พท.แถลง 9 ข้อ ปมเลื่อนเลือกตั้ง ยัน กกต.ไม่มีอำนาจร้อง-ศาล รธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัย

‘โภคิน พลกุล’ พร้อมผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงข้อคิดเห็นและข้อโต้แย้งทางกฎหมายรวม 9 ประเด็น ยัน กกต.ไม่มีอำนาจร้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีวินิจฉัยอำนาจเลื่อนเลือกตั้ง ส่วนศาลก็ไม่มีอำนาจรับวินิจฉัย
 
23 ม.ค.2557 เมื่อเวลา 16.00 น.นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายพนัส ทัศนียานนท์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงกรณี กกต.ยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญปมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว
 
นายโภคินกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อคิดเห็นและข้อโต้แย้งทางกฎหมายรวม 9 ประเด็น ยืนยันว่า กกต.ไม่มีอำนาจร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยด้วยเหตุผลดังนี้
 
1.  รัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติให้องค์กรใดมีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งกรณีมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการตราพระราชกฤษฎีกา
 
2. เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง ที่การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น ยังไม่เกิดขึ้น กลับจะไปทูลเกล้าฯ ให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไป
 
3. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม.78 บัญญัติ ให้เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ ในกรณีที่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ซึ่งหมายถึงเฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา  ไม่ใช่การเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศตามรัฐธรรมนูญ ม.108
 
4. กกต. ไม่มีสิทธิเสนอเรื่องเลื่อนการเลือกตั้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญ ม.214บัญญัติ ให้ทำได้เฉพาะกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา ครม. หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เท่านั้น กรณีที่เป็นปัญหานี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับ กกต. เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจดังได้กล่าวมาแล้วไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรี โดยตรงตามรัฐธรรมนูญ
 
5. ประเด็น เรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง เป็นความคิดเห็นของ กกต. ที่มีอำนาจจัดการการเลือกตั้ง แต่ต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.2557  จึงมิใช่ประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
 
6.ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำสั่งที่ 23/2553 เมื่อ 30 มิ.ย.53 วินิจฉัยไว้แล้วว่า จะต้องเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร ตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป อันเป็นอำนาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น... ถ้าเป็นเพียงความเห็นที่ต่างกัน เกี่ยวกับการใช้และการตีความกฎหมาย ย่อมไม่ใช่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง 2 องค์กร
 
7. ดูเหมือนเป็นขบวนการร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายและองค์กรต่างๆ ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ซึ่งฝ่ายที่ไม่ให้เกิดการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบต่อผลทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น
 
8. เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า มีบุคคลหลายกลุ่ม ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการกับนายสุเทพ และกลุ่ม กปปส. และแนวร่วมว่า มีการกระทำอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั่น คือ ล้มล้างการปกครอง หรือ ให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องไปหลายคำร้อง โดยไม่ไต่สวน ทั้งๆ ที่เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งโลกว่า เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย
 
และ 9. ถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้ง ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในส่วนของ กกต. เช่น ค่าพิมพ์บัตร ค่าเตรียมการต่างๆ และที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายของพรรคและผู้สมัครที่ใช้จ่ายไปแล้ว
 
ด้านนายเรืองไกร กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและจะวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าศาลยังไม่ได้เรียกผู้ถูกร้องไปไต่สวน ซึ่งต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมา ทั้งนี้ คาดว่าศาลจะตัดสินไป 2 แนวทาง คือ ให้อำนาจ กกต.ในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งต้องถามว่า กกต.จะดำเนินการอย่างไรหรือวินิจฉัยให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งศาลต้องตอบให้ชัดว่าใช้บทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ
 
ด้านนายพนัส กล่าวว่า ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เข้ามาตรา 214 ก่อนหน้านี้ กกต.ไม่ได้อ้างว่าตนเองมีอำนาจหน้าที่อะไร กระทั่งไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถามว่าอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นของ กกต.หรือรัฐบาล ซึ่งประเด็นที่ตั้งไปแสดงให้เห็นชัดว่า กกต.ได้ปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายคนใหม่แล้ว ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มาด้วยตัวเอง ทั้งนี้ หากมีความพยายามเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แน่ใจได้ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
 
“ส่วนอะไรจะเกิดตามมา ต้องประเมินด้วยว่าคนไทยข้างที่อยากเลือกตั้งหรือไม่เอาเลือกตั้งมีมากกว่ากัน หากกรณีที่ศาลให้ กกต.มีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไป พรรคคงจะทำอะไรไม่ได้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ถ้าเขาออกมาทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งบ้างจะเป็นอย่างไร ดังนั้น อย่าดูหมิ่นไทยเฉย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้คงไปที่กำหนดเดิม คือ 2 พ.ค.และเมื่อถึงช่วงนั้นก็จะมีเหตุแทรกซ้อน ทำให้ต้องเลื่อน จนสุดท้ายก็ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็เป็นได้ แต่จะไม่มีผลต่อนายกฯ ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา” นายพนัสกล่าว
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท