Skip to main content
sharethis

สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโส องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ให้สัมภาษณ์ประชาไท ต่อประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง โดยชี้ว่า ขณะนี้ความรุนแรงเกิดจากทุกฝ่าย ระบุรัฐบาลทำถูกแล้วที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมแต่ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสาธารณชนทั่วไป ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ข้ามเส้นการแสดงออกทางการเมืองมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่อยากเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ใช่แนวทางที่ดีในการจัดการกับสถานการณ์ขณะนี้ ชี้ระวังซ้ำรอย 2553 เปิดทางให้ทหารเข้ามาจัดการ แล้วเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นจนกระทั่งบัดนี้

เริ่มจากประเด็นวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด ที่ทางฮิวแมนไรท์ วอทช์ให้ความสำคัญและพูดเป็นประเด็นแรกในการแถลงข่าวสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย

คือเรามองว่าประเทศไทยในสถานการณ์ร่วมสมัยตอนนี้ เราจะเห็นการเผชิญหน้ากันในทางการเมืองและก็ขยายตัวเป็นความรุนแรงทั้งระหว่างผู้เคลื่อนไหวกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือความรุนแรงระหว่างมวลชนแต่ละฝ่าย แล้วมันก็เกิดความรุนแรงขึ้นมา เราพยายามจะมองรากว่าทำไมคนถึงไม่ยำเกรงต่อการใช้ความรุนแรงและความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันยกระดับค่อนข้างเร็วและถี่ขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ความเกลียดชังที่มีต่อกันก็รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็มองย้อนกลับไปว่านี่ไม่ใช้ครั้งแรกในช่วงหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการเผชิญหน้าทางการเมือง มันเกิดมาตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 2535 แต่ปัญหาก็คือทุกครั้งทีเกิดความรุนแรงขึ้น มันไม่เคยมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุดที่เอาตัวผู้ที่ใช้ความรุนแรงทั้งในส่วนที่เป็นคนตัดสินใจกำหนดนโยบายและเป็นผู้ปฏิบัติงานมาดำเนินคดีได้เลย มันจบกันด้วยการล้างผิด ด้วยการนิรโทษกรรมในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดความเชื่อในวงกว้างกับทุกฝ่ายว่าทำผิดแล้ว ถ้าชนะก็ไม่ต้องรับผิด ถ้าแพ้แล้วไปฮั้วต่อรองกันในทางการเมืองได้ก็จะมีผลเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้ไม่ต้องรับผิดอีกเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เราจึงให้ความสำคัญกับประเด็นความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง จึงเป็นประเด็นที่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ พูดในสาระในส่วนของรายงานประจำปีและในส่วนของการรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เราก็ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้อย่างแข็งขันมากนะครับว่ามันเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เลวร้ายมากให้กับสังคมไทย มันเป็นความพยายามที่จะล้างผิดในขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลย แล้วผลที่ตามมามันจึงเกิดความพยายามที่จะต้านกฎหมายการล่งผิดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม จนในที่สุดตอนนี้มันกลายพันธุ์ มันไม่ใช่เรื่องของการต้านการล้างผิดให้กับความรุนแรงทางการเมืองแล้ว มันกลายเป็นความพยายามที่จะจัดระบบโครงสร้างทางการเมืองใหม่ที่ไม่ใช่เป็นการจัดระเบียบโครงสร้างแบบประชาธิปไตย

แต่ขณะเดียวกันความรุนแรงทีเกิดขึ้นเป็นความรุนแรงที่เกิดจากทุกฝ่าย ทางฮิวแมนไรท์วอทช์เห็นว่าใครต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ้าง

ความยุติธรรมและการรับผิดมันเลือกฝ่ายไม่ได้ มันเลือกจุดยืนทางอุดมการณ์ไม่ได้ ไม่สามารถจะเอาข้ออ้างว่าเป็นฝ่ายคนดี ทำดี เพราะการประท้วงทุกครั้งก็จะอ้างว่าฝ่ายตัวเองดี ทำดี แล้วยิ่งเวลาผ่านไปประเทศไทยนั้น วาทกรรมที่ใช้ในกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ละฝ่ายเป็นวาทกรรมแบบสัมบูรณ์ คือมองว่าฝ่ายตัวเองนั้นดีสุดขั้ว ฝ่ายตรงข้ามก็เลวสุดขั้ว เพราะฉะนั้นความดีสุดขั้วมันไม่สามารถโต้แย้งคัดค้านได้ วิธีการอะไรที่ทำให้บรรลุเป้าหมายดีสุดขั้วจึงเป็นวิธีการที่ไม่สามารถโต้แย้งสอบถามหรือท้าทายได้ มันก็นำมาสู่อย่างที่บอกว่าเมื่อมันนำมาซึ่งวาทกรรมว่าตัวเองดีสุดขั้ว อีกด้านเลวสุดขั้ว บวกกับความคิดว่าทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด มันจึงนำไปสู่เงื่อนไขที่เกิดความรุนแรงได้ทุกขณะ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจต่อกัน แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ มันก็เริ่มเกิดวงจร ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำอีกแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีใครยอมรับผิดอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราถึงต้องพยายามเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงด้วยการที่บอกว่ากรณีความรุนแรงใดๆ ก็ตาม จะต้องมีการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกข้างและนำตัวคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ว่าคนผิดนั้นจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม จะมีตำแหน่งสถานะอย่างไรก็ตาม จะต้องถูกดำเนินคดี อันนี้เป็นวิธีเดียวที่จะติดเบรกให้กับวงจรของความรุนแรงในการเผชิญหน้าทางการเมืองของไทยได้

แต่ดูเหมือนว่ากลไกกระบวนการยุติธรรมไทยที่ผ่านมาเท่าที่ฮิวแมนไรท์วอชจับตาก็ยังไม่เคยประสบความสำเร็จในการดำเนินการสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองต่างๆ

กลไกการบังคับใช้กฎหมายบวกกับกลไกในกระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงในการปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนของกลไกการบังคับใช้กฎหมายนั้นชัดเจนว่าอิงแอบอยู่กับภาครัฐหรือขั้วที่มีอำนาจทางการเมือง กลไกของกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะยุคหลังการรัฐประหารเป็นต้นมามีธงทางการเมืองชัดแจ้ง ซึ่งรวมไปถึงองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งควรจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐต่างๆ นานา ต่างก็มีธงทางการเมืองทั้งสิ้น เมื่อมันไม่เหลือความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ ความสามารถในการทำหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความไว้วางใจว่าเป็นการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา เป็นไปเพื่อหลักการความยุติธรรมอย่างแท้จริงโดยไม่เลือกข้างมันจึงไม่เกิดขึ้น ความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความขัดแย้งด้วย

ลำดับความสำคัญของคนที่ควรจะรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีไหม เช่น รัฐบาล ผู้ชุมนุม หรือกระบวนการยุติธรรม

การรับผิดไม่สามารถจัดลำดับได้นะครับ ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำผิดต้องรับผิดด้วยการทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในการเรียกร้องให้มีการรับผิดโดยฮิวแมนไรท์วอชผลักดันนั้น เราผลักดันให้ หนึ่ง ยุติความรุนแรงโดยทันที อันนี้เป็นความสำคัญเฉพาะหน้า ถัดไปคือคนที่กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายเอกชน ฝ่ายกลุ่มชุมนุมก็ต้องถูกนำมาดำเนินคดีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมฝ่ายหนุนรัฐหรือฝ่ายต้านรัฐก็ต้องถูกดำเนินคดีครับ

ในส่วนของการชุมนุมที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ และไม่สามารถประกันเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมชุมนุม ประเด็นนี้ฮิวแมนไรท์ วอทช์มีข้อเสนออย่างไรกับผู้นำการชุมนุม

เรามองว่าการรักษาความสงบเรียบร้อยรวมถึงการดูแลความปลอดภัยแก่สาธารณะเป็นภาระเบื้องต้นเลย เป็นภาระสำคัญอันดับต้นๆ ของรัฐ ซึ่งไม่สามารถจะแยกแยะได้ว่าจะดูแลคนที่หนุนรัฐและไม่ดูแลคนที่ต้านรัฐ รัฐจะต้องให้ความยุติธรรมและความปลอดภัยผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้า นี่คือประการที่หนึ่ง

ในขณะเดียวกันทางฝั่งผู้ชุมนุมเอง ทางส่วนของแกนนำก็มีความรับผิดชอบต่อมวลชนที่ตัวเองนำออกมาว่าต้องให้คนเหล่านั้นสามารถชุมนุมได้โดยปลอดภัยไม่เป็นอันตราย สิ่งที่จะต้องควรทำก็คือว่าจะต้องมีการติดต่อสื่อสารประสานงานกันให้ดีกว่านี้ ระหว่างแกนนำการชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐในการรักษาความปลอดภัยทั้งความปลอดภัยของเวทีชุมนุมและผู้ชุมนุมและความปลอดภัยในวงกว้างของสาธารณะเพราะเหตุร้ายในช่วงหลังๆ ที่เกิดขึ้นมันเป็นการปาระเบิดซึ่งเป็นอาวุธที่เราเรียกว่า indiscriminate คือก่ออันตรายอย่างไม่เลือกหน้าเพราะฉะนั้นคนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนสาธารณะด้วยไม่ใช่แค่ผู้ชุมนุมอย่างเดียว พ่อค้าแม่ขายคนผ่านไปผ่านมาบาดเจ็บล้มตายได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการร่วมมือที่ดีขึ้นต้องมี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่าทั้งสองฝ่ายคือตำรวจและผู้ชุมนุมไม่มีความไว้วางใจต่อกันเลย

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ คุยกับ ศอ.รส. ซึ่งบอกว่าตำรวจไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ผู้ชุมนุมได้ ทางฝั่งผู้ชุมนุมก็บอกว่าไม่ไว้ใจที่จะให้ตำรวจเข้ามา แต่ว่ามันจะต้องมีจุดเริ่มต้นที่ใดที่หนึ่ง เราก็มีข้อสังเกตว่าความไม่ไว้วางใจที่ผู้ชุมนุมมีต่อตำรวจเพราะเห็นว่าตำรวจไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีกับการทำร้ายผู้ชุมนุมและแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่เกิดขึ้นสามสิบกว่าครั้งตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่มีรายงานความคืบหน้าเลย ตำรวจสามารถเริ่มได้ด้วยการทำให้เห็นว่าคดีที่รับมาทำสืบสวนกว่า 30 คดี มีจำนวนหนึ่งเริ่มมีความคืบหน้า ชี้เบาะแสคนร้ายได้และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าตำรวจเริ่มทำงานนะ ไม่ได้ถือหางปกป้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายผู้ชุมนุมถ้าตำรวจเอาผลงานมาให้ดู ผู้ชุมนุมก็จะต้องเกิดกระแสสังคมกดดันแล้วว่าตำรวจเขาทำงานแล้ว คุณจะปฏิเสธตำรวจได้อย่างไรก็ต้องมีความร่วมมือกันให้ดีขึ้น รับรองประกันความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

วิธีการที่ทำได้ที่เราเคยเสนอแนะไปก็คือทางตำรวจและผู้ชุมนุมตั้งชุดที่เป็นชุดประสานงานกันขึ้นมา เรื่องของด่านอาจจะมีการแบ่งโซนกันว่าพื้นที่ชั้นในที่มวลชนรู้สึกว่าอ่อนไหวจริงๆ ขอดูแลเอง แต่แนวข้างนอกก็ต้องมีด่านตรวจของตำรวจที่ทำงานอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ถ้าหากจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางเข้าออกก็อาจจะมีการทำบัญชีรายชื่อประจำวันว่าวันนี้จะมีตำรวจจากหน่วยไหนบ้าง นำโดยผู้บัญชาการคนไหน ตำรวจเข้ามากี่นาย มีอาวุธหรือไม่มีอาวุธ แต่เครื่องแบบหรือไม่แต่งเครื่องแบบ ทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็ต้องมีรายชื่อของการ์ดซึ่งอาจจะเป็นคนที่ดูแลพื้นที่อยู่ แจ้งให้ตำรวจรู้ ตำรวจเขาจะได้รู้ว่าคนเหล่านี้คือการ์ดไม่ใช่อันธพาลจากไหนจะมาก่อเหตุ มันต้องมีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโปร่งใสซึ่งกันและกัน วิธีนี้น่าจะพอเป็นทางออกได้แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่เริ่มสร้างความไว้วางใจต่อกันมันก็จะไม่เกิดความร่วมมือ เมื่อไม่เกิดความร่วมมือ การรับประกันความปลอดภัยก็ไม่เกิดครับ

คำถามสุดท้าย ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าสถานการณ์การเมืองจะคลี่คลายไป ประเด็นเรื่องความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่ทางฮิวแมนไรท์ วอทช์จะจับตาต่อไปคืออะไร

ในส่วนของการเลือกตั้ง ฮิวแมนไรท์ วอทช์เห็นว่ามันเป็นสิทธิที่จะมีคนไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่มันไม่ใช่สิทธิที่จะไปขัดขวางมิให้เกิดการเลือกตั้ง ขัดขวางมิให้บุคคลอื่นลงสมัครรับเลือกตั้งและไปใช้สิทธิเลือกตั้งนะครับ การขัดขวางต่างๆ ทั้งปวงเหล่านั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการล้ำเส้นการประท้วงโดยสันติตามแนวทางประชาธิปไตยที่เราได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและคุ้มครองตามกติกาสากล

เพราะฉะนั้นข้อสรุปก็คือ กปปส. และคปท. ได้ล้ำเส้นจากการไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งไปสู่การขัดขวางกระบวนการการเลือกตั้งซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปแล้วนะครับ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเห็นอะไร เราจะเห็นจุดยืนว่าเมื่อเขาพยายามจะขัดขวางกระบวนการการเลือกตั้ง แต่มีคนอีกจำนวนมากมายมหาศาลที่ยังลงรับสมัครเลือกตั้งและจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นบรรยากาศนับแต่นี้ไม่ถึงสองสัปดาห์จะไปถึงวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ จะเป็นบรรยากาศที่มีความเครียดและสุ่มเสี่ยงอย่างมากในเรื่องของการเผชิญหน้า ในเรื่องของความรุนแรง รวมไปถึงวันที่จะมีการเลือกตั้งและการนับคะแนนด้วยนะครับ

เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งนั้นผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้น แต่จะเป็นการเลือกตั้งที่มีความตึงเครียดอย่างสูงและมีความสุ่มเสี่ยงอย่างสูงทีจะเกิดความรุนแรง และหลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วความรุนแรงก็จะไม่สิ้นสุดลงครับ

0000

พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพิ่มยาแรงโดยไม่จำเป็น หวั่นซ้ำรอย 2553 เปิดทางความรุนแรง-เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิด

อนึ่ง บทสัมภาษณ์ช่วงต้น เป็นการภาษณ์ก่อนที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาไทจึงสัมภาษณ์เพิ่มเติมผ่านโทรศัพท์ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งนักวิจัยอาวุโสองค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้ตอบคำถามประชาไทต่อประเด็นที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน วันนี้ว่า  เขาชี้ว่าสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะยังสามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรงกับผู้ชุมนุม หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า จึงทำให้ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งเขาเห็นว่านโยบายหลักเลี่ยงการเผชิญหน้าของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นเป็นสิ่งที่ดีและควรต้องดำเนินต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณชน เขาชี้ว่ามาตรการที่รัฐบาลควรทำอย่างยิ่งคือ การดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจากฝ่ายใดๆ เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นให้กลไกบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

เขาชี้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 ประการ หนึ่งคือ การเปิดทางให้รัฐบาลดึงกำลังทหารเข้ามาควบุมสถานการณ์ และสอง มีช่องว่างที่ทำให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ถูกตรวจสอบ เพราะพ.ร.ก. ฉุกเฉินคุ้มครองการฟ้องร้องคดีแพ่งและคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

สุณัยย้ำว่ารัฐบาลควรเรียนรู้ความผิดพลาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากและขณะนี้ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

สำหรับคำถามที่ว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นทำให้อำนาจยังคงอยู่กับรัฐบาลพลเรือน ซึ่งจะส่งผลจำกัดสิทธิน้อยกว่าการประกาศกฎอัยการศึก เขาเห็นว่า การหยิบยกกฎหมายสองฉบับนี้มาเปรียบเทียบกันเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะกฎหมายที่มีอยู่ยังบังคับใช้ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมารัฐบาลหลีกเลี่ยงที่จะใช้ แต่ไปใช้กฎหมายที่แรงกว่าซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ เพราะท่าทีของทหารก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าคงไม่ปฏิบัติตาม รัฐบาลก็ยังคงต้องใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งไม่ต่างจากสภาพก่อนหน้านี้  “การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนยาที่มีอยู่ยังกินไม่ครบโดส แต่กลับไปใช้ยามาใหม่ที่แรงกว่า เป็นยาที่แรงเกินจำเป็น และไม่แน่ใจว่าจะตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ หรือจะยิ่งส่งผลทำร้ายร่างกายให้เจ็บป่วย เป็นอันตรายต่อร่างกายมากไปกว่าเดิม” สุณัย กล่าวในที่สุด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net