Skip to main content
sharethis

30 ม.ค.2557 นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดกิจกรรมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หัวข้อ “ประชาธิปไตยในรั้วมหา’ลัย” เมื่อวันที่  28 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยในสังคมที่จำลองสถานการณ์การเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับกระแสการเลือกตั้งในระดับประเทศที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม

การสนทนาที่เป็นลักษณะกึ่งทางการ มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมสนทนาได้สนทนาอย่างสนุกสนานกระตุ้นการแสดงออกทางความคิดสำหรับผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะประเด็นการสร้างการตระหนักถึงหลักความสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งในรั้วมหาวิทยาลัย ที่เชื่อมโยงไปถึงบทบาทของนักศึกษาด้านหน้าที่ สิทธิ และเสรีภาพการแสดงออกตามวิถีประชาธิปไตย

นายเจษฎา ศรีลาศาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ กล่าวถึงบรรยากาศประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยว่า “บางครั้งนักศึกษาไม่รู้จักสิทธิ และหน้าที่ของตัวเอง มองไม่เห็นเสรีภาพที่ตนเองที่พึงมีพึงได้ ซึ่งไม่ต่างจากสังคมภายนอกมหาวิทยาลัยที่ประชาชนไม่ตื่นตัวถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง หากเป็นเช่นนั้นทั้งในรั้วและนอกรั้วมหาวิทยาลัยมีแต่จะขัดไม่ให้สังคมดำเนินไปสู่สังคมประชาธิปไตย เมื่อประชาชนไม่ตื่นตัวทางการเมืองก็ส่งผลไปถึงการมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของตัวแทนด้วย”

ผู้เข้าร่วมวงสนทนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งตัวแทนของนักศึกษาเพื่อให้เข้าดำเนินงานแทนนักศึกษา มีบรรยากาศการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับต่ำไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด การมีส่วนร่วมของนักศึกษาที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย มองการมีส่วนร่วมลักษณะนี้เป็นเพียงการเลือกตัวแทนเป็นครั้งๆ ไม่ได้ส่งผลถึงการรักษาสิทธิอื่น ที่นักศึกษาพึงได้รับจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวแทนของนักศึกษาที่มีความสามารถเข้าดำเนินงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักศึกษา มองว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงเรื่องที่ต้องทำผ่านๆ ไม่มีผลกระทบกับตนเองทำให้ไม่ออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัย

นายอนุพงษ์ เพ่งพิศ ผู้เข้าร่วมวงสนทนากล่าวว่า “นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวทางการเมือง และการรักษาผลประโยชน์ตนเอง กลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นผ่านนโยบายโดยไม่รู้ตัว ในบางครั้งการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยตอบสนองต่อความต้องการของนักศึกษาไม่ตรงตามความต้องการ และตอบสนองความต้องการไม่เต็มที่ กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งใกล้ตัวหากนักศึกษายังไม่ตระหนัก อาจส่งผลต่อกระบวนการคิดของนักศึกษาเมื่อใช้ชีวิตอยู่ในสังคมภายนออก ปกติของการเลือกตั้งที่เป็นทางออกที่ดีทางออกหนึ่งในการได้มาซึ่งตัวแทนตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งนักศึกษาก็คือประชาชนในมหาวิทยาลัย”

หลังจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นแล้ว ผู้เข้าร่วมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่นักศึกษาควรให้ความสำคัญ ด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้จะทำให้เกิดการร่วมแบ่งปันความคิดและการสร้างวัฒนธรรมการยอมรับฟังเหตุผลของคนที่คิดเห็นแตกต่าง อันจะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการคิดของนักศึกษาในกระแสสังคมประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบาน การสนทนาที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องที่ใหญ่และไกลตัวนักศึกษา อาจเริ่มต้นจากประเด็นเล็กที่เกี่ยวของกับสิทธิของนักศึกษา เมื่อมีการสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้เกิดขึ้นเป็นปกติในมหาวิทยาลัยจะนำไปสู่การยกระดับประเด็นการพูดคุยเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่กว้างขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net