Skip to main content
sharethis

เสียงสะท้อน (ขำๆ) ของคนชนบทตัวเป็นๆ ที่ทำงานในกรุงเทพฯ ทั้งคนงานก่อสร้าง แม่บ้าน คนขายของ คิดอย่างไรกับการเลือกตั้ง รวมถึงข้อครหาว่าด้วยเรื่องการศึกษาต่ำ เป็นเสียงไม่มีคุณภาพ และขายเสียง บ่อเกิดหลุมดำการเมืองไทย

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ทำให้เห็นพื้นฐานความคิดของผู้คนสังคมไทยชัดเจนขึ้น ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องความเท่ากันของคน อันเป็นหลักใหญ่ใจความของระบอบประชาธิปไตย แต่บ้างก็ว่าเป็นหลุมพรางแห่งความฉ้อฉลในการเมืองไทย

ท่ามกลางข้อถกเถียงทางชนชั้น หรือในทางคุณภาพกับปริมาณ ตลอดจนข้อกล่าวหาต่างๆ ที่พุ่งไปยังชาวชนบทไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การขายเสียง อันเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเมืองไทย คำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาคือ แล้วพวกเขาคิดอย่างไรกับข้อครหานี้ คลิปวิดีโอนี้จึงถูกจัดทำขึ้นจากเหตุแห่งความสงสัยดังกล่าว ในช่วงก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญคำมีคำวินิจฉัยเรื่องเลื่อนเลือกตั้งไม่นานนัก  

อนันต์ เป็นชายหนุ่มชาวขอนแก่น เขาและทีมงานรับเหมาตกแต่งต่อเติมอาคารสถานที่ เขากล่าวว่า เขาต้องการไปเลือกตั้ง แม้แต่การเลือกตั้งระดับ อบต.พวกเขาก็ยังไปใช้สิทธิกัน เขามีบุคลิกโผงผางเมื่อถามถึงข้อครหาไม่ว่าเรื่องการศึกษาหรือขายเสียงเขามักจะมีอารมณ์ โวยวายและลุกหนี คำถามนั้นถามกว้างๆ แต่คำตอบนั้นระบุจำเพาะปฏิบัติการบอยคอตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งอย่างชัดเจน สะท้อนการติดตามข่าวสารการเมืองของเขาอย่างดี เขายังอธิบายโดยยอมรับด้วยว่าการซื้อเสียงนั้นเป็นปกติในพื้นที่ต่างจังหวัดก็จริงแต่ทุกพรรคต่างก็ทำเช่นนั้น และเป็นชาวบ้านเองที่เป็นผู้ตัดสินใจว่าอยากได้พรรคไหน

ลุงยงค์คนขายน้ำอ้อย มาจากจังหวัดอุบล เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่กรุงเทพฯ และยึดอาชีพขายน้ำอ้อยมานาน เขาอยากเลือกตั้งโดยให้เหตุผลว่าเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ปฏิบัติกันมานาน เมื่อพูดถึงการศึกษาเขาบอกว่าคนอีสานก็มีความรู้ทางการเมืองเหมือนกัน และรู้สึกไม่ดีกับการดูถูกของคนกรุงเทพฯ ส่วนเรื่องการขายเสียงเขาว่า มันมีกันทุกที่ และในกรุงเทพฯ บางทีอาจจะมากกว่าในต่างจังหวัดเสียอีกโดยหยิบยกประสบการณ์ที่เขาอยู่ในกรุงเทพฯ เห็นกรุงเทพฯ มานาน

ลออ มาจากจังหวัดพิจิตร เธอเป็นช่างปูนของบริษัทก่อสร้างใหญ่แห่งหนึ่ง เธอว่ารายได้จากงานก่อสร้างนั้นดีกว่าการทำนาทำสวนที่บ้าน ทั้งยังได้รับสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม วันหยุดพักร้อนก็มีให้อย่างเป็นระบบ เธอยึดอาชีพนี้มานานนับสิบปีแต่บางช่วงก็กลับไปอยู่บ้าน เธอและพรรคพวกสร้างคอนโดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯมาแล้วนับไม่ถ้วน

เมื่อถามนอกรอบถึงค่าแรง เพื่อนของเธอที่ล้อมวงคุยอยู่ด้วยกล่าวว่า เมื่อก่อนระดับกรรมกรจะอยู่ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำของช่วงนั้นๆ และค่อยๆ ขยับทีละสองสามบาท จนล่าสุด ก่อนที่จะขึ้นค่าแรง 300 บาท ค่าจ้างของกรรมกรขึ้นพรวดจาก 230 กว่าบาท

“ขึ้นแบบกระโดดเลย ยิ้มกันเลย ข้าวของเขาบอกว่าแพงขึ้นก็ไม่เป็นไรหรอก ค่าแรงมันแพงขึ้นกว่าเดิมเยอะ สำหรับพวกแรงงานไม่มีฝีมืออะนะ” กรรมกรหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนลออสะท้อนแนวคิด

เธอคิดว่าการเลือกตั้งจะเป็นหนทางแก้ปัญหาไม่ให้ “ไปกันใหญ่” เธออกว่าเตรียมจะลงทุนกลับไปเลือกตั้ง ยอมเสียค่าโอทีทำงานวันอาทิตย์ 600-700 บาทและเสียค่ารถกลับบ้านเอง

เมื่อถามถึงข้อครหาว่าคนชนบทไม่มีการศึกษาและขายเสียง เธอกล่าวว่า “คนที่พูดคงไม่ทันได้คิด คนต่ำก็ต้องอาศัยคนสูง คนสูงก็ต้องอาศัยคนต่ำ ความคิดอย่างนี้ไม่ถูก คนจน เราทำงานอย่างนี้ก็จริงแต่ไม่ได้คดโกงใคร มีประชาธิปไตยเราก็อยากใช้ตรงนี้”

“เราก็มีสิทธิเท่าคนอื่น เราทำงานเขาก็หักภาษีเหมือนกัน ทำงานไม่ใช่ว่าไม่เสียภาษี”

“ฟังแล้วมันก็เฉยๆ แต่บางครั้งมันก็นึกเหมือนกัน เลือกชั้นวรรณะมันก็คิดเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้โกรธเขาหรอก”

วิลาวรรณ ชาวขอนแก่น แม่บ้านในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งกล่าวว่า เธอเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งเนื่องจากมันทำให้เธอซึ่งไม่ได้มีการศึกษาระดับปริญญาเอกเหมือนอาจารย์ต่างๆ มีความรู้สึกเท่าเทียมกัน รู้สึกเป็นหนึ่งเสียงที่เป็นที่ต้องการ

"ไม่ใช่ว่าห้าคนต่อคนไม่ใช่ ไม่ใช่เราไปรวมกันกู้ ธกส.นี่ เรามีสิทธิหนึ่งใช่ไหม"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net