Skip to main content
sharethis

31 ม.ค. 2557 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สมชัย ศรีสุทธิยากร หนึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฝ่ายจัดการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอบข้อสงสัยต่อการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ในประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องบัตรเลือกตั้ง ที่อาจไม่มีตราประทับ บางจังหวัดมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ไปจนถึงเรื่องถ้าใช้สิทธิในวันที่ 2 ไม่ได้ แล้วจะใช้ได้วันไหน รายละเอียดมีดังนี้

 

คำถามชวนสงสัยที่อาจเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.

1. บัตรเลือกตั้ง คราวนี้ ทำไมบางหน่วยมีตราประทับ บางหน่วยไม่มีตราประทับ

ตอบ เนื่องจากการจัดส่งบัตรเลือกตั้งคราวนี้มีปัญหาอุปสรรคมากมาย นับแต่ บ.ไปรษณีย์ไทย ขอยกเลิกเป็นคู่สัญญา ไม่ยอมส่งให้ โรงพิมพ์คุรุสภา ถูกปิดล้อมและทำลายแผงวงจรพิมพ์ ที่เก็บบัตรถูกเก็บล้อมไล่ล่า การตรวจรับและการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ เป็นไปด้วยความยากลำบาก

ดังนั้น กรรมการการเลือกตั้ง จึงมีมติ ให้ยกเว้นการใช้ประทับในบัตรเลือกตั้ง (เป็นแค่ระเบียบ ไม่ใช่กฎหมาย) เพื่อให้สามารถมีบัตรเลือกตั้งใช้ได้ทันในวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การมีตราประทับ เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายๆมาตรการที่ใช้ในการตรวจสอบว่าเป็นบัตรจริงบัตรปลอม เท่านั้น ยังมีมาตรการอีกหลายมาตรการที่เป็นหลักประกัน เช่น ลายน้ำที่มองไม่เห็น รหัสตัวเลขที่ซ่อนไว้ รหัสสีที่ใช้ในการพิมพ์ ซึ่งเป็นหลักประกันที่จะตรวจสอบบัตรปลอมครับ

2. ทำไม บางหน่วย จึง มีบัตรเลือกตั้ง ใบเดียว

ตอบ เกิดขึ้นจาก 2 กรณี คือ

1) หน่วยเลือกตั้งบางจังหวัดในภาคใต้ ที่ ไม่มีผู้สมัคร สส.เขต คงได้บัตรเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เพียงใบเดียว

2) ขณะนี้ บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ยังไม่สามารถนำบัตรออกมาจากจุดขนส่งที่ทำการไปรษณีย์ 3 จุด คือ ชุมพร ทุ่งสง หาดใหญ่ เนื่องจากถูกปิดล้อมโดย กปปส. หากถึงวันเลือกตั้ง บัตรยังไม่สามารถเอาออกมาได้ (รัฐบาลและ กกต.ร่วมมือกันแล้วก็ยังไม่มีปัญญา) 14 จังหวัดภาคใต้ จะมีบัตร ส.ส.เขต เพียงใบเดียว

3. ทำไมบางหน่วย มีเหตุการณ์ ไม่สงบเกิดขึ้น จนต้องยุติการลงคะแนน แล้วเหตุการณ์สงบแล้วไม่เปิดใหม่

ตอบ การตัดสินใจยุติการลงคะแนน เนื่องจากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็น เป็นอำนาจของ ประธานกรรมการประจำหน่วย และ กกต.เขต แต่ เมื่อปิดแล้ว ไม่มีอำนาจในการสั่งเปิดใหม่ได้ เพราะจะผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อปิดแล้ว ต้องกำหนดวันลงคะแนนใหม่ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในขณะที่หากเปิดๆปิดๆ ทำให้เวลาในการเลือกตั้งไม่ครบ 7 ชม. ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องต่างๆตามมา และเป็นปัญหามากกว่า

4. ทำไม เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ กกต. ไม่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง กับคนที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในวันนั้น เข้าข่ายการละเว้นฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ตอบ กกต.กลาง ได้ทำความเข้าใจและเห็นร่วมกันกับรัฐบาล ในวันที่ประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี แล้วว่า การจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. นอกจากจะต้องทำให้เกิดความสำเร็จตามกรอบของกฎหมายของเต็มที่แล้ว ยังต้องยึดถือหลักความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่นำประเทศไปสู่สถานการณ์ความรุนแรง ดังนั้น การพิจารณาตัดสินใจต่างๆ จะต้องยึดถือหลักความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นสำคัญ แต่ให้มีการบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎหมายภายหลังครับ

5. หน่วยเลือกตั้งที่ใช้สิทธิ์ไม่ได้ จะได้ใช้สิทธิ์วันไหน
ตอบเป็น 2 กรณี ครับ
กรณีแรก หากเขาเปิดอยู่ แต่เราเข้าไปไม่ได้เอง ถือว่าการเลือกตั้งสมบูรณ์ ไม่มีการจัดใหม่ให้
กรณีที่สอง หากมีการประกาศยุติการละคะแนนด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่น กรรมการประจำหน่วยไม่ครบ บัตรเลือกตั้งไม่มี มีแนวโน้มความวุ่นวาย กกต.จะจัดให้มีวันเลือกตั้งใหม่ (ยังไม่ประกาศ แต่คาดว่าน่าจะเป็น ต้นเดือนมีนาคม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net