อุทาหรณ์การเมืองไทยกับบทบาทสหภาพแรงงานในการกอบกู้วิกฤตประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
อุทาหรณ์
 
“การทดลองราชดำเนิน” ในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัด เพื่อ “กลั่นแกล้งประชาธิปไตย” ของคนส่วนใหญ่ให้สะดุดหรือผิดเพี้ยนไป เป็นการท้าทายอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของประชาชนเจ้าของประเทศโดยเจตจำนงแห่งรัฐธรรมนูญทั้งบ้านนี้เมืองนี้ไม่เป็นของใครเพียงถ่ายเดียวไม่เว้นแม้จะเป็นมวลมหาประชาชนแบบภาพลวงตาของ กปปส. แต่เป็นของประชาชนทุกคน ใครพยายามผูกขาดการเมืองของชาติ ไม่ว่ารูปแบบใด จึงเสี่ยงต่อการมีอันเป็นไป (กรณีอดีตนายกทักษิณพอจะเป็นตัวอย่าง)
 
สถานการณ์ประชาธิปไตยอันเป็นวิกฤตของประเทศในขณะนี้ ปรากฏชัดเจนขึ้นๆว่ากำลังนำพาประเทศไปสู่ความล้มเหลวที่เชื่อมโยงกันหลายด้าน ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม ประชาชนไทยทุกหมู่เหล่าจึงจำเป็นต้องหันมายึดถือสัมมาทิฐิทางการเมืองให้ได้หากคนไทยไม่สามารถแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้อย่างประนีประนอมกันได้ และร่วมมือกันต่อไปในการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นสังคมแห่งความเสมอภาค เสรีภาพ สิทธิภาพ ภราดรภาพ สหภาพ บูรณภาพ และสังคมธรรมาธิปไตย ให้เกิดขึ้นจริง แผ่นดินไทยก็อาจจะกลายเป็นประเทศที่มีการฉีกขาดเป็นอย่างน้อยสองประเทศหรือมากกว่านั้น
 
ข้อเสนอต่อบทบาทสหภาพแรงงานในการกอบกู้วิกฤตประชาธิปไตย
 
สหภาพแรงงาน ในฐานะองค์การประชาธิปไตยของสมาชิกและของสังคมที่มีบทบาทมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองและประชาธิปไตยของโลก ทั้งในหลายประเทศประชาธิปไตยนั้น สหภาพแรงงานเป็นพี่ใหญ่หรือกำลังหลักของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยมาตลอดสหภาพแรงงานยังเป็นองค์การอิสระจากรัฐและนายทุนในการดำเนินงาน และยังดำรงอย่างเจริญก้าวหน้าด้วยวิถีแห่งการปฏิรูป สหภาพแรงงานไทยซึ่งมีสถานะดังที่กล่าวข้างต้น จึงมีความเหมาะสมและจำเป็นต้องมีบทบาทเข้าร่วมกอบกู้วิกฤตประชาธิปไตยของประเทศในครั้งนี้ ดังที่จะขอเสนออย่างเป็นสัมมาทิฐิ คือ
 
1. สหภาพแรงงานแสดงตนในฐานะตัวกลางที่จะประสานหรือสร้างแรงกดดันให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจาและทำข้อตกลงร่วมกัน และรณรงค์ต่อสมาชิกให้ยึดมั่นในสันติวิธี ตามวิถีประชาธิปไตยปกติ
 
ในสถานะเช่นนี้สหภาพแรงงานก็คือประชาชนและกลุ่มประชาชนผู้ที่มีสัมมาทิฐิในทางการเมืองและมีอิทธิพลในการประสานประโยชน์ท่ามกลางความขัดแย้งนั่นเอง และองค์การสหภาพแรงงานที่เหมาะสมแก่การนำเพื่อดำเนินการดังกล่าวคือองค์การระดับสภาแรงงานต่างๆแต่องค์การระดับสภาแรงงานในปัจจุบันมีทั้งที่จัดตั้งโดยมีกฎหมายรองรับและที่ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญการแสดงตนขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะบุคคลหรือองค์การกลางเพื่อการเจรจาของคู่ขัดแย้งเป็นโอกาสหนึ่ง แต่องค์การระดับสภาแรงงานต้องประกาศจุดยืนออกมาและทำการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน
 
ถึงกระนั้น ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า องค์การระดับสภาแรงงานที่ไม่จดทะเบียนตามกฎหมาย เช่น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครท.) (มี สรส. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมในภาคเอกชนส่วนใหญ่ กลุ่มสหภาพแรงงานในบางพื้นที่หรือย่าน และองค์การพัฒนาเอกชนบางแห่งเป็นสมาชิก) ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 1 ใน 3 ของสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งประเทศ เข้าร่วมกับ กปปส.มาตั้งแต่ต้นแม้ว่าการเข้าร่วมของสหภาพแรงงานหรือผู้นำสหภาพแรงงานเหล่านั้น จะมิได้เข้าร่วมอย่างเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนที่ชอบตามวิถีประชาธิปไตยของสหภาพแรงงาน (เช่น การขอมติที่ประชุมใหญ่สมาชิกให้สหภาพแรงงานเข้าร่วมกับ กปปส.) หรือไม่ได้เข้าร่วมทั้งหมดอย่างเป็นเอกภาพภายในองค์กรก็ตาม ภาพลวงตาของฝายแรงงานในกปปส.จึงมีอยู่จริงเช่นกัน แต่ในเชิงภาพพจน์และในภาพรวมที่ปรากฏก็เป็นการสูญเสียความเป็นอิสระขององค์กรนำของฝ่ายแรงงานให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยไปแล้ว การหาทางดึงสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำสหภาพแรงงานที่ไปเข้าร่วมโดยตัวบุคคลหรืออาจเพียงมติคณะกรรมการสหภาพแรงงานบางแห่ง ให้ออกมาจากขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศตามวิธีการของกปปส.จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องช่วยกันทำอย่างยิ่ง
 
ในขณะที่องค์การระดับสภาแรงงานที่จดทะเบียนตามกฎหมายอีกประมาณ 12-13 แห่ง ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 2 ใน 3 ของสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชน ยังดำรงความเป็นอิสระเอาไว้ได้ และยึดมั่นต่อการเลือกตั้งตามวิถีทางปกติ แต่ก็ยังมิได้แสดงออกถึงความตื่นตัวในทางประชาธิปไตยนอกสถานประกอบการมากนัก
 
ขบวนการสหภาพแรงงานทั้งสองกลุ่มจึงควรประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันฉันท์พี่น้อง (Brotherhoods) อย่างเป็นประชาธิปไตย (และควรจะเปิดให้มีผู้แทนจากองค์การของขบวนการแรงงานระดับโลกและสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมนานาชาติเข้าร่วม เท่าที่จะสามารถทำได้) ว่าขบวนการสหภาพแรงงานไทย พึงก้าวเดินในทางประชาธิปไตยของประเทศอย่างไรจึงจะถูกต้องกว่าและเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน และการมีวิสัยทัศน์สู่อนาคตอันพึงประสงค์
 
2. สหภาพแรงงานพึงต่อรองทางการเมืองด้วยคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง มากกว่าการเข้าร่วมประท้วงตามแนวการปฏิวัติประชาชนของ กปปส.
 
ด้วยเหตุว่าการจะได้มาซึ่งอำนาจของ กปปส. เป็นวิธีการบังคับสังคม มิได้มาโดยสันติหรือสมัครใจเช่นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย อันสอดคล้องกับประเพณีนิยมของสหภาพแรงงาน แม้จะมีข้ออ้างจาก กปปส.ว่าเป็นการกระทำเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งให้ดีขึ้นก็ตาม (แต่สภาประชาชนตามสาขาอาชีพที่กปปส.จะตั้ง ก็ไม่มีความจำเป็นในยุคสมัยปัจจุบันที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมาแล้วในระดับหนึ่งนับจากปี 2540 ที่มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยรองรับเป็นต้นมา และแม้จะผ่านล่วงมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่จะมีจุดอ่อนอยู่บ้างก็ตาม ทั้งการทำงานของสภาประชาชนวิชาชีพก็มีอยู่แล้วตามองค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม 99 คน ที่จะไปใช้ประโยชน์ตรงนั้นมาปฏิรูปการเมืองได้พอประมาณ) แต่ไม่มีความชัดเจนถึงกระบวนการและสาระแห่งการปฏิรูปและมีหลักประกันว่าจะได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเกิดขึ้นหลังปฏิรูปภายใต้การอำนวยการของกปปส. โดยอาจจะมีหรือได้มาซึ่งสิ่งแปลกปลอมทางการเมืองที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยสากลสอดแทรกเข้ามาในระหว่างการปฏิรูป ดังที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นปี 2550 เช่น อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงให้นายกไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งมากกว่าเลือกตั้ง ข้าราชการเป็นวุฒิสมาชิกได้ ประชามติอาจถูกทำให้ไม่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยหรือทำได้ยาก พรรคการเมืองถูกควบคุมโดยองค์กรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและตีกรอบบทบาทให้อ่อนแอหรือด้อยความหมายมากกว่าเดิม การทำให้ประชาธิปไตยแบบถกแถลง (Deliberative democracy) หรือทางตรง (Direct democracy) หลากหลายช่องทางที่มิใช่ประชามติ (Referendum) เข้าสู้กับหรือหักล้างมากกว่าประสานสอดคล้องกับประชาธิปไตยตัวแทน (Representative democracy) องค์การอิสระได้รับอำนาจเพิ่มมากขึ้นเกินควร พร้อมกับการลดทอนฝ่ายบริหารให้อ่อนแอลงไป เป็นต้น
 
ปัจจุบันประเทศไทยมีสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 500,000 คน เมื่อรวมครอบครัวและญาติมิตรอีกคนละ 10 คน สหภาพแรงงานไทยก็จะมีเสียงต่อรองถึง 5,000,000 เสียงที่จะชี้เป็นชี้ตายการเมืองของประเทศ หากสหภาพแรงงานจะร่วมมือกันอย่างจริงจังและเพื่อนำประเทศออกจากวิกฤตโดยสันติวิธี
 
ในสถานการณ์เฉพาะหน้าหรืออนาคตอันใกล้ต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป (หลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557) องค์การระดับสภาแรงงานต่างๆจึงควรตกลงอย่างเป็นยุทธศาสตร์ร่วมกันและทำให้มีผลในทางปฏิบัติจริงว่าจะลงคะแนนเลือกตั้งให้พรรคการเมืองใดบ้างที่เห็นว่าจะปฏิรูปประเทศครอบคลุมตามที่ประชาชนต้องการมากที่สุด โดยอาจไม่ใช่การเลือกพรรคการเมืองเดียวก็ได้ แต่เป็นจำนวนหนึ่งเช่น 2-3 พรรคการเมืองเพื่อมาเป็นรัฐบาลพันธมิตรกัน หรือ อาจมีมติร่วมกันไม่เลือกพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค เนื่องจากขัดแย้งกันจนนำประเทศไปสู่วิกฤต โดยหันไปเลือกพรรคการเมืองทางเลือกที่อาจเป็นพรรคจัดตั้งใหม่และสนับสนุนการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมประชาธิปไตยที่ชัดเจนกว่าทั้งสองพรรคนั้น
 
3. สหภาพแรงงานควรสื่อสารกับสมาชิกโดยเร็วถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงตามแบบของกปปส.ที่จะเกิดต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศ หากมิได้ดำเนินการตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในขณะเดียวกันก็น้อมรับฟังความเห็นว่าด้วยปัญหาการเมืองไทยและแนวทางการแก้ไขในมุมมองของกปปส.มาพิจารณาใช้ประโยชน์
 
การเปลี่ยนแปลงนอกระบบแบบบังคับสังคมประชาธิปไตยและใช้ความเป็นอนาธิปไตยของกปปส.ผู้ทำหน้าที่แทนมวลชนบางส่วนของประเทศโดยแสดงผ่านแนวทางและวิธีการต่างๆ (อาทิ การไม่เจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติ การกดดันให้รัฐบาลรักษาการตามรัฐธรรมนูญลาออก การบุกยึดสถานที่ราชการ การขัดขวางการลงคะแนนเลือกตั้ง การจะจัดตั้งสภาประชาชนจากกลุ่มอาชีพและนักวิชาการมาทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ) จะทำให้ประชาธิปไตยเบี่ยงเบนไปจากหลักการสากลได้ ทั้งประชาชนทั้งหมดก็ไม่ได้รับการเคารพสิทธิที่มีอยู่ในการเปลี่ยนแปลงหลักการหรือวิธีการประชาธิปไตย (ไม่มีประชามติให้เปลี่ยนแปลงการเมืองตามที่กปปส.เสนอ) แม้ว่าจะอ้างว่าเป็นการชั่วคราว แต่อาจมีผลระยะยาว และจะเกิดเช่นนี้ซ้ำๆอีก จากผู้แพ้การเลือกตั้งซึ่งไม่มีน้ำใจนักกีฬา
 
ภายใต้กระบวนการล้มล้างพรรคการเมืองใดๆโดยวิถีนอกระบบหรือที่เรียกว่าหยุดประชาธิปไตยที่พรรคเพื่อไทยได้เปรียบไว้ชั่วคราว ไม่ต่างกับการรัฐประหารของเผด็จการทหารในอดีตที่ยึดอำนาจรัฐและล้มเลิกรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองไปในทางที่เครือข่ายเผด็จการทางการปกครองต้องการ สหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์การประชาธิปไตยเช่นเดียวกับพรรคการเมืองเองก็อาจจะถูกลมล้างจากผู้มีอำนาจในสถานประกอบการหรือในสังคมตามแบบอย่างนอกระบบ
 
พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอาจดำเนินการที่บกพร่องหรือผิดพลาดได้ หรือ แม้กระทั่งหลงตนเอง เช่นเดียวกับสหภาพแรงงานก็อาจเป็นเช่นนั้น และนี่คือความชั่วร้ายหรือความไม่เหมาะไม่ควรที่ต้องช่วยกันขจัด แต่ทางเลือกที่เคารพหลักการประชาธิปไตยและนิติรัฐในการทำให้พรรคการเมืองหรือสหภาพแรงงานที่มีปัญหาเช่นนั้นกลับมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็คือการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารชุดใหม่ที่เป็นการตัดสินใจของสมาชิก หรือการลงโทษผู้นำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือการที่ประชาชนไปใช้สิทธิ์ไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งคราวต่อไป เป็นต้น การล้มล้างโดยวิธีเผด็จการแบบกปปส.ไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรม และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
 
อย่างไรก็ตาม กปปส.ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการเมืองไว้หลายประการ เช่น การกระจายอำนาจ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น และการจะต้องไม่ให้พรรคการเมืองถูกควบคุมโดยผู้จัดตั้งและที่เป็นนายทุนพรรค เป็นต้น หลักการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยของสหภาพแรงงานที่สามารถนำมาพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการเมืองไทยได้
 
4. การปฏิรูปประเทศในประเด็นที่เห็นพ้องร่วมกันทั้งประเทศสามารถกระทำได้โดยจัดตั้งองค์กรอิสระ ที่สหภาพแรงงานเข้าร่วม แต่ก็ต้องอาศัยการลงประชามติของประชาชนประกอบเพื่อมิให้รัฐบาลแทรกแซง ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องบริหารประเทศควบคู่กันไป
 
การเรียกร้องให้คุณค่าต่อการปฏิรูปอย่างเป็นพิเศษในขณะนี้ โดยหยุดการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน เป็นนโยบายพิเศษของฝ่ายต้องการหยุดชะงักประชาธิปไตย และแม้ว่าการปฏิรูปใดๆที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีงามไม่พึงปฏิเสธก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันการบริหารประเทศโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็จำเป็น ฉะนั้นโดยหลักการประชาธิปไตยแล้วก็เป็นของดีที่ต้องอยู่คู่กันไปกับการปฏิรูป
 
นอกจากนี้ ประชาชนต้องรับบริการจากรัฐอย่างต่อเนื่อง การหยุดการบริหารประเทศเพื่อให้มีการทำปฏิรูปประเทศอย่างเดียวไม่เป็นประโยชน์จ่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ทั้งการบริหารรัฐก็ย่อมต้องเป็นไปตามสัญญาประชาคมที่ทุกรัฐบาลพึงกระทำอยู่แล้วว่าต้องมีนโยบายการบริหารและปฏิรูปประเทศอะไรบ้าง จึงไม่ผิดที่รัฐบาลต้องบริหารตามสัญญาประชาคมตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง
 
การมีองค์กรอิสระมาทำงานปฏิรูปในเรื่องสำคัญๆที่มีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่อย่างชัดแจ้ง ไม่ให้รัฐบาลครอบงำการปฏิรูปนั้น เป็นไปได้ และดังที่มีตัวอย่างอยู่แล้ว (เช่น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และองค์การมหาชนอิสระต่างๆในขณะนี้ และการมีคณะกรรมการปฏิรูปสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำที่เริ่มในปี 2553 ก็มีการดำเนินการกันไป โดยรัฐบาลขณะนั้นยังอยู่ในตำแหน่ง และรัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานเพื่อการปฏิรูปของคณะกรรมการที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ. ประเวศ วะสี เป็นแกนนำ) จึงไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลคนกลาง หรือรัฐบาลเฉพาะกาลมาบริหารแทนรัฐบาลประชาธิปไตยในขณะศึกษาและแสวงหาข้อยุติในสาระของการปฏิรูป การยกร่างหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อการปฏิรูป และ อาจรวมถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูป แต่อย่างใด
 
สหภาพแรงงานจึงพึงช่วยกันรักษาการดำเนินการควบคู่กันของทั้งสองอย่าง ไม่เอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง (คือต้องเอาไว้ทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งและทำให้ประเทศมีการปฏิรูป) โดยรัฐบาลต้องมีมารยาทไม่ก้าวก่ายการปฏิรูป และรัฐบาลจะต้องสนับสนุนกระบวนการให้ได้ข้อเสนอและกิจกรรมที่จะสื่อไปสู่การปฏิรูป และนำข้อสรุปการปฏิรูปที่ได้จากการทำงานอย่างเป็นอิสระขององค์กรเพื่อการปฏิรูปไปให้ประชาชนลงประชามติรับรองก่อนจะใช้จริง ฉะนั้นองค์การสหภาพแรงงานต่างๆจึงสมควรมีตัวแทนที่มีศักยภาพเข้าร่วมในองค์การเพื่อการปฏิรูปในระดับต่างๆที่จะเกิดขึ้น
 
5. การดำเนินการของสหภาพแรงงานยึดถือหลัก “ผู้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด(The most representatives) เป็นผู้แทนสมาชิกในการทำความตกลงกับนายจ้างและบุคคลภายนอกอื่นๆ” อันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยสากลที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล
 
ตามหลักการข้างต้น สหภาพแรงงานจึงพึงยอมรับรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในระบบการเมืองนอกโรงงานและหากสหภาพแรงงานปรับการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยย่อมทำให้สหภาพแรงงานมีอำนาจชอบธรรมอย่างเต็มที่ในสังคม มากกว่าการทำในสิ่งที่ขัดแย้งกัน
 
แม้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด การจัดการกับการกระทำผิดของรัฐบาลก็ต้องกระทำที่ยึดหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ดังที่มีกลไกอยู่แล้วตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น ให้ฝ่ายค้านและวุฒิสภาตรวจสอบ ให้ประชาชนเข้าชื่อกันสองหมื่นชื่อเสนอปลดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กระทำผิด ให้ปปช.ดำเนินการตามกฎหมาย ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือ ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินการ เป็นต้น การไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจึงต้องให้ความหวังกับกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเหล่านี้ หากกลไกดังกล่าวไม่แข็งขันหรือล้มเหลวก็ต้องปฏิรูปกลไกดังกล่าวให้ทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โดยต้องอดทน (แม้จะใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี) หากไม่อดทนก็จะเสียสติและเสียคุณธรรมความดีงามของผู้ที่เจริญกว่าในการจัดการแก้ไขปัญหา และเสียความเป็นสถาบันการปกครองของรัฐที่ต้องสามารถจัดการความขัดแย้งในสังคมให้ลงตัว (Institutionalization of conflicts)
 
6. การเลือกตั้งในแต่ละครั้งสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือล้มเหลวในผลงานของรัฐบาลและการตัดสินใจของประชาชน
 
กติกาประชาธิปไตยก็ไม่ต่างกับกติกาเพื่อการแข่งขันกีฬา พรรคการเมืองย่อมแข่งกันเพื่อเอาชนะกันในการเลือกตั้ง หากนักกีฬาซ้อมมาไม่ดีหรือเล่นผิดพลาดก็ย่อมแพ้การแข่งขัน และเช่นเดียวกับสหภาพแรงงานที่ได้มาโดยการแข่งขันรับเลือกตั้งจากสมาชิก หากมีผลงานดีสมาชิกก็เลือกบุคคลหรือกลุ่มที่ลงแข่งขันนั้นในครั้งต่อไป สหภาพแรงงานจึงควรส่งเสริมความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาในระบบการเมือง และอดทนเพื่อหวังการชนะในการแข่งขันรอบต่อๆไป ความภาคภูมิใจย่อมมีสูงสุดกว่าการชนะโดยให้กรรมการเข้าข้างตนเองหรือใช้เครื่องช่วยพิเศษสารพัด ทั้งๆที่เล่นกีฬาไม่เก่งจริง
 
ภายใต้ครรลองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญไทยและในทางสากล สหภาพแรงงานสมควรเปิดโอกาสให้สมาชิกของตนสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือสนับสนุนการจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย เข้าร่วมกิจกรรมที่ถูกกฎหมายกับพรรคการเมือง และลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล อันให้ความสำคัญกับการปกครองตนเองของประชาชน และสนับสนุนให้การเมืองดำเนินต่อไปเป็นปกติ ด้วยการสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่มีคุณภาพก็เป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกตั้ง สหภาพแรงงานจึงควรให้สมาชิกของตนรอบรู้ผลการดำเนินงานของพรรคการเมืองต่างๆและรัฐบาล และมีข้อมูลที่รอบด้านเพื่อการประเมินนโยบายพรรคการเมือง รวมทั้งต้องอาศัยการคาดการณ์อนาคตประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม หากการตัดสินใจขึ้นอยู่กับอุดมการณ์พรรคแล้ว ประชาชนและสมาชิกสหภาพแรงงานก็อาจไม่สนใจความผิดหรือความล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งต้องแก้ไขโดยการปรับปรุงประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองต่างๆ และการจัดตั้งมาตรฐานคุณภาพพรรคการเมืองมากำกับ พรรคการเมืองก็จะค่อยๆปรับปรุงตัวเองในอนาคต อันจะเป็นการไล่ระบอบการเมืองที่ประชาชนไม่ชอบหรือที่ว่าเป็นอันตรายแก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืนกว่าวิธีการไล่ระบอบทักษิณแบบกปปส.ที่กำลังทำในขณะนี้
 
7. หากมีการทุจริตในระบบการเมือง ก็พึงแก้ปัญหาเฉพาะจุดไป และหาทางปฏิรูปให้การเมืองโปร่งใสและมีผลงานที่คุ้มค่าพร้อมๆกับการแก้ไขจุดอ่อนการเมืองไทยในประเด็นอื่นๆ
 
การทุจริตในระบบการเมือง มิได้มีเพียงการทุจริตซื้อเสียงหรือโกงกินในขณะรัฐบาลดำรงตำแหน่ง แต่รัฐบาลแต่ละชุดอาจทุจริตด้วยการโกงจริยธรรม-ศีลธรรม โกงอำนาจ โกงตำแหน่ง และโกงกติกา ก็ได้ สหภาพแรงงานจึงต้องไม่หลงประเด็น คือ ไม่เพ่งเล็งปัญหาการเมืองเฉพาะโกงเงินเท่านั้น การโกงบ้านกินเมืองมีหลากหลายวิธีประกอบการใช้อำนาจรัฐ ประวัติศาสตร์ไทยได้บันทึกการทุจริตในระบบการเมืองไทยในรอบ 80 กว่าปีนับจาก พ.ศ. 2475 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนับจากโดยคณะราษฎรไว้หมดแล้ว หากใครจะศึกษาเรียนรู้ให้ครอบคลุมและรู้ทันทุกฝ่ายเพียงใดก็เป็นโอกาสที่จะรู้ความจริงเพื่ออนาคตการกระทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมีคุณค่าแท้มากเท่านั้น
 
ในกรณีการซื้อเสียง สำนึกในคุณธรรมความดีของประชาชนผู้เลือกตั้งนั่นเอง จะเป็นสิ่งป้องกันการซื้อเสียง การซื้อเสียงจะเป็นไปไม่ได้หากประชาชนไม่ยอมรับเงินแต่มีผลการวิจัยออกมามากขึ้นๆว่าการซื้อเสียงของนักการเมืองมีน้อยลง ประชาชนเลือกพรรคเพราะนโยบายมากกว่าการรับเงิน อย่างไรก็ตามในทางเศรษฐศาสตร์ การเลือกตั้งเสมือนการลงทุนที่ควรให้เกิดความคุ้มค่าจากการลงทุน ฉะนั้นเมื่อประชาชนเลือกพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใดๆไปแล้ว เราจะต้องมีระบบการติดตามการทำงานว่าพรรคการเมืองและ ส.ส. สามารถสร้างผลงานคุ้มค่าทั้งในทางจิตใจและวัตถุออกมาหรือไม่และอย่างไร
 
8. สหภาพแรงงานควรเป็นผู้นำสังคม มิใช่ผู้ตามหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยของประเทศ และร่วมมือกับกลุ่มประชาชนต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ โดยไม่ผ่านแนวทางแบบเผด็จการ
 
การเป็นเผด็จการของประเทศอาจมีได้ในรูปแบบเผด็จการกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เผด็จการทหาร เผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน เผด็จการรัฐสภา ซึ่งล้วนเป็นภัยต่อประเทศ ประชาชน และสหภาพแรงงาน
 
ในช่วงแรกๆของการล้มประชาธิปไตยของฝายเผด็จการใดๆ ผู้คนอาจเห็นว่าผู้ปกครองใหม่หรือผู้ปกครองชั่วคราวกำลังจะทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการเพื่อขจัดสิ่งที่ไม่ดี แต่ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนแก่คนไทยมากว่า 80 ปี แล้วนั้นว่า ในระยะเวลาไม่นานต่อมา การเปลี่ยนแปลงภายใต้อำนาจเผด็จการต่างๆ ที่อ้างว่าจะล้มล้างความชั่วร้ายของฝ่ายที่ได้อำนาจตามวิถีประชาธิปไตยหรือจากการเลือกตั้งนั้น ในที่สุดประเทศก็ไม่ได้พบกับสิ่งดีๆมากกว่าไปการเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการของระบบประชาธิปไตยปกติในทางที่เปรียบเทียบกันได้
 
สหภาพแรงงานเกิดขึ้นมาได้โดยสังคมประชาธิปไตย เสมือนสังคมประชาธิปไตยเป็นผู้บังเกิดเกล้า สหภาพแรงงานเป็นลูก แต่สหภาพแรงงานจะดำรงอยู่ได้อย่างจำกัดหรือสูญสลายภายใต้ระบบเผด็จการ แม้จะมีการปฏิวัติประชาชนแบบที่เกิดในรัสเซียหรือจีนหรือ การสร้างสังคมเผด็จการฟ่าสซิสต์แบบฮิตเลอร์ในเยอรมนีและมุสโสลินีในอิตาลี สังคมใหม่หลังการปฏิวัติโดยประชาชนหรือรัฐฟ่าสซิสต์ดังกล่าวก็เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง สหภาพแรงงานได้ถูกพรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคฟาสซิสต์ใช้เป็นเครื่องมือให้เข้าร่วมสนับสนุน ผู้นำสหภาพแรงงานที่เข้าร่วมอาจได้รับเกียรติหรือได้ตำแหน่งระดับชาติ แต่สหภาพแรงงานหาได้มีอำนาจอิสระในการต่อรองกับรัฐ กลายเป็นสหภาพแรงงานที่เฉื่อยเนือย ท่องแต่สูตรทุนนิยมสามานย์ และไม่สามารถคุ้มครองและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสมาชิกหลังจากการเปลี่ยนแปลงประเทศไปแบบนั้นได้อย่างแท้จริง
 
องค์การระดับสภาแรงงานในฐานะองค์กรนำของสหภาพแรงงานทั่วประเทศจึงพึงกตัญญูต่อผู้ให้กำเนิดคือสังคมประชาธิปไตย และดำรงตนในความเป็นผู้นำที่เป็นที่พึ่งในทางประชาธิปไตยของบ้านเมือง ผู้แรงงานนำระดับชาติและผู้อาวุโสในขบวนการแรงงานทั้งหลาย จึงสมควรออกมาเตือนสติผู้นำองค์กรสมาชิกที่หลงผิดในระดับต่างๆ ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ แต่ให้ดำรงความเป็นอิสระ แม้จะไม่พอใจกับพรรคการเมืองหรือรัฐบาลบางชุดมากมายเพียงใด ก็ต้องไม่ทำตนผิดเพี้ยนจากหลักการประชาธิปไตย รัฐบาลจากพรรคการเมืองต่างๆก็จะเกรงใจ ทั้งในระยะยาวแล้วไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน คนรุ่นหลังจะออกมาชำระสะสางสิ่งไม่เหมาะสมที่ผู้นำรุ่นก่อนทำไว้
 
ดังนั้นในยุคสมัยปัจจุบัน เราต้องการสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในวิถีประชาธิปไตย รัฐและสังคมจะต้องกำหนดขอบเขตการเกี่ยวข้องกันของสหภาพแรงงานกับการเมืองเสียใหม่ จากเดิมที่เคยห้ามสหภาพแรงงานยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาเป็นการให้สหภาพแรงงานส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างสร้างสรรค์ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ
 
9. การร่วมมือของสหภาพแรงงานกับนายทุนผู้ประกอบการจะส่งเสริมความสำเร็จของสังคมประชาธิปไตย
 
ในการร่วมกับส่วนอื่นๆในการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยนั้น นอกจากสหภาพแรงงานจะร่วมมือกับองค์กรหรือคณะบุคคลต่างๆแล้ว สหภาพแรงงานจำเป็นต้องเข้าร่วมกับนายทุนผู้ประกอบการด้วย เพราะทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆและเจริญเติบโตได้ดีในสังคมและเศรษฐกิจประชาธิปไตยด้วยกันทั้งคู่ ทั้งโดยการอาศัยกระบวนการเจรจาต่อรองร่วมและการปรึกษาหารือร่วมกัน เป็นต้น นายทุนและแรงงานในสังคมประชาธิปไตยจึงต้องจับมือกันเพื่อกอบกู้วิกฤตของประเทศ ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การยืนยันให้มีการแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีการที่รัฐธรรมนูญรับรอง การประชุมร่วมกันเพื่อสร้างแนวทางประชาธิปไตยในอุตสาหกรรมและในระบบรัฐสภาให้สอดรับกัน ส่งเสริมให้แรงงานและสมาชิกในครอบครัวไปเลือกตั้ง ส่งเสริมวิถีชีวิตประชาธิปไตย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางตรงในโอกาสต่างๆ ร่วมกันประสานการเจรจากับคู่ขัดแย้งทีละฝ่าย และ จัดประชุมร่วมกับทุกฝ่ายในระดับต่างๆ พร้อมๆกับการเข้าร่วมของส่วนอื่นๆที่มีอำนาจในสังคมเพื่อให้ได้ข้อยุติตกลงร่วมกัน อันจะทำให้ประชาธิปไตยลงตัวด้วยการดึงวิกฤตการเมืองให้กลับสู่สภาวะความเป็นสถาบันสังคมประชาธิปไตยปกติ
 
10. สหภาพแรงงานควรจัดการศึกษาเกี่ยวกับสังคมประชาธิปไตยให้แก่สมาชิกและเสริมสร้างบทบาทสหภาพแรงงานในวิถีทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างสม่ำเสมอ
 
การเรียนรู้ประชาธิปไตยที่ดีไม่ใช่เพียงเรียนรู้ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคืออะไรและการเลือกตั้งเป็นอย่างไร แต่จำเป็นต้องทำให้คนรู้และเข้าใจว่าสังคมประชาธิปไตยมีลักษณะเช่นไรและจะเป็นประโยชน์ต่อมหาชนอย่างไร สาระที่เกี่ยวกับรูปแบบการเมืองการปกครองของโลกและที่ประเทศไทยใช้อยู่ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย องค์การและบุคคลต่างๆพึงมีหน้าที่อะไรบ้าง รวมทั้งปัญหาต่างๆของไทยแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต และโดยบทบาทของสหภาพแรงงานและสมาชิกควรเป็นเช่นไรต่อสังคมประชาธิปไตยและการเมืองไทยด้วย
 
สหภาพแรงงาน โดยอาจมีสถาบันเพื่อการเรียนรู้และส่งเสริมสังคมประชาธิปไตยเข้าช่วย จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาเกี่ยวกับสังคมประชาธิปไตย การเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเรื่องของการเมืองไทยและในระดับสากลให้สมาชิกได้ทราบและซักถามอย่างสม่ำเสมอ
 
เมื่อประกอบกับการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกู้วิกฤติประชาธิปไตยของผู้นำสหภาพแรงงานกับขบวนการประชาธิปไตยต่างๆที่ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้ว การเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมประชาธิปไตยและการเมืองไทยแก่สมาชิกสหภาพแรงงาน ก็ควรกระทำผ่านการส่งเสริมให้สมาชิกแสวงหาข้อมูลจากสื่อหลากหลายช่องทาง/หลากหลายผู้ผลิตด้วย เพื่อป้องกันการครอบงำทางความคิดและข้อมูล การจัดประชุมกลุ่มศึกษาหรือกลุ่มย่อย การจัดสัมมนา รวมทั้งการประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อให้ผู้นำและสมาชิกได้มาพบปะกันเป็นวิถีประชาธิปไตย และอาจนำไปสู่การลงมติในประเด็นที่สำคัญๆด้วย
 
การประชุมมวลมหาประชาชนแบบกปปส. ที่แกนนำ นักวิชาการ หรือ แขกรับเชิญมาพูดต่อหน้าผู้ชุมนุมประท้วงเป็นวิธีการที่มีจุดอ่อนเพราะเน้นการสื่อสารทางเดียว ขาดการแลกเปลี่ยนสองทางระหว่างผู้นำเสนอและผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเสมือนถูกสะกดจิต มารับการตอกย้ำข้อมูลด้านเดียว มากกว่าการได้ข้อมูลรอบด้านประกอบการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล (เช่น ระบอบทักษิณคืออะไรกันแน่ ระบอบนี้มีแต่ความชั่วร้าย หาสิ่งดีงามแก่ประชาชนไทยไม่ได้เลย หรือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นๆ และกลไกการเมืองต่างๆมีความไม่ดีและไม่เหมาะสมอะไรบ้าง – ย่อมมีมวลมหาประชาชนกปปส.จำนวนมากไม่ทราบ เพราะแกนนำกปปส.ไม่วิพากษ์ให้ฟัง - แล้วจะปฏิรูปการเมืองให้ถ้วนทั่วและเป็นกลางได้อย่างไร)
 
สรุปและก้าวต่อไป
 
การทดสอบสมรรถนะประชาธิปไตยไทยในห้วงเวลานี้ หากรัฐบาลและผู้รักประชาธิปไตยสามารถช่วยกันทำให้ระบอบของเราผ่านการกลั่นแกล้งประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ โดยกปปส. ได้สำเร็จแล้ว เราก็ควรก้าวไปให้ไกลไปกว่าแนวคิดของ กปปส. องค์กรมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ และ รวมทั้งคนเสื้อแดงที่กำลังปกป้องพรรคเพื่อไทย ด้วยการเดินสายกลาง คือ ประชาธิปไตยที่มิใช่ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ที่ความสมบูรณ์นั้น แฝงไว้ด้วยการลดทอนประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ตามหลักการสากลที่อารยประเทศยึดถือและให้โอกาสกลไกการเมืองแนวอนุรักษ์ได้เพิ่มศักยภาพในการแทรกแซงหรือถ่วงรั้งที่จะมีผลหรืออาจมีผลไม่ให้เสียงส่วนใหญ่ได้ปกครองตนเองสำเร็จ และต้องหลีกหนี “เผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมาก” แบบที่พรรคเพื่อไทยได้เฉียดเข้าไป ที่ผู้มีอำนาจอาจกระทำผิดคุณธรรมประชาธิปไตย
 
แต่ควรจะเป็น “ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ” ที่พ้นจากมุมมองที่คู่ขัดแย้งยึดมั่น โดยร่วมกันสร้างเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งให้เป็นเสียงที่มีคุณภาพด้วยเสมอ ทั้งใส่ใจในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพและคุณธรรมประชาธิปไตย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆทางการเมืองที่ให้คุณค่าแท้แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง อันจักเป็นการรักษาแก่นแกนของหลักการประชาธิปไตยสากลที่มนุษย์โลกแต่ละชนชาติได้พัฒนาในส่วนของตน พร้อมๆกับความร่วมมืออย่างแข็งขันในการทำนุบำรุงประชาธิปไตยในระดับนานาชาติโดยพวกเราประชาชนผู้เป็นเจ้าของประชาธิปไตย ในมติและกลไกต่างๆที่ไกลกว่าการปรองดองเฉพาะหน้า แต่เป็นเอกภาพคือสมานฉันท์ ด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกันของกลไกต่างๆในระยะยาวนั่นเอง
 
สหภาพแรงงานจึงมีความสำคัญต่อการเข้าร่วมกอบกู้วิกฤตประชาธิปไตย และพึงเข้าร่วมอย่างเป็นอิสระไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ แต่มีความระมัดระวังต่อการผูกพันองค์การสหภาพแรงงานในขณะเข้าร่วมกับองค์การและคณะบุคคลต่างๆ เพื่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมืองของประเทศให้เหมาะสมแก่กาลสมัยของสังคม ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะในภาวะปัจจุบันเท่านั้น แต่สมควรกระทำอย่างเป็นระยะยาวด้วย
 
การปฏิรูปประเทศเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย คือ ต้องใช้เวลาเพราะไม่สามารถเร่งรีบรวบรัดการตัดสินใจของสมาชิกหรือประชาชนบางส่วนเท่านั้นได้
 
“กรุงโรมหรือกรุงเทพมหานครมิได้สร้างเพียงวันเดียว” และ “หอยทากเดินช้า แต่ล้มยาก ไปถึงเป้าหมายในที่สุด โดยมีหนวดเสมือนเรดาห์คอยจับทิศทาง” เราจึงต้องอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะให้เกิดสิ่งที่ดีงาม มีคุณภาพ และมีคุณธรรมในทางการเมืองการปกครองอย่างมีเป้าหมายและค่อยเป็นค่อยไปภายใต้การปฏิรูปอันเป็นกระแสแม่บท การปฏิวัติก็ย่อมมีได้ แต่พึงมีในจุดเล็กจุดน้อยเพื่อสนับสนุนการปฏิรูป และการปฏิวัติประชาชนอย่างสันติวิธีที่แท้จริงจะต้องไม่เป็นการบังคับสังคมโดยทั่วไป และไม่เพียงมุ่งหมายหลักที่การขจัดระบอบชั่วร้าย ดังระบอบทักษิณที่ว่ามีอยู่เท่านั้น แต่ต้องมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ การสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
 
ข้อเขียนขยายความจากฉบับที่นำเสนอในงานสัมมนา เรื่อง “นโยบายพรรคการเมืองในการเลือกตั้งและบทบาทสหภาพแรงงานในการกู้วิกฤตประชาธิปไตยของประเทศ”วันที่ 26 มกราคม 2557ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท