Skip to main content
sharethis
16 ม.ค.2557 การชุมนุม ‘ชัตดาวน์กรุงเทพ’ ปิดแยกสำคัญ 7 จุดต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าโรงพยาบาล 12 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลราชวิถี 2.โรงพยาบาลรามาธิบดี 3.โรงพยาบาลพระมงกุฎ 4.โรงพยาบาลพญาไท 1 5.โรงพยาบาลพญาไท 2 6.โรงพยาบาลเด็ก 7.สถาบันประสาทวิทยา 8.โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน 9.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ 10.โรงพยาบาลสายตากรุงเทพ 11.โรงพยาบาลตำรวจ และ 12.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อยู่ในพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบ
 
 
โดยเฉพาะในจุดชุมนุมอย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลหลายแห่ง การปิดเส้นทางการจราจรอาจส่งผลกระทบทำให้การส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิซึ่งรับผู้ป่วยที่ส่งต่อจากเขตปริมณฑล ขึ้นตรงกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเป็นไปด้วยความยากลำบาก
 
 
นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้าทีมแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ให้สัมภาษณ์ว่า วันแรกของการชุมนุมมีคนจำนวนมากจึงมีปัญหาเป็นปกติ ต้องมีการปรับรูปแบบวิธีการและพยายามประสานงานกับกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนหนึ่งการทำงานต้องวางแผนไว้หลายอย่าง ตั้งแต่เตรียมรับมือ มีการลงดูพื้นที่การชุมนุมและประเมินเป็นระยะ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการรับมือกับการชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง ต้องประสานกับทุกฝั่ง
 
“เราถือว่าเราทำงานในฝั่งทีมแพทย์ ยืนบนมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน คนรู้จักว่าเราทำอะไร ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี”
 
นพ.ไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ล่าสุดจากที่ต้องเตรียมรถจอดไว้ทั้งทางออกด้านหน้าและด้านหลังเพื่อเตรียมพร้อมหากเส้นทางไหนเดินทางได้ก่อน ตอนนี้รถสามารถวิ่งออกไปรับผู้ป่วยผ่านทางด้านหน้าโรงพยาบาลได้แล้ว การทำงานถือว่าเกือบเป็นปกติ แต่จะบอกว่าเป็นปกติคงไม่ได้
 
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนายการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และกรรมการชมรมแพทย์ชนบทซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมพร้อมชูคำขวัญ ‘ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง’ แม้จะออกตัวว่ามาติดตามเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องการแพทย์ ได้ให้ความเห็นต่อมาตรการดูแลการชุมนุมใกล้โรงพยาบาลว่า ไม่แน่ใจว่ามาตรฐานทางวิชาการมีหรือไม่ แต่ในความเห็นส่วนตัวเนื่องจากโรงพยาบาลตั้งอยู่ในจุดสำคัญๆ ของประเทศ ที่ชัดเจนคืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลตำรวจนั้นก็คงได้รับผลกระทบ หากตนเองเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็คงต้องปรับตัวเองให้รองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลผู้ป่วย
 
นพ.สุภัทร กล่าวด้วยว่า ในกรุงเทพฯ โรงพยาบาลมีจำนวนมาก ดังนั้น ปัญหาเรื่องคนไข้ฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ยกตัวอย่างหากไม่ไปโรงพยาบาลราชวิถีก็สามารถไปโรงพยาบาลรามาได้ ซึ่งทั้ง 2 โรงพยาบาลห่างกันไม่มาก ตรงนี้แตกต่างกับในตัวจังหวัดห่างไกลที่มีโรงพยาบาลเดียว ปัญหาคือเรื่องเส้นทางมากกว่าซึ่งต้องตรวจสอบเส้นทางในการเดินทาง
 
ส่วนผู้ป่วยที่แพทย์นัดไว้ตรงนี้คงมีปัญหาในระดับหนึ่งในการมารับปริการตามนัด ต้องปรับตัวทุกฝ่าย ส่วนตัวคิดว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เองก็มีการปรับตัว เช่น ไปซื้อยาเดิมจากร้านขายยาไปก่อน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ผู้ป่วยจะรู้เพราะเขากินยาตัวนี้มายาวนาน อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่สิทธิของผู้ป่วยก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
 
สำหรับการหามาตรฐานร่วมกันหรือการพูดคุยกันสำหรับการชุมนุมใกล้โรงพยาบาล นพ.สุภัทรกล่าวว่า มันคือความฝันไม่ใช่ความจริง เมืองไทยทำไม่ได้ ซึ่งก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของการชุมนุมขนาดใหญ่ว่ามันไม่มีใครสามารถจัดการทุกอย่างได้ ไม่มีใครสั่งการอะไรใครได้เต็มร้อย ยกตัวอย่างกรณีการ์ดตามจุดต่างๆ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เป็น Self-organization คือจัดการเอง มันไม่ใช่ว่ามีคำสั่งแบบทางการทหาร ทำให้การจัดการยาก
 
“บทเรียนหนึ่งในสถานที่ชุมนุมที่ตนเองเข้าไปสัมผัสหลายครั้ง คือถ้าเป็นการขนส่งผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลจะได้รับการอำนวยความสะดวกมาก เราได้พิสูจน์ว่ารถพยาบาลที่อยู่กลางที่ชุมนุมสามารถแหวกออกได้ เป็นทฤษฎีในการจัดการแพทย์ฉุกเฉิน”
 
นพ.สุภัทร อธิบายเพิ่มเติมว่า ความจริงทางการแพทย์ฉุกเฉิน รถพยาบาลต้องอยู่ชายขอบ เพราะหากว่าอยู่กลางที่ชุมนุมจะไม่สามารถเข้าออกหรือเดินทางได้ แต่ในการชุมนุมครั้งนี้หากผู้ชุมนุมป่วย ได้รับผลกระทบ หรือเป็นลม รถพยาบาลสามารถแหวกกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อมารับได้
 
หากมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต้องติดต่อ 1669 ให้ศูนย์นเรนทร หรือศูนย์เอราวัณไปรับ ซึ่งรถจะมีการติดไซเรนและสามารถขอเปิดทางเข้าสู่พื้นที่โรงพยาบาลได้โดยสะดวก แต่หากใช้รถแท็กซี่หรือเดินทางมาเองอาจลำบากมาก เพราะไม่มีระบบการสื่อสารให้เปิดทางในแต่ละจุด แต่ละด่านได้
 
นพ.สุภัทร แสดงความเห็นต่อมาว่า หากมีการชุมนุมยืดเยื้อ 3-6 เดือน คาดว่าโรงพยาบาลก็จะสามารถจัดการได้ เพราะโรงพยาบาลจะมีเบอร์โทรศัพท์ผู้ป่วยทุกคน เพราะตอนนี้เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า รวมทั้งมีการจัดเก็บฐานข้อมูลออนไลน์ โรงพยาบาลสามารถนัดผู้ป่วยเพื่อรับยาในพื้นที่ที่อยู่นอกการชุมนุมได้ มีการจัดการที่ทำได้ถ้าจะทำ แต่นั่นก็ต้องมีการประเมินแล้วว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อไม่ยุติลงโดยง่าย
 
ส่วนกรณีก่อนหน้านี้เมื่อปี 2552 ชมรมแพทย์ชนบทได้ออกมาแสดงความห่วงใยต่อการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสรภูมิว่า... การยึดอนุสาวรีย์ชัยฯ-ปิดการจราจร ส่งผลกระทบผู้ป่วยไปโรงพยาบาล การเดินทางรักษายากลำบาก หยุดชะงัก ทั้งๆ ที่การเจ็บป่วยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชี้ละเมิดสิทธิผู้อื่น พร้อมถามถ้าคนเจ็บท้องใกล้คลอดจะทำอย่างไร (คลิกอ่านที่นี่) ซึ่งต่างจากท่าทีต่อการชุมนุมครั้งนี้  
 
“หลักการเราก็มีกันทุกคน แต่ว่าในส่วนการให้ความเห็นต่อสังคม ไม่อยากให้ชุมนุม ผมเห็นว่าเป็นกลุ่มแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่แพทย์แบบเพียวๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์ที่มีจิตใจฝักใฝ่ไปทางเอียงข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งนั่นไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่”  นพ.สุภัทร ให้ความเห็น
 
นพ.สุภัทร กล่าวด้วยว่า สำหรับการรักษาพยาบาลนั้น แพทย์ไม่ได้สนใจว่าคุณจะเป็นใคร รับดูแลหมด ขอแค่ให้เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ก็จะตั้งรับอยู่ในโรงพยาบาล
 
“จรรยาบรรณทางวิชาชีพของแพทย์ส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ สามารถเชื่อมั่นได้ ซึ่งไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ก็คงไม่แปลก ไม่มีการรักษาต่ำกว่ามาตรฐานแม้ว่าจะเป็นคนละสีเสื้อ” นพ.สุภัทรกล่าว
 
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวด้วยว่า การทำงานเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องทำงานร่วมกับพยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ รวมทั้งแพทย์คนอื่นๆ ต่อคนไข้หนึ่งคนต้องทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นจะดูออกหากคนใดคนหนึ่งรักษาต่ำกว่ามาตรฐาน หรือไม่รักษาให้ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งโดยประสบการณ์ส่วนตัวคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องนี้
 
แต่เรื่องการพูดจาที่อาจถากถาง อันนี้เป็นอีกประเด็น ซึ่งจะต้องแยกระหว่างมาตรฐานการรักษาพยาบาลกับมาตรฐานการให้บริการ ประเด็นน่าจะอยู่ที่มาตรฐานการให้บริการ จิตใจในการให้บริการ การพูดจา ซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล โดยหลักการไม่ใช่สิ่งที่ดี เราควรดูแลทุกคน ไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกรุงเทพฯ กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีคำถามว่าเราจะดูแลคนต่างความคิดอย่างไร เราก็ดูแลไปตามมาตรฐาน
 
ด้านข้อเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์การชุมนุมขณะนี้ นพ.สุภัทรกล่าวว่า โรงพยาบาลต้องปรับตัวและต้องปรับระบบบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยให้ได้ เช่นเดียวกับช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่มีการปรับระบบให้บริการกันอย่างมากมาย เช่น ปิดให้บริการ เปิดให้บริการยังจุดอื่น จัดตั้งหน่วยออกไปตรวจเยี่ยม ฯลฯ
 
ส่วนผู้ชุมนุมก็คงชุมนุมในแบบฉบับของเขา คงไม่สามารถทำอะไรได้มาก การเรียกร้องจากผู้ชุมนุมอาจทำได้แต่ไม่เป็นความจริง และอาจสร้างความระหองระแหง ซึ่งไม่มีประโยชน์
 
นพ.สุภัทร ยกตัวอย่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงกับโรงพยาบาลจุฬา ซึ่งยากต่อการเรียกร้องกับผู้ชุมนุม โรงพยาบาลจุฬาเองก็มีการปรับตัวโดยการย้ายผู้ป่วย เพียงแต่มีการออกข่าวที่ทำให้เกิดภาพลบต่อคนเสื้อแดง ทั้งนี้การย้ายผู้ป่วยเป็นการปรับตัวที่เกิดจากการประเมินแล้วว่าอาจเกิดความรุนแรง การส่งต่อผู้ป่วยทำได้ยากเพราะอยู่ใจกลางพื้นที่ชุมนุม แต่กรณีราชวิถีไม่น่ามีปัญหาเพราะมีทางเข้าออกหลายทาง และคงต้องดูสถานการณ์ต่อไป
 
ภาพบริเวณสถาบันโรคหัวใจซึ่งมีการชุมนุม ‘ชัตดาวน์กรุงเทพ’ เมื่อคืนวันที่ 13 ม.ค.2557
 
อย่างไรก็ตาม การตั้งเวทีชุมนุมใกล้โรงพยาบาลก็ยังถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิทธิผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อผู้ชุมนุมได้ยึดพื้นที่ถนนหน้าโรงพยาบาลราชวิถีตั้งเวทีปราศรัย
 
ทั้งนี้ ผู้ร่วมสังเกตุการณ์การชุมนุมรายงานข้อมูลว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ทำให้ทางเข้าออกของรถรับส่งผู้ป่วยของโรงพยาบาลราชวิถีถูกปิดตาย และมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเข้าไปใช้พื้นที่โรงพยาบาล ห้องน้ำถูกใช้อย่างไม่รักษาความสะอาดทำให้สุ่มเสี่ยงต่อเชื้อโรคที่จะกระทบผู้ป่วย ขณะที่จุดรอหมอตรวจ ห้องฉุกเฉิน กลายเป็นพื้นที่ชุมนุม เกิดความห่วงใยอยากให้มีการแก้ไข จึงได้ให้ข้อมูลสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนข้อเสนอไปยังศูนย์ประสานงานการชุมนุมของ กปปส.
 
ภาพในเขตโรงพยาบาลราชวิถี ระหว่างการชุมนุม ‘ชัตดาวน์กรุงเทพ’ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อคืนวันที่ 13 ม.ค.2557
 
ข้อเสนอ 3 ข้อ ที่ถูกสื่อสารไปยัง กปปส.ในการตั้งที่ชุมนุมใกล้โรงพยาบาลราชวิถี คือ
 
1.จัดรถรับส่งผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องมาพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อรับยาและตรวจโรค อาจตั้ง 3 จุดคือ 1.แยกตึกชัย 2.ปากซอยโยธี 3.แยกศรีอยุธยา แล้วประชาสัมพันธ์ให้คนไข้ทราบด้วยสื่อต่างๆ กปปส.จะได้รับการชื่นชมอย่างแน่นอน
 
2.จัดคนให้ไปช่วยทำความสะอาดและดูแลความสะอาดภายในโรงพยาบาล ทั้งนี้ด้วยโรงพยาบาลเป็นเขตปลอดเชื้อ เมื่อมีคนเข้าไปใช้มาก การดูแลความสะอาดจึงเป็นไปได้ยาก หากมวลมหาประชาชนช่วยกันดูแลเรื่องนี้คงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมาก
 
3.กรุณาจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้ชุมนุมในการอยู่อาศัยภายในโรงพยาบาลเพื่อการไม่ละเมิดสิทธิของผู้ป่วยคนอื่นๆ เช่นขอใช้พื้นที่ที่จอดรถด้านข้าง สวนหย่อมกลางโรงพยาบาล ทางเดินที่ไม่ต้องใช้เคลื่อนย้ายคนไข้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลไม่ใช่ศูนย์ราชการต่างๆ การใช้พื้นที่โดยอิสระเสรีจึงอาจสร้างความเสี่ยงต่อชีวิตของคนไข้ได้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประสานงานทำให้สถานการณ์ภายในโรงพยาบาล ในช่วงเย็นวันที่ 14 ม.ค.เป็นไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากศูนย์ประสานงานการชุมนุมรับดำเนินการให้ โดยไม่มีผู้ชุมนุมในบริเวณตัวอาคารโรงพยาบาล และให้มีแผงเหล็กกั้นพื้นที่ เพื่อให้รถพยาบาลเข้าออกได้ ส่วนห้องน้ำก็มีคนมาทำความสะอาด
 
ส่วนโลกออนไลน์ มีการเผยแพร่รูปภาพและตั้งคำถามต่อการใช้พื้นที่โรงพยาบาลที่ใกล้กับการชุมนุม อาทิ เว็บพันทิปมีการตั้งกระทู้เกี่ยวกับภาพใต้ถุนตึกอาคารนักศึกษาแพทย์หญิง ภายในโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งมีผู้ชุมนุมเข้ามาใช้พื้นที่ (คลิกอ่านที่นี่)
 
 
และ ในทวิตเตอร์มีการเผยแพร่ภาพที่ระบุว่าเป็นการตั้งวงดื่มเหล้าของผู้ชุมนุมในโรงพยาบาลราชวิถี
 
 
 
บทสรุป คงต้องติดตามกันต่อไปว่าการแก้ไขปัญหาการชุมนุมใกล้โรงพยาบาลจะสำเร็จลุล่วงอย่างไร
 
สำหรับความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รายการเจาะประเด็น ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 นำเสนอเรื่อง “ม็อบชัตดาวน์ เปิดทางโรงพยาบาล” (คลิกดูที่นี่) โดยทีมข่าวได้พูดคุยกับญาติผู้ป่วยที่มาใช้บริการโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลเด็ก หรือ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งพูดตรงกันว่าต้องเสียเวลาเดินทางมาโรงพยาบาลมากขึ้นกว่าปกติ ส่วนใหญ่จึงเลือกไปใช้บริการรถไฟฟ้า แม้การชุมนุมจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็อยากจะขอให้ถอยห่างออกจากโรงพยาบาลสักหน่อย เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย
 
ขณะที่ นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ให้สัมภาษณ์รายการเจาะประเด็นว่า หลังจากเหตุชุมนุมรุนแรงในปี 2552 ซึ่งพื้นที่ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลายเป็นจุดชุมนุม เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ทางโรงพยาบาลได้ปรับรับเหตุไม่สงบมาตลอด ล่าสุด เจรจากับแกนนำขอให้เปิดถนนพิเศษโดยรอบพื้นที่ชุมนุมอีก 1 ช่องทาง ส่วนเรื่องเสียง แม้จะมีเล็ดลอดเข้ามาบ้าง แต่ก็น้อยกว่าการตั้งเวทีครั้งก่อนๆ เนื่องจากแกนนำได้หันลำโพงออกนอกโรงพยาบาล
 
ส่วน พญ.นางศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ได้รับผลกระทบพอสมควร เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอ่อนจึงเดินทางมาลำบาก ผู้ป่วยนอกลดลงกว่าปกติถึงร้อยละ 80 แต่ล่าสุดยังไม่มีเหตุการณ์น่าเป็นห่วง และได้เตรียมแผนฉุกเฉินไว้หากมีเหตุรุนแรงจะส่งผู้ป่วยหนักไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายต่างจังหวัด ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้มีการประชุมเตรียมความพร้อม อาหาร แก๊ส ความปลอดภัย และบุคลากรแล้ว
             
สำหรับผลกระทบทางเสียงนั้น พญ.นางศิราภรณ์ ระบุว่า อยากขอความร่วมมือไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมลดเสียงการปราศรัยช่วงเวลากลางคืนลง
 
ด้าน นายถาวร เสนเนียม ซึ่งดูแลพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งแรกที่ระมัดระวังคือเรื่องเส้นทางเข้าออกของผู้ป่วยซึ่งมีรถสวนได้ เป็นเส้นทางที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร เพราะฉะนั้นไม่มีความกังวลว่าจะทำให้ผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์มีผลกระทบ โดยเส้นทางเข้า-ออกฉุกเฉิน มีทั้งด้านหน้าและด้านหลังโรงพยาบาลราชวิถี ส่วนเรื่องของเสียงรบกวน ได้พยายามนำแผ่นผ้า แผงบังเกอร์ ตั้งวางช่วยปิดกั้นเสียง โดยในช่วงกลางคืนจะเลิกปราศรัย งดใช้เสียงให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
 
นายถาวร กล่าวด้วยว่า ล่าสุดได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจัดระบบการจราจร โดยทำหนังสือไปถึงผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดินแดง บางซื่อ และพญาไทให้มาวางแผนตั้งจุดสกัด ตั้งด่าน และแก้ไขปัญหาการจราจรร่วมกัน ซึ่งรวมถึงจุดที่เข้าออกโรงพยาบาลด้วย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net