Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

ทำความเข้าใจภาพรวมผลการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 (ปรับโดยใช้ข้อมูลที่เป็นทางการของ กกต)

1. เนื่องจากกลุ่มใหญ่ที่สุดคือผู้ไม่มาใช้สิทธิ ซึ่งสูงถึง 52.28% เมื่อรวมกับไม่ประสงค์ลงคะแนน 16.69+บัตรเสีย 11.97 จึงทำให้คะแนนที่ลงให้ผู้สมัครและพรรคต่าง ๆ เหลือเพียงประมาณ 14 ล้านเสียง การเลือกตั้ง ปี 2554 เพื่อไทยพรรคเดียวได้ไป 15.7 ล้าน ดังนั้น อย่างไรเสีย ครั้งนี้คะแนนเพื่อไทยก็ลดลงอย่างแน่นอน ถ้าจะให้ชัดเจนว่าลดลงแต่ไหน ต้องรอดูคะแนนระบบบัญชีรายชื่อ

---คำถามสำคัญคือ ผู้ไม่มาลงคะแนนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มไหน สนับสนุนใคร คำตอบเบื้องต้นคือ เราไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน การเลือกตั้งปี 2554 มีผู้ใช้สิทธิ 75.03% ทำให้หลายท่านสรุปว่า มีคนประมาณ 25% ที่ปกติก็ไม่ออกมาเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ 75% เป็นค่าการใช้สิทธิสูงที่สุด ในที่นี้จึงขอใช้ค่าเฉลี่ยการเลือกตั้งปี 44, 48, 49, 50, และ 53 = 71.36% ซึ่งหมายความว่ามีผู้มีสิทธิประมาณ 28.6% ที่มีแนวโน้มไม่ออกมาใช้สิทธิไม่ว่ากรณีใด ๆ

---จึงเหลือประมาณ 23.68% ที่อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ออกมาเลือกตั้งเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมือง ใน 23.68% นี้ น่าจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

a) สนับสนุนแนวทาง กปปส. และตอบรับการรณรงค์เรื่องไม่ออกมาเลือกตั้ง (ถ้ารวมภาคใต้ที่ยังเปิดหน่วยเลือกตั้งไม่ได้ คนกลุ่มนี้น่าจะมีสัดส่วนสูงขึ้น)

b) ไม่ได้เห็นด้วยกับ กปปส. แต่มีเหตุผลทางการเมืองอื่น ๆ เช่น กังวลเรื่องความปลอดภัย ได้รับข้อมูลว่าการเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะ ประชุมสภาไม่ได้ หรือ เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ช่วยยุติปัญหา จึงตัดสินใจไม่ออกมา

c) ออกมาแล้วแต่ใช้สิทธิไม่ได้ (ไม่แน่ใจนักว่าตัวเลขที่มี ได้ปรับจำนวนคนกลุ่มหลังนี้อย่างไร หรือไม่)

***สรุป ผู้มาใช้สิทธิ 47.72 กับผู้ที่ไม่มาลงคะแนน 23.68% (อ้างอิงจากตัวเลขด้านบน) ทำให้สรุปได้ว่า กลุ่มคนที่เห็นว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญจึงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ


2.จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 46.79% แบ่งเป็นไม่ประสงค์ลงคะแนน 16.69%+บัตรเสีย 11.97% แม้รวมกันแล้วเท่ากับ 28.66% ก็ยังน้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2549 ที่ ปชป ชาติไทย และมหาชนร่วมกันบอยคอตการเลือกตั้ง และการกา vote no มีความหมายชัดเจนว่าไม่เอาคุณทักษิณ ในครั้งนั้น บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนมากถึง 31%

-- มีความสับสนในความหมายของการกา vote no ในครั้งนี้ แต่หลัก ๆ แล้ว คนที่ กา vote no น่าจะหมายถึงคนที่เห็นว่ากติกาการเลือกตั้งและการเคารพวิถีทางประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ ในกลุ่มนี้บางส่วนอาจเห็นด้วยกับ กปปส ในบางประเด็นและไม่ชอบเพื่อไทย แต่คิดว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นสัญญลักษณ์ที่สำคัญและต้องการรักษากติกาไว้ บางส่วนอาจเคยชอบเพื่อไทย แต่ vote no เพื่อลงโทษ (บางส่วนไปเลือกพรรคเล็ก)

--vote no สูงที่สุด ที่ระนอง 40.58% และ สมุทรสงคราม 40.34% สองพื้นที่ที่แข็งแกร่งของพรรค ปชป. คุณวิรัช ร่มเย็น และคุณรังสิมา รอดรัศมี และ ตามลำดับ)

---ที่โดดเด่นมากคือบัตรเสีย 11.97% สูงเป็นประวัติการณ์ ข้อเปรียบเทียบคือ เมื่อการเลือกตั้งปี 2554 ที่มีการรณรงค์ของพันธมิตรให้ vote no แต่ในครั้งนั้น vote no กลับน้อยกว่าบัตรเสียค่อนข้างชัด (4.9:2.7% ในระบบ PR และ 5.8:4.03% ในระบบเขต) บัตรเสียจำนวนมากในครั้งนี้และครั้งที่แล้วจึงตีความได้ว่า ส่วนใหญ่น่าจะเป็นการจงใจทำบัตรเสีย ไม่ใช่เป็นไปตามความเชื่อเดิมว่ากาไม่เป็นหรือไม่รู้เรื่องอีกต่อไป และแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ต้องนับรวมว่าเป็นกลุ่มที่เห็นว่าการเลือกตั้งมีความจำเป็นอยู่ แต่ไม่ชอบผู้สมัครหรือพรรคใด


3. ความแตกต่างระหว่างภาค: ภาคที่อัตราการใช้สิทธิโดยรวมสูง บัตรเสียและไม่ประสงค์ลงคะแนนน้อยคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือมีอัตราผู้ออกไปใช้สิทธิสูงสุด เชียงใหม่ และลำพูน อยู่ในสองอันดับแรก ทุกภาคเมื่อรวมคะแนนบัตรเสีย กับ vote no จะได้ 30% ปลายๆ ใกล้เคียงกับปี 2549 แต่เมื่อรวมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รวมกันได้ 18.97% ทำให้ทั้งประเทศลดลงเหลือรวมกัน 28.62%

---ข้อสังเกต

a) ภาคกลางซึ่งมีจำนวนผู้ใช้สิทธิต่ำโดยรวม จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิเกิน 50% เป็นจังหวัดที่นักการเมืองลายครามเหนียวแน่นในพื้นที่ เช่น สุพรรณ อ่างทอง อยุธยา

b) ภาคเหนือและใต้ จำนวนผู้ไม่ไปใช้สิทธิ ใกล้เคียงกับจำนวนคะแนนพรรค ปชป ที่ได้ในการเลือกตั้งปี 54 ที่เป็นไปในทิศทางตรงข้ามกัน กล่าวคือภาคเหนือมาใช้สิทธิครั้งนี้มากที่สุด ภาคใต้ใช้สิทธิน้อยที่สุด


4. ถึงแม้เพื่อไทยจะได้คะแนนโหวตลดลง แต่ที่นั่งในสภาจะสูงขึ้น เพราะในระบบเลือกตั้งแบบ 1 เขต 1 คน เพื่อไทยก็จะสามารถชนะพรรคขนาดกลางและเล็กได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ จะเห็นว่าพรรคเล็กจำนวนมากไม่ได้ส่งผู้สมัครในระบบเขต ยิ่งไปกว่านั้นในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่งจำนวนมาก เพราะคะแนนบัตรเสียและไม่ประสงค์ลงคะแนนจะถูกตัดทิ้งไป เอาเพียงคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับมารวมกัน แล้วหารด้วย 125 เป็นโควตาที่จัดสรรให้แต่ละพรรค

***ดังนั้น แม้เพื่อไทยจะถูกลงโทษโดยคะแนน แต่ในเชิงผลเลือกตั้งเพื่อไทยจะชนะขาด เพราะไม่มีพรรค ปชป ลงแข่งขันเป็นทางเลือก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net