Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

9 มกราคม 2557 – ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศไทยแสดงอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) หรือเทียบเท่ากับ 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณของประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในโลก ตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับระบบการศึกษาในประเทศไทย ได้สรุปว่า ค่าใช้จ่ายของการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นสูงถึง 35,000 บาทต่อนักเรียนหนึ่งคนต่อปี ในขณะที่ผู้ปกครองก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นพิเศษอีกประมาณ 25,000-35,000 บาทให้กับนักเรียนในแต่ละปี

ถึงแม้ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่ช่องว่างการศึกษาของประเทศ กลับแสดงถึง ผลการดำเนินการมีความแตกต่างที่กว้างมาก และสมควรต้องได้รับการปรับปรุงอย่างยิ่ง

ชั่วโมงการศึกษาในโรงเรียนของนักเรียนไทยนั้น มีจำนวนสูงกว่าหลายๆประเทศ ถึง 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ในขณะที่นักเรียนในประเทศเหล่านั้นใช้เวลาในห้องเรียนประมาณ 600-700 ชั่วโมง (ต่อปี) แต่นักเรียนไทย ใช้เวลาถึง 2,000 -3,600 ชั่วโมง (ต่อปี)

การที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากเพื่อการศึกษาและเพิ่มการเรียนพิเศษของเด็กๆ แล้วก็ตาม แต่ประสิทธิภาพ (Proficiency) ในการเรียนรู้ของนักเรียนไทยก็ยังคงต่ำอยู่ดี

นายแพทย์สุริยา เดล ทรีปาตี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของสำนักงาน ได้เรียกร้องเพื่อการปฎิรูปการศึกษาทั้งในระยะสั้น, ระยะกลาง และระยะยาว โดยการเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้และระบบการประเมินผล ต้องพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับความรู้และ ทักษะที่จำเป็นของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

เขากล่าวว่า ในระยะยาวทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยจะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนเป็นมันสมองของประเทศ

แปลจาก:  Thailand’s educational spending highest in the world

**************************************

ความคิดเห็นของผู้แปล:

ถึงแม้ว่าได้มีความพยายามในการปรับปรุง พัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของบางสถาบันการศึกษา  บางวิชา มาระยะหนึ่งแล้ว  แต่โดยภาพรวมของประเทศไทย สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังคงจัดการเรียนรู้โดยเน้นการถ่ายทอดความรู้ในห้องเรียนเป็นหลักเช่นเดิม  ซึ่งหนีไม่พ้น การสอน (บอกความรู้) การท่องจำตามตำรา  รวมไปถึง การเน้นความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของประเทศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของทุกสถาบันการศึกษา (ดิฉันไม่ได้ต่อต้าน เพียงแค่มีความเห็นว่า ไม่ต้องท่องให้ผู้เรียนฟังทุกคาบ ทุกวิชา  การแสดงออกโดยผ่านการกระทำจะดีกว่า เพื่อใช้เวลาในห้องเรียนให้น้อยลงและเกิดประโยชน์สูงสุด)  ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะเน้นไปที่ความรู้เบื้องต้นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและการพัฒนานวัตกรรมได้ด้วยตนเอง

ดิฉันขอยกตัวอย่างการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา(เนื่องจากดิฉันติดตามอย่างใกล้ชิด) การศึกษาในระดับมัธยมปลาย (High School) โรงเรียนรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการฝึกปฏิบัติทักษะวิชาชีพเบื้องต้นควบคู่ไปด้วย เพื่อให้นักเรียนสามารถประกอบอาชีพได้ทันทีในขณะนั้น หรือทันทีที่เรียนจบมัธยมปลาย เช่น เป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า หุ่นยนต์  การประกอบอาหาร ดนตรี ศิลปการแสดง ฯลฯ  รวมทั้งการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น  การสร้างโปรแกรมด้วยตนเองเพื่อใช้งาน  ที่สำคัญ กิจกรรมทุกอย่างข้างต้นเรียนฟรี ! อุปกรณ์การศึกษาฟรี ! จัดรถรับส่งนักเรียนถึงบ้านฟรี !   ระบบการศึกษาไม่ได้เน้นที่จะต้องเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเท่านั้น  นักศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศเลือกที่จะทำงานและเรียนไปพร้อมๆกัน โดยจัดเวลาให้กับทั้งสองกิจกรรมตามความเหมาะสม ซึ่งระบบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นก็ต้องจัดเพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้เรียนด้วย

เมื่อหันมามองเพื่อนๆ พี่น้องคนไทยด้วยกันที่ต้องจ่ายเงิน เพื่อ “เรียนพิเศษ” มากมายมหาศาล  ซึ่งสร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของธุรกิจการศึกษาจนสามารถขยายกิจการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา  นี่คือ “ความเชื่อ” เรื่อง การลงทุนเพื่อการศึกษาให้กับเด็กๆ ตั้งแต่เล็ก และคติประจำใจก็คือ เรียนให้สูงๆ เพื่อจะได้ทำงานสบายๆ  เรียนสูงๆ เพื่อจะได้เป็นเจ้าคนนายคน  และเรียนให้หนักตอนเด็กจะได้สอบเข้าคณะที่ดีที่สุด มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด (จริงหรือ?)

นักเรียนที่เรียนในโรงเรียนรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ชั่วโมงการเรียนจะเริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้าเศษๆ ไปจนถึงบ่ายสองโมงครึ่ง หรือโดยเฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อวัน (รวมพักรับประทานอาหารกลางวันครึ่งชั่วโมง)  การบ้านที่ได้รับเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการทบทวนความเข้าใจ และต่อยอดวิชาที่เรียนมา ห้ามตอบแบบท่องจำตามตำรา หรือตามที่ครูสอนในห้องเรียน (ดิฉันเคยถูกอาจารย์ประจำวิชาต่อว่าหลายครั้ง เนื่องจากบุตรชายตอบคำถามโดยใช้ความรู้ในหนังสือ ! : ซึ่งหมายถึง ความล้มเหลวของทั้งผู้สอนและผู้เรียน)  และที่สำคัญคือ ที่นั่นไม่มีสถาบันกวดวิชา!  นักศึกษาที่ประสบความสำเร็จในชีวิต  ประกอบกิจการส่วนตัวหรือเข้าทำงานบริษัทที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่จำเป็นต้องจบจากมหาวิทยาลัยโด่งดัง หรือ Ivy League ของประเทศหรือของโลก  ผลคะแนนจากการทดสอบ SAT (Scholastic Aptitude Test)  หรือ ACT (American College Testing) และผลการสัมภาษณ์  จะเป็นเครื่องตัดสินว่ามหาวิทยาลัยใดสนใจจะรับพวกเขาเข้าเรียนต่อ และ/หรือมอบทุนการศึกษาให้บ้าง  จำนวนเท่าใด

เมื่อชั่วโมงการเรียนของเด็กไทยสูงลิ่วขนาดนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่สมองของพวกเขาจะมีช่วงเวลาพักผ่อนตามวัยที่สมควรจะได้รับ เพื่อการทบทวนสร้างความเข้าใจและต่อยอดความรู้ที่ได้รับจากห้องเรียน แล้วอะไรคือประโยชน์ที่นักเรียนได้รับมาทั้งวันเมื่ออยู่ในห้องเรียน?

ในชั้นเรียนของนักเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีการจัดลำดับที่  ห้ามบอกเกรดของผู้เรียนเป็นการเปิดเผย นักเรียนจะทราบเฉพาะผลการเรียนของตนเอง  การรับใบประกาศเกียรติคุณของนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเด่นจะแบ่งเป็นคะแนนรวม และแต่ละรายวิชา โดยที่ไม่มีนักเรียนและผู้ปกครองที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ !  และโรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญมากไปกว่านักเรียนผู้ที่มีจิตสาธารณะช่วยเหลือเพื่อนนักเรียน  นักเรียนที่ทำคุณประโยชน์แก่หมู่คณะหรือส่วนรวม ซึ่งพวกเขาจะได้รับการปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนาน !

อย่างไรก็ตาม เกรดเฉลี่ย  เกียรติบัตรหรือความสามารถส่วนบุคคลใดๆ ก็ตามถือเป็นความสามารถส่วนบุคคล  และอาจกลายเป็นกับดักในคำถามตอนสมัครงานด้วย โดยเฉพาะความสามารถทำงานเป็นกลุ่ม (Teamwork) ซึ่งเป็นความต้องการจำเป็นต่อความสำเร็จขององค์การ

ดิฉันเคยผ่านประสบการณ์ทั้งการเป็นนักศึกษา  อาจารย์ประจำ ผู้บริหารในสถาบันการศึกษา ร่วมเป็นคณะทำงานร่างหลักสูตรการศึกษาระดับบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา  ปัญหาหนึ่งที่รู้สึกอึดอัดใจมากคือ การคงวิชาที่ไม่จำเป็นต่อหลักสูตรเพื่ออาจารย์กลุ่มหนึ่งหรือผู้มีอุปการะคุณต่อหลักสูตร (บางแห่ง)  การปรับวิธีการประเมินคุณภาพ ตัวชี้วัด หรือกฎเกณฑ์ต่างๆให้มีความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของแต่ละสาขาวิชาและแต่ละสถาบัน  รวมทั้งการไม่ยอมการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียน/นักศึกษาได้รับประโยชน์สูงสุด ด้วยข้ออ้างง่ายๆที่หากท่านได้ยินก็ต้องเดินหนี ! 

คุณภาพการศึกษาไทยยังไม่ตกต่ำจนถึงจุดที่ท่านผู้มีอำนาจในมือต้องการกันอีกหรือคะ  ทุกท่านโปรดมองไปที่คุณภาพของบัณฑิตและรายงานการวิจัยฉบับข้างต้น แทนขยะกองโตที่มีชื่อเรียกที่ไพเราะว่า รายงานการประกันคุณภาพทั้งภายนอกและภายในสถาบันการศึกษา เพราะอะไรดิฉันจะไม่กล่าวซ้ำ  เพราะครู/อาจารย์ทั่วประเทศ รวมทั้งรายงานการวิจัยหลายฉบับก็ได้ออกมายืนยันตรงกัน

ขอความกรุณาปรับอีกสักครั้งเถิดค่ะ  โดยเฉพาะวิธีคิดของท่านผู้มีทั้งอำนาจและหน้าที่  เพื่ออนาคตของลูกหลานของเราและของประเทศไทย  ถ้าท่านรักประเทศจริงเหมือนที่ท่านพูด  กรุณาวางอัตตาและแนวคิดเก่าๆ ลง มองไปที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เขาสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศและพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วว่าเขาทำอย่างไร หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ในแต่ละระดับของเขาเป็นอย่างไร  หยิบมาใช้ได้เลยค่ะ  ไม่ต้องอาย ไม่ต้องไทยกับคนไทย  เพื่อที่ในอนาคตเราทุกคนจะภาคภูมิใจกับความเป็นไทย  โดยไม่ต้องมาตอกย้ำซ้ำซากแบบไทยไทยกันอีกต่อไป

ปล. ดิฉันไม่กล้าคาดการณ์ว่า หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่ล้าสมัยที่สุดในประเทศคือ รร.เตรียมทหารและทั้งสี่เหล่าทัพ!

 

ที่มา: facebook.com/notes/tanya-nahathai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net