ออก 6 ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามมั่วสุม-แพร่ข่าวเท็จ-ห้ามใช้เส้นทาง

23 ม.ค.2557  ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงนามโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นอาศัยอํานาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนด 6 ข้อประกอบด้วย 

1. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
2.ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร
3.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกําหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด
4.ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด
5.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กําหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนหรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด
6.ในการดําเนินการตามข้อ 1-5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกําหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกําหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศ เรื่อง การกําหนดอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอํานาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้บรรดาอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายโอนมาเป็นอํานาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

 

รายละเอียดมีดังนี้

ข้อกําหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ ประกอบมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ แล้ว นั้น

เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ และมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนด ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รบผั ิดชอบประกาศกําหนด เว้นแต่เป็นการชุมนุมตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ข้อ ๒ ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

ข้อ ๓ ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกําหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด

ข้อ ๔ ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด

ข้อ ๕ ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กําหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนหรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด

ข้อ ๖ ในการดําเนินการตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกําหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกําหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

 

ประกาศ
เรื่อง การกําหนดอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอํานาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ แล้ว นั้น

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๗ วรรคสอง และวรรคหก แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บรรดาอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายโอนมาเป็นอํานาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ดังต่อไปนี้

๑. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑

๒. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗

๓. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒

๔. พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๓๐

๕. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐

๖. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. ๒๔๙๓

๗. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

๘. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒

๙. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

๑๐. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐

๑๑. พระราชบัญญัตวิ่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐

๑๒. พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑

๑๓. พระราชบัญญัติควบคุมน้ํามันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๒

๑๔. พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

๑๕. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

๑๖. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ หน้า ๒

๑๗. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒

๑๘. พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔

๑๙. พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘

๒๐. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม

๒๑. ประมวลกฎหมายอาญา

๒๒. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อํานาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อํานาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ

ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย

ให้ผู้กํากับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ได้รับมอบหหมายจากนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๗ วรรคหก แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ใช้อํานาจตามประกาศนี้แทนนายกรัฐมนตรี และในการใช้อํานาจตามที่ได้รับมอบนี้ผู้รับมอบต้องใช้ตามความจําเป็นและเหมาะสม และให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุในกรณีที่มีความจําเป็นต้องกําหนดอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอํานาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม ให้ผู้กํากับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

 

ประกาศ-คำสั่ง

ก่อนหน้านี้ (21 ม.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 57 เป็นเวลา 60 วัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 ฉบับ โดยประกาศและคำสั่งลำดับที่ 1-4 ลงนามโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดังนี้

1.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีสาระสำคัญว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและกระบวนการใช้กฎหมายยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศและเกิดความเสียหาย หรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นการชุมนุมโดยไม่สงบและมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในการประชุมวันที่ 21 ม.ค. 57 ได้เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว โดยให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 22 ม.ค.- 22 มี.ค. 57

2.ประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุถึงการให้อำนาจต่างๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่รวม 12 ข้อ อาทิ ให้อํานาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ที่สงสัยว่าจะเป็ผู้ร่วมกระทําการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทําเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทําให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน การให้มีอํานาจออกคําสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทําการหรือสนับสนุนการกระทําให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน การให้อำนาจออกคําสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง การให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งห้ามการกระทำที่เป็นการปิดการจราจรและเส้นทางคมนาคมในทุกเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงยังมีการกำหนดให้ข้าราชการทหารช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน

3. คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่พิเศษ 1/2557 เรื่องการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) โดยมี รมว.แรงงาน เป็นผู้อํานวยการ ศรส. ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อํานวยการ ศรส. ส่วนกรรมการ ศรส. ประกอบด้วย ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงพลังงาน อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน ผู้อํานวยการสํานักข่าวกรองแห่งชาติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ ผู้แทนเลขาธิการกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

4. คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่พิเศษ 2/2557 เรื่องแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และ

5. คําสั่งนายกรัฐมนตรี ที่พิเศษ 3/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะบุคคลเป็นที่ปรึกษาการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงนามโดย รมว.แรงงาน มีคําสั่งแต่งตั้งคณะบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธานที่ปรึกษา นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานฯ ส่วนที่ปรึกษา คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นที่ปรึกษาและโฆษกและเลขานุการ ส่วนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยเลขานุการ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท