Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความตอน 2 ของซีรีส์ชุด “ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์” ของอธิป จิตตฤกษ์ ย้อนไปดูจุดเริ่มต้นและบริบทของการเกิด “ลิขสิทธิ์” ที่มาจากการเกิดแท่นพิมพ์แห่งแรกในอังกฤษ

 

ผู้เขียนต้องสารภาพว่าการเริ่มเรื่องราวของ “ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์” นั้นไม่ใช่สิ่งง่ายๆ เลยแม้ว่าผู้เขียนจะได้อ่าน “ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์” ของคนอื่นมาเป็นสิบๆ ชิ้น

ถ้าผู้อ่านอยากได้คำตอบสั้นๆ ว่าลิขสิทธิ์เริ่มมาอย่างไร งานน่าจะแทบทุกชิ้นจะตอบตรงกันว่ามันเริ่มเมื่อสภาอังกฤษผ่านกฎหมายที่ชื่อว่า Statue of Anne มาในปี 1709 ซึ่งนับกันว่าเป็นเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก

จบ อยากรู้ว่ากฎหมายนี้มีรายละเอียดอย่างไรไปค้นวิกิพีเดียเอาก็ได้ ไม่ได้ยากเย็นอะไร

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ผู้เขียนพบกับตัวเองก็คือ การรู้เพียงแค่นี้มันไม่ได้ทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของลิขสิทธิ์เลย ไม่เข้าใจว่าอังกฤษยุคก่อนมีลิขสิทธิ์ คนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือมันอยู่กันอย่างไร? ทำไม “บิดาแห่งทรัพย์สิน” อย่าง John Locke ที่คนยุคหลังชอบยกแนวคิดมาปกป้อง “ความเป็นทรัพย์สิน” ของลิขสิทธิ์ซ้ำๆ นั้นกลับเป็นคนที่แย้ง “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” สุดตัวเมื่อเขาอยู่ในสภา? ทำไมสิ่งที่เรียกกันว่า Piracy ถึงมีมาก่อนลิขสิทธิ์? ฯลฯ

แน่นอนว่าวิธีการแก้ปัญหาความไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้แบบครอบจักรวาลคือ “ต้องเข้าใจบริบท”

ปัญหาคือ อะไรคือบริบทที่ต้องเข้าใจบ้าง? ถ้าจะย้อนท้าวความ ต้องย้อนแค่ไหน?  เน้นตรงไหน? ผู้เขียนเห็นว่าการย้อนท้าวความควรจะย้อนดูประวัติของสิ่งที่เป็นแก่นหลักของประเด็น ในกรอบนี้ผู้เขียนจึงอยากจะเสนอว่าประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ควรจะเริ่มเมื่อแทนพิมพ์อันแรกไปโผล่ที่อังกฤษ ซึ่งในเวลาต่อมาไม่นาน มันนำมาสู่การควบคุมแท่นพิมพ์โดยรัฐ

เพราะสุดท้ายกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ใช่อะไรนอกจากกฎหมายรองรับการผูกขาดการพิมพ์โดยเอกชนอันเป็นผลจากการยกเลิกอำนาจรัฐในการผูกขาดการพิมพ์ และการที่รัฐเริ่มเข้ามาควบคุมการพิมพ์ในตอนแรกสุดก็เกี่ยวพันกับการปรากฏตัวของแท่นพิมพ์ในอังกฤษ ซึ่งเท่ากับการเริ่มต้นการปฏิวัติการพิมพ์ในอังกฤษโดยตรง

อย่างไรก็ดีเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเมื่อแท่นพิมพ์ที่เข้าไปในอังกฤษนั้น ธุรกิจหนังสือก็มีอยู่แล้ว และธุรกิจหนังสือที่มีอยู่ดังกล่าวก็ปรับตัวไปตามแท่นพิมพ์อันเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโฉมหน้าการผลิตหนังสือ

นี่ทำให้เราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เรียกว่า Stationer คืออะไร และไอ้ Stationer นี่เองที่เป็นตัวละครสำคัญที่จะพาเราเดินทางไปจากแท่นพิมพ์แรกในอังกฤษไปสู่กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก

ในยุคก่อนที่การพิมพ์แพร่หลายในยุโรป การผลิตหนังสือก็มีอยู่แล้ว โดยกระบวนการผลิตหนังสือนั้นไม่ได้เหมือนสมัยนี้ที่ส่งไฟล์ไปโรงพิมพ์แล้วโรงพิมพ์ก็จะจัดการให้เรียบร้อย การผลิตหนังสือในยุคก่อนที่อังกฤษจะมีแท่นพิมพ์มันต้องอาศัยนายช่างหลายกลุ่มด้วยกันที่ทำงานแยกกัน นายช่างแรกคือช่างคัดที่ทำหน้าที่คัดเนื้อความจากเอกสารต้นฉบับลงในกระดาษ พอได้กระดาษที่มีเนื้อความมาแล้ว ปกหนังสือคือสิ่งที่ต้องทำตามมา ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของช่างทำปกหนังสือ แน่นอนว่าหนังสือสมัยนั้นเป็นของมีมูลค่าสูงมากๆ เพราะผลิตได้ยาก ปกก็ย่อมจำเป็นต้องแข็งแรงเป็นธรรมดาและก็จะมีนายช่างเฉพาะที่ทำปก ปกโดยทั่วไปก็จะต้องมีกระบวนการลงเลื่อมมันๆ สะท้อนแสงเพื่อความสวยงามซึ่งคล้ายๆ การลงรักของช่างไทย นี่ก็เป็นกระบวนการที่ต้องการช่างเฉพาะ และสุดท้ายเมื่อได้ปกและเนื้อในหนังสือมาแล้ว ช่างที่จะทำให้หนังสือสมบูรณ์คือช่างที่จะทำการเข้าเล่ม ก่อนที่หนังสือจะมาวางเป็นสินค้าอยู่ในร้านของพ่อค้าหนังสือในท้ายที่สุด

ผู้คนทั้งหมดในกระบวนการทำหนังสือตั้งแต่ช่างคัดถึงพ่อค้าหนังสือเรียกโดยรวมว่า Stationer ซึ่งความหมายมันมีรากเดียวกับคำว่า Station ซึ่งสื่อว่าพวกนี้ทำงานอยู่กับที่  อย่างไรก็ดีเวลาคนนอกพูดถึง Stationer ส่วนใหญ่ก็มักจะหมายถึงพ่อค้าหนังสือหรือเจ้าของร้านหนังสือเพราะคนกลุ่มนี้มักจะเป็นผู้ประสานงานกระบวนการของเหล่า Stationer ทั้งหมดเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือเล่มหนึ่งๆ และคนพวกนี้เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทที่สุดในสมาคม Stationer (ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี 1403) กล่าวคือแม้ว่าสมาคม Stationer จะประกอบไปด้วยสารพัดช่างทำหนังหนังสือ แต่ผู้ที่มีบทบาทที่สุดในสมาคมก็คือพวกพ่อค้าหนังสือซึ่งเป็นเจ้าของร้านหนังสือด้วย

อย่างไรก็ดีที่เรียกว่า “ร้านหนังสือ” ในยุคนั้นจริงๆ ก็มักจะขายของอย่างอื่นด้วย ดังที่คำว่า Stationer คือรากของคำว่า Stationery ในสมัยนี้ที่แปลว่า “ร้านขายเครื่องเขียน” นั่นเอง Stationery ในศตวรรษที่ 16 ขายทั้งหนังสือและเครื่องเขียนสารพัด อันที่จริงสินค้าหลักอย่างหนึ่งของ Stationer ก็คือกระดาษ ซึ่งกระดาษที่ว่านี้ก็เป็นกระดาษเดียวกับที่ทางร้านหนังสือส่งให้ช่างคัดนำไปคัดเพื่อเริ่มกระบวนการทำหนังสือนั่นเอง ดังนั้นในแง่นี้ร้านหนังสือนอกจากจะเป็นผู้ประสานงานกับพวกช่างในการทำหนังสือและขายหนังสือแล้ว ร้านหนังสือก็ยังเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบทำหนังสือให้พวกช่างด้วย

การปฏิวัติการพิมพ์ในยุโรปน่าจะเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อ Johannes Gutenberg ได้พิมพ์ไบเบิลภาษาละตินออกมากลางทศวรรษที่ 1450 และในปี 1476 William Caxton ชาวอังกฤษผู้ไปฝึกวิชาการพิมพ์มาจากภาคพื้นทวีปยุโรปหลังการปฏิวัติการพิมพ์ของ Gutenberg ก็ได้นำความรู้กลับมาที่อังกฤษและสร้างโรงพิมพ์แห่งแรกขึ้นในลอนดอน และการพิมพ์ก็ค่อยๆ ขยายตัวมาเรื่อยๆ หลังจากนั้น

Caxton ตายไปในปี 1492 แต่สิ่งที่เขาได้บุกเบิกไว้ก็คือการรวบบทบาทของช่างพิมพ์ (Printer) ไว้กับพ่อค้าหนังสือ [1] ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พ่อค้าหนังสือนั้นดั้งเดิมคือผู้เริ่มกระบวนการผลิตหนังสือและผู้ขายหนังสือเมื่อเสร็จสิ้นอยู่แล้ว เมื่อแท่นพิมพ์เข้ามาในอังกฤษ พ่อค้าหนังสือจึงสามารถรวบบทบาทที่เคยเป็นหน้าที่ของช่างคัดไว้กับตัวเองได้ พูดง่ายๆ คือ ภายใต้เทคโนโลยีการพิมพ์ กระบวนการส่งกระดาษให้ช่างคัดก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะกระบวนการนี้ ร้านหนังสือจะจัดการเอง (แต่กระบวนการทำปก เข้าเล่มก็ยังต้องพึ่งพาช่างอื่นๆ)

ดังนั้นหากจะพูดในภาษาร่วมสมัยแล้วหลังมีแท่นพิมพ์ ร้านหนังสือจึงมีบทบาททั้งสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ไปพร้อมกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลังจากมีการพิมพ์ การพูดถึง Stationer จึงมีความหมายถึง กลุ่มคนที่เป็นร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ และโรงพิมพ์ไปพร้อมๆ กัน เพราะคนกลุ่มนี้แทบจะรวบอำนาจเหนือการผลิตและขายหนังสือไว้ได้เกือบหมดหลังการปฏิวัติการพิมพ์

อย่างไรก็ดี การปฏิวัติการพิมพ์ในอังกฤษก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป พวกร้านหนังสือค่อยๆ พ่วงบทบาทช่างพิมพ์ไปอย่างต่อเนื่องหลัง Caxton บุกเบิกรูปแบบใหม่ของความเป็น Stationer ที่ประสานโรงพิมพ์เข้ากับร้านหนังสือเป็นที่เดียวกัน ซึ่งในที่สุด Stationer Company หรือสมาคม Stationer ได้กลายเป็นกลไกการเซ็นเซอร์ของราชสำนักอังกฤษ ในปี 1557 และกลายเป็นสมาคมช่างพิมพ์ผู้ค้าหนังสือไปเรียบร้อยไปแล้ว

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์อันน่ารังเกียจกว่าร้อยปีของอำนาจการผูกขาดการพิมพ์ทั่วราชอาณาจักรแต่เพียงผู้เดียวของ Stationer Company ที่ในที่สุดก็เป็นสิ่งที่การปฏิวัติอังกฤษต้องกำจัดทิ้งไปในกระบวนการลดอำนาจกษัตริย์

และพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของ Stationer Company ในการหากินกับอำนาจผูกขาดการพิมพ์ของกษัตริย์ก็เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากต่อต้านการเกิดขึ้นของลิขสิทธิ์ เพราะจากประสบการณ์ของพวกเขา เขาไม่ต้องการการ “ผูกขาด” การพิมพ์อีกแล้วไม่ว่ามันจะเป็นการผูกขาดโดยผู้ใด

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราคงต้องย้อนมาดูกันก่อนว่ากระบวนการ “เซ็นเซอร์” ของราชสำนักอังกฤษมีพัฒนาการมาอย่างไร? และเป็นไปเพื่อเป้าประสงค์แบบใด? โปรดติดตามต่อไปในสัปดาห์หน้า

อ้างอิง:

  1. John Feather, A History of British Publishing, Second Edition, (London: Routledge, 2006), pp. 15-16

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net