พระ คนดี และประชาธิปไตยไทยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สิ่งที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยไทยๆ” อาจนิยามกันได้หลายแบบ ในความเห็นของผมประชาธิปไตยไทยๆ คือ ประชาธิปไตยภายใต้บริบทวัฒนธรรมไทยที่คนส่วนน้อยมีอำนาจคิดแทน ตัดสินใจแทนคนส่วนใหญ่ แต่อำนาจนั้นไม่ได้อิง “ความชอบธรรม” บนฉันทามติของประชาชนที่แสดงออกผ่านวิถีทางประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การลงประชามติ การมีเวทีเปิดให้คนทุกระดับสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและต่อรองอย่างเสรีและเป็นธรรม

แต่อำนาจคิดแทนตัดสินใจแทนอิงอยู่กับฐานความชอบธรรมที่ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยตรง เช่น ฐานของการเป็นคนดี ความดี หรือคุณธรรมจริยธรรม

ปัญหาสำคัญคือ สิ่งที่เรียกกันว่าความดี คุณธรรมจริยธรรมที่ถ่ายทอดกันมาในบริบทวัฒนธรรมไทย ผ่านสถาบันหลักๆ ของสังคม เช่น สถาบันกษัตริย์ (พระบรมราโชวาท ฯลฯ) องคมนตรี (ซึ่งผ่านการเลือกสรรโดยสถาบันกษัตริย์แล้วว่าเป็นคนดี เป็นแบบอย่างทางจริยธรรม) สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา ลงไปถึงสถาบันครอบครัวนั้น เป็นความดีหรือคุณธรรมจริยธรรมที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่บนฐานคิดที่ถือว่า “คนเท่ากัน” หรือหลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์

ต่างจากความดี คุณธรรมจริยธรรมสมัยใหม่แบบตะวันตกที่อยู่บนฐานคิดที่ถือว่า “คนเท่ากัน” โดยฐานคิดนี้ถือว่าปัจเจกแต่ละคนมีความสามารถสร้าง “กฎจริยธรรม” หรือหลักการทางจริยธรรมด้วยตนเอง จริยธรรมจึงเกิดจากความคิดของเราเอง ผ่านการใช้เหตุผลหรือวิจารณญาณในเรื่องถูกผิดด้วยตนเอง ไม่ใช่เรื่องของการทำตามคำสอนของศาสนา นักบวช พระศาสดา ปราชญ์ หรือคัมภีร์ต่างๆ อย่างปราศจากคำถาม

แน่นอนว่า คุณอาจศึกษาคำสอนของศาสนาต่างๆ คำสอนของนักบวช พระศาสดา หรือปราชญ์ต่างๆ แต่ศึกษาด้วยมุมมองที่ว่าคำสอนนั้นๆ เป็นความคิด ความเชื่อ หรือความรู้แบบหนึ่งที่คุณจะเชื่อหรือโต้แย้ง โยนทิ้งก็ได้ ไม่ใช่สัจธรรมสัมบูรณ์หรือของศักดิ์สิทธิ์ที่คุณต้องเชื่อฟังและทำตามเท่านั้น นักบวช พระศาสดา ปราชญ์ต่างๆ ก็คือ “คนเท่ากัน” กับคุณ ไม่ใช่ผู้วิเศษที่คุณต้องศรัทธา เดินตามอย่างปราศจากคำถาม

ผลแห่งการเรียนรู้ด้วยมุมมองดังกล่าว ย่อมจะนำไปสู่การที่ปัจเจกแต่ละคนสามารถสร้างหลักการหรือกฎจริยธรรมด้วยความคิดของตนเอง แต่หลักการหรือกฎจริยธรรมที่แต่ละคนสร้างขึ้นก็ต้องอยู่บนฐานของ “คนเท่ากัน” หมายความว่าปัจเจกบุคคลไม่สามารสร้างหลักการหรือกฎจริยธรรมที่ทำให้ตนเองมี “อภิสิทธิ์” เหนือคนอื่น เช่น “หลักการหรือกฎจริยธรรม ก. คนอื่นๆ ทำแล้วผิด แต่ฉันทำไม่ผิด” เป็นต้น

จริยธรรมบนฐานของ “คนเท่ากัน” เป็นที่มาของแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่ถือว่าทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกัน โดย “ความเท่าเทียมในการทำตามหลักการหรือกฎทางจริยธรรม” ก็คือหากต้องการให้คนอื่นเคารพสิทธิ เสรีภาพของเรา เราก็ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพของคนอื่นๆ เสมอกัน สิทธิ เสรีภาพของแต่ละคนจึงมีได้เมื่อทุกคนเคารพสิทธิ เสรีภาพของกันและกัน โดยมีสำนึกร่วมว่าเราเป็น “คนเท่ากัน”

ความคิดทางจริยธรรมสมัยใหม่ดังกล่าว ทำให้ศาสนาตะวันตกที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือกดขี่มาก่อนในยุคกลางเกิดการปฏิรูปตนเอง จนในที่สุดคำสอนทางศาสนาก็ถูกตีความสนับสนุนความเสมอภาค เช่น “มนุษย์เท่าเทียมกันในฐานะบุตรของพระเจ้า” หรือ “มนุษย์เท่าเทียมกันในสายตาของพระเจ้า” เป็นต้น ที่มีพลังในการส่งเสริมประชาธิปไตยในระยะต่อมา

แต่ความเชื่อเรื่องความดี คุณธรรมจริยธรรมที่ถ่ายทอดกันมาใน “บริบทวัฒนธรรมไทย” อยู่บนฐานคิดที่ถือว่า “คนไม่เท่ากัน” เพราะ

1) ถือว่าคนเราเกิดมามีสถานะทางสังคมต่างกัน เช่น เป็นเจ้า ไพร่ ทาส รวย จน ฯลฯ เพราะทำบุญ (ความดี) มาต่างกัน ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องบุญบารมีตามการตีความพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองยุคราชาธิปไตย

2) คนที่สูงกว่าเรา เช่น สถาบันกษัตริย์ องคมนตรี พระ ปราชญ์ ผู้รู้ ครูอาจารย์ พ่อ แม่ คือผู้ที่เหนือกว่าเราทั้งด้านคุณธรรม (เช่น มีกิเลสน้อยกว่า หรือไม่มีโลภ โกรธ หลง ฯลฯ) ความประพฤติสูงส่งกว่าเรา เป็นผู้ที่เราต้องเคารพเชื่อฟังอย่างกตัญญูรู้คุณ ไม่เคารพเชื่อฟังถือว่าลบหลู่ ไม่รู้บุญคุณ ชีวิตไม่มีความเจริญ ฯลฯ    

3) ความดี คุณธรรมจริยธรรมมีความ “ศักดิ์สิทธิ์” ดลบันดาลให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าได้ถ้าทำตาม ถ้าไม่ทำตามก็อาจประสบหายนะได้ เช่น ความกตัญญูต่อแผ่นดิน ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือหลักศีลธรรมทางศาสนา ล้วนแต่มีความหมายศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น คนดีที่อยู่สูงกว่าคนทั่วไป เช่น องคมนตรี พระ ก็อาจจะออกมาสาปแช่งคนที่ไม่กตัญญูต่อแผ่นดิน ไม่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังที่เราได้เห็นบ่อยๆ

4) จึงกลายเป็นว่าทั้งบรรดาผู้ถ่ายทอดความดีที่อยู่สูงกว่าเรา ทั้งความดี คุณธรรมจริยธรรมที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ล้วนเป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาในบรรยากาศที่ต้องเชื่อฟัง ถูกกำราบให้เชื่อง มากกว่าบรรยากาศที่เน้นการตั้งคำถาม และส่งเสริมเสรีภาพในการคิดด้วยตนเอง การปลูกฝังความดี คุณธรรมจริยธรรมผ่านสถาบันหลักทางสังคมจึงเป็นวัฒนธรรมของการบังคับยัดเยียดความเชื่อเรื่องถูกผิดจากข้างบนลงล่าง จึงเป็นการสร้างจริยธรรมแบบที่     นิทเช่เรียกว่า “จริยธรรมแบบทาส” คือ จริยธรรมของผู้อ่อนแอที่เชื่อฟังและทำตาม

ปัญหาสำคัญนอกจากที่ว่ามาคือ ความดี คุณธรรมจริยธรรมดังกล่าวมันทำให้ผู้ซึ่งเข้าใจว่าตนเองรู้ดีหรือมีความดี มีคุณธรรมจริยธรรมเหล่านั้นมากกว่าคนอื่น กลายเป็นผู้ซึ่งมี “สัญชาตญาณ” ของ “คนดี” ที่เชื่อว่าตนเองอยู่บน “ที่สูงกว่า” คนอื่น (เหมือนกับตนเองยืนอยู่บนยอดเขาแล้วมองลงมาข้างล่างเห็นปัญหาทุกอย่างทะลุปรุโปร่งทั้งหมด) คนพวกนี้จึงชอบสอนจริยธรรมคนอื่นๆ ตั้งแต่เรื่องไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ชอบแสดงออกว่าตนเองเข้าถึงความจริง ความดี ความงาม มีความสมถะเรียบง่าย ความพอดี ฯลฯ ที่คนอื่นๆ ควรเอาอย่าง และที่สำคัญพวกเขาชอบคิดแทน ตัดสินใจแทนคนอื่นๆ ในประเด็นปัญหาทางสังคมการเมือง

คนดีเหล่านี้ จึงคล้ายพระในแง่ว่า ตนเองรอบรู้ เข้าใจ เข้าถึงความดี คุณธรรมจริยธรรมมากกว่าคนอื่น อยู่บนที่สูงกว่าคนอื่นๆ จึงสมควรสอนคนอื่น คิดแทน ตัดสินใจแทนคนอื่น และนี่จึงน่าจะเป็นรากฐานความเชื่ออันเป็นที่มาของปรากฏการณ์ของพระ เครือข่ายภาคประชาสังคมสายคุณธรรม เอ็นจีโอคนดีที่มารวมตัวกันเป็น “มวลมหาประชาชน กปปส.” ที่อยู่เหนือประชาชนทั้งประเทศในปัจจุบัน ที่นิยามตนเองว่าเป็น “พลังมวลชนคนดี” ที่มีความชอบธรรมในการคิดแทน ตัดสินใจแทนประชาชนทั้งประเทศในการปฏิรูปประเทศไทยโดยไม่จำเป็นต้องผ่าน “ฉันทามติ” ของประชาชนก่อนว่าเสียงข้างมากจะเอาด้วยหรือไม่

ตรงกันข้ามพวกเขากลับมองว่า ผู้ซึ่งมีที่มาผ่านฉันทามติของประชาชนโดยการเลือกตั้งอย่างพวกนักการเมือง ล้วนไม่ใช่คนดีมีคุณธรรมจริยธรรมอย่างพวกเขา เพราะพวกเขาไม่เคยเชื่อในวิจารณญาณการเลือกของประชาชนซึ่งอยู่ใน “ที่ต่ำ” ทางความดี และคุณธรรมจริยธรรมกว่าพวกเขา

ฉะนั้น พระและบรรดาคนดีที่สมาทานความดี คุณธรรมจริยธรรมบนฐาน “คนไม่เท่ากัน” ที่ถือว่าตนเองรู้ดีและมีความดี มีคุณธรรมจริยธรรมมากกว่า จึงอยู่บนที่สูงกว่า มีความชอบธรรมมากกว่าในการคิดแทน ตัดสินใจแทนประชาชนนั่นเอง คือพวกที่สร้างประชาธิปไตยไทยๆ ที่คนส่วนน้อยมีอำนาจคิดแทน ตัดสินใจแทนคนส่วนใหญ่ดังปรากฏเด่นชัดที่สุดในปัจจุบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท