อวัตถุศึกษากับอธิป: ERGO แอปป์ใหม่ระบุตัวตนด้วยหู

ประมวลข่าวสารลิขสิทธิ์รอบโลก นำเสนอข่าวงานวิจัยพบ 1% ของวงดนตรีในโลกเป็นเจ้าของยอด like, follower และ view ราว 80% บนโซเชียลมีเดีย ที่เหลือมีส่วนแบ่งไม่ถึง 3%, PSY ยังครองแชมป์ยอดวิว YouTube สูงสุดใน 2013

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

รายงานของ Next Big Sound ชี้ว่านักดนตรี/วงดนตรีในโลก 1% เป็นเจ้าของยอด Like (บน Facebook), ยอด Follower (บน Twitter) และยอด View (บน YouTube) ราว 80% ในขณะที่นักดนตรี/วงดนตรี 90% มีส่วนแบ่งในยอดเหล่านี้ไม่เกิน 3%

คำขวัญว่า "We're the 99%" ของเหล่านัก Occupy ดูจะเป็นจริงหากกำลังหมายถึงเหล่านักดนตรีที่ไม่เคยติดชาร์ตอัลบั้มของบิลบอร์ด

เพราะทาง Next Big Sound เป็นสำนักวิจัยเอกชนที่ติดตามความก้าวหน้านักดนตรี/วงดนตรี (ต่อไปจะเรียกว่า "วงดนตรี" เฉยๆ) กว่า 1 ล้านคน/วงทั่วโลกบนโลกออนไลน์สำรวจมาแล้ว และพบว่าวงดนตรี 99% ของโลกไม่เคยผลิตงานที่ได้ขึ้นไปสัมผัสชาร์ตอัลบั้มของบิลบอร์ดหรือที่เรียกว่า Billboard 200

นี่อาจจะไม่แฟร์นัก เพราะก็ไม่ใช่เพลงจากที่ไหนในโลกจะไปติดชาร์ตบิลบอร์ดกันได้หมด เพราะอย่างน้อยๆ ตลาดงานดนตรีในญี่ปุ่นที่เงินหมุนเวียนน้องๆ สหรัฐอเมริกาก็เต็มไปด้วยวงดนตรีที่วนเวียนในชาร์ต Oricon โดยไม่เคยไปแวะเวียนใน Billboard

อย่างไรก็ดีการสำรวจนี้ก็ชี้อีกว่าวงดนตรี 90% ของโลกไม่ได้มีสัญญากับค่ายเพลง ซึ่งนี่ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการประเมินขั้นต่ำเท่านั้น (ผู้เขียนลองสุ่มๆ ค้นดูในฐานข้อมูลของ Next Big Sound ดู พบว่าแม้แต่วงระดับ อินดี้/อันเดอร์กราวด์ที่พอมีชื่อเสียงในไทยและระดับภูมิภาคอุษาคเนย์ก็ยังมีอยู่ในฐาน แต่วงอินดี้/อันเดอร์กราวด์ที่มีชื่อเสียงระดับกลางๆ ลงไปแทบไม่ปรากฎ ซึ่งวงดนตรีแบบนี้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของแวดวงดนตรีนอกกระแสด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่าตัวเลขจริงๆ ของนักดนตรีที่มีงานบันทึกเสียงนอกระบบค่ายเพลงน่าจะสูงกว่า 90%)

นักดนตรีกว่า 90% ของนี้เองที่เป็นเจ้าของยอดเจ้าของยอด Like (บน Facebook), ยอด Follower (บน Twitter) และยอด View (บน YouTube) ราวๆ 3% ของทั้งระบบเท่านั้น

ในขณะที่วงดนตรีระดับขายดีทั้งหลายที่เคยติด Billboard 200 ที่รวมๆ กันมีราว 1% ของวงดนตรีทั้งระบบเป็นเจ้าของยอดการติดตามและการเข้าชมราวๆ 80%

และอีกด้านหนึ่ง เหล่าวงดนตรีที่ได้รับการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงแต่ก็ไม่เคยติด Billboard 200 ก็คิดเป็นราว 9% ของทั้งระบบ ซึ่งวงดนตรีกลุ่มนี้ก็มียอดการติดตามและการเข้าชมราวๆ 10%

แน่นอนว่าโดยทั่วไปสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครโวยวายว่าเป็น "ความไม่เท่าเทียม" เพราะนี่เป็นการแข่งขันที่ชอบธรรมบนฐานที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกันต่อหน้าตลาด และ 80% จำนวนไม่น้อยก็ยังฝันจะกลายมาเป็น 1% สักวันหนึ่ง (ซึ่งนี่เป็นคนละเรื่องกับการกล่าวอย่างเหมารวมว่าวงดนตรีทุกวงจะต้องฝันอยากเป็น 1%)

อย่างไรก็ดี ภาวะทั้งหมดก็ดูจะสะท้อนลักษณะความสนใจใส่ใจดนตรีที่รวมศูนย์มากๆ ในยุคอินเทอร์เน็ต นี่แทบจะล้มภาพฝันอันสวยงามของหลายๆ ฝ่ายว่าอินเทอร์เน็ตจะทำให้การเกิดบริโภคงานดนตรีที่แตกต่างหลากหลาย

เพราะสุดท้ายการกระจุกตัวอาจเกิดขี้นหนักกว่ายุคก่อนอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ และผู้มีชื่อเสียงมาก่อนยุคอินเทอร์เน็ตก็ได้เปรียบมากๆ ในการแข่งขัน เพราะพวกนี้แทบจะไม่ต้องหาฐานแฟนเพลงและผู้ติดตามเพิ่ม

ซึ่งนี่เป็นคนละภาวะกับนักดนตรียุคปัจจุบันที่แม้จะมีเทคโนโลยีบันทึกเสียงราคาถูก และกลไกการนำเสนองานตัวเองแบบไม่ต้องพึ่งพานายทุนอย่างค่ายเพลงอยู่สารพัด แต่ปัญหาคือสุดท้ายผลักดันไปเพียงไรก็ยากจะมีใครสนใจ

และถ้าเชื่อการสำรวจนี้ สุดท้ายวงดนตรีนอกกระแส 80% ก็ต้องมาฝ่าฟันแย่งชิงความใส่ใจ 3% จากทั้งระบบ

และนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำไปแล้วจะได้เงินได้ทอง แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่านักดนตรี 80% นี้เป็นนักดนตรีสมัครเล่นที่มีงานประจำทั้งนั้น (และเอาจริงๆ นักดนตรีที่เซ็นสัญญากับค่ายเพลงจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้เล่นดนตรีเป็นอาชีพ)

ภาวะเหล่านี้หากดูในเชิงสถิติอาจดูหดหู่มากๆ แต่หากลงไปสัมผัสในแวดวงดนตรีนอกกระแสทั้งหลายทั้งมวลก็จะพบว่าวงดนตรีนอกกระแสทั้งหลายมีความภาคภูมิใจกับคนดูหลักร้อยในการแสดงสดครั้งหนึ่งๆ ยอดวิวหลักหมื่นในคลิป Youtube นึ่งๆ สิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จโดยตัวมันเองแล้วโดยไม่ต้องขึ้นกับเงินทองใดๆ

และหากหันกลับมาดู 1% ทั้งหลายที่มักจะมีปากมีเสียงในเวทีสาธารณะและบ่นถึงชีวิตอันยากลำบากของนักดนตรีในยุคอินเทอร์เน็ตที่ "งานขายไม่ออก" แล้ว

การบ่นเหล่านี้ก็คงจะเป็นอะไรไม่ได้นอกจากความน่าขันในเชิงเปรียบเทียบ เพราะปัญหาคงไม่ใช่ "งานขายไม่ออก" ไปมากกว่าที่พวกนี้ไม่มีปัญญาแปร "ความใส่ใจในดนตรี" ถึง 80% จากทั้งระบบมาเป็นตัวเงินต่างหาก

Source: https://www.nextbigsound.com/industryreport/2013/

 

PSY ยังครองแชมป์นักดนตรีที่มียอดวิว YouTube ในปี 2013 สูงสุด

แม้ว่าปรากฎการณ์ Gangnam Style จะเป็นเรื่องของปี 2012 แต่เพลงอย่าง Gangnam Style ก็ยังคงแรงข้ามปีในแง่ยอดวิว เพราะลำพังปี 2013 ปีเดียวยอดวิวเพลงนี้ก็เพิ่มขึ้นกว่า 800 ล้านวิวเข้าไปแล้ว

และเมื่อประกอบกับเพลงใหม่อย่าง Gentleman และวีดีโออื่นๆ ของ PSY ก็ทำให้ยอดวิววีดีโอของเขาบน YouTube ในปี 2013 มีรวมกันกว่า 1,800 ล้านวิว

นี่ทำให้เขามียอดวิวบน YouTube สูงกว่านักดนตรีที่ยอดวิวอันดับ 2 และ 3 อย่าง Macklemore (กว่า 810 ล้านวิว) และ Bruno Mars (กว่า 770 ล้านวิว) ไปกว่าสองเท่า

และเอาจริงๆ แล้วเพลงอย่าง The Fox ของคู่หูตลกอย่าง Ylvis ที่หลายๆ คนกล่าวกันว่าจะเป็น "Gangnam Style" เพลงใหม่นั้นตอนนี้ก็มียอดวิวเพียงแค่ 330 ล้านวิวเท่านั้น ซึ่งนี่สู้เพลงอย่าง Gentleman ที่ยอดตอนนี้สูงกว่า 620 ล้านไม่ได้ด้วยซ้ำ

Source: https://www.nextbigsound.com/industryreport/2013/

 

ERGO แอปป์ระบุตัวตนด้วยหู

หลังจาก Apple เปิดตัว iPhone5s ที่มีระบบระบุตัวตนด้วยการแสกนรายนิ้วมือในปี 2013 เทคโนโลยีการระบุตัวตนด้วยข้อมูลไบโอเมตริก (Biometric) ก็ดูจะเริ่มเป็นสิ่งที่ใช้กันแพร่หลายสำหรับผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น

ล่าสุดทาง Descartes Biometrics, Inc. ก็ได้ผลิตแอปป์ตัวใหม่ที่แทนที่จะใช้ลายนิ้วมือในการระบุตัวตน แต่กลับใช้รูปทรงของใบหูที่สัมผัลบนจกทัชสกรีนเพื่อระบุตัวตนแทน แอปป์นี้มีนามว่า ERGO (โหลดในราคา 3.99 ดอลลาร์ได้ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.descartes.ergo)

อย่างไรก็ดีในรีวีวเบื้องต้นจากเว็บไซต์ www.popsci.com ระบุว่า ระบบมันยังไม่เข้าท่าเท่าไร เพราะผู้ทดลอง ทดลองตั้งระบบให้มีความปลอดภัยขั้นต่ำหลังแสกนหูตัวเองลงไป แล้วก็พบว่าหูคนอื่นก็สามารถ "ปลดล็อก" โทรศัพท์ได้ แล้วพอตั้งระบบให้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง พบว่าหูตนเองกลับปลดล็อกโทรศัพท์ไม่ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น เทคโนโลยียืนยันตัวเองด้วยข้อมูลไบโอเมตริกก็ดูพัฒนาไปเรื่อยๆ และเพิ่มบทบาทเข้ามาในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

Source: http://www.popsci.com/article/technology/tested-app-authenticates-you-shape-your-ear?dom=PSC&loc=recent&lnk=4&con=tested-an-app-that-authenticates-you-by-the-shape-of-your-ear

 

คลีนิกศัลยกรรมเกาหลีใต้โดนปรับหลังรูป "ประติมากรรมกราม" หลุดมาทาง Twitter

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ผู้หญิงราวๆ 1 ใน 5 ทำศัลยกรรม และศัลกรรมที่ฮิตมาอย่างหนึ่งก็คือการ "ตัดกราม" เพื่อให้ได้หน้าเรียวเป็นรูปตัว V ตามอุดมคติความงาม ซึ่งสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท (ที่ฮิตกันขนาดนี้ก็อาจเป็นเพราะโครงหน้าตามธรรมชาติของชาวเกาหลีดูจะ "ทู่" กว่าอุดมคติเป็นส่วนใหญ่)

ในรูปนี้คือโหลใสสูงราว 60 ซม. ภายในบรรจุกรามของผู้เคยมาทำศัลยกรรมที่คลีนิกแห่งหนึ่งในย่านกังนัม (ย่านเดียวกับ Gangnam Style นั่นแหละ)

ทางคลีนิกดูจะมีจุดประสงค์ให้บรรดาผู้ทำศัลยกรรมได้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับหน้าของตนพร้อมๆ กับโชว์ฝีมือของศัลยแพทย์ในการเอาโหลนี้มาตั้งโชว์

อย่างไรก็ดีพอรูปหลุดมาทาง Twitter วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา มันก็ได้เป็นประแสนับแต่นั้น

ล่าสุด เจ้าหน้าที่รัฐของเกาหลีก็เข้าไปปรับคลีนิกแห่งนี้เรียบร้อยแล้วเป็นเงิน 3,000,000 วอน หรือราว 92,000 บาท (ถูกกว่าค่าตัดกรามด้วยซ้ำ)

ทั้งนี้กฎหมายเกาหลีระบุชัดเจนว่าชิ้นส่วนร่างกายที่หลงเหลือจากการทำศัลยกรรมต้องบรรจุใส่ภาชนะพิเศษและนำใส่ยานพาหนะพิเศษมาทำการเผาที่เตาเผาพิเศษทั้งหมด ซึ่งโทษสูงสุดคือการปรับที่คิดเป็นเงินไทยได้กว่า 300,000,000 บาท และจำคุก 2 ปี

Source: http://rt.com/news/south-korea-surgery-bones-071/

 

ศาลติดสิน Courtney Love ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาททาง Twitter

แม้ว่าจะมีคดีหมิ่นประมาทอันเริ่มมาจาก Twitter พอสมควรในอเมริกา แต่ส่วนใหญ่เรื่องราวก็ไปจบที่การยอมความกัน

คดี Courtney Love หมิ่นประมาทผู้จัดการมรดก Kurt Cobain เป็นคดีแรกที่คดีดำเนินมาชั้นศาลจนมีคำตัดสิน

คดีของอดีตนักร้องนำวง Hole ผู้นี้เกิดขึ้นเมื่อ Love ได้ทวีตข้อความว่า Rhonda J. Holmes (ซึ่งเป็นทนายผู้มาจัดการมรดกของ Kurt Cobain แกนนำวง Nirvana และอดีตสามีของ Love ผู้ล่วงลับ) ถูก "ซื้อตัว" (bought off) พร้อม Tag คนอีกสองคนในทวีต

Love ได้ลบข้อความนั้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็คงไม่รวดเร็วขนาดที่ไม่มีใครเห็นเพราะ Holmes ก็รู้เรื่องในที่สุดแล้วก็ฟ้อง

ในศาล Love พยายามจะอ้างว่าเธอเป็นพวกโง่คอมพิวเตอร์และเลยเข้าใจว่า Twitter เป็นการสื่อสารส่วนตัว และก็พยายามจะอ้างอีกว่าเธอลบทวีตอย่างรวดเร็วจนและมีแค่สองคนที่เธอ Tag เท่านั้นที่เห็น คนอื่นๆ ไม่ได้เห็นในวงกว้าง

ศาลเห็นว่าข้ออ้างทั้งหมดตกไปเพราะนอกจากจะอ้างว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้ แค่การ Tag บุคคลที่สามมาให้เห็นข้อความดังกล่าวก็ถือว่าครบองค์ประกอบของการหมิ่นประมาทแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องประเมินผู้ที่เห็นข้อความจริงๆ ว่ามี “มาก” ถึงจะนับว่าเป็นการหมิ่นประมาท

อย่างไรก็ดีพอเรื่องไปถึงลูกขุน ลูกขุนกลับตัดสินว่า Love ไม่มีความผิด

เหตุผลคือ Holmes ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า Love รู้ว่าข้อความที่ทวีตนั้น "ไม่เป็นความจริง" หรือ Love "ไม่ใส่ใจในความจริงหรือไม่จริงของข้อความ" ในตอนที่ทวีต

ประเด็นที่น่าสนใจคือนี่หมายความว่าศาลมองว่า Holmes เป็น "บุคคลสาธารณะแบบจำกัด" (ในหลักกฎหมายอเมริกา บุคคลสาธารณะแบ่งเป็นหลายแบบ บุคคลสาธารณะแบบจำกัดอธิบายง่ายๆ คือคนที่เป็นบุคคลสาธารณะแบบชั่วคราวเนื่องจากไปพัวพันกับประเด็นที่สังคมสนใจ ซึ่งพอหลุดพ้นความสนใจไป บุคคลก็จะกลับมาเป็นบุคคลทั่วไปอีกครั้ง)

เพราะมาตรฐานการพิสูจน์ความผิดของการถูกหมิ่นประมาทแบบนี้ที่ต้องลงไปในระดับพิสูจน์ความคิดของผู้หมิ่นประมาทแบบนี้คือมาตรฐานแบบบุคคลสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่าพิสูจน์ได้ยาก และมีแนวโน้มสูงที่ศาลจะยกประโยชน์ให้จำเลยว่าเป็น "การวิจารณ์โดยสุจริต"

ซึ่งนี่ต่างจากการตัดสินการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ที่ภาระการพิสูจน์การหมิ่นประมาทนั้นเพียงแค่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยไม่ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลมาอย่างเหมาะสมในการเผยแพร่

อาจจะฟังดูวุ่นวาย แต่ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ แล้วก็คือ สมมตินาย A ได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับนาย B มา นาย A ทวีตต่อทันที นาย B ฟ้อง ถ้านาย B เป็นบุคคลสาธารณะนาย B พิสูจน์ให้ได้ว่านาย A ทวีตข้อความทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่จริง หากนาย A มีความหนักแน่นว่าเขาเชื่อข่าวลือจริงๆ นาย B ก็หมดสิทธิ์จะเอาผิดฐานหมิ่นประมาท

แต่ถ้านาย B เป็นบุคคลทั่วไป แค่นาย B พิสูจน์ว่านาย A ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนเผยแพร่ นาย A ก็ถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทได้แล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่านาย A คิดว่าสิ่งที่ตนเผยแพร่เป็นความจริงหรือไม่ด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ก็ทำให้ Courtney Love รอดไปอีกคดีแม้ว่า "ปาก" ของเธอบนทวีตเตอร์จะทำให้ลูกแท้ๆ [คู่กันในรูป] เบื่อมากๆ จนออกมาบอกว่า "Twitter ควรจะแบนแม่ของฉันเสีย" ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะแม่ของเธอเคยกล่าวหาว่าอดีตสมาชิกวงเก่าของอดีตสามีที่ตอนนี้เป็นตำนานไปเองแล้วอย่าง Dave Grohl พยายามจะ "ล่อ" เธอ ซึ่งก็ต้องจบไปด้วยการขอโทษขอโพยออกสื่อกันใหญ่โต

Source:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท