เมืองกับชนบทในกระแสการเปลี่ยนแปลง: สังคมไทยในภาวะกลับตาลปัตรของสองนคราประชาธิปไตย (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่พูดถึงจนกลายเป็นประเด็นร้อนแรงบนโลกไซเบอร์คือเรื่องความแตกต่างระหว่างชนบท กับคนเมือง คนเมืองจำนวนมากยังมีภาพลักษณ์ต่อคนชนบท ว่าเป็นผู้ยากจน ด้อยโอกาส ด้อยการศึกษา และ “ขาดความรู้เรื่องประชาธิปไตย” เสียงของพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยเช่นนี้ ในตอนที่ 1 ของบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจึงต้องการท้าทายทัศนะดังกล่าว และฉายภาพชนบทที่เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ และการไหลเวียนของทุน และในตอนที่ 2 ความผู้เขียนจะฉายภาพความเปลี่ยนแปลงในเมืองเพื่อหนีการพัฒนาของชนบทด้วยเช่นกัน

บทนำ

เหตุใดเราจึงรู้ว่าเราเป็นคนเมือง? ตามความเข้าใจพื้นฐานของเรา ตัวชี้วัดความเป็นเมือง อาจอิงอยู่กับชุมชนที่มีตึกสูง แหล่งอุตสาหกรรม หรือเทคโนโลยีอันทันสมัย แต่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่การไหลเวียนของทุนและเทคโนโลยีเป็นไปอย่างง่ายดายเช่นทุกวันนี้ การใช้เกณฑ์ทางกายภาพอันตายตัวมาเป็นมาตรวัดตัดสินความเป็นเมืองอาจทำได้ยาก และมีความลักลั่นได้ง่าย สุดท้ายสิ่งที่คนเมืองพอจะทำได้เพื่อที่จะบ่งบอกความเป็นเมืองก็คือการใช้พรมแดนทางความคิดหรือมโนภาพที่แตกต่างชัดเจนระหว่างเมืองกับชนบทมาเป็นตัวตัดสิน โดยอาจอิงอยู่กับมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง คนเมืองจึงพร่ำบอกตัวเองว่ามีคนจำนวนหนึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเรา มีวิถีชีวิต และความคิดที่แตกต่างจากเรา ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นไปในเชิงที่ด้อยกว่า นั่นคือชนบท ชนบทจึงเปรียบเสมือนส่วนที่ไม่ถูกนับให้เป็นส่วนของเมือง(ไชยรัตน์: 2553) หรืออาจจะกล่าว ภาวะเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเพื่อบ่งบอกว่าอะไรไม่ใช่เมือง หรืออะไรเป็นชนบทนั่นเอง นอกจากนี้เส้นพรมแดงทางความคิดดังกล่าวยังเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต หรืออัตลักษณ์ของคนเมืองกับคนชนบทที่ควรจะเป็นในสังคมไทยอีกด้วย

แนวคิดที่มักถูกใช้ในการอธิบายภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทในสังคมไทยอันเป็นที่นิยมที่สุดคงหนีไม่พ้นทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ที่บรรยายภาพสังคมไทยว่ามีช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างเมืองซึ่งเป็นตัวแทนความเจริญ กับชนบทผู้เป็นตัวแทนความล้าหลัง การเจริญเติบโตของเมืองซึ่งเป็นสังคมอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ชนบทซึ่งเป็นสังคมเกษตรยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะไล่ตามความเจริญของเมืองได้ และด้วยความที่เมืองมีความพร้อมมากกว่า มีสำนึกประชาธิปไตยมากกว่าชาวชนบท คนเมืองจึงมีบทบาททางการเมืองสูงกว่าคนชนบท รัฐบาลที่มาจากฐานเสียงชนบทซึ่งเป็นเสียงข้างมากของประเทศจึงถูกล้มด้วยอิทธิพลของคนเมืองตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ“ปฏิกิริยาเชิงลบที่เมืองมีต่อระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีชนบทเป็นผู้ให้กำเนิด”(เอนก: 2552, 9)

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ทางสังคมมากมายได้เข้ามาหักล้างข้อสรุปข้างต้นลงไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมวลชนคนเสื้อแดง ที่แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นของคนชนบท การอพยพย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ กลับเข้าสู่ภาคอีสาน รัฐบาลจากพรรคที่คนชนบทเลือกได้เข้ามาบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังรวมถึงงานเขียนวิชาการทางสังคมศาสตร์มากมายที่ออกมาคัดค้านข้อสรุปดังกล่าว ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในบทความ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเข้ามาหักล้างทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยด้วยข้อสรุปที่ว่าชนบทมีความเจริญทัดเทียมกับเมืองมากขึ้น เส้นพรมแดนระหว่างเมืองกับชนบทจึงไม่มีความชัดเจน แต่ข้อสรุปดังกล่าวเป็นการตอบที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

บทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอว่าในขณะที่ชนบทดั้งเดิมวิ่งเข้าหาความเป็นสมัยใหม่ และไล่ตามความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เมืองเองก็ได้เกิดกระบวนการย้อนกลับที่ทำให้คนเมืองมีแนวโน้มที่จะกลับไปเชิดชูคุณค่าที่ชนบทดั้งเดิมเคยมี เช่นการยึดโยงกับศาสนา เศรษฐกิจแบบยังชีพ หรือการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในบทความชิ้นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเส้นพรมแดนระหว่างเมืองกับชนบทจึงมิใช่แค่ไม่มีความชัดเจน (Blur) แต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (Contrast) อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับรากฐานที่กินเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงทำความเข้าใจก็คือ บทความชิ้นนี้จะให้ความสำคัญกับเมืองและชนบทในฐานะอุดมการณ์ความคิด มิได้หมายความว่าคนเมืองหรือคนชนบททุกคนจะมีลักษณะเช่นที่บทความเช่นนี้นำเสนอ เป็นเพียงแต่การนำเสนอแนวคิดที่เกิดขึ้นจากภาวะกลับตาลปัตรของสังคมไทยเท่านั้น โดยจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในสามมิติคือ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง

การสลายพรมแดนทางพรมแดนทางความคิดระหว่างเมืองกับชนบท

ในมิติทางวัฒนธรรม เรามักเข้าใจว่าสังคมชนบทเป็นสังคมบุพกาล หรือสังคมครอบครัว มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ยึดติดกับขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อทางโชคลาง ศาสนา  ขาดองค์ความรู้แบบสมัยใหม่ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ คนชนบทไม่มีความสนใจทางการเมือง มองการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวที่ตนไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย คนชนบทจึงหันไปพึ่งศาสนาเพื่อหวังจะหลุดพ้นจากความลำบากในภพนี้ ไปสู่ความสบายในภพหน้า รวมถึงการพึ่งพิงผู้มีอิทธิพลหรือนักเลงในท้องถิ่นเสียเป็นส่วนใหญ่(ณรงค์: 2523) เพิกเฉยอำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่คนเมืองเป็นคนที่มีความตื่นตัวทางการเมือง มีความเป็นสมัยใหม่ สามารถแยกประเด็นทางศาสนากับประเด็นทางการเมืองออกจากกันได้ มีความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยสูงกว่าคนชนบท คนชนบทที่เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนมากมักจะเป็นการออกมาขอความเห็นใจ เช่นราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ถูกไล่พื้นที่ทำกิน หรือไม่ก็ถูกจูงจมูกมาอีกทีด้วยอำนาจเงิน (ประภาส: 2553) วัฒนธรรมทางการเมืองของคนเมืองจึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยมากกว่าคนชนบท

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมทางการเมืองของคนชนบทได้ความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ภาพสังคมเกษตรที่ชาวบ้านจำเป็นต้องอยู่กับพืชสวนไร่นาไม่สนใจปัญหาทางการเมือง ถูกแทนที่ด้วยชาวบ้านที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง พร้อมจะทิ้งไร่นามาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองได้เป็นแรมเดือนแรมปี เลือกนักการเมืองโดยอิงกับผลประโยชน์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองไม่ยอมรับเพราะมองว่าขาดศีลธรรมและเห็นแก่ตัว มีแต่จะได้นักการเมืองชั่วมาบริหารบ้านเมือง แต่กลับสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่มองว่าการต่อรองผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือสิ่งที่คนชนบทพยายามเรียกร้องในการชุมนุมปี 2553 เป็นต้นมา มิใช่ความเห็นอกเห็นใจจากคนเมือง อย่างมักจะเกิดขึ้นเมื่อสินค้าทางการเกษตรขึ้นราคา หรือต่อต้านการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า แต่คือโครงสร้างทางสังคมที่เป็นธรรมซึ่งถือเป็นข้อเรียกร้องที่แตกหัก (radical) และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (เวียงรัฐ: 2553, 109) ทั้งนี้เพราะตั้งแต่ปี 2540 หลังจากการปฏิรูปทางการเมือง ได้เกิดการกระจายอำนาจ เกิดการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำให้คนชนบทได้รับประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม จึงเริ่มหนีห่างจากผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและหามาพึ่งพิงรัฐมากขึ้น เพราะคิดว่าอย่างน้อยตนก็ยังสามารถต่อรองกับนักการเมืองท้องถิ่นได้ ในขณะที่ไม่สามารถต่อรองกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ได้เลย(เวียงรัฐ: 2553, 116) สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าความตื่นตัวทางการเมือง และการตระหนักในสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มิใช่เส้นพรมแดนที่ใช้แบ่งวัฒนธรรมทางการเมืองระหว่างคนเมืองกับชนบทอีกต่อไป

ในมิติทางเศรษฐกิจ อาชีพของคนชนบทมักผูกพันกับการเกษตร ในขณะที่คนเมืองทำอุตสาหกรรมหนักเป็นตัวขับคลื่นเศรษฐกิจหลักของประเทศ GDP ของประเทศเกินครึ่งมาจากเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองจึงดีกว่าชนบท เมืองจึงเป็นเป้าหมายที่คนชนบทต้องวิ่งเข้าหาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และส่งเงินกลับมาเลี้ยงครอบครัวในชนบท สำหรับคนชนบทที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้ามาในเมือง ก็จำเป็นต้องอาศัยเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่นักการเมืองจะมอบให้ แลกกับการขายสิทธิ์ขายเสียงของตนในช่วงการเลือกตั้ง ผนวกกับความเชื่อทางศาสนาจึงทำให้คนชนบทให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้บุญคุณ การซื้อสิทธิ์ขายเสียงในชนบทจึงยิ่งทวีความรุนแรง(เอนก: 2552, 22) สังคมเกษตร การซื้อสิทธิ์ขายเสียง และระบบอุปถัมภ์จึงกลายเป็นสูตรสำเร็จในการมองเศรษฐกิจการเมืองของคนชนบท ผิดกับคนเมืองซึ่งมีฐานะดี ไม่เห็นแก่เบี้ยสินบนเล็กน้อยจากนักการเมือง จึงไม่สามารถถูกนักการเมืองซื้อได้โดยง่าย คนเมืองจึงเปรียบเสมือนเสาหลักของประชาธิปไตยไทย

แต่เมื่อมาดูในบริบทปัจจุบัน แม้อาชีพของคนชนบทจะไม่ได้หลุดออกจากสังคมเกษตรเสียทีเดียว แต่ก็มีแนวโน้มว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในชนบท นับตั้งแต่ปี 2540 ที่มีการปฏิรูปทางการเมือง เกิดการปกครองส่วนท้องถิ่น และโครงการกองทุนหมู่บ้านในยุครัฐบาลทักษิณ ปัจจัยทั้งสองประการได้ทำให้คนชนบทมีทุนในการซื้อต้นทุนทางการผลิต ไม่ว่าจะเป็นยาพาหนะ ที่ดิน อุปกรณ์ทางการเกษตร หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ เกษตรกรเริ่มวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เกษตรกรจึงกลายเป็นนักลงทุนทางการเกษตร มีความมุ่งมาดปรารถนา (aspiration) ที่จะมีชีวิตที่มั่นคง แต่ก็ต้องแบกรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มิอาจรับประกันได้เพียงด้วยเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาทจากการขายเสียง เงินจึงมิใช่ตัวชี้ขาดในการเลือกตั้งของคนชนบทอีกต่อไป แต่ก็ยังมีผลอยู่บ้างในฐานะใบเบิกทางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากกว่าเงินคือโครงสร้างทางการเมืองที่ทำให้เขาสามารถสามารถต่อรองผลประโยชน์กับรัฐ และรับประกับความผันผวนทางเศรษฐกิจของพวกเขาได้นั่นคือระบอบประชาธิปไตย (จักกริช: 2554) ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนี้ได้พลิกโฉมหน้าชนบทที่เต็มไปด้วยความอดอยากปากแห้ง ไม่มีเงิน ไม่มีโอกาส ไม่มีทุน ให้กลายมาเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาสและทรัพยากร จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ตัวเลขการเคลื่อนย้ายประชากรจากกรุงเทพสู่ชนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากรายงานอัตราการย้ายถิ่นฐานในปี 2554 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ: 2555) ตรงข้ามกับเมื่อ 11 ปีที่แล้วคือปี 2543 ที่อัตราการย้ายถิ่นฐานจากภาคอีสานเข้าสู่กรุงเทพฯ มีมากกว่าภาคอื่นๆ(สำมะโนประชากรและเคหะ: 2543)

ในมิติทางการเมือง เรามักจะมีภาพเมืองกับชนบทในสังคมไทยที่มีบทบาทของตนอย่างชัดเจนตายตัว กล่าวคือ ชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเลือกรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ แต่ก็ต้องถูกล้มด้วยอิทธิพลทางการเมืองของคนกรุงเทพหรือคนเมือง ไม่ว่าจะด้วยการรัฐประหาร องค์กรอิสระ หรือกระบวนการทางรัฐสภา เป็นสูตรสำเร็จของการเมืองไทย ทั้งนี้ก็เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของชนบทไม่มีความตื่นตัวจึงไม่สามารถต้านทานอิทธิพลของคนเมืองได้ อีกทั้งปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในชนบทจึงทำให้คนเมืองมีอคติกับรัฐบาลของคนชนบท เมืองจึงเป็นผู้กำหนดรัฐบาลที่แท้จริงในระบบการเมืองไทย หากพรรครัฐบาลจากชนบทต้องการบริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ก็จำเป็นต้องออกนโยบายตอบสนองความต้องการของคนเมือง(อเนก: 2552, 11)

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวอาจมีพลังในการอธิบายมากในการเมืองไทยช่วงก่อนปี 2553 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาอิทธิพลของทหาร องค์กรอิสระ และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของคนในเมือง ได้ลดบทบาทลงไปอย่างเห็นได้ชัด แม้จะมีการออกมาโจมตีรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้อย่างถอนรากถอนโค่นเฉกเช่นการรัฐประหาร หรือการยุบพรรคการเมือง ทั้งนี้เนื่องมาจากวัฒนธรรมทางการเมืองของคนชนบทมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น การรัฐประหาร หรือคำสั่งตัดสินของในคดีศาลยุบพรรคการเมืองที่คนชนบทมองว่าไม่ยุติธรรมสามารถกระตุ้นให้คนชนบทออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นมวลชนคนเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีความรุนแรงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 91 คน ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับคนชนบทและรอวันปะทุอย่างรุนแรง หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นกับพรรคการเมือง หรือรัฐบาลของคนชนบทอีก ย่อมเป็นชนวนปะทุให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรง และยืดเยื้อกว่าเดิม ตัวแสดงทางการเมืองของคนเมืองจึงจำเป็นต้องเล่นเกมการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นวิถีทางที่ทำให้คนชนบทสามารถกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศไทยได้ เราจึงเห็นได้ว่านโยบายที่ออกมาในระยะหลังนี้เช่นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือประกันราคาข้าว ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการ และรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจของคนชนบทอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งนโยบายรถคันแรก ก็เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อให้คนชนบทสามารถมีทุนทางการผลิตเพิ่มมากขึ้น (เกษียร: 2556)

เราจะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 มิติข้างต้นที่เกิดขึ้นกับชนบทเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ แต่ละมิติส่งผลซึ่งกันและกัน อันเป็นผลพวงของกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเริ่มจากการที่กระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้นำเงินทุน และบรรษัทต่างๆ เข้าไปสร้างความผันผวนทางเศรษฐกิจให้กับคนชนบท (Chatterjee: 2008) และจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือการการปฏิรูปการปกครอง 2540 ซึ่งได้เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ และการเมืองใหม่ให้กับคนชนบท การปฏิรูปดังกล่าวได้วางรากฐานการกระจายอำนาจออกไปยังชนบท เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจจนคนชนบทสามารถเข้ามาแทนที่คนเมืองในการกำหนดทิศทางของประเทศได้ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองในชนบทจึงส่งผลให้คนชนบทมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น  เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงอาจสรุปได้ว่าเส้นแบ่งระหว่างเมืองกับชนบทกำลังจะค่อยเลือนรางลงไป เพราะชนบทกำลังไล่ตามเมืองเข้ามาทุกขณะ แต่นั่นเป็นเพียงการสรุปที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะนอกจากชนบทจะมีรูปแบบความเป็นเมืองมากยิ่งขึ้นแล้ว สิ่งที่ทำให้สังคมไทยกลับตาลปัตร คือการที่เมืองเองได้ย้อนกลับไปมีวิธีคิด และเชิดชูคุณค่าแบบชนบทด้วยเช่นกันซึ่งจะพูดถึงต่อไปในตอนที่ 2 ของบทความ 

 

รายการอ้างอิง
เอกสารภาษาไทย

เกษียร เตชะพีระ. 2556. “ชาวนาเอเชียในยุคโลกาภิวัตน์: มุมมองใหม่จาก Partha Chatterjee & Andrew             Walker”. เข้าถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2556. http://blogazine.in.th/blogs/kasian/post/4251
จักรกริช สังขมณี. 2554. “ย้อนคิดว่าด้วยชีวิตทางการเมืองของชาวบ้าน: การเมืองในชนบทที่มากกว่าการ
เลือกตั้งและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ปีที่ 30 ฉบับที่ 2.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2553. ความคิดทางการเมืองของฌาคส์ ร็องซีแยร์. กรุงเทพฯ: สมมติ.
ณรงค์ เส็งประชา. 2523. สังคมวิทยาเมืองและชนบท. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์.
ทามาดะ โยชิฟูมิ. 2556. “การจับมือเป็นพันธมิตรกันของพลังต้านประชาธิปไตย”. เข้าถึงเมื่อวันที่ 4  สิงหาคม   2556. http://prachatai.com/journal/2013/08/48377/
ไทยสปริงฟอรั่ม. 2556. เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2556. https://www.facebook.com/ThaiSpringForum
ประภาส ปิ่นตบแต่ง. 2553. การลุกขึ้นสู้ของคน “ยอดหญ้า” บทวิเคราะห์ในเชิงมิติการเมือง. Red Why: แดง  ทำไม. กรุงเทพฯ: โอเพ้นบุ๊กส์.
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. 2555. “บทวิเคราะห์ธรรมกาย กฎหมายหมิ่นศาสนา และอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ซ้อน รัฐ”. เข้าถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2556. http://www.prachatai.com/journal/2012/04/39991
ว.วชิรเมธี. 2556. “วันแห่งการให้”. กรุงเทพฯ: สถาบันวิมุตตยาลัย.
วี-รีฟอร์ม. 2555. “รายงาน: คนไทยอ่านอะไร? บทสำรวจสถานการณ์การอ่านในประเทศไทย”. เข้าถึงวันที่ 4   สิงหาคม 2555.  http://v-reform.org/v-report/reading-in-thailand/
เวียงรัฐ เนติโพธิ์. 2553. สามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขา: บริบทเชิงโครงสร้างของขบวนการคนเสื้อแดง. Red Why: แดงทำไม. กรุงเทพฯ: โอเพ้นบุ๊กส์.
สามชาย ศรีสันต์. 2555. “ระบบความคิดเชิงคำสั่งในวาทกรรม ‘ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง’”. ฟ้าเดียวกัน ปี ที่ 10 ฉบับที่ 1. 192-193.
สำนักงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สปพ.)(1). เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2555.   http://www.chumchon.go.th/index1.php
สำนักงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สปพ.)(2) “ลักษณะโครงการที่ขอรับการ สนับสนุน”. เข้าถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2555. http://www.chumchon.go.th/ruleNext1.php
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2555. “การสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2554”. กรุงเทพ: ไอดี ออล ดิจิตอล    พริ้นท์.
สำมะโนประชากรและเคหะ. 2543. “อีสานครองแชมป์ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพ”. เว็บไซด์สำมะโนประชากรและ เคหะ. เข้าถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2556.   http://popcensus.nso.go.th/topic.php?cid=9
เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2552. สองนคราประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

รายการภาษาอังกฤษ
Chatterjee, Partha. 2008.”Peasant cultures of the twenty-first century”.Inter-Asia Cultural Studies.9:1. 121.
Pasuk Phongpaichit. 2005. “Developing Social Alternatives: Walking Backwards into a Khlong”, in Thailand Beyond the Crisis, ed. Peter Warr, Routledge.

รายการเอกสารข่าว
“พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ จากกบฏ “เสธ.ฉลาด” สู่ปฏิบัติการ “แช่แข็งประเทศ”. (2555, 18 พ.ย.). มติชน ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2555. “http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1353213032&grpid=01&catid=01
“พิทักษ์สยาม แถลงจุดยืนไล่รบ. ปัดแช่แข็งปท.-โวแนวร่วมครึ่งล้าน”. (2555, 14 พฤจิกายน). แนวหน้า. เข้าถึง วันที่ 4 สิงหาคม 2555. http://www.naewna.com/politic/30096
“วัดพระธรรมกาย จัดตักบาตร 8 ก.ย.แนะเลี่ยงหน้าเซ็นทรัลเวิลด์”. (2556. 4 กันยายน). Voice TV. เข้าถึงเมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม 2556. http://news.voicetv.co.th/thailand/80765.html
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท