Skip to main content
sharethis

ในโอกาสครบ 10 ปีโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ทีมงานของ "กรีนพีซ" ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมโลก รวบรวม 5 เหตุการณ์งานรณรงค์ที่น่าจดจำมากที่สุดที่พวกเขาเคยเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก พร้อมชี้ว่า เฟซบุ๊กมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในงานรณรงค์หลายๆ งาน

"ไม่ว่าคุณจะชอบเล่นเฟซบุ๊กมากน้อยแค่ไหน แต่เฟซบุ๊กก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนที่สำคัญชิ้นหนึ่งสำหรับกิจกรรมรณรงค์ออนไลน์ เฟซบุ๊กมีบทบาทสำคัญ และมีส่วนสร้างความสำเร็จให้กับงานรณรงค์หลายงานของเรา เครือข่ายสังคมออนไลน์กำลังเปลี่ยนอำนาจความเป็นเจ้าของไปยังผู้ใช้มากขึ้น จนบริษัทและรัฐบาลต่างๆ ไม่สามารถควบคุมสิ่งที่ผู้คนถ่ายทอดออกมาในพื้นที่สาธารณะได้" ทีมงานกรีนพีซระบุ

สำหรับ 5 เหตุการณ์ดังกล่าวมีดังนี้

1. เฟซบุ๊กเป็นเพื่อนกับพลังงานหมุนเวียนและการทำสถิติโลกกินเนสส์
คอมเมนท์บนเฟซบุ๊กมากที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงน่ะเหรอ เราตั้งใจไว้ว่าเราจะได้รับ 50,000 คอมเมนท์ ภายในหนึ่งวัน - และเราก็ทำได้ (ได้รับ 80,000 คอมเมนท์) และยังมีใบรับรองเป็นการพิสูจน์อีกด้วย!

สถิติโลกกินเนสส์นี้ไม่ได้ทำสนุกๆ เท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของ งานรณรงค์ระยะยาว ที่พยายามโน้มน้าวให้เฟซบุ๊กแสดงความมุ่งมั่นเริ่มใช้พลังงานเซิร์ฟเวอร์จากพลังงานหมุนเวียน ในที่สุดบริษัทก็ได้ประกาศ เป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียน เมื่อปี 2554

2. หยุด โคคา-โคลา จากการทำลายชายหาดออสเตรเลีย
ปีที่แล้ว โคคา-โคลา พยายามหยุดโครงการรีไซเคิลในออสเตรเลีย โดยการรีไซเคิลนั้นเป็นระบบที่ทำได้ง่ายๆ (เพียงแค่คืนขวดก็ได้รับเงินคืน) ซึ่งยังเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกบนชายหาดออสเตรเลีย

ผู้คนหลายพัน (รวมถึงผู้สนับสนุนกรีนพีซจำนวนมาก) ไปยังหน้าเฟซบุ๊กของโคคา-โคลา ออสเตรเลีย เพื่อเรียกร้องให้หยุดยั้งแผนการนี้ รวมถึงโพสต์โฆษณาโทรทัศน์ที่ถูกห้ามออกอากาศเนี่องจากโจมตีบริษัท แต่ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เราคงยังรณรงค์เรื่องนี้อยู่ โดยคุณสามารถ ร่วมเรียกร้องได้ที่นี่

3. โฟล์กสวาเกน และสภาพภูมิอากาศ
งานรณรงค์ที่ดีที่สุดบ้างก็มาจากอาสาสมัคร และงานนี้เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบที่สุด

โฟล์กสวาเกนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ขัดขวางกฎหมายใหม่ในสหภาพยุโรปที่จะช่วยสภาพภูมิอากาศด้วยการลดการปล่อยควันคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ เราได้ดำเนินการรณรงค์ชักชวนให้โฟล์กสวาเกนเลือกเดินทางที่ถูกต้องเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา  เมื่อมีอาสาสมัครคนหนึ่งในสหราชอาณาจักรพบเห็นโพสต์บนเฟซบุ๊กของโฟล์กสวาเกนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 ว่า “อยากให้เราทำอะไรในปีใหม่นี้”

กลายเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้คนหลายร้อยเข้าไปถามไถ่โฟล์กสวาเกนให้เปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ และหยุดยั้งการขัดขวางกฎหมายที่จะช่วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ

4. ล้างสารพิษออกจากแฟชั่น
แบรนด์แฟชั่นนั้นโด่งดังได้ด้วยภาพลักษณ์ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ประชาชนที่ห่วงใยและผู้บริโภคได้ใช้ช่องทางสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฟซบุ๊ก ในการเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ ขจัดสารเคมีอันตราย ออกจากผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต โดยผลที่ออกมานั้นเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่าสำเร็จได้ด้วยดี ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เบอร์เบอร์รีได้กลายเป็นแบรนด์ที่ 19 ที่แสดงเจตนารมณ์ล้างสารพิษ

5. คิทแคท
หากอยากให้เราระบุถึงช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งที่โลกธุรกิจเริ่มเข้าใจว่าพวกเขาไม่สามารถเพิกเฉยสิ่งที่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊กได้ นี่คงเป็นช่วงเวลานั้น

เมื่อปี 2553 หลังจากที่งานวิจัยของกรีนพีซได้เผยถึงผลิตภัณฑ์บางอย่างของเนสเล่ รวมถึงชอคโกแลตคิทแคท นั้นใช้น้ำมันปาล์มที่ปลูกในพื้นที่ทำลายป่าไม้ ผู้คนหลายพันคนก็ต่างเข้าไปที่หน้าเฟซบุ๊กของเนสเล่ เพื่อร้องขอคำตอบจากทางบริษัท อย่างไรก็ตาม คำตอบของเนสเล่เอง ได้กระตุ้นความสนใจไปทั่วโลก

จากนั้นเรื่องนี้ได้กลายเป็นหายนะทางสื่อสังคมออนไลน์ของบริษัท จนเนสเล่ได้ออกมา แสดงความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแหล่งจัดซื้อน้ำมันปาล์ม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net