Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


(ภาพการชุมนุมบุคลากรทางการแพทย์หน้าห้างสยามพารากอน)

จากปรากฏการณ์การรวมกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบ กปปส. ในช่วงบ่ายของวันที่ 20 มกราคม 2557 ผู้เขียนจะไม่ขอวิจารณ์เรื่องภายในการบริหารงานกระทรวงสาธารณะสุขว่ามีปัญหาอย่างไรทำไมรัฐบาลจึงสร้างความเกลียดชังให้แก่บรรดาบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้นได้มากขนาดนี้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เห็นแล้วไม่อาจเพิกเฉยได้เลย คือ การถือธง "กาชาด" นำขบวน หรือร่วมในการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้

ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ สิ่งที่ปรากฏคือ "ม็อบกาชาด" สืบเนื่องมาจากเครื่องหมายที่ปรากฏบนผืนธงสีขาวบริสุทธิ์ที่ใช้ประกอบการเดินประท้วง เครื่องหมายกากบาทสีแดงบนพื้นขาว (กาชาด) ที่สื่อถึงความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่วันนี้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มบุคคลที่รู้เท่าไม่ถึงการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเสียแล้ว

วิวัฒนาการของเครื่องหมาย "กาชาด" หรือในทางสากลเรียกว่า "เครื่องหมายคุ้มครองพิเศษ" "เครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัด" หรือ Distinctive Emblem เป็นเครื่องหมายขององค์การกาชาด หรือ Red Cross and Red Crescent Movement ซึ่งใช้ในการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เคารพหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเครื่องหมายกาชาดมีจุดกำเนิดจากการประชุมทางการทูตระหว่างประเทศนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863 ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของการเคลื่อนไหวการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยามสงครามอย่างเป็นสากล

ประวัติความเป็นมา*

ในช่วงสงครามระหว่างกองทัพออสเตรียและกองทัพฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1859 นายอังรี ดูนังต์ (Henry Dunant: 1828-1910) ได้เดินทางเพื่อไปพบจักรพรรตินโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศส และได้เห็นเหตุการณ์การสู้รบ ณ เมืองซอลเฟอริโน (Solferino) ณ ที่แห่งนั้นเขาได้เห็นนายทหารบาดเจ็บล้มตายจากการสู้รบ และพบผู้บาดเจ็บที่ต้องการความช่วยเหลือกว่า 45,000 คน ที่อยู่ในสนามรบ แต่การช่วยเหลือทางการแพทย์เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากเครื่องหมายทางการแพทย์ของแต่ละฝ่ายยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความเสี่ยงในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ

เมื่อนายอังรีเดินทางกลับถึงบ้านเกิดที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาได้เขียนหนังสือชื่อ "ความทรงจำแห่งซอลเฟอริโน" (UN SOUVENIR DE SOLFERINO) หนังสือดังกล่าวได้เสนอข้อเรียกร้องสำคัญ 2 ประการคือ

1. ให้มีการจัดหน่วยบรรเทาทุกข์ในแต่ละประเทศในยามสงบ โดยมีพยาบาลที่พร้อมจะดูแลผู้บาดเจ็บในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ (Armed conflict) และ

2. ให้อาสาสมัครที่ถูกเรียกมาช่วยเหลือในหน่วยบริการแพทย์ทหารให้ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

จนในที่สุดได้มีการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกได้รวมผู้เข้าร่วมจาก 16 ประเทศ และสถาบันการกุศลอีก 4 แห่ง และในการประชุมนี่เองได้รับเอาเครื่องหมายกากบาทแดงบนพื้นขาวเป็นเครื่องหมายสากลในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์สำหรับพลเรือนและทหาร และในปี 1864 หลักการดังกล่าวได้รับการรับรองโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศในชื่อ อนุสัญญาเจนีวา 1864 ฉบับที่ 1 เพื่อรับรองความเป็นกลางของเครื่องหมายกาชาด

เครื่องหมายกาชาดเป็นการกลับสีธงชาติของสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเป็นเกียรติแก่นายอังรี ดูนังต์ ต่อมาได้พัฒนาโดยรวมเอาเครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดงพร้อมทั้งได้อนุวัติการเอาหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary International Law) ที่เกี่ยวข้องกับหลักมนุษยธรรมในการสู้รบรวมเป็นอนุสัญญาสี่ฉบับ คือ อนุสัญญาเจนีวา 1949 ฉบับที่ 1-4 และพิธีสารเพิ่มเติมฯ 3 ฉบับ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ IHL (International Humanitarian Law)

แต่ด้วยความเห็นต่างทางการเมืองว่าทั้งเครื่องหมายกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงสื่อถึงความหมายทางศาสนา การประชุมกาชาดระหว่างประเทศในปี ค.ศ. 2005 จึงได้รับเอาเครื่องหมายคริสตัลแดงที่เชื่อว่าไม่สื่อถึงชาติ การเมือง หรือศาสนาอีกเครื่องหมายหนึ่งมาเป็นเครื่องหมายที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาเจนีวา 1949 ทั้งสี่ฉบับ ทุกเครื่องหมายมีสถานะ ศักดิ์ศรี และความคุ้มครองเท่าเทียมกัน (นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายสิงโตแดงกับดวงอาทิตย์บนพื้นขาวที่ได้รับการรับรองแต่ปัจจุบันไม่มีการใช้เครื่องหมายดังกล่าวแล้วนับแต่ปี ค.ศ. 1980 สืบเนื่องมาจากการล่มสลายของอาณาจักรเปอร์เซีย และเครื่องหมายดวงดาวแห่งดาวิดบนพื้นขาวที่ใช้ในประเทศอิสราเอลแม้ไม่ได้รับการรับรอง แต่สามารถนำมาผนวกกับเครื่องหมายคริสตัลแดงได้)



(เครื่องหมายคุ้มครองพิเศษตามอนุสัญญาเจนีวา 1949, กาชาด เสี้ยววงเดือนแดง และคริสตัลแดง)

ความคุ้มครองตามพันธกรณีทั้ง 4 ฉบับที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2497 โดยการภาคยานุวัติ อนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2498 หรือ 6 เดือนให้หลังนับแต่วันที่ภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคี ประเทศไทยจึงมีหน้าที่เคารพและปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธกรณีต่อเครื่องหมายดังกล่าว

หลักการสำคัญขององค์การกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงปรากฏตามรัฐธรรมนูญกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง ค.ศ. 1986 ได้แก่ 1) ความมีมนุษยธรรม (Humantarian) 2) ความไม่ลำเอียง (Impartially) 3) ความเป็นกลาง (Neutrality) 4) ความเป็นอิสระ (Independence) 5) บริการอาสาสมัคร (Volunteer service) และ 6) ความเป็นเอกภาพ (Unity) หนึ่งประเทศ หนึ่งองค์กร หนึ่งเครื่องหมาย ในการดำเนินกิจการภายใน ประเทศไทยเลือกใช้เครื่องหมาย "กาชาด" เป็นเครื่องหมายสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีนี้เครื่องหมายเดียว และมีเพียง "สภากาชาด" องค์กรเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิใช้เครื่องหมายกาชาด

ดังนั้น "กาชาด" และ "สภากาชาด" จึงเป็นเครื่องหมายและชื่อที่สื่อถึงความมีมนุษยธรรม เป็นกลางทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงครามเจ้าหน้าที่ของกาชาดจะต้องยึดถือหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสพภัยโดยไม่ลำเอียงตามหลักมนุษยธรรม หลักการที่สำคัญคือ การให้ความเคารพต่อตัวตนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอย่างเสมอภาคโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน พร้อมทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ โดยไม่คำนึงว่าบุคคลผู้บาดเจ็บจากการสู้รบนั้นเป็นอริราชศัตรู แต่เป็นเพียงเพื่อนมนุษย์ผู้ได้รับเคราะห์ร้ายและไม่สามารถปกป้องตนเองได้ (hors de combat) เท่านั้น

องค์กรกาชาด หรือ สภากาชาด จึงเป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของรัฐใด อีกทั้งแม้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บป่วยไข้ กาชาดจะไม่ขอความคุ้มกันจากรัฐใด ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ในทางกลับกัน ถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้ความคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กาชาดในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยด้วย

ผู้ซึ่งได้รับความคุ้มครองและสามารถใช้เครื่องหมายคุ้มครองพิเศษได้

ในยามสู้รบ หรือ การขัดกันทางอาวุธ (Armed conflict) ซึ่งหมายรวมถึงการขัดกันทางอาวุธทั้งภายในหรือระหว่างประเทศ ได้แก่ พนักงานทางการแพทย์ อนุศาสนาจารย์ พนักงานพยาบาลของเรือพยาบาล และลูกเรือของเรือพยาบาล การให้บริการทางการแพทย์ของกองทัพ โรงพยาบาลของพลเรือน สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงภายในประเทศ สมาพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)

ในยามสงบ ได้แก่ บุคคลหรือสิ่งของซึ่งเกี่ยวโยงกับสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงภายในประเทศ สมาพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และการใช้ภายใต้เงื่อนไขต่อรถพยาบาลและหน่วยปฐมพยาบาล

ดังนั้นการใช้เครื่องหมายโดยบุคคลที่อยู่นอกเหนือดังที่กล่าวไว้นี้ย่อมเป็นการใช้ที่ผิด

การใช้เครื่องหมายคุ้มครองพิเศษอย่างไม่ถูกต้องแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี คือ

1. การเลียนแบบ (Imitation) กล่าวคือ วิธีการใช้โดยรูปแบบหรือมีการนำลักษณะเด่นของเครื่องหมายกาชาดหรือเครื่องหมายคุ้มครองพิเศษนี้ไปใช้อันอาจทำให้สับสนกับเครื่องหมายพิเศษนี้ได้

2. การใช้โดยไม่มีสิทธิ์ (Usurpation) เป็นการใช้โดยบุคคลหรือผู้ซึ่งไม่มีอำนาจหรือมีสิทธิใช้ เช่น การใช้ในเชิงพาณิชย์ ร้านขายยา หรือคลีนิคหมอส่วนบุคคล เป็นต้น และ

3. การใช้โดยล่อลวง (Perfidy) กรณีนี้เป็นการใช้ในยามที่มีการขัดกันทางอาวุธ โดยการใช้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองพลรบหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เป็นต้น ซึ่งการใช้ลักษณะนี้หากส่งผลให้มีการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต การกระทำนั้นถือได้ว่าเข้าหลักเกณท์ความผิดอาชญากรรมสงครามอีกด้วย (ข้อ 85 แห่งพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวา 1949 ฉบับที่ 1)

ความรับผิดตามกฎหมายไทย

พรบ.กาชาด พ.ศ. 2499 ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองแก่การใช้เครื่องหมายคุ้มครองพิเศษรวมถึงเครื่องหมายกาชาดและนามกาชาด โดยมาตรา 9 ระบุถึงการใช้โดยไม่มีสิทธิต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 10 ระบุถึงการใช้เครื่องหมายโดยเลียนแบบเพื่อหลอกลวงประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เห็นได้ว่าในการอนุวัติการกฎหมายระหว่างประเทศตามอนุสัญญาเจนีวา 1949 นั้น แม้ประเทศไทยไม่ได้ระบุถึงความรับผิดจากการใช้โดยล่อลวง (Perfidy) การกระทำดังกล่าวยังได้รับความคุ้มครองและมีความรับผิดตามพันธกรณีระหว่างประเทศดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคือ หากการใช้โดยล่อลวงเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ผู้กระทำจะต้องมีความผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม (War criminal)

จากที่ได้กล่าวมาเสียยืดยาว ผู้เขียนก็ได้แต่เพียงหวังว่า ปรากฏการณ์ในวันนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เห็นบุคลากรทางการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพในด้านวิชาชีพ จักทราบถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองต่อประชาชนและต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อเครื่องหมายที่มีความสำคัญยิ่ง รู้จักแยกแยะว่าอะไรเหมาะสม อะไรควรหรือไม่ควรให้สมกับภาษีสังคมที่ท่านมีต่อหน้าปวงชนชาวไทยไม่ใช่เฉพาะมวลมหาประชาชนเท่านั้น

แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นเป็นการขัดกันทางอาวุธ เพียงแต่การกระทำอาจจะมีความผิดตามกฎหมายภายในข้อหาใช้เครื่องหมายคุ้มครองพิเศษโดยไม่มีสิทธิ์ หรือท่านอาจจะคิดว่าความผิดจากการณ์นี้เทียบกับความผิดฐานกบฏในการเข้าร่วมม็อบ กปปส. ตามที่รัฐบาลประกาศนั้นช่างเล็กน้อยเหลือเกิน แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า ในสังคมระหว่างประเทศนั้นให้ความสำคัญกับความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของเครื่องหมายกาชาดอย่างถึงที่สุด เพราะหากเกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นมีการปะทะกันจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นสงครามกลางเมือง หรือมีการจัดตั้งกองกำลังที่มีการบัญชาการอย่างเป็นระบบจนกลายเป็นการขัดกันทางอาวุธหรือสงครามแล้วนั้น เวลานั้นคงจะไม่เหลือเครื่องหมายใดที่เป็นกลางเป็นที่ยอมรับจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนอย่างเป็นกลางอีกต่อไป สิ่งนี้จะก่อให้เกิดหายนะที่ยิ่งใหญ่เพียงใด

ทั้งนี้ ด้วยความความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออก จุดยืนและความคิดเห็นทางการเมืองตามกรอบกฎหมายของบุคลากรทางการแพทย์ แต่ได้โปรดอย่าทำให้ปรากฏแก่เครื่องหมายกาชาดและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งปวงว่ามองประชาชนไม่เท่ากัน ผู้ซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกลายมาเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งเสียเอง หากเป็นเช่นนั้นก็ขออย่าได้นำธงสัญลักษณ์แห่งความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อให้เป็นมลทินอีกเลย

จากการชุมนุมที่ได้ปรากฏต่อสายตาสาธารณะชนทั่วประเทศและอาจจะทั่วโลกแล้วนั้น ด้วยความเคารพต่อบรรดาแกนนำการชุมนุมซึ่งได้แก่คณะบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลต่างๆ หากท่านเหล่านี้พอจะมีจิตสำนึกอยู่บ้าง ท่านควรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์กาชาดอย่างไม่เหมาะสม เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ได้เพียงสื่อถึงความเป็นองค์กรทางการแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่กี่คนที่มีจุดยืนทางการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางตามพันธกรณีระหว่างประเทศทั่วโลก อีกทั้งบรรดาผู้อาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่ร่วมกันสร้างให้เครื่องหมายกาชาดและนามกาชาดเป็นที่เคารพเชิดชูในประเทศไทยสืบมา

ท่ามกลางความขัดแย้งของคนในสังคมปัจจุบัน หากจะไม่มีความเป็นกลางใดๆ เหลืออยู่เลย ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าการทำหน้าที่ด้านมนุษยธรรมในการให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์จะยังคงเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งต่อไป จึงขอฝากไว้ด้วยความเคารพยิ่ง


 

 

หมายเหตุ: *บทความส่วนหนึ่งเรียบเรียงจาก; เดชอุดม ขุนนะสิทธิ์. การรับรองและความคุ้มครองที่เกี่ยวข้องภายใต้เครื่องหมายพิเศษอันเด่นชัดตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและผลกระทบต่อประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขากฎหมายระหว่างประเทศ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net