Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจาก กกต มีมติ เมื่อวันที่ 7 กพ พศ 2557 ที่ผ่านมา ให้นายกรัฐมนตรี ออก พรฎ ใหม่ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใน 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะมีการขัดขวาง โดยกลุ่ม กปปส

ผู้เขียน มีความเห็นทางกฎหมายในเชิงวิชาการ ไม่เห็นด้วยกับ มติ ของ กกต ด้วยเหตุผลดังนี้

(1) พรฏ ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 นั้น มาตรา 3 ระบุว่า “ ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่”

 และ มาตรา 4 ระบุว่า “ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ. พ.ศ. 2557”

จะเห็นได้ว่า การยุบสภา ซึ่งเป็นอำนาจดุลยพินิจ ของ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้กระทำการ ตาม มาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ เสร็จสิ้นทุกประการแล้ว การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทำให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จาก 500 คน เหลือ 0 คน เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนในการเลือกผู้แทนของตน และให้มีการ เลือกตั้ง สส ใหม่ เป็นการทั่วไป(เน้นโดยผู้เขียน)ให้ครบ 500 คนเหมือนเดิม โดยอาศัยอำนาจตาม พรฎ ยุบสภา 9ธันวาคม พศ 2557

ดังนั้น กกต จึงมี “ฐานอำนาจ” ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไปใหม่จนกว่าจะครบ 500 คนภายในระยะเวลา 180 วัน จาก พรฎ ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 นี้

กกต จึงไม่จำเป็นที่จะต้อง มีการ ตรา พรฎใหม่ จนกว่า จะได้ สส ครบ 500 คน รวมทั้งในอดีตที่ผ่านมา ตราบใดที่ ยังไม่มีการประกาศผลคะแนน สมาชิก สภาผู้แทน แบบเขต และ แบบบัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการ กรณีที่ มีการให้ใบเหลือง ใบแดง โดย กกต ก็ไม่เคยมีการออก พรฎ ให้มีการเลือกตั้งใหม่แต่อย่างใด

ประกอบกับ การวิเคราะห์ พรบ ประกอบ รธน ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สส และ สว พ.ศ. 2550(2554) มาตรา 6 ที่ระบุว่า “ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งดังต่อไปนี้

 (1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัคร รับเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น”

และใน มาตรา 7 ที่ระบุว่า “ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็น

การเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังต่อไปนี้”

(2) การออก พระราชกฤษฎีกา(ใหม่) เพื่อให้มีการเลือกตั้ง สส แบบแบ่งเขตจะต้องเป็นกรณีที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่(เลือกตั้งซ่อม) ทดแทนตำแหน่ง สส ที่ว่างลงเท่านั้น เช่น การลาออก ตาย หรือ ขาดคุณสมบัติ (ตาม ม 106  รัฐธรรมนูญ) และ มาตรา 109(1) และ พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สส และ สว พ.ศ. 2550(2554) มาตรา 7วรรคท้ายเท่านั้น เพราะในกรณีของ สส บัญชีรายชื่อ ประธานรัฐสภาสามารถประกาศรายชื่อ ผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้ โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่แต่อย่างใด

สรุป

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ กรณี 28 เขต เลือกตั้งนั้นมีเหตุขัดขวาง กกต ให้ทำการรับสมัครไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดของผู้สมัคร รวมทั้งศาลฎีกา ก็ตัดสินว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต ในการรับสมัครด้วย ดังนั้น กกต มีอำนาจหน้าที่ ตาม พรฎ ยุบสภา 9 ธันวาคม พศ 2556 ในการออก “ประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ในการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ได้ เพราะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการรับสมัครคราวก่อน ไม่ใช่การรับสมัครใหม่ และ พรฎ. ยุบสภาเดิมยังมีผลบังคับใช้อยู่

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net