เมืองกับชนบทในกระแสการเปลี่ยนแปลง: สังคมไทยในภาวะกลับตาลปัตรของสองนคราประชาธิปไตย(2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในตอนที่ 1 ของบทความ ผู้เขียนได้ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงในชนบททั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม อันเป็นผลพวงจากกระแสโลกาภิวัตน์ และการปฏิรูปการปกครองปี 2540 ซึ่งพลิกโฉมหน้าชนบทที่คนเมืองเคยเข้าใจไปอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวได้มีนักวิชาการสังคมวิทยาชนบทพูดถึงไปหลายคนแล้ว ในส่วนที่ 2 นี้ผู้จึงเขียนต้องการเสนอว่าไม่ใช่เพียงแค่ชนบทเท่านั้นที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นเมือง แต่เมืองเองก็กำลังพัฒนากลับสู่ความเป็นชนบทเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างเส้นแบ่งระหว่างชนบทกับเมืองที่ชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นเส้นแบ่งระหว่างเมืองกับชนบทจึงมิใช่แค่เลือนราง (blur) แต่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง (contrast)

การกลับตาลปัตรของอัตลักษณ์คนเมือง

แม้ชนบทจะสามารถไล่ตามความเจริญของเมือง และมีแนวโน้มที่จะมีอัตลักษณ์ความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้นทุกทีจนเส้นพรมแดนระหว่างเมืองกับชนบทจึงค่อยๆ จางหายไป แต่คนเมืองก็ไม่ยอมแพ้ต่อกระบวนการดังกล่าว เพื่อให้ส่วนที่ไม่ถูกนับเป็นส่วนยังคงอยู่ คนเมืองจึงพยายามสร้างสัญลักษณ์หรืออัต-ลักษณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อยกสถานะความเป็นเมืองขึ้น และลดทอนความเป็นชนบทลงไป แต่แทนที่เมืองจะมุ่งพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อถีบตัวเองหนีจากการไล่ตามของชนบท เมืองกลับมีแนวโน้มที่จะเชิดชูคุณค่าที่คนเมืองเคยมองว่าเป็นของคนชนบท เพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองใหม่ให้กับตัวเอง และในบางครั้งก็พยายามยัดเยียดอัตลักษณ์บางอย่างให้กับคนชนบทด้วยเช่นกัน

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนเมืองในสร้างสัญลักษณ์เพื่อกีดกันคนชนบทได้ชัดเจนที่สุดคือกิจกรรม Big cleaning day ทั้งนี้เนื่องจากการชุมนุมของมวลชนตนเสื้อแดง ในปี 2553 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการชุมนุมของคนชนบทในเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้สร้างความรู้สึกว่าพื้นที่ในการดำรงชีวิตของคนเมืองถูกยึดครองด้วยคนชนบทเป็นเวลานาน คนเมืองจึงต้องการแสดงสัญลักษณ์ว่ากรุงเทพฯ ยังคงเป็นของคนเมืองอยู่ กรุงเทพมหานครจึงจัดกิจกรรม Big Cleaning Day เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ที่มีการชุมนุมในวันที่ 23 พฤษภาคม เพียง 4 วันหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม กิจกรรมนี้นับเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคนเมือง เพราะนั้นเปรียบเสมือนการส่งสาสน์ไปสู่คนชนบทว่า กรุงเทพฯ เป็นบ้านของคนเมืองที่ถูกคนชนบทเข้ามาทำลาย จึงเป็นหน้าที่ของคนเมืองที่ต้องฟื้นฟูบ้านของตัวเองให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และถ้าเป็นไปได้ก็จงอย่ากลับมาอีก เพราะการมาของคนชนบทคือภาระของคนเมือง นี่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนเมืองในการสร้างสัญลักษณ์เพื่อกีดกันคนชนบท แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคืออัตลักษณ์ใหม่ที่คนเมืองเลือกใช้ในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง

ในมิติทางวัฒนธรรมคนเมืองมีแนวโน้มที่จะวิ่งเข้าหาพระพุทธศาสนามากขึ้น และพยายามดึงศาสนารวมถึงหลักศีลธรรมเข้ามาสู่วาระทางการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากคนเมืองมองว่าหากต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยด้วยผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว นอกจากตนจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งเนื่องจากจำนวนเสียงที่น้อยกว่าคนชนบทแล้วยังทำให้ได้นักการเมืองชั่วช้าสามานย์ขึ้นมาบริหารบ้านเมือง สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือศาสนาเป็นเครื่องช่วยบรรเทาความทุกข์ของคนเมืองได้ในภาวะความขัดแย้งทางการเมือง สังเกตได้จากสถิติหนังสือที่ขายได้มากที่สุดของร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ในปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง หนังสือที่ขายดีที่สุดคือ “ความทุกข์มาโปรด ความสุขก็โปรยปราย” เขียนโดย ว.วชิรเมธี(วี-รีฟอร์ม: 2555) นอกจากนี้ ว.วชิรเมธี ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนาฉบับชนชั้นกลางในเมืองก็มักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่บ่อยครั้ง ผ่านทางเฟสบุ๊ค ทวีตเตอร์ หรือการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ โดยมักชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของการเมืองที่อิงอยู่กับผลประโยชน์โดยอ้างอิงคำสอนของพระพุทธศาสนาเช่นประโยคจากหนังสือ “วันแห่งการให้” ของ ว.วชิรเมธี (2556) ที่ว่า “พระพุทธองค์ทรงวางหลักการไว้ว่า นักการเมืองชั้นยอดนั้น ควรเป็นนักการเมืองที่ทรงธรรมถึงขั้นยึดเอาธรรมเป็น ‘หลักการสูงสุด’ (ธรรมราชา) คือ จะทำอะไรก็ตาม ก็ต้องมีธรรมเป็นหัวใจสำคัญด้วยเสมอไป” ประโยคนี้สามารถบรรยายอุดมคติของนักการเมืองที่คนเมืองต้องการได้เป็นอย่างดี คือนักการเมืองที่ไม่ต้องเก่ง แต่ต้องดีมีคุณธรรม ไม่คดโกง คนเมืองจึงดึงเอาศาสนามาผูกติดกับประเด็นทางการเมืองมากขึ้น ในฐานะเครื่องบรรเทาความทุกข์จากความขัดแย้งทางการเมือง และเพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีศีลธรรมที่อิงกับพุทธศาสนาเพื่อเป็นคู่ตรงข้ามกับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอิงกับผลประโยชน์ของคนชนบทโดยอาศัยความขลังของศาสนาเป็นเครื่องสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน นอกจากนี้การเอาศาสนาไปผูกติดกับการเมืองจึงเปรียบเสมือนการชำระล้าง (purify) การเมืองที่ถูกคนชนบททำให้แปดเปื้อนด้วยผลประโยชน์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าคนเมืองพยายามจะ Big cleaning day พื้นที่ทางการเมืองอีกครั้งนั่นเอง

(สถิติหนังสือขายดีของร้านซีเอ๊ดบุ๊คเซ็นเตอร์ปี 2548-2553 ที่มา: http://v-reform.org/v-report/reading-in-thailand/)

อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างพุทธศาสนากับเมืองก็คือการธุดงค์ธรรมชัยของพระวัดธรรมกายเข้ามาในกรุงเทพฯ จำนวน 1,127 รูปที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน 2555 ซึ่งเส้นทางการธุดงค์ได้ผ่านใจกลางกรุงเทพฯ หลายจุดกีดขวางการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่กลับไม่มีกระแสการต่อต้านจากคนเมืองแต่อย่างใด มีเพียงกระแสความไม่พอใจบนโซเชียลมีเดียเท่านั้น ในทางกลับกันกลับมีพุทธศาสนิกชนหลายคนให้ความสนใจกับการธุดงค์ในครั้งนี้และเข้าร่วมการโปรยกลีบกุหลาบต้อนรับขบวนธุดงค์อย่างเนืองแน่น (ภิญญพันธุ์: 2555) กิจกรรมดังกล่าวได้รับความนิยมมากจนในปี 2556 วัดธรรมกายได้ประกาศว่าจะมีกิจกรรมตักบาตรพระ 10,000 รูปในกรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน บริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ (วอยซ์ทีวี: 2556) ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนเมืองยอมรับพระพุทธศาสนาให้มาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้วโดยปริยาย ประเด็นที่น่าตั้งคำถามอย่างยิ่งคือ จุดที่ขบวนธุดงค์ผ่านหลายจุดเป็นสถานที่เดียวกับที่คนชนบทเคยเข้ามาใช้เป็นพื้นที่ในการชุมนุม หรือเป็นจุดปะทะในช่วงสลายการชุมนุม เช่น สยาม ราชประสงค์ ราชปรารภ เซ็นทรัลเวิร์ด ถนนพระราม 4 เหตุใดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการจราจรติดขัดเหมือนกัน ในพื้นที่เดียวกันแต่คนเมืองกลับมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเช่นนี้?

ในมิติทางเศรษฐกิจ คนเมืองมีแนวโน้มที่จะสร้างอัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงขึ้นในสังคมและพยายามยัดเยียดอัตลักษณ์ดังกล่าวให้กับชนบทด้วย นับตั้งแต่การระบุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 กระแสเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลางในเมือง ทั้งนี้เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของคนเมืองอยู่ในระดับที่สามารถเลี้ยงชีพได้ และวิกฤติฟองสบู่ในปี 2540 จึงทำให้คนเมืองรู้สึกไม่กล้าเสี่ยงลงทุนทางการเงิน วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ใช้เงินบนความเสี่ยง (แม้อาจจะมีฟุ่มเฟือยบ้างเป็นบางครั้ง) ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงดูจะเป็นวิถีชีวิตที่คนเมืองชื่นชอบมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นวาทกรรมพอเพียงมิได้หยุดอยู่แค่ในเมือง แต่มีความพยายามที่จะผลิตสร้างวาทกรรมดังกล่าวในชนบทอีกด้วย โดยในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์มีการออกนโยบายชุมชนพอเพียง สนับสนุนให้คนชนบทยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ภายในชุมชน ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายกองทุนหมู่บ้าน หรือ SML ในรัฐบาลทักษิณที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในชนบท นโยบายชุมชนพอเพียงถือเป็นความพยายามในการสร้างวาทกรรมความพอเพียงให้กลายเป็นสภาพบังคับในชนบท (สามชาย: 2555) หลังจากที่ประสบความสำเร็จในหมู่คนเมืองนโยบายนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่เมืองพยายามจะยัดเยียดให้กับชนบทในมิติทางเศรษฐกิจ 2 ประการ

ประการแรก คือความพยายามในการยัดเยียดความเป็นสังคมเกษตรดั้งเดิมหรือเกษตรแบบยังชีพกลับไปให้กับชนบท ถึงแม้ว่าคนชนบทจะมีรูปการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนไปแล้วก็ตามดังที่กล่าวถึงในตอนต้น ข้อความบนหน้าเว็บไซด์ชุมชนพอเพียงระบุไว้ว่า “รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน  โดยใช้ขยายวัตถุประสงค์ไปดำเนินงานสนับสนุนโครงการตามแนวพระราชดำริ  การพัฒนาการเกษตร  เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้” (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)(สปพ.(1): มปพ.) นี่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจที่คนกรุงพยายามสร้างให้คนชนบท คือภาพของคนที่ไม่รู้จักความพอดี ขาดองค์ความรู้ไม่สามารถจะพึ่งตัวเองได้ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเมืองตลอดเวลา จึงเป็นหน้าที่ของเมืองที่จะสอนให้ชนบทสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้

ประการที่สอง นโยบายดังกล่าวเปรียบเสมือนความพยามของของเมืองในการฉุดรั้งมิให้ความเจริญรูปแบบเมืองกระจายตัวในชนบท และแช่แข็งภาพชนบทแบบสังคมเกษตรยังชีพเอาไว้ด้วยวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาช่องว่าทางความเจริญระหว่างเมืองกับชนบท และตอกย้ำแนวคิดที่ว่าเมืองกับชนบทมีความแตกต่างจึงไม่สามารถใช้หลักการร่วมกันได้ เราสามารถสังเกตได้จากลักษณะของโครงการที่สามารถขอรับทุนสนับสนุนจากนโยบายนี้ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ ส่วนมากมักเป็นโครงการฝึกอาชีพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่มพูนความรู้ทางเกษตรกรรมให้กับชาวบ้าน(สปพ.(2): มปพ.) ไม่มีโครงการที่กระตุ้นการลงทุน อุตสาหกรรม หรือแม้แต่การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของเมืองอยู่เลย นโยบายนี้จึงมิได้มีเป้าหมายเพื่อกระจายความเจริญของเมืองไปยังชนบท เป็นเพียงความพยายามในการสร้างวาทกรรมความเจริญให้ชนบทหยุดการพัฒนาตามตรรกะทุนนิยม และหันกลับมาอยู่ภายใต้ความควบคุมของเมือง โดยมีความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรางวัลตอบแทน หากเมืองประสบความสำเร็จในการผลิตสร้างวาทกรรมนี้ให้กับชนบท ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับเมืองแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะคนเมืองมีทุนทรัพย์และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วจึงมีความพร้อมที่จะใช้วาทกรรมพอเพียง ผิดกับคนชนบทซึ่งไม่มีทั้งทุน และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความพอเพียงของคนชนบทจึงเท่ากับการพัฒนาชุมชนโดยอิงกับทรัพยากรมีอยู่แล้วซึ่งในบางกรณีก็แทบไม่มีเลย

ในมิติทางการเมือง คนเมืองมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยต่อสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ และลงมาเรียกร้องในระดับมวลชนมากขึ้น ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้มีการยุติระบอบประชาธิปไตยทั้งระบบ ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการที่สามารถตอบสนองผลประโยชน์ของชนชั้นกลางได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการรัฐสภาที่ถูกยึดครองโดยพรรคเพื่อไทย องค์กรอิสระ ตุลาการ หรือแม้กระทั่งสถาบันนอกรัฐธรรมนูญอย่างทหารไม่สามารถทำได้อีกต่อไปเนื่องจากพลังมวลชนของชาวชนบท แม้จะมีกลุ่ม 40 สว. หรือพรรคประชาธิปัตย์ที่คอยเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับคนเมืองก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้ แนวโน้มการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเมืองจึงลงมาสู่ภาคประชาชนมากขึ้น แม้จะกล่าวได้ว่าการเมืองภาคประชาชนของคนเมืองเริ่มต้นตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรแล้ว แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังคงวางอยู่บนความหวังของคนเมืองว่าตนสามารถเอาช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองคืนจากคนชนบทได้ผ่านการเรียกร้องให้สถาบันทางการเมืองที่มีอยู่ตอบสนองสิ่งที่ตนเรียกร้อง นั่นคือการล้มรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากของชาวชนบท ซึ่งมาจากคะแนนเสียงที่ไร้ศีลธรรม ไร้การศึกษา แต่ข้อเสนอทางการเมืองของคนเมืองในยุคปัจจุบันจะไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรม เพราะทางออกที่เป็นรูปธรรมผ่านสถาบันทางการเมืองตามความคิดของคนเมืองล้วนถูกอำนาจเงินซื้อไปหมดสิ้นแล้ว

ตัวอย่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเมืองที่ชัดเจนที่สุดคือองค์การพิทักษ์สยาม หรือ อพส. ที่มีพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้ายเป็นประธาน จุดยืนของเสธ. อ้ายและของ อพส. มีแตกหักกับระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน นั่นคือการแช่แข็ง “ขบวนการทางการเมือง พรรคการเมือง และนักการเมือง”(มติชนออนไลน์: 2555) เป็นระยะเวลา 5 ปี และหวังพึ่งพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแทน ในช่วงก่อนการชุมนุม เสธ.อ้ายได้กล่าววาทะเด็ดซึ่งแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของเสธ.อ้าย และทัศนคติของคนเมืองต่อระบอบประชาธิปไตยได้อย่างชัดเจนว่า "ผมไม่เคยเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยจะดีตรงไหนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เช่น ถ้าคุณเป็นคนดีของจังหวัด แต่ไม่มีเงิน ลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้รับเลือก แล้วมันจะเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ลองอธิบายหน่อย พอรูปแบบเป็นอย่างนี้ก็คิดฉ้อฉลเอาเงินงบประมาณไปใช้กันอย่างไม่โปร่งใส ออกนโยบายเพื่อประโยชน์เพื่อคนชอบ แต่ว่าบ้านเมืองเสียหายเท่าไรไม่รู้ ไม่สน ขอให้ตัวเองชนะ" (มติชนออนไลน์: 2555)

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในกรณีของ อพช. คือการประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าต้องการจะถวายคืนพระราชอำนาจให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างถาวร ซึ่งแตกต่างจากกรณีของกลุ่มพันธมิตรที่อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงเพื่ออ้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของตนเท่านั้น ถึงแม้จะมีการอ้างมาตรา 7 ในการขอนายกฯ พระราชทานแต่ก็ถือเป็นการใช้พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในภาวะสุญญากาศตามจารีตการปกครองระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่สิ่งที่ อพช. เรียกร้องมีสุดขั้วกว่านั้นดังที่  พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี โฆษกองค์การพิทักษ์สยามกล่าวแถลงการณ์ที่ สนามม้านางเลิ้ง วันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ว่า “ประเทศไทยมีอำนาจเป็นของปวงชนในการเป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนก็จะใช้สิทธิ์ในการต้องการให้มีการบริหารจัดการประเทศ อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอำนาจไว้ในฐานะประมุขแห่งชาติ ทรงเข้าใจในปัญหาประชาชน   ซึ่งสองประการนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดรัฐบาล แต่ไม่ใช่รัฐบาลพระราชทานแต่อย่างใด” (แนวหน้า: 2555)

แม้กลุ่ม อพช. จะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าตนมิได้ประสงค์จะแช่แข็งระบอบประชาธิปไตย แต่การปฏิเสธระบบพรรคการเมือง และไม่มีขบวนการทางการเมือง แต่กลับหวังพึ่งพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์เช่นนี้ย่อมหมายความว่าทางออกที่ อพช. ต้องการคือรัฐบาลภายใต้พระมหากษัตริย์โดยตรง หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยพยายามอ้างสมมติฐานที่ว่า ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกคนมีความจงรักษ์ภักดีกับพระมหากษัตริย์ และต้องการให้พระองค์มาปกครองประเทศด้วยเจตจำนงเสรีของปัจเจกบุคคล การกระทำของ อพส. จึงชอบด้วยประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการมองประเทศไทยในกรอบของคนเมืองที่หากใครไม่รักพระมหากษัตริย์ก็ไม่สมควรจะอยู่บนแผ่นดินนี้

การชุมนุมของ อพส. ในวันที่ 24 พฤจิกายน 2555 แม้จะสิ้นสุดลงอย่ารวดเร็วภายในระยะเวลา 8 ชั่วโมง แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ของคนเมืองที่ตรงข้ามกับคนชนบทโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ อพช. ยังเป็นต้นแบบอุดมการณ์ที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบใหม่ของคนเมืองอีกด้วย แต่คุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ อพช. คือการส่งสาสน์กระตุ้นเตือนคนเมืองว่าจงอย่าลังเลที่จะประกาศจุดยืนของตนแม้มันจะตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย กลุ่มอื่นๆที่เป็นตัวแทนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเมืองไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Thai spring forum, กลุ่มหน้ากากขาว กลุ่มม็อบสนามหลวง หรือกลุ่มหนุมาน ล้วนแสดงให้เห็นถึงการผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งของกลุ่มชนชั้นกลาง กลุ่มนิยมเจ้า และคนเมือง ร่วมกันเป็นกลุ่มต่อต้านระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในสังคมประชาธิปไตย อาจารย์ทามาดะ โยชิมิฟู (2556) ได้วิเคราะห์ประเด็นนี้เอาไว้ว่า “ภาวะที่ฝ่ายนิยมเจ้าและชนชั้นกลาง จับมือกัน มีเป้าประสงค์ต้องการจำกัดสิทธิ ต้องการรักษาอำนาจกับอภิสิทธิ์ของตัวเอง จึงอ้างศีลธรรม อ้างความชั่วของทักษิณ นอกจากนี้สถาบันกษัตริย์หลัง 2516 และชนชั้นกลางหลัง 2535 ก็มีพลังนอกเวทีการเลือกตั้งมากขึ้น เพราะฉะนั้นการจับมือระหว่างพวกนิยมเจ้ากับพวกประชาสังคมมีพลังทางการเมืองสูง” การต่อต้านอุดมการณ์ประชาธิปไตยและเชิดชูการเมืองแบบมีคุณธรรมจึงกลายเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของคนเมืองยุคปัจจุบัน เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองของตน

บทสรุป

คนเมืองกับคนชนบทเกิดการสลับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองกันอย่างน่าประหลาด ในขณะที่คนชนบทพยายามไล่ตามความเป็นเมือง เมืองจึงต้องการหนีให้พ้นการไล่ตามดังกล่าวเพื่อรักษาไว้ซึ่งพรมแดนทางความคิดที่ชัดเจน แต่วิธีการที่คนเมืองเลือกกลับเป็นการหวนกลับไปเชิดชูคุณค่าของคนชนบทที่คนเมืองเคยดูแคลน หากจะกล่าวตามคำพูดของผาสุก พงศ์ไพจิตร คนเมืองกำลังถอยหลังลงคลอง (Pasuk: 2005) คลองที่คนเมืองเองเคยกล่าวหาว่าคนชนบทเคยจมปรักอยู่เป็นเวลานาน นี่อาจถึงเวลาที่คนเมืองจะต้องเลิกคำนึงถึงความเป็นเมืองกับชนบท เพราะยิ่งเราให้ความสำคัญกับมันมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งให้ความสำคัญกับการทำให้พรมแดนทางความคิดเด่นชัดเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเท่ากับการฉุดรั้งความก้าวหน้าของคนชนบท ระบอบประชาธิปไตย ประเทศชาติ และตัวคนเมืองเอง ในขณะเดียวกัน คำถามที่คนชนบทต้องตอบคือในภาวะที่คนชนบทกุมอำนาจทางการเมืองเช่นนี้ รัฐบาลชนบทจะทำอย่างไรให้คนเมืองมีที่ยืนทางการเมือง และมีช่องทางเรียกร้องผลประโยชน์ให้ตัวเอง เพื่อทำให้คนเมืองยอมรับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศชาติ และตัวคนชนบทเอง ท้ายที่สุดแล้ว ในภาวะกลับตาลปัตรเช่นนี้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอาจไม่ใช่การที่คนเมืองต่อต้านระบอบประชาธิปไตย เพราะถึงอย่างไรก็ยังเป็นคนส่วนน้อยไม่มีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการที่คนชนบทใช้อำนาจเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนโดยไม่เปิดโอกาสให้คนเมืองได้มีส่วนร่วม ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก เพราะคนเมืองได้สร้างความเกลียดชังให้คนชนบทมากมายในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม ควายแดง ขี้ข้าทักษิณ พวกขายชาติ หรือภาพความต้อยต่ำของคนชนบทที่สะท้อนออกมาผ่านสื่อที่คนเมืองผลิต เช่นละคร และภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้อาจสร้างบาดแผลร้าวลึกในความคิดของคนชนบทที่รอวันเอาคืนอย่างสาสม และหากคนชนบทไม่สามารถมองข้ามความขัดแย้งนี้ไปได้ สองนคราประชาธิปไตยของอาจารย์อเนกก็จะกลับมา การแบ่งแยกเมืองกับชนบทก็จะดำรงอยู่ต่อไปและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แตกต่างเพียงแค่ตัวผู้ปกครองเปลี่ยนจากเมืองเป็นชนบท และผู้ถูกปกครองเปลี่ยนจากชนบทกลายเป็นเมืองเท่านั้น

 

 

รายการอ้างอิง
เอกสารภาษาไทย

เกษียร เตชะพีระ. 2556. “ชาวนาเอเชียในยุคโลกาภิวัตน์: มุมมองใหม่จาก Partha Chatterjee & Andrew             Walker”. เข้าถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2556. http://blogazine.in.th/blogs/kasian/post/4251
จักรกริช สังขมณี. 2554. “ย้อนคิดว่าด้วยชีวิตทางการเมืองของชาวบ้าน: การเมืองในชนบทที่มากกว่าการ
เลือกตั้งและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ปีที่ 30 ฉบับที่ 2.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2553. ความคิดทางการเมืองของฌาคส์ ร็องซีแยร์. กรุงเทพฯ: สมมติ.
ณรงค์ เส็งประชา. 2523. สังคมวิทยาเมืองและชนบท. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์.
ทามาดะ โยชิฟูมิ. 2556. “การจับมือเป็นพันธมิตรกันของพลังต้านประชาธิปไตย”. เข้าถึงเมื่อวันที่ 4  สิงหาคม   2556. http://prachatai.com/journal/2013/08/48377/
ไทยสปริงฟอรั่ม. 2556. เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2556. https://www.facebook.com/ThaiSpringForum
ประภาส ปิ่นตบแต่ง. 2553. การลุกขึ้นสู้ของคน “ยอดหญ้า” บทวิเคราะห์ในเชิงมิติการเมือง. Red Why: แดง  ทำไม. กรุงเทพฯ: โอเพ้นบุ๊กส์.
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. 2555. “บทวิเคราะห์ธรรมกาย กฎหมายหมิ่นศาสนา และอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ซ้อน รัฐ”. เข้าถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2556. http://www.prachatai.com/journal/2012/04/39991
ว.วชิรเมธี. 2556. “วันแห่งการให้”. กรุงเทพฯ: สถาบันวิมุตตยาลัย.
วี-รีฟอร์ม. 2555. “รายงาน: คนไทยอ่านอะไร? บทสำรวจสถานการณ์การอ่านในประเทศไทย”. เข้าถึงวันที่ 4   สิงหาคม 2555.  http://v-reform.org/v-report/reading-in-thailand/
เวียงรัฐ เนติโพธิ์. 2553. สามเหลี่ยมไม่เขยื้อนภูเขา: บริบทเชิงโครงสร้างของขบวนการคนเสื้อแดง. Red Why: แดงทำไม. กรุงเทพฯ: โอเพ้นบุ๊กส์.
สามชาย ศรีสันต์. 2555. “ระบบความคิดเชิงคำสั่งในวาทกรรม ‘ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง’”. ฟ้าเดียวกัน ปี ที่ 10 ฉบับที่ 1. 192-193.
สำนักงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สปพ.)(1). เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2555.   http://www.chumchon.go.th/index1.php
สำนักงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สปพ.)(2) “ลักษณะโครงการที่ขอรับการ สนับสนุน”. เข้าถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2555. http://www.chumchon.go.th/ruleNext1.php
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2555. “การสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2554”. กรุงเทพ: ไอดี ออล ดิจิตอล    พริ้นท์.
สำมะโนประชากรและเคหะ. 2543. “อีสานครองแชมป์ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพ”. เว็บไซด์สำมะโนประชากรและ เคหะ. เข้าถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2556.   http://popcensus.nso.go.th/topic.php?cid=9
เอนก เหล่าธรรมทัศน์. 2552. สองนคราประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: คบไฟ.

รายการภาษาอังกฤษ
Chatterjee, Partha. 2008.”Peasant cultures of the twenty-first century”.Inter-Asia Cultural Studies.9:1. 121.
Pasuk Phongpaichit. 2005. “Developing Social Alternatives: Walking Backwards into a Khlong”, in Thailand Beyond the Crisis, ed. Peter Warr, Routledge.

รายการเอกสารข่าว
“พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ จากกบฏ “เสธ.ฉลาด” สู่ปฏิบัติการ “แช่แข็งประเทศ”. (2555, 18 พ.ย.). มติชน ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2555. “http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1353213032&grpid=01&catid=01
“พิทักษ์สยาม แถลงจุดยืนไล่รบ. ปัดแช่แข็งปท.-โวแนวร่วมครึ่งล้าน”. (2555, 14 พฤจิกายน). แนวหน้า. เข้าถึง วันที่ 4 สิงหาคม 2555. http://www.naewna.com/politic/30096
“วัดพระธรรมกาย จัดตักบาตร 8 ก.ย.แนะเลี่ยงหน้าเซ็นทรัลเวิลด์”. (2556. 4 กันยายน). Voice TV. เข้าถึงเมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม 2556. http://news.voicetv.co.th/thailand/80765.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท