หน้าที่ในการใช้ “สิทธิเลือกตั้ง” กับการเสียสิทธิบางประการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะนี้เกิดความความสับสนงงงวยขึ้นในหมู่ประชาชนกลุ่มที่ต่อต้านการเลือกตั้งว่าจะ Vote No หรือ No Vote ดี เพราะการไม่ไปเลือกตั้งนั้นถือเป็นการไม่ทำ “หน้าที่” จะทำให้เสียสิทธิบางประการไปด้วย   ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่พูดกันมาตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 รวมถึงการเลือกตั้งทุกครั้ง ก็เกิดความหวั่นไหวในใจของผู้ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่เนืองๆ   รวมถึงเห็นข่าวนักการเมืองโดนตัดสิทธิเพราะไม่ไปเลือกตั้งอีกหลายครั้ง

หากดูกฎหมายไทยว่าด้วยการเลือกตั้งอยู่ที่ใดมีรายละเอียดเช่นไร ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนก็ลองไล่ดูว่า “สิทธิการเลือกตั้ง” อยู่ ณ ที่แห่งใดในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย กลับไม่เจอ แต่พอหาไปเรื่อยๆจะพบว่า การเลือกตั้งกลายเป็น “หน้าที่” และถูกแยกออกไกลห่างจากสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ จนเราอาจจะหลงลืมกันไปเสียแล้วว่า

“เราเลือกตั้งกันไปทำไม”
หรือ
“การเลือกตั้งเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆอย่างไร”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550ได้บัญญัติไว้ใน
มาตรา 72  บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ ย่อมได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ

การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งและการอำนวยความสะดวกในการ ไปเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งเป็น “วิธีการ” ที่สำคัญในการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและการดำรงอยู่ของรัฐ หากท่านเทียบกับหน้าที่ต่างๆ ที่อยู่ในหมวดหน้าที่   ดังนั้นการไม่ไปใช้สิทธิ หรือการขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องร้ายแรง และมีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ที่ออกตามนัยยะแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนทำได้ตามกรอบแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง คือ การไปใช้สิทธิเลือกจะแสดงออกแล้วแต่ใจท่านปรารถนา จะเลือกพรรคใด ใคร หรือกางดออกเสียง ก็แล้วแต่ท่าน  สรุป รัฐธรรมนูญบอกว่า ต้องไป Vote No ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง No Vote จะเสียสิทธิทางการเมือง

ความลักลั่นดังกล่าว และความมึนงงของผู้เขียน เกิดขึ้นจากการความคุ้นชินที่ “สิทธิในการเลือกตั้ง” ตามระบบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐไทยนั้น ได้ปัญญัติให้สิทธิในการเลือกตั้งอยู่ใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ข้อ 21.
(1) บุคคลมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในรัฐบาลแห่งประเทศของตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยผู้แทนซึ่งผ่านการเลือกอย่างเสรี
(2) บุคคลมีสิทธิเข้าถึงเท่ากันในบริการสาธารณะในประเทศของตน
(3) เจตจำนงของประชาชนจะเป็นฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะแสดงออกโดยการเลือกตั้งเป็นครั้งเป็นคราวอย่างแท้จริง ด้วยการให้สิทธิออกเสียงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันและโดยการลงคะแนนลับหรือวิธีการลงคะแนนอย่างเสรีที่คล้ายคลึงกัน”

ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมีผลผูกพันรัฐไทยในฐานะกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ เนื่องจากรัฐไทยได้ยึดถือและปฏิบัติตามเสมอมาทั้งในการแสดงตนในเวทีระหว่างประเทศ และการรับหลักการสิทธิมนุษยชนเข้ามาอยู่ในระบบกฎหมายไทย ผ่านทางรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐไทยยังเป็นภาคีสมาชิกของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง โดยมีการให้สัตยาบันโดยรัฐสภาและอนุวัติการออกมาเป็นพระราชาบัญญัติบังคับใช้ในกระบวนการทางกฎหมายทุกระดับของรัฐ

ซึ่งสิทธิในการเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะ นั้นกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ระบุไว้ใน

ข้อ 25.
พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส โดยปราศจากความแตกต่างดังกล่าวไว้ในข้อ ๒ และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร
(ก) ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจโดยตรง หรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้รับเลือกมาอย่างเสรี
(ข) ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และโดยการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก
(ค) ในการที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตน ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปแห่งความเสมอภาค”

อย่างไรก็ดีเมื่อไทยรับสิทธิเลือกตั้งเข้ามาในระบบกฎหมายไทยแล้ว ก็ได้บัญญัติในระบบกฎหมายไทยผ่านรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดว่า

หากประชาชนไม่ไปทำ “หน้าที่” จะเสียสิทธิ 4 ประการ ตามมาตรา 26 พรบ.ประกอบการเลือกตั้งฯ คือ

1.สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
2.สิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
3.สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส., ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
4.สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

สิทธิกลุ่มทั้ง 4 ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในระบบผู้แทนโดยตรง ผู้เขียนเห็นด้วยหากจะตัดสิทธิเหล่านี้ หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนก็ไม่ควรอาสามาเป็นผู้แทน หรือคัดค้านการเป็นผู้แทนของคนอื่นๆ ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกัน 

แต่สิทธิทั้ง 4 ประการ ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองนอกระบบผู้แทนในระดับการปกครองที่แตกต่างกัน คือ ระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น

หากวิเคราะห์ในเชิงสัดส่วนความเหมาะสมในการตัดสิทธิอันเนื่องมาจากการไม่ใช้สิทธิ จะเห็นได้ว่ามีความลักลั่นกันอยู่ เพราะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สมาทานประชาธิปไตยแบบตัวแทนระดับหนึ่ง และเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิในการเลือกผู้แทนในอีกระดับหนึ่ง แต่ยังประสงค์มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเองในแต่ละระดับแตกตางกันไป ย่อมเป็นการผลักให้คนเหล่านี้ลงสู่ท้องถนนเพื่อต่อรองแทนการเข้าร่วมทางการเมืองในระบบที่เปิดช่อง เนื่องจากโดนตัดสิทธิ

ซึ่ง การตัดสิทธิทางการเมือง เพราะไม่ทำหน้าที่ใช้สิทธิ นั้นมีความลักลั่นอยู่มากทั้งในเชิงระบบการวางสิทธิทางการเมืองให้เชื่อมโยงกับสิทธิอื่นๆ และความสัมพันธ์กับการจัดบริการสาธารณะในระดับชาติและท้องถิ่น   ยังไม่นับรวมถึงความยุ่งยากหลายประการที่เกิดจากการจัดการเลือกตั้งไม่สำเร็จที่นับไปสู่การเสียสิทธิ

การแยกสิทธิทางการเมืองออกจากสิทธิในบริการสาธารณะของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยสมัครใจเข้าผูกพันนั้น  ได้ส่งผลกระทบอย่างที่ผู้ร่างกฎหมายอาจมิได้เล็งเห็นผลไว้ในวันที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ   แต่ในขณะนี้ที่เห็นผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายกรณีศึกษา   คงถึงเวลาที่เหล่านักกฎหมายต้องกลับมาทบทวนประเด็นนี้กันใหม่อีกครั้ง   เพราะการตัดสิทธิทางการเมืองมีผลต่อการร่วมตัดสินใจในนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่สัมพันธ์กับบริการสาธารณของประชาชน ทั้งการปกครองระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพื่อมาส่งเสริมสวัสดิการและสิทธิต่างๆ และการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารมิให้ใช้งบประมาณหรืออำนาจจนกระทบสิทธิประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะ

อย่างไรก็ดี ตราบเท่าที่การเลือกตั้งยังเป็น “หน้าที่” และหากไม่ไปทำหน้าที่ก็โดนตัดสิทธิทางการเมืองหลายประการ   ประชาชนจึงต้องไปใช้สิทธิอย่างเสียไม่ได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งไหนๆ ก็ตาม   ดังนั้นการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการประกันการใช้สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง จึงต้องเข้มแข็งเป็นอันมาก 

หากประชาชนไม่อาจเข้าไปใช้สิทธิได้เนื่องจาก กกต. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความเรียบร้อย ย่อมเป็นการทำให้ประชาชนเสียทั้งสิทธิในการเลือกตั้งปกติธรรมดา และยังเสียสิทธิทางการเมืองอื่นๆอีกเมื่อไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ดังนั้นบทบาทของหน่วยงานที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเพื่อประกันสิทธิของประชาชนจึงต้องยึดมั่นหลักกฎหมายเพื่อหลักสิทธิประชาชนทุกคนให้ได้ใช้สิทธิ และไม่เสียสิทธิทางการเมืองดังที่ปรากฏไปแล้ว   เช่นเดียวกับประชาชนที่ใช้สิทธิชุมนุมก็ต้องควบคุมการใช้สิทธิของตนมิให้เกิดขอบเขตจนเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้อื่นอย่างร้ายแรง เนื่องจากสิทธิทางการเมืองถือเป็นสิทธิสำคัญมากในสถานการณ์ที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และต้องการการกำหนดอนาคตสังคม “ร่วมกัน”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท