Skip to main content
sharethis
28 ม.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางถาวร ธนะสิงห์ วัย 63 ปี พร้อมชาวบ้านหินโหง่น ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีที่สาธารณะประโยชน์โคกภูพระทับซ้อนที่ดินทำกิน เดินทางไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดยโสธร เพื่อติดตามเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา
 
 
หลังจาก เมื่อวันที่ 22 ม.ค.57 การจัดประชาคมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อน ที่ศาลาประชาคมบ้านหินโหง่น หมู่ 10 ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร โดยเทศบาลตำบลกุดแห่ล้มเหว ชาวบ้านที่มาเข้าร่วมกว่า 700 คน ไม่ยอมรับ และต่างทยอยเดินออกจากศาลาประชาคม เนื่องจากการลงคะแนนไม่มีความไม่ชัดเจน
 
ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวมีการลงคะแนนเพียงหมู่บ้านเดียว ส่วนหมู่บ้านที่เหลือทางเทศบาลตำบลฯ ระบุว่าจะลงไปจัดการประชาคมเองให้ครบทุกหมู่บ้าน
 
นายไสว มาลัย คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ตั้งข้อสังเกตว่า มีความไม่ชอบมาพากลของเทศบาลตำบลกุดแห่ที่พยายามสร้างเงื่อนไขไปสู่ความไม่ชอบธรรมมาแต่แรก โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ย.56 ที่ประชุมของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่สาธารณประโยชน์โคกภูพระทับซ้อนที่ดินทำกินของราษฎรมีมติจากการที่จังหวัดยโสธรส่งหนังสือถึงสำนักงานปฏิรูปที่ดิน และให้สภาเทศบาลตำบลกุดแห่จัดการประชาคมหมู่บ้านขอความเห็นจากเสียงส่วนใหญ่ด้วยการลงคะแนนเสียง ในประเด็นที่สาธารณประโยชน์โคกภูพระ บนพื้นที่พิพาทกว่า 233 ไร่ ให้คงเหลือไว้ 150 ไร่เพื่อออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4 – 01 ให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่
 
นายไสว กล่าวว่า ได้เข้าไปประสานทางเทศบาลตำบลกุดแห่ว่าการประชาคมนั้นควรที่ได้รับความเห็นชอบจากราษฎร์ทั้งหมด 13 หมู่บ้านในตำบลกุดแห่ ควรเชิญเข้ามาร่วมลงความเห็นทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติ เทศบาลฯ กลับจัดให้เฉพาะเพียง 6 หมู่บ้าน ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่พิพาทที่สุดเท่านั้น
 
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวต่อไปว่า ความผิดแปลกอีกระดับหนึ่งคือ สภาเทศบาลไม่ได้เตรียมการในการประชาคมให้ไปสู่ข้อยุติที่เป็นธรรมและถูกต้องเท่าที่ควรจะเป็น พร้อมทั้งไม่ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางสำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร และหรือสำนักงานที่ดินอำเภอเลิงนกทาแต่อย่างใด ทั้งที่การประชาคมนั้นมีความสำคัญ ต้องมีหน่วยงานภาครัฐในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเข้ามาร่วมด้วย ตนทราบเรื่องจึงได้ทำการประสานไปเอง แต่ครั้งนี้สามารถประสานหน่วยงานที่เข้าร่วมได้คือ สำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธรสาขาเลิงนกทาและปลัดอำเภอเลิงนกทาเท่านั้น
 
การประชาคมครั้งนี้เทศบาลตำบลกุดแห่ อ้างว่ามีผู้เข้าร่วมเพียงจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถยืนยันได้ทั้งหมด และอ้างอีกว่าหากผู้ลงคะแนนครั้งนี้ผลออกมาจะไม่เป็นที่ยอมรับของหมู่บ้านที่ยังไม่ได้มาลงคะแนนจะก่อให้เป็นปัญหากันอีกต่อไป จึงขอจัดให้ประชาคมได้เพียง 1 หมู่ คือหมู่ที่ 10 (บ้านหินโหง่น) จากนั้นจะค่อยไปจัดตามต่อที่เหลือให้ครบทั้ง 13 หมู่บ้าน
 
“เหตุใดก่อนหน้านี้ ทางสภาเทศบาลตำบลฯ จึงไม่เตรียมการประสานงานให้ครบทั้ง 13 หมู่บ้าน และเมื่อมาถึงวันประชาคมกลับนัดมาเพียง 6 หมู่ และจัดให้มีการประชาคมเหลือเพียงหมู่บ้านเดียวเท่านั้น” ไสวตั้งคำถาม
 
ไสว กล่าวด้วยว่า หากมองย้อนไปเมื่อปี 2554 ที่หน่วยงานที่ดินทางจังหวัดยโสธร มีหนังสือมาถึงสำนักงานปฏิรูปที่ดิน และได้ทำการส่งต่อถึงสภาตำบลกุดแห่ เพื่อให้จัดการทำประชาคมหมู่บ้านให้เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นว่าควรที่จะออกเอกสารสิทธิ์ สปก-01 หรือไม่ แต่ทางสภาตำบลกุดแห่ กลับไม่ปฏิบัติตาม และยังใช้กฎหมายบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ อีกทั้งเมื่อต้นปี 2556 สภาตำบลฯ ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรังวัดที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าว เพื่อที่จะพยายามออกหนังสือสำหรับที่หลวง (นสล.) ให้ได้ นี่คือความไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบของชาวบ้าน มาแต่ต้นแล้ว การประชาคมครั้งแรกนี้จึงเกิดความล้มเหลว
 
 
สำหรับการติดตามเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 นางถาวร กล่าวว่า สำนักงานที่ดินให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่พิพาทกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยต้องระบุว่ามีจำนวนกี่ราย แต่ละรายทำประโยชน์ในที่ดินกี่ไร่ เพื่อนำไปทำรายงานชี้แจงต่อที่ประชุมคณะทำงานได้ชัดเจนเพื่อที่จะกันพื้นที่ ออก ส.ป.ก.ให้ ทั้งที่เมื่อต้นเดือนมกราคม 57 ทางสภาเทศบาลตำบลกุดแห่ก็ได้จัดส่งพนักงานมารังวัดอีกรอบแล้ว
 
นางถาวร เล่าวว่า ได้ทำการสำรวจพร้อมยื่นหนังสือในข้อเท็จจริง ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน และข้อกฎหมายที่ว่าที่ดินพิพาทนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณตามที่กล่าวอ้างไปแล้ว และที่ผ่านมาได้ต่อสู้เรียกร้องเรื่องผลกระทบนี้มานานกว่า 20 ปี  ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะโยนปัญหาหรือบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบให้สิ้นสุดที่ถึงไหนอีก
 
นางถาวร กล่าวด้วยว่า เมื่อ 24 ม.ค.57 ได้ไปตามเรื่องกับปลัดอำเภอเลิงนกทา ถึงขั้นตอนผลของการทำประชาคมหมู่บ้าน หลังจากที่ล้มเหลวในวันที่ 22 ม.ค.57 ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ ก็ได้คำตอบจากปลัดอำเภอฯ ว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ทำรายงานการประชาคม เพื่อรายงานส่งต่อไปยังนายอำเภอให้แล้วเสร็จเสียก่อน ซึ่งปลัดฯ ระบุว่า น่าจะเป็นหลังเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร
 
ทั้งนี้ นางถาวร ธนะสิงห์ ถูกดำเนินคดีความเนื่องจากกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน โดย นายอำเภอเลิงนกทา (นายเสริม  ทวีเดช) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดยโสธรให้ขับไล่ ออกจากที่ดินทำกิน โดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูพระ ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร กล่าวหาว่าครอบครองที่ดินสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตน  ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ออกจากพื้นที่พร้อมทั้งบริวาร รวมทั้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย
 
ในปี 2544 นางถาวรยื่นอุทธรณ์ กระทั่งปี 2546 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนศาลชั้นต้น ระหว่างที่ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้น ได้มีการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม โดยยื่นหนังสือนำเสนอข้อเท็จจริงร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
 
นางถาวร เล่าว่า ตามกระบวนการข้อเรียกร้องได้ต่อสู้มาตลอดทุกขั้นตอนโดยยืนยันตามสิทธิข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้ตั้งอยู่ในที่สาธารณะประโยชน์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เพราะที่สาธารณะประโยชน์โคกภูพระตามประกาศนั้นทะเบียนหวงห้าม พ.ศ.2491 ตั้งอยู่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งคำสั่งอยู่ระหว่างพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าที่สาธารณะตั้งอยู่ที่ใด และในปี  2519   คณะกรรมการสภาตำบลกุดแห่ อ.เลิงนกทา  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร  สาขาเลิงนกทา  และคณะกรรมการหมู่บ้านกุดแห่ก็ได้มาทำการสำรวจรังวัด  และปักแนวเขตที่สาธารณประโยชน์  “โคกภูพระ”  แต่ปรากฏว่า  พื้นที่ดังกล่าวมีราษฎรเข้าจับจองครอบครองทำประโยชน์เต็มหมดแล้ว  จึงไม่สามารถจะขับไล่ หรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปได้ และไม่สามารถดำเนินการสำรวจและปักแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ แต่หน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกลับมีความพยายามที่จะกำหนดและประกาศหวงห้ามให้ที่ดินกรณีพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูพระ” มาโดยตลอด
 
ต่อมา ในปี 2553 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ที่ดินเอกชนทิ้งร้างและเหมืองแร่  มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีมติที่ประชุมว่า ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลฎีกาจะออกมาอย่างไรก็ตาม ให้ทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดยโสธรออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.-401 ในพื้นที่พาทให้กับนางถาวรและผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระทั่งศาลจังหวัดยโสธรอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 10 พ.ค.54 โดยยืนตามศาลชั้นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net