Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ลองใช้กูเกิ้ลค้นหาคำว่า "Neutral Prime Minister" จะเห็นว่าไม่มีประเทศไหนในโลกยกเว้นอียิปต์กับไทยที่มีการพูดถึง "นายกคนกลาง" ซึ่งในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแนวคิดเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องตลกไปเลย

ความจริงข้อเสนอเรื่อง "นายกคนกลาง" เป็นเพียงวาทกรรมของ กปปส.ที่ไร้ความหมายเหมือนกับ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" เพราะถ้าเป็น "คนกลาง" ที่มวลชนฝ่ายกปปส.ยอมรับได้ผมเชื่อว่ามวลชนฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยคงจะรับไม่ได้แน่นอน (จึงไม่ใช่คนกลาง)

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสำหรับมวลชนฝ่ายที่สนับสนุนกปปส.แนวคิดเรื่อง "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ภายใต้ "นายกคนกลาง" เป็นแนวคิดที่มีเสน่ห์เพราะพวกเขากลัวว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแล้วก็จะตั้งรัฐบาลและดำเนินการปกครองประเทศต่อไปตามแนวนโยบายเดิมในลักษณะ "เผด็จการรัฐสภา" หรือ "เผด็จการของเสียงส่วนใหญ่" โดยที่ไม่สนใจต่อเสียงของมวลชนที่มีความคิดต่างกันและที่ต้องการปฏิรูประบบ ซึ่งในเรื่องนี้ผมเห็นว่าเป็นมุมมองที่มีความชอบธรรมในขณะที่ข้อเสนอต่างๆของกปปส.นั้นไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงเพราะขัดต่อระบอบประชาธิปไตย

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ดูเหมือนไม่มีใครชนะใครได้ และรอยร้าวและความเกลียดชังขยายไปเรื่อยๆ หากเกิดรัฐประหารหรือการนองเลือดใหญ่สังคมไทยก็จะพังทลายและรื้อฟื้นได้ยาก

ผมจึงได้เสนอทางออกที่เป็นไปได้ตามระบอบประชาธิปไตย คือให้พรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่ายินดีตั้งรัฐบาลผสมเฉพาะกิจวาระหนึ่งถึงสองปีร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อกำกับดูแลการปฏิรูปการเมืองก่อนยุบสภาอีกครั้ง แล้วพรรคเพื่อไทยควรดำเนินการเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์ทันที

ผมไม่ได้เสนอตั้งรัฐบาลสองนายกรัฐมนตรีนะครับ แน่นอนนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง (เพื่อไทย) แต่ก็จะมีการจัดสรรค์ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางส่วนให้กับพรรคประชาธิปัตย์และยังอาจมีบุคคลที่อยู่ภายนอกทั้งสองพรรคมาร่วมเป็นรัฐมนตรีอีกก็ได้ แล้วแต่ตกลงกัน แต่ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ผมคิดว่าแม้ กปปส.ไม่เล่นด้วยแต่คราวนี้พรรคประชาธิปัตย์อาจตอบสนองอยู่เพราะสมาชิกพรรคและสส.ของประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพในเรื่องการไม่ลงเลือกตั้งที่ผ่านมา

ภารกิจหลักของรัฐบาลผสมคือการดูแลกำกับกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองที่มาจากข้อเสนอของประชาชนทุกส่วนจนได้ข้อเสนอที่ผ่านประชามติและนำมาแก้รัฐธรรมนูญและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

เรื่องของรัฐบาลผสมของขั้วตรงกันข้ามกันเกิดขึ้นแล้วสามครั้งที่ประเทศเยอรมนี ครั้งล่าสุดเพิ่งตั้งรัฐบาลขึ้นช่วงก่อนปีใหม่นี้เองหลังจากที่พรรคการเมืองสองขั้วเจรจาทำข้อตกลงกันใช้เวลาสองเดือนกว่า ขั้วฝ่ายขวาของรัฐบาลผสมได้แก่พรรค CDU (Christian Democrats) กับ CSU ซึ่งเป็นพรรคพี่น้องฝั่งทุนนิยมมี Angela Merkel เป็นผู้นำและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนขั้วฝ่ายซ้ายของรัฐบาลผสมได้แก่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย SPD (Social Democrats) มี Sigmar Gabriel เป็นผู้นำและดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

สาเหตุที่มีการตั้งรัฐบาลผสมครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้มีรัฐบาลที่มีเสถึยรภาพ เนื่องจากพรรคการเมืองเล็กที่อยู่ระหว่างกลางพรรคสองขั้วนี้ได้จำนวนส.ส.น้อยลง

ในการร่วมรัฐบาลผสมนี้พรรค SPD ซึ่งได้จำนวนส.ส.น้อยกว่าพรรค CDU/CSU รวมกันมากพอสมควร กลับได้ประโยชน์หลายประการ ที่สำคัญได้รับหน้าที่ดูแลนโยบายพลังงานที่จะเน้นแหล่งพลังงานยั่งยืน และสามารถต่อรองให้เยอรมนีมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ SPD ได้ดูแล 6 กระทรวงเท่ากับ CDU ส่วน CSU ได้ดูแล 3 กระทรวง

ใครจะบอกว่าข้อเสนอรัฐบาลผสมเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ของผมไม่เข้าท่าหรือเป็นไปไม่ได้ ผมก็จะยืนยันว่าทำได้และน่าจะเป็นทางออกทางเดียวที่เป็น win-win สำหรับประชาชนไทยทั้งประเทศ!

 

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก จอน อึ๊งภากรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net