Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"อวสาน" ในที่นี้มิได้หมายถึง การสิ้นสุดของชมรมแพทย์ชนบทแต่อย่างใด ชมรมแพทย์ชนบทก็คงยังอยู่อย่างนี้ตราบนานเท่านาน แต่คงจะต้องอยู่ในสภาพที่สิ้นไร้พลังและมนต์ขลังในการขับเคลื่อนอีกต่อไป เป็นได้แค่เพียงผู้เล่นตัวหนึ่งในเกมแย่งชิงอำนาจในระบบสุขภาพของไทยเท่านั้น ซึ่งต้องวงเล็บไว้ว่า เป็นผู้เล่นที่มีความเชื่อถือจากสังคมในระดับที่ต่ำลงมากด้วย

ในอดีต คำว่า "แพทย์ชนบท" เป็นคำที่มีมนต์ขลัง มีพลัง และมีต้นทุนในการขับเคลื่อนสังคมอย่างมาก ชมรมแพทย์ชนบทเกือบจะกลายเป็นสถาบัน ที่หากหมอจบใหม่คนไหนผ่านสถาบันนี้ได้ ก็เท่ากับมีตราประทับรับรองไปแล้วว่า เป็นคนดี เสียสละเพื่อผู้ยากไร้ เป็นผู้ชูธงการปฏิรูประบบสาธารณสุข (และในภายหลังก็มาเป็นการปฏิรูปสังคม ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นผู้นำขบวน ขยายมาเป็นตระกูล ส. ที่ สธ.กระแสหลักมองว่า เป็นพวกนอกคอก หอกข้างแคร่)

และในบริบทของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นกระทรวงที่นักข่าวคนไหน หากได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่เป็นนักข่าวประจำกระทรวงนี้ ก็จะถูกบอกต่อๆ กันมาจากรุ่นพี่ว่า ใน สธ. นี้มี 2 ขั้วอำนาจที่ขับเคี่ยวกันอยู่ ฝั่งหนึ่งคือ แพทย์ชนบท ส่วนอีกฝั่งมีชื่อเรียกไม่ตายตัว บ้างก็ว่า หมอเมือง บ้างว่า หมอสาย สสจ. (สาธารณสุขจังหวัด) แต่ไม่ว่าอีกฝั่งจะถูกเรียกว่าอะไร ฝั่งที่มีชื่อเรียกที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือ แพทย์ชนบท ซึ่งนั่นสะท้อนว่า ในอดีตการรวมกลุ่มของฝั่งแพทย์ชนบทนั้นเข้มแข็งมาก ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งกระจัดกระจาย และเพิ่งจะมาเข้มแข็งในช่วงแพทย์ชนบทยุคหลังอ่อนแอนี่เอง

มีหมอหลายคนที่มีภาพลักษณ์เป็นสายแพทย์ชนบท และเป็นภาพลักษณ์ที่สลัดยังไงก็ไม่หลุด (แม้เจ้าตัวอยากจะหลุดก็ตาม คริ คริ) ในยุคปัจจุบันนี้ หมอที่ยังอยู่ในกลุ่มของอำนาจใน สธ. ที่ถูกมองว่ามีภาพลักษณ์แพทย์ชนบทที่ชัดเจน คือ นพ.นิทัศน์ รายยวา และ นพ.สุรเชษฐ สถิตนิรามัย ซึ่งเป็นผู้ตรวจราชการทั้งคู่ นิทัศน์เคยได้ขึ้นเป็นรองปลัด แต่เพิ่งถูกปลัดเขี่ยทิ้งด้วยข้อหาไม่เข้าพวก ถูกลดชั้นมาเป็นผู้ตรวจ ขณะที่สุรเชษฐ แม้อยากขึ้นรองปลัดใจจะขาด แต่จุดสูงสุดในชีวิตข้าราชการของท่านคงมาได้แค่นี้แหละ เพราะท่านดันบังเอิญมามีภาพลักษณ์แพทย์ชนบท ในยุคที่อำนาจนำใน สธ. อยากเขี่ยแพทย์ชนบททิ้ง (ฮา)

แล้วภาพลักษณ์แพทย์ชนบทนี่มาได้ยังไงกัน

ฐานใหญ่ของแพทย์ชนบท คือ ชมรมแพทย์ชนบท ที่เป็นที่รวมตัวของบรรดาหมอๆ ใน รพ.ชุมชน เป็นชมรมแพทย์ชนบทที่มีอุดมการณ์ ต้องการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสังคม เปิดโปงการทุจริตต่างๆ ในกระทรวง ซึ่งนี่เป็นอุดมการณ์ที่ดีและน่ายกย่อง แพทย์ชนบทมา top form ก็ในรุ่นกลุ่มหมอยังเติร์ก ที่แตกหน่ออ่อนมาจากยุค 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 คือมีแนวคิดการเมืองที่ต้องการความยุติธรรมให้กับสังคม มีบทบาทการเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษาสมัยนั้น

กลุ่มนี้มีใครบ้าง ก็ได้แก่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์, นพ.อำพล จินดาวัฒนะ, นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล พวกนี้เป็นรุ่นแรก เป็นกลุ่มยังเติร์กรุ่นแรก รวมถึงบุคคลเบื้องหลัง อย่าง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีบารมี เป็นพี่ใหญ่มาจนทุกวันนี้

แล้วใครที่กลุ่มยังเติร์กพวกนี้ยกย่องให้เป็น พี่ใหญ่ ก็เช่น นพ.วิชัย โชควิวัฒน, นพ.มงคล ณ สงขลา, นพ.มรกต กรเกษม ซึ่งทำงานในชนบทมายาวนาน ก่อนจะมาเติบโตใน สธ.ภายหลัง

สมัยยังรุ่งๆ รุ่นยังเติร์กนี่สามารถขึ้นมามีอำนาจนำใน สธ. และแผ่ขยายไปยังแพทยสภาได้ง่ายๆ ลองไปดูประวัติของท่านที่ว่า ล้วนเคยมีตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการแพทยสภากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, ชูชัย ศุภวงศ์ และวิชัย โชควิวัฒน ซึ่งยุคที่แพทย์ชนบทกลุ่มนี้เป็น ก็ได้ออกระเบียบวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ดีน่ายกย่องไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกณฑ์การกระจายแพทย์สู่ชนบท หรือเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตแพทย์เฉพาะทาง

ก่อนที่ในที่สุด อีกฝ่ายเริ่มจะเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไร ปรับขบวนการต่อสู้ ฝั่งนี้มีชมรมแพทย์ชนบทเป็นฐานการเคลื่อนไหวหลัก ฝั่งโน่นก็มีบ้าง ที่สำคัญมีหลายชมรมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชมรม ผอ.รพ.ศ./รพ.ท. (ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป) ชมรม นพ.สสจ. (ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) จนมาเป็น สพศท. (สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป) ที่มี พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ เป็นหัวขบวนเคลื่อนไหวหลัก รวมถึงสภาวิชาชีพแพทย์ต่างๆ และแพทย์ชนบทก็พ่ายแพ้ราบคาบในสนามการต่อสู้แพทยสภา แพทยสภากลายเป็นหมอจาก รพ.เอกชนยึดได้อย่างเบ็ดเสร็จอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

ผลงานที่สำคัญของแพทย์ชนบทก็เช่น เปิดโปงทุจริตยา การทำ CL ยา การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนไทย ที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ทำคลอดในชื่อ 30 บาท ก็เป็นแพทย์สายนี้แหละที่ผลักดันกันมาหลายสิบปี โดยมีหัวขบวนที่เกาะติดไม่ปล่อย คือ สงวน ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นของสงวน ที่หมอชนบทรุ่นยังเติร์กคนอื่นๆ ไม่มี คือ เกาะติด กัดไม่ปล่อย เอาจนได้ ขณะที่ยังเติร์กคนอื่นๆ นี่ ทำมันทุกเรื่อง จึงหาโลโก้ให้กับตัวเองยาก มีแต่ภาพลักษณ์คนดีอย่างเดียว (ฮา)

แต่ทีนี้เมื่อพูดถึงแพทย์ชนบท กับหมอในชมรมแพทย์ชนบท มันก็จะมีความต่างเล็กๆ แต่มันก็มีจุดเชื่อมโยงกันอยู่ ชมรมแพทย์ชนบทก็เป็นองค์กรทางการ มีการเลือกตั้ง เลือกกรรมการ ประธานชมรมกันทุกปี คนที่มาเป็นแกนนำกลุ่มนี้แหละ ที่เมื่อหมดจากวาระ ก็ยังขับเคลื่อนเป็นสายแพทย์ชนบทกันอยู่ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นหมอที่อยู่ รพ.ชุมชนกันแระ แต่มาขึ้นแท่นอยู่ในแกนอำนาจของ สธ. แต่ยังไม่มีใครไปถึงตำแหน่งสูงสุดอย่าง ปลัด สธ.ได้ซะที ส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนอยู่ที่ ตำแหน่ง รองปลัด อธิบดี และผู้ตรวจ สงวนนี่ก็เป็นรองปลัดมาก่อน ก่อนจะไปเป็นเลขาธิการ สปสช.ในยุคบุกเบิกก่อตั้ง สุวิทย์ นี่ก็รองปลัด แต่ท่านนี้มีภาพลักษณ์โดดเด่นด้านงานต่างประเทศ เคียงคู่มากับ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร โดยมีสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เป็นหน่วยงานรองรับ

การเคลื่อนไหวทั้งหลาย ก็มีน้องๆ ในชมรมแพทย์ชนบทเป็นทีมทำงานให้ ซึ่งในอดีตก็เป็นปึกแผ่น มั่นคง มีความเข้มแข็งกันดี ซึ่งต้องยอมรับว่า นโยบายและสิ่งที่แพทย์ชนบทผลักดันเคลื่อนไหวนั้น ทำเพื่อสังคมทั้งนั้น ซึ่งจุดนี้ทำให้พวกเขามีแนวร่วมมากมาย โดยเฉพาะแนวร่วมสำคัญจากสื่อ ในขณะที่แพทย์อีกฝั่งหนึ่งนั้น ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเคลื่อนไหวเพื่อกลุ่มแพทย์ด้วยกันเอง

เอาแบบไม่ต้องย้อนกันไปไกลมาก ก็ความเห็นต่างแบบสุดขั้วเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคนี่แหละ ช่วงเดินหน้านโยบายนี้แรกๆ มีการคัดค้านจากกลุ่มหมออีกฝั่งอย่างมาก ถึงขั้นใส่ปลอกแขนดำเดินประท้วง โดยกลุ่มนี้เชื่อว่า 30 บาทฯ จะทำให้ระบบสาธารณสุขพัง หมออยู่ไม่ได้ ลาออก งานหนัก เงินน้อย ขณะที่อีกฝ่าย มองเรื่องการให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแน่นอน หมอต้องทำงานหนักแน่ แต่มันก็ต้องปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้เกิด 2 แนวคิดที่ปะทะกันตลอดเวลา ตอนนั้นตั้ง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) มาทำหน้าที่เดินหน้างานนี้ อีกฝ่ายก็จ้องจับผิด สปสช. ตลอด ถึงขั้นมีข้อเรียกร้องให้ยุบ สปสช. (และล่าสุดในประชาคม สธ. ที่ไล่ระบบทักษิณ อยู่ ณ เวลานี้ ก็มีข้อเสนอจากหมอกลุ่มนี้ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในประชาคม สธ. ให้ยุบ สปสช. ในขั้นตอนการปฏิรูปด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าหมอสายแพทย์ชนบทที่ไปร่วมไล่ระบอบทักษิณในประชาคม สธ. ด้วย จะว่ายังไง หรือไล่ให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาเปิดศึกกันทีหลังก็อาจเป็นได้ (ฮา))

เมื่อทิศทางการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทคือ การสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมเสมอภาค ก็ได้รับการยอมรับจากสังคม มีแรงหนุนมาก แต่เรื่องมันเริ่มมาเละเทะก็เมื่อตอนที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ขึ้นมาเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท เมื่อปี 2549 นี่แหละ เพราะว่านโยบายเด่นของเกรียงศักดิ์ คือ ผลักดันให้ ผอ.รพ.ชุมชนได้ซี 9 และเพิ่มค่าตอบแทนเบี้ยงเลี้ยงเหมาจ่าย ที่เป็นที่มาของมหากาพย์ P4P ประมาณว่า ผอ.รพ.ชุมชนที่อยู่มานาน จะได้ค่าตอบแทน บวกเงินเดือนก็แสนห้า ตอนนั้นก็อ้างว่าเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แพทย์ทำงานในชนบท แต่ถ้าใครตามติดไปอีกหน่อยจะรู้เองว่า มันผิดทิศผิดทาง เพราะแทนที่จะจูงใจให้หมอใช้ทุนอยู่ต่อ กลับไปจูงใจให้หมอที่อยู่มานานแล้วได้เพิ่ม ส่วนหมอที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า จะไปเรียนต่อเฉพาะทางดี หรืออยู่ต่อดี กลับไม่จูงใจ ได้เงินเพิ่มนิดเดียว เค้าก็ต้องไปเรียนต่อเฉพาะทาง หาความก้าวหน้าให้ชีวิตไม่ดีกว่าหรือ ดีกว่าเป็นลูกน้องหมอกลุ่มนี้ เพราะกว่าท่านจะเกษียณอายุ หมอจบใหม่พวกนี้ก็รอกันเหงือกแห้งพอดี กว่าจะได้เป็นผอ.รพ.กะเค้า

ตอนนั้นเรื่องซี 9 นี่เป็นวาระใหญ่ของชมรมแพทย์ชนบทยุคเกรียงศักดิ์มาก จับมือกับ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.ยุคนั้น จนออกระเบียบเอาเงินบำรุงมาจ่ายได้ คือช่วงนั้น แพทย์ชนบทนี่หวานชื่นกับปลัดมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะแพทย์ชนบทมักจะเป็นคู่กัดกะปลัด สธ.มาตลอด แต่ยุคเกรียงศักดิ์กะปลัดปราชญ์นี่ไม่มีเลย

ตอนนั้นเรียกได้ว่าภาพลักษณ์ชมรมแพทย์ชนบทก็เริ่มจะไม่สู้ดีแล้ว เพราะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับปลัดปราชญ์ของเกรียงศักดิ์มากเกินไป ถึงกับไปดูงานที่ต่างประเทศด้วยกันหลายครั้ง  แถมประธานชมรมแพทย์ชนบทคนนี้ก็หิ้วภรรยาไปด้วย  รวมทั้งก่อนที่ปราชญ์จะเกษียณ เกรียงศักดิ์ยังได้เขียนหนังสือให้เป็นเกียรติชื่อ "ปราชญ์ ในดวงใจ" เพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดีของหมอปราชญ์ภายหลังเกษียณจากราชการ โดยไม่สนใจกระแส "ยี้" ของสังคม

ซึ่งปราชญ์ก็เอาใจชมรมแพทย์ชนบทเต็มที่ มีแม้กระทั่งการปรับระเบียบให้ ผอ.รพ.ชุมชน สามารถสมัครเรียนหลักสูตร  นบส.สธ.ได้ (หลักสูตรนักบริหารสาธารณสุขระดับสูง ของ สธ.) ที่เตรียมไว้สำหรับขึ้นผู้บริหารระดับรองอธิบดี ซึ่งแต่ก่อนคนที่จะเรียนได้ต้องอยู่ในระดับรอง นพ.สสจ. และรอง ผอ.รพศ./รพท.

ความเสื่อมของแพทย์ชนบทก็เริ่มต้นในยุคนี้แหละ เพราะเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แถมยังยื้ออยู่ในตำแหน่งประธานชมรม ไม่ยอมจัดประชุมเลือกตั้ง ซึ่งจนบัดนี้ก็เข้าปีที่ 8 แระ และยังไม่รู้ว่าเกรียงศักดิ์ จะเป็นประธานชมรมอีกนานแค่ไหน ถึงจะพอใจ

ถามว่ารุ่นพี่แพทย์ชนบท พี่ใหญ่ทั้งหลาย รู้พฤติกรรมนี้ไหม ต้องบอกว่า รู้ดีเลยฮ่ะ แต่อาจจะด้วย ณ เวลานั้น อาจจะไม่ทันคิดว่า มันจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อต้นทุนความน่าเชื่อถือของแพทย์ชนบทในการเคลื่อนไหวประเด็นอื่นๆ ได้ถึงเพียงนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า อันตัวชมรมแพทย์ชนบทนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญของการเคลื่อนไหวของหมอสายแพทย์ชนบท เป็นผู้เล่นที่ทรงพลังในการขับเคลื่อน เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่ดี น่าเชื่อถือ

แต่พลันที่ชมรมแพทย์ชนบท ยุคเกรียงศักดิ์ และอารักษ์ (นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท) คุม เอาชื่อมารับใช้เพื่อเคลื่อนไหวให้กับตัวเองเรื่องค่าตอบแทนซี 9 และความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับปลัดปราชญ์ ที่มีการใช้พลังภายในผลักดันผลประโยชน์ต่างๆ ที่เอื้อต่อชมรมแพทย์ชนบท ก็ทำให้ทุกสิ่งที่พี่ใหญ่สายแพทย์ชนบททำมาทั้งหมดค่อยๆ ล้มครืนลงไป โดยที่พวกท่านไม่ทันได้สังเกตด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทในระยะหลังที่ไม่มีพลังใดๆ กับสังคม แถมยังสร้างศัตรูกับวิชาชีพอื่นๆ อย่างเรื่อง P4P แม้จะยกระดับขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. โดยดึงข้อหาคุกคามตระกูล ส. แทรกแซงธรรมาภิบาล เอื้อ รพ.เอกชน ก็ไม่ทำให้การเคลื่อนไหวนี้มีน้ำหนักใดๆ อีก

ก็จะมีพลังได้ยังไง ในเมื่อตัวคุณเองยังไม่มีธรรมาภิบาล ยื้ออยู่ในตำแหน่ง ผูกขาดชมรมกันแค่ 2 คน แล้วจะเอาความน่าเชื่อถือใดไปไล่ประดิษฐ ณรงค์ หรือแม้กระทั่งทักษิณ ยิ่งลักษณ์

พี่ใหญ่แพทย์ชนบทที่เคยมีชมรมแพทย์ชนบทในการเคลื่อนไหวเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ในยุคหลัง ตั้งแต่การแทรกแซงการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สปสช. ที่ฝั่งแพทย์ชนบทสูญพันธุ์ ลามถึงบอร์ด สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) จนประดิษฐดันเพื่อนมาเป็น ผอ.สวรส. ได้ ทั้งที่ ส.เหล่านี้ ในอดีตแพทย์ชนบทคือกลุ่มที่ชี้เป็นชี้ตายได้ว่า ใครจะมาเป็น ผอ.สวรส. หรือเลขาธิการ สปสช. จนถึงการกระเด็นหลุดจากตำแหน่งของ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. (องค์การเภสัชกรรม) ที่ชัดๆ ว่า มันคือการแทรกแซง แต่แพทย์ชนบทและเครือข่ายก็ไม่สามารถดึงกระแสความเห็นใจจากสังคมมาอยู่ฝั่งตนได้เหมือนที่เคยเป็นมา เพราะชมรมต้นทุนต่ำซะแระ

ในอดีต แนวร่วมที่สำคัญของแพทย์ชนบท คือ สื่อมวลชน โดยเฉพาะกับสื่อภาคสนาม ครั้งหนึ่งเมื่อมีการแฉเรื่องทุจริตยา มติชนถึงกับมีสโลแกนว่า มติชน มติแพทย์ชนบท นั่นเพราะทำเพื่อผลประโยชน์ของสังคม แต่ทันทีที่เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง สื่อภาคสนามเป็นจุดแรกที่ไม่เป็นแนวร่วมอีกต่อไป แต่แน่นอนว่าภาพลักษณ์กับสังคมอาจยังดีอยู่ เนื่องจากการกินบุญเก่าจากพี่ๆ

แต่เมื่อแพทย์ชนบทยุคเกรียงศักดิ์เคลื่อนไหวในทิศทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และซ้ำๆ บุญเก่าก็เอาไม่อยู่ สื่อเริ่มตั้งคำถาม ขณะที่แพทย์อีกฝั่ง เขาก็ปรับขบวนการต่อสู้จนทันกัน และล่าสุดกับการเคลื่อนไหวของ กปปส. เพื่อล้มระบอบทักษิณ ที่ชมรมแพทย์ชนบทโดดเข้าร่วมวงตั้งแต่ต้น อันลามมาจากการไล่ประดิษฐและณรงค์ จากปรากฏการณ์ P4P ก็ไม่ได้มี impact อะไรมากมายนัก ต่างจาก ณรงค์ ปลัด สธ. ในนามของประชาคมสาธารณสุข  ที่มีผลสะเทือนแรงมาก ส่งผลให้เขาเป็นวีรบุรุษข้ามคืน ขณะที่หมอสายแพทย์ชนบท และชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทนำ ก็ได้แต่มองตาปริบๆ และที่สุด ประชาคม สธ. ก็กลายเป็นหัวขบวนนำของการเคลื่อนไหวใน สธ. ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงไปแทน โดยมีหมอประชุมพรที่ออกมาให้ข่าว ได้เครดิตไปอย่างต่อเนื่อง ลบภาพหมอจอมป่วน 30 บาทไปได้อย่างราบคาบ

แม้จะปรับท่าทีเป็นแบบรวมการเฉพาะกิจ แต่ก็ไม่อาจสู้ณรงค์ได้ ถ้าเป็นสมัยก่อน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ, นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ต้องเป็นหัวขบวนนำในการเคลื่อนไหวไปแล้ว แต่ตอนนี้สายแพทย์ชนบทมีบทบาทได้แค่เพียงแนวร่วมเท่านั้น ไม่อาจขึ้นมานำได้อีก

ขณะที่เกรียงศักดิ์, อารักษ์นี้ ขุดหลุมฝังตัวเองไปแล้วเรียบร้อย เพราะไม่เหลือเครดิตให้จดจำอีกต่อไป ที่สำคัญ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้แล้วว่า เป็นแกนนำในยุคที่ชมรมแพทย์ชนบทตกต่ำอย่างที่สุด

เพราะเหตุใด แพทย์ชนบทที่เคยยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ถึงพาตัวเองมาอยู่ ณ จุดนี้ได้ อันที่จริงต้องบอกว่าเป็นสัจธรรมของโลก ที่ไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้าได้ตลอดไป แต่กับปรากฎการณ์อวสานแพทย์ชนบทนี้ ต้องบอกว่า มันมาถึงเร็วไป ถ้านับจากความรุ่งเรืองของรุ่นยังเติร์ก ที่สร้างผลงานดีๆ นโยบายดีๆ ไว้มากมาย กลุ่มยังเติร์ก ณ เวลานี้ ซึ่งยังเป็นพี่ใหญ่ที่มีบารมีอยู่ ไม่ได้อยู่นอกวงโคจร แต่กลับต้องมาเห็นปรากฏการณ์อวสานแพทย์ชนบท ในยุคที่ตัวเองยังเป็นพี่ใหญ่ และไม่ว่ากลุ่มยังเติร์กนี้ ในอดีตจะ top form ขนาดไหน แต่เราก็ได้เห็นว่า จิตวิญญาณของคำว่าแพทย์ชนบท ได้สูญสลายลงไปในช่วงระยะเวลาของคนรุ่นเดียวกันนี่แหละ

ซึ่งผู้สันทัดกรณีก็ไม่อาจบอกได้ว่า พี่ใหญ่แพทย์ชนบทรู้ตัวหรือไม่ว่า จริงๆ ความเสื่อมมันเกิดมาได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะพี่ใหญ่ผูกขาดบารมีไว้กลุ่มเดียว แถมยังไม่มองเรื่องสร้างคน วางผู้สืบทอดไว้อีก (ปัญหาเรื่อง Successor เป็นวิกฤติของฝั่งแพทย์ชนบทที่คุม ส. อยู่) จึงปล่อยให้เกรียงศักดิ์, อารักษ์ ทำอะไรกับชมรมได้ตามใจชอบ  

จุดอ่อนของกลุ่มนี้ คือ ไม่สร้างคน มองคนไว้ใช้งานเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นด้านอนุรักษ์นิยมของคนที่ครั้งหนึ่งเคยเรียกตัวเองว่า ซ้าย ในขณะที่ Irony ฝุดๆ ก็ตรงที่ หมออีกฝั่ง ที่ถูกมองว่ามีอุดมการณ์ขวาจัด อนุรักษ์นิยม เขาสร้างผู้เล่นหน้าใหม่ มาสืบทอดเจตนารมณ์ของเขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ผูกขาดเหมือนที่กลุ่มยังเติร์กแพทย์ชนบททำ

อันที่จริงความหมายของคำว่าสร้างคน ตีความได้หลายอย่าง ฝั่งแพทย์ชนบทก็อาจจะเถียงว่า สร้างสิ ทำไมจะไม่สร้าง เรามี คศน. นั่นไง (อย่าเพิ่งงงว่า มันคืออะไร) คศน. คือ เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ ลักษณะคล้ายหลักสูตรสร้างเครือข่ายนั่นแหละ แต่นี่เป็นหลักสูตรสร้างพลทหาร ไม่ใช่สร้างนายพล แต่สร้างคนมาเป็นลูกน้อง ไม่ใช่ Successor

เอ่อ นี่ไม่ใช่การสร้างคนนะฮะ คุณจะสร้างคน คุณต้องส่งเสริมให้เค้ามีที่ยืน มีบทบาท มีตัวตนในสังคม คิดเป็น ไม่ใช่ให้คุณมาผูกขาดชี้นำอยู่ฝ่ายเดียว ที่สำคัญ ไม่ใช่ให้เค้าเป็นเด็กดีในสังกัดของคุณอย่างเดียวด้วย ก็ในเมื่อเป็นเด็กดีของคุณได้แล้ว เค้าจะเป็นเด็กดีของขั้วอำนาจใหม่ไม่ได้รึไง

แล้วแพทย์ชนบทจะยังกลับมาเกรียงไกรยิ่งใหญ่ เป็นกลไกคอยถ่วงดุลอำนาจเหมือนอย่างในอดีตได้อีกหรือไม่นั้น ก็ขอให้พวกเราทุกท่านช่วยกันจับตาว่า ปี 2557 นี้ เกรียงศักดิ์จะยอมเสียสละลงจากตำแน่งหรือไม่

ซึ่งตรงนี้ก็นับว่าน่าเห็นใจเกรียงศักดิ์อยู่ไม่น้อย เพราะว่าเขาต่างจากพวกพี่ๆ ตรงที่ ถ้าไม่ได้เป็นประธานชมรมแล้ว ก็ไม่มีหัวโขนเหลืออยู่เลย พี่ๆ หลุดไปแล้ว ยังไปมีตำแหน่งในตระกูล ส. อื่นๆ และอยู่ได้อย่างมีหน้าตาในสังคมได้อีก ขณะเดียวกันยังต้องกังวลเรื่องการถูกเช็คบิลย้อนหลังอีกด้วย ถ้าไม่มีตำแหน่งประธานชมรมค้ำคอไว้ก็เสี่ยงมากๆ

แต่อนาคตแพทย์ชนบทจะรุ่งเรืองหรือรุ่งริ่ง ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเกรียงศักดิ์ที่จะเป็นตัวชี้ขาด ถ้าเกรียงศักดิ์ไม่ยอม ยังยึดตำแหน่งประธานชมรมต่อไป ก็จะเป็นอวสานแพทย์ชนบทอย่างแท้จริง

ที่เขียนมาอย่างยืดยาวนี้ มิได้ต้องการแฉแพทย์ชนบท แต่เขียนด้วยความเสียดาย ที่นับจากนี้ต่อไป เกมแห่งอำนาจใน สธ. นั้น ประชาชนธรรมดาๆ อย่างเราจะไม่มีกลไกการถ่วงดุลและขับเคลื่อนที่มีพลัง เช่นที่ชมรมแพทย์ชนบทเคยมีมาใช้ในการคานอำนาจอีกต่อไปแล้ว การณ์ต่อจากนี้ ในช่วงที่ประชาคม สธ.กำลัง top form นี่ เราไม่มีผู้เล่นอีกฝ่ายที่เข้มแข็งมาคอยทัดทานนโยบาย สธ. ที่ส่วนใหญ่พาเข้ารกเข้าพง และมองปัญหาผิดสัดส่วนไปหมดได้อีกแล้ว โดยเฉพาะเรื่องเขตสุขภาพ และการรุกคืบยึดอำนาจคืนจากตระกูล ส. ซึ่งนโยบายของ สธ. ในยุคที่ปลัดณรงค์เรืองอำนาจนี้ เป็นอย่างที่เคยได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า มองแต่เรื่องประสิทธิภาพ แต่ละเลยเรื่องของความเสมอภาค ซึ่งหากปล่อยไปอย่างนี้ ช่องว่างความไม่เสมอภาคก็จะถ่างกว้างออกไปอีก และในขั้นที่เลวร้ายแบบฝุดๆ กระบวนการปฏิรูประบบสาธารณสุข (ที่เดินหน้าไปนานแล้วก่อน กปปส.จะออกมาเรียกร้องเสียอีก) ในนามของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท ก็คงจะต้องสะดุดในปลายทศวรรษที่สองนี้เป็นแน่แท้

และนั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมากสำหรับประชาชนไทยทุกคน...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net