่างเช่นในอดีต รวมถึงต้านการทำรัฐประหารซึ่งมิใช่วิถีทางของการปกครองระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ. เพื่อเป็นการเคารพเสียงของคนทั้งประเทศ

กิจกรรมในงานมีการแจกสติ๊กเกอร์รณรงค์การเลือกตั้ง มีการเขียนข้อความเพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมือง แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันลงบนผ้าขาว และพับนกสันติภาพผูกไว้รวมกับผ้าที่มีการเขียนข้อความเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้ยุติความรุนแรง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท