Skip to main content
sharethis

เมื่อสองปีก่อน ในโลกออนไลน์ มีการรณรงค์ต่อต้านการผ่านกฎหมายสองฉบับของสหรัฐฯ คือ SOPA และ PIPA ซึ่งมุ่งป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ โดยการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวางในการปิดกั้นข้อมูล "ละเมิดลิขสิทธิ์" ถูกตั้งคำถามว่าจะกระทบกับเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้คนหรือไม่ เว็บไซต์ต่างๆ เปลี่ยนหน้าเว็บตัวเองเป็นสีดำ คล้ายการปิดเว็บ (blackout) เพื่อเปรียบว่าหากกฎหมายนี้ผ่านมาได้ อาจไม่มีเว็บเหล่านี้อยู่


เว็บวิกิพีเดีย ขึ้นข้อความ "จินตนาการถึงโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างเสรี - 
หลายสิบปีที่ผ่านมา เราใช้เวลาหลายล้านชั่วโมงในการสร้างสารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มนุษยชาติ
ขณะนี้ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่จะเป็นภัยอย่างร้ายแรง
ต่อเสรีภาพและระบบเปิดของ อินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้
เราได้ทำการดับหน้าจอวิกิพีเดีย เป็นเวลา 24 ชั่วโมง"


 google.com เว็บเสิร์ชเอนจิ้นเข้าร่วมแสดงจุดยืนด้วย
โดยเมื่อเข้าเว็บกูเกิล จากสหรัฐฯ มีการคาดดำที่โลโก้
พร้อมขึ้นข้อความ "บอกสภาคองเกรสว่า กรุณาอย่าเซ็นเซอร์เว็บ!"

 

ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ หลายองค์กรด้านเสรีภาพอินเทอร์เน็ตกลับมาร่วมรณรงค์อีกครั้ง ภายใต้ชื่อ The Day We Fight Back - วันที่เราโต้กลับ เพื่อต่อต้านการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) โดยการประท้วงนี้เป็นส่วนหนึ่งระลึกถึง แอรอน สวาร์ตซ์ โปรแกรมเมอร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งปลิดชีพตนเองเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ปีที่แล้ว รวมถึงยังเป็นการฉลองชัยชนะในการยับยั้งการผ่านกฎหมาย SOPA เมื่อ 2 ปีก่อนด้วย

ประชาไท คุยกับ "อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล" ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต หนึ่งในองค์กรที่เข้ารณรงค์ร่วมกับประเทศอื่นๆ
 



 

1. ความเป็นมาของการเคลื่อนไหวครั้งนี้
กลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิพลเมืองต่างๆ ในอเมริกา ทำแคมเปญนี้ขึ้นมา เรื่องเริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2555 ที่มีการรณรงค์เรื่อง SOPA/PIPA เรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งจริงๆ มันเกี่ยวพันไปถึงเรื่องการเข้ามาควบคุมอินเทอร์เน็ต เสรีภาพอินเทอร์เน็ตด้วย คนหนึ่งที่อยู่ในความเคลื่อนไหวนั้นและร่วมรณรงค์เยอะๆ ก็คือ อารอน สวาร์ตซ์ แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จมาก ตอนนั้นทำในลักษณะ blackout เว็บใหญ่ๆ อย่างวิกิพีเดีย มอซิลลา อะไรต่างๆ ก็มาเล่นด้วย พอคนเข้าเว็บเหล่านี้ปุ๊บ ก็เจอจอดำ เปรียบเหมือนกับว่าถ้า SOPA/PIPA ผ่าน ต่อไป การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ก็อาจจะเข้าถึงไม่ได้ ตอนนั้น นั่นก็เป็นแคมเปญออนไลน์ครั้งแรกๆ ที่มันประสบความสำเร็จและเป็นสเกลแบบทั่วโลก ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

คือแม้ว่ากฎหมาย SOPA/PIPA จะเป็นกฎหมายในอเมริกา แต่คนก็เห็นแล้วว่า  เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทที่ควบคุม มีอิทธิพล เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ อยู่ในอเมริกา เป็นส่วนมาก คนทั่วโลกก็ตระหนักว่าจำเป็นต้องช่วยแคมเปญเรื่องนี้ด้วย กลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับสากล ที่แม้จะพูดถึงกฎหมายประเทศหนึ่ง แต่เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมันไร้พรมแดน กฎหมายในประเทศหนึ่งมันจะกระทบไปถึงหมด คนจึงเข้าร่วม

ปีถัดมา มันก็เกิดประเด็น สวาร์ตซ์ ฆ่าตัวตาย เมื่อ 11 ก.พ.  คนไม่แน่ใจว่าสาเหตุจริงๆ คืออะไร แต่ส่วนหนึ่งคนก็รู้สึกว่าเขาถูกกดดันจากการที่รัฐบาลใช้กฎหมายหลายๆ อย่างกดดันเขา ฟ้องในหลายๆ กระทง ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เรื่องเริ่มจากที่เขาเอาข้อมูลซึ่งก็เป็นเปเปอร์วิชาการมาปล่อย นี่ก็เป็นหมุดหมายหนึ่งของความเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ต แล้วคนก็รู้สึกว่ากฎหมายหลายตัว มีความไม่เป็นธรรม

คือ SOPA/PIPA พูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา แต่ประเด็นของ สวาร์ตซ์ เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้วยก็จริง เพราะเป็นการเข้าถึงเปเปอร์วิชาการที่มีลิขสิทธิ์  แต่กฎหมายที่มาเล่นงาน สวาร์ตซ์ แล้วโทษแรงจริงๆ ก็คือกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ บอกว่าเขาเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ พยายามตีความในทางกว้างเพื่อเล่นงานสวาร์ตซ์ คนก็รู้สึกว่ามันมีความไม่แฟร์ในกฎหมายเยอะขึ้นๆ เรื่อยๆ มันก็เลยทำให้ประเด็นนี้เริ่มขยาย

ต่อมา กลางปี สโนว์เดนเปิดเผยข้อมูลเรื่องโครงการสอดแนมของ NSA  คนก็เริ่มตกใจ ว่า NSA ทำโครงการสอดแนมไม่ใช่เฉพาะคนในประเทศตัวเอง แต่รวมถึงคนนอกประเทศที่อยู่ในสหรัฐฯ และนอกสหรัฐฯ โดยความร่วมมือของพันธมิตรต่างๆ ทั่วโลก Five Eyes ประกอบด้วยสหรัฐฯ  ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร  รวมถึงประเทศอีกจำนวนหนึ่ง สอดแนม  เพื่อป้องกันการก่อการร้าย ซึ่งเป็นเหตุผลหลักของสหรัฐฯ ในทุกความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความมั่นคง

การเปิดเผยเอกสารนี้ ไม่ได้มีเฉพาะโครงการสอดแนมของ NSA หรือ PRISM  โครงการเดียว แต่ต่อมาพบว่ามีโครงการอื่นอีกที่ทำงานด้วยกันเช่น ดักฟังโทรศัพท์ ขอข้อมูลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งตอนแรกหลายบริษัทออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ความร่วมมือแต่สุดท้ายก็ยอมรับว่ามีการขอข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงจริง แต่ก็มีเทคโนโลยีดูดข้อมูลจากเครือข่ายไร้สาย เครือข่ายมือถือ มีโครงการที่เปิดเผยมาแล้วกว่า 20 โครงการ

เรื่องนี้ทำให้คนรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่แค่เรื่องของอเมริกาอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว พูดจริงๆ แล้วประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Five Eyes ก็ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งโลกแล้ว ยังไม่นับการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็ต้องทำตามกฎหมายอเมริกาอีกด้วย ทำไปทำมาทั้งโลกตกอยู่ใต้การสอดส่องของโปรแกรมพวกนี้หมดเลย นอกจากโครงการพวกนี้ที่  NSA บอกว่าถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากสอดส่องด้วยเทคโนโลยีกลไกที่ NSA พัฒนาขึ้น ยังมีกฎหมายที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ แต่สุดท้ายก็เข้ามาเกี่ยว คือ  Foreign Intelligence Surveillance Act (FISA) คือเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้สอดแนม สอดส่องในเชิงหาข่าวจากคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นคนต่างชาติที่อาจเป็นผู้ก่อการร้าย หรือมาหาข่าวในสหรัฐฯ คือโดยไอเดียคือ ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ในฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สี่ มันเป็นประเด็นเรื่องสิทธิในความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการค้นของรัฐ บอกว่ารัฐมีสิทธิในการค้นตัวประชาชนได้เมื่อไหร่ มีเงื่อนไข ต้องมีหมายศาลอะไรต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการค้นตัวคน หรือเข้าค้นเคหะสถาน ต้องมีขอเอกสาร แต่ FISA บอกว่าถ้าเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือการก่อการร้าย FISA บอกว่ายกเว้นได้ แล้วศาลตาม FISA คือ Foreign Intelligence Surveillance Court  เป็นศาลลับ การพิจารณาคดีทุกอย่างไม่เปิดเผย และหมายค้นที่ออกจากศาลนี้คนที่ได้รับก็ห้ามเปิดเผยกับคนอื่นว่าตัวเองถูกค้น คือทุกอย่างเป็นความลับหมดเลย

คือในกลไกกฎหมายปกติ ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายสามารถค้นได้ แต่ว่าต้องมีหมายศาลและหมายต่างๆ ต้องเปิดเผย จะได้ตรวจสอบได้ว่าคุณต้องการค้นคนนี้เพราะเหตุผลนี้และหลักฐานที่ถูกเก็บไปมีข้อนี้ๆ เพราะฉะนั้น คนก็จะรู้ว่ามีอะไรที่ไม่ได้ขอแล้วไปเอามา อันนี้ตามกฎหมายของเขา บอกว่าใช้ในศาลไม่ได้ เพราะได้มาโดยกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทีนี้พอทุกอย่างใน FISA เป็นความลับ ทำให้กระบวนการตรวจสอบหายไปหมด

นี่จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวในวันที่ 11 ก.พ. ว่าต้องมีการปรับปรุงระบบทั้งหมดแล้ว มันไม่สามารถแก้แค่กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งได้ ทุกอย่างมันทำงานแบบต่อกันไปหมด แล้วก็ต่อให้ไปแก้กฎหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต แต่ถ้ายังมี FISA อยู่ก็ไม่มีประโยชน์
 

2. ใครเข้าร่วมบ้าง
ตอนแรกความเคลื่อนไหวนี้มีแต่ในสหรัฐฯ เพราะโดนตรงๆ แต่ตอนหลังๆ ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เพราะรู้สึกว่าเหมือนกับกรณี SOPA/PIPA ว่าสุดท้ายก็จะโดนไปด้วย เช่นที่มีข่าวว่านายกฯ ของเยอรมนีถูกดักฟังโทรศัพท์ สถานทูตในมาเลเซีย ก็ถูกดักฟังโดยออสเตรเลีย เคสพวกนี้มันปรากฏขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าการริเริ่มโครงการจาก NSA สุดท้ายมันไปทั่วโลก ทั้งในแบบที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มเองและผ่านทางผู้ให้บริการ

ถ้าเรามองอินเทอร์เน็ต เป็นทรัพยากร เป็นพื้นที่อย่างหนึ่ง คนก็รู้สึกว่าอันนี้เป็นพื้นที่กลาง  เพราะฉะนั้น ถ้ามีกฎหมายอะไรที่มันแย่ๆ สักประเทศหนึ่งในโลก ก็จะส่งผลถึงกันหมด 
 


 


3. ข้อเรียกร้องเหล่านี้สำคัญอย่างไร
สำคัญในแง่ที่ว่ามันใหม่ คือโครงการที่สโนว์เดนเปิดเผยออกมาทำให้เห็นแง่มุมหลายๆ อย่างที่ความคุ้มครองตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งของสหรัฐฯ ที่ว่ากันว่าดี หรือ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรปที่ว่าดี แสดงให้เห็นว่ามันยังไม่พอ เพราะหนึ่ง คือ ความข้ามแดน สอง ลักษณะของตัวข้อมูลที่กฎหมายบอกว่าคุ้มครอง/ไม่คุ้มครอง พอมาถึงทุกวันนี้มันจะอาจเปลี่ยนไป ประเด็นที่คนพูดถึงกันมากคือ metadata

ในอดีตที่ผ่านมา metadata เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกคุ้มครอง เช่น กฎหมายรวมถึงของไทย ที่เกี่ยวกับไปรษณีย์โทรเลข บอกว่าการเปิดซองจดหมายหรือการแอบดักฟัง โดยทั่วไปทำไม่ได้ ถ้าทำได้ต้องมีหมาย เฉพาะเป็นกรณีๆ ไป แต่สิ่งที่ให้เก็บได้โดยไม่ต้องขอหมายศาลคือเบอร์ต้นทาง โทรจากไหน เบอร์ปลายทาง เวลาเริ่มโทร เวลาวางสาย ระยะเวลาที่โทร เขามองว่าไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาการโทร เพราะฉะนั้นเก็บได้ หรือในการส่ง SMS ดูข้อความไม่ได้ แต่เก็บข้อมูลได้ว่าส่งจากเบอร์ไหนไปเบอร์ไหน

เมื่อก่อนอาจจะโอเคที่ทำอย่างนั้น เพราะการเก็บข้อมูลพวกนี้ต้องใช้พลังงานในการเก็บ มีต้นทุนในการจัดเก็บ มันยุ่งยาก ต้องใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูล แถมเก็บไปเยอะๆ ฮาร์ดดิสก์ที่จะมาประมวลผลมันหาความเชื่อมโยงก็ไม่ได้เร็วพอ เก่งพอที่จะหาความเชื่อมโยงแบบนั้นได้ เพราะฉะนั้นก็ make sense ที่กฎหมายบอกว่าไม่ต้องยุ่งอะไรกับมัน อยากเก็บก็เก็บไป เพราะเอาไปทำอะไรไม่ได้หรอก

ทีนี้พอมาถึงยุคที่ฮาร์ดดิสก์ถูกลง เน็ตเวิร์กเร็วขึ้น สามารถกวาดทุกอย่าง เก็บๆ มาก่อน เพราะมันถูก ยังไม่ได้ใช้ทันทีก็ไม่เป็นไร อีก 2-3 ปี อยากจะใช้ ก็ค่อยกลับไปดูก็ได้เพราะมันถูก แล้วคอมพิวเตอร์ก็สามารถประมวลผลหาความเชื่อมโยงได้ เพราะฉะนั้น ตัว metadata ทำไปทำมา เฮ้ย มันเปิดเผยบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราได้แล้วว่ะ คือเมื่อก่อนอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าตอนนี้มันเป็นไปได้แล้ว ที่จะบอกว่าเราโทรหาคนนี้ในเวลานี้เรื่อยๆ จากโทรศัพท์ของเราที่อยู่ที่นั่นที่นี่ เพราะฉะนั้นคนนี้น่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานเรา คือมันหาความเชื่อมโยงได้มากขึ้นเรื่อยๆ แถมมันยังมีการเลี่ยงบาลี คือ มีกระทั่งซอฟต์แวร์ที่เข้าไปกวาดดูเนื้อหาใน SMS ถ้ามีเนื้อหาเกี่ยวกับว่าเดินทางจากไหนไปไหน เช่น ส่ง SMS ว่า "พรุ่งนี้จะไปเชียงใหม่นะ" หรือ "เครื่องกำลังจะลงแล้ว มารับด้วยนะ" พวกชื่อไฟลท์ วัน เวลา ชื่อสนามบิน NSA บอกว่าอันนี้เป็น metadata คือเขาจะทิ้งข้อความอื่นไป ไม่เก็บไว้เพราะจะผิดกฎหมาย แต่เขาบอกว่าข้อมูลการเดินทางว่าคนจะเดินทางจากไหนไปไหน ถือว่ามันเป็น metadata ก็จะเก็บไป คือมันมีวิธีที่พยายามจะตีความคำว่า metadata ให้มันกว้างออกไป

ประเด็นก็คือ กฎหมายไม่ทันกับเทคโนโลยีที่มีพลังการประมวลผลสูงขึ้น การจัดเก็บมากขึ้น ประเด็นหนึ่งนอกจากเรื่องพรมแดนก็จะมีเรื่องชิ้นส่วนเล็กๆ ของข้อมูล ที่เรียกว่า metadata ก็จะต้องถูกคุ้มครองด้วย กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองเรื่องนี้ด้วย


4. ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้สำคัญอย่างไร
อันนี้ไม่ต้องพูดถึงการทำอาชญากรรมอะไรพวกนั้นเลยนะ ไม่ต้องพูดเรื่องศีลธรรมหรืออะไรเลย เอาแค่การเลือกปฏิบัติก็พอ การที่สามารถเก็บข้อมูลได้ว่าเราเดินทางไปที่ไหน เช่น ตามจากสัญญาณมือถือ ว่าเราเดินทางออกจากจุดหนึ่งไปอยู่อีกจุดหนึ่งตั้งแต่ 23.00-7.00 น. แล้ว 7.00น. ไปอยู่อีกที่หนึ่ง เป็นแพทเทิร์นตลอด มันพอจะเดาได้แล้วจุดไหนเป็นบ้านเรา อีกที่หนึ่งที่ไปบ่อยๆ ในช่วงกลางวัน เป็นแพทเทิร์น พอดูจากช่วงอายุแล้วเป็นวัยทำงาน ก็อาจเดาได้ว่าตรงนั้นน่าจะเป็นที่ทำงาน หรือถ้าเป็นวัยเรียนก็อาจเดาได้ว่าตรงนั้นเป็นโรงเรียน

ถ้ามีข้อมูลแผนที่ทั้งหมด ก็จะพอรู้ว่าคนนี้ไปอยู่ที่ไหนบ้าง ยิ่งถ้ามีข้อมูลบัตรเครดิตเชื่อมด้วย อาจจะรู้ว่าพอไปโรงพยาบาล แล้วไปซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อยาอะไรบางอย่าง ซื้อของใช้เด็ก มันเริ่มทำโปรไฟล์คนๆ นี้ได้แล้วว่าคนๆ นี้อาจจะมีโรคบางอย่าง อาจจะกำลังท้อง หรือมีปัญหาสุขภาพ หรือบอกได้ว่ามีเพศวิถีแบบไหน ซึ่งนี่เป็นข้อมูลที่เราอาจไม่ได้อยากบอกใคร หรือเลือกบอกใครบางคน แต่ถ้าความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปอยู่กับคนที่เรารู้สึกว่าด้วยข้อมูลนี้เขาสามารถเลือกปฏิบัติบางอย่างกับเราได้ เช่น บริษัทประกัน บริษัทที่ไปสมัครงาน ใช้ข้อมูลตรงนั้นให้คุณให้โทษ โดยที่ไม่ได้บอกเราล่ะ

การทำโปรไฟล์แบบนี้มันเกิดขึ้นแล้วในทางการตลาดกว่า 20-30 ปี แต่ทำได้ไม่ละเอียด แต่พอข้อมูลมันเป็นอิเล็กทรอนิกส์และมันเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ มันมีความเป็นไปได้ที่จะทำโปรไฟล์ของคนๆ หนึ่งได้ละเอียดขึ้น ซึ่งการทำโปรไฟล์ของกลุ่มประชากรได้ละเอียดขึ้น มันก็แปลว่า การเลือกปฏิบัติแบบเจาะจงก็ยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งโดยไอเดียแล้ว ตามกฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายการรักษาพยาบาลต่างๆ เรื่องพวกนี้มันควรจะต้องผิดกฎหมาย  คือโอเค การเก็บข้อมูล กฎหมายอาจจะยังไม่ได้พูดถึง แต่การเลือกปฏิบัติบนฐานนี้ควรจะผิดกฎหมาย แต่แม้กระทั่งคนที่ถูกเก็บข้อมูลก็ไม่รู้ การจะปกป้องสิทธิตัวเองมันเป็นไปไม่ได้เลย นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

อย่างกรณี NSA หรือรัฐบาลประเทศไหนก็ตาม มีข้อมูลแบบนี้ ทำไปทำมามันอาจจะมากกว่าที่ฝั่งการตลาดทำได้ด้วยซ้ำ ก็น่ากลัวว่าถ้าต่อไปสามารถทำโปรไฟล์คนมีสิทธิเลือกตั้งเขตนั้นเขตนี้ แล้วก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน คือถ้าคิดไปถึงขั้นนั้น มันก็ดูน่ากลัวเหมือนกัน

ในทางหนึ่ง การทำโปรไฟล์ แม้กระทั่งการตลาด ก็มีประโยชน์คือตรงกับความต้องการของเรา เพียงแต่ มันก็ถูกใช้ต่อต้านเราได้ ยกตัวอย่าง ถ้านักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือคนที่มีศักยภาพเป็นผู้แข่งทางการเมือง ก็อันตรายถ้าภาครัฐรู้ความเคลื่อนไหวของคนๆ หนึ่ง รู้ว่าคนในเครือข่ายคือใคร ติดต่อใคร ก็อาศัยข้อมูลติดต่อทางโทรศัพท์ ความเคลื่อนไหวทางการเงิน กิจกรรมต่างๆ ที่ๆ ไป ก็ไปโจมตีคนสนับสนุนแทน ทำให้การสนับสนุนทางการเมืองน้อยลง แทนการโจมตีที่ตัวคู่แข่ง ซึ่งอาจเป็นประเด็นขึ้นมาได้

เราไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี แต่ตั้งคำถามว่ามันจะถูกใช้เมื่อไหร่


5. ในการรณรงค์นี้ มีการขอให้ร่วมลงชื่อกับ "หลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้หลักสิทธิมนุษยชนกับการสอดแนมการสื่อสาร" ด้วย มันคืออะไร และจะนำไปใช้อย่างไร
หลักการทั้ง 13 ข้อ ไม่ได้ห้ามการสอดแนมโดยสิ้นเชิง แต่บอกว่าทำได้ในกรณีไหนบ้าง เช่น มีความจำเป็น ชอบด้วยกฎหมาย ชอบธรรม ใช้วิธีอื่นไม่ได้แล้วในการป้องกันอาชญากรรม วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้าย

คือโดยหลักทุกคนต้องยอมรับว่าการสอดแนมแบบนี้มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ประตูก็ไม่ได้ปิดตาย คือมันต้องจำกัดว่าไม่มีวิธีอื่นแล้ว ถึงใช้วิธีนี้ แล้วก็ต้องใช้ในลักษณะที่ต้องตรวจสอบได้ อย่างแรกคือต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน เช่น ของไทย ดีเอสไอจะสอดแนมใครไม่ต้องขอศาล แต่ขออธิบดีดีเอสไอเอง คือหน่วยงานที่อนุมัติและหน่วยงานที่ขออยู่ในหน่วยเดียวกันเอง คือโดยหลัก อย่างน้อยมันต้องเป็นคนละหน่วยงาน หรือมาจากคนละสายกัน คืออันฝั่งเป็นฝ่ายบริหาร อีกฝั่งอาจเป็นตุลาการ หรือทำไปแล้ว เวลาอนุมัติก็ต้องจำกัดเวลาว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ เพื่อให้ได้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น รวมถึงต้องมีกลไกตรวจสอบย้อนหลังว่าใครทำอะไร ไปเมื่อไหร่  เปิดเผยต่อสาธารณะเท่าที่ทำได้ หลักที่ไล่มาทั้งหมดบอกว่ามันทำได้ไม่ได้ห้าม

ไอเดียของการรณรงค์คือ ต้องการให้กลุ่มต่างๆ ในประเทศอื่นๆ พยายามผลักดันหลัก 13 ข้อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้องกับกรอบนี้ เป็นคล้ายแนวกรอบกฎหมายอันนึง ว่าถ้าจะออกกฎหมายมามันควรต้องอยู่ในกรอบพวกนี้

เพราะพอเทคโนโลยีพวกนี้ไร้พรมแดน เขตอำนาจข้ามพรมแดน อย่างกรณีของ FISA ที่ไปถึงคนที่อยู้นอกพรมแดน มันมีความจำเป็นที่ต้องผลักดันกฎหมายทั่วโลกให้เป็นไปตามกรอบนี้ คือแน่นอนว่าเราไม่ได้มีรัฐบาลกลางของโลกที่จะผลักดันที่เดียวแล้วจบ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวนี้พยายามจะบอกว่า กลุ่มไหนก็ตามที่สนใจเรื่องนี้ในประเทศต่างๆ ตกลงเรื่องนี้ร่วมกัน คนที่เขียนเรื่องนี้เป็นเอ็นจีโอ นักสิทธิ นักเทคโนโลยี นักกฎหมาย คิดว่าอันนี้น่าจะเวิร์กและคิดว่าน่าจะคุ้มครองข้ามพรมแดน เขาก็อยากให้ประเทศต่างๆ พยายามผลักอันนี้เป็นวาระ

ความสำคัญของแคมเปญนี้อันหนึ่งคือการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ว่าคุณไม่สามารถคิดถึงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีพรมแดนได้อีกต่อไปแล้ว คือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประเทศไหนก็ตาม ในยุคนี้ จะต้องคิดถึงการคุ้มครองคนที่ไม่ใช่พลเมืองของตัวเองด้วย เพระข้อมูลมันไหลไปไหลมาอยู่ตลอด และไม่ใช่คุ้มครองเฉพาะข้อมูลที่เห็นชัดๆ ตรงหน้าว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่ต้องคิดถึงข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ metadata นี้ด้วยว่าวันหนึ่งมันจะเป็นข้อมูลที่บอกอะไรได้เหมือนกัน และเรียกร้องว่าประเทศต่างๆ ปรับปรุงกฎหมายของตัวเองให้มาอยู่ในกรอบคิดนี้

แต่ถ้ามีไม่กี่ประเทศที่เปลี่ยนไปทางนั้น โดยยังมีประเทศที่ล้าหลังก็ไม่มีประโยชน์ เพราะกลไกการสอดแนมพวกนี้ก็อาจอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ย้ายไปอยู่ประเทศอื่นแทน เหมือนกับการเลี่ยงภาษีในประเทศที่มีเก็บภาษีน้อยกว่า ไอเดียเดียวกัน คือถ้าประเทศนี้เข้มงวดเรื่องการสอดแนม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่อินเทอร์เน็ตมันเชื่อมกันได้อยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งในประเทศนั้นก็ได้  ก็ไปตั้งเซิร์ฟเวอร์ กลไกการสอดแนมอีกประเทศหนึ่งก็ได้ เพราะฉะนั้น การเคลื่อนไหวที่ต้องทำในระดับโลก ก็เพราะเรื่องนี้ เพราะมันต้องขยับทุกประเทศ ไม่งั้นก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนกับมีจุดอ่อน



6. ในส่วนของประเทศไทย กิจกรรมของเครือข่ายพลเมืองเน็ตมีอะไรบ้าง
มีมีตติ้งที่คุยกันเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานคอมพิวเตอร์ การใช้ TOR การเข้ารหัส และแลก public key (กุญแจสาธารณะที่ใช้ในการถอดรหัสข้อความที่เข้ารหัสไว้) นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญชวนคนถ่ายรูปกล้อง CCTV อัปขึ้นทวิตเตอร์และอินสตาแกรม ติดแท็ก #cctvthailand และ #FightBack 

เรื่อง CCTV ตอนแรกพยายามจะคิดว่ามีอะไรที่คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ง่ายๆ บ้าง แน่นอนว่าการเข้ารหัส การพูดถึงเทคโนโลยีการสอดแนมการสื่อสารอะไรแบบนี้มันค่อนข้างยากโดยเฉพาะในบริบทประเทศไทย โครงการ NSA ที่ผ่านมานี้ มันไม่ชัดเจนนักว่าไทยเข้าไปร่วม โอเคว่าไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด แต่ว่ามันก็ยังไม่มีเอกสารอะไรที่ชี้ชัดๆ ว่าไทยเข้าไปมีส่วนร่วม

ไทยมีเคสการพยามยามมอนิเตอร์โซเชียลมีเดียร์ในปีที่แล้วก็จริงในเรื่อง Line ก็มีอยู่ และคนก็สนใจเรื่องนี้กันเยอะ แต่ว่า... พูดถึงแล้วมันก็ยังเป็นเรื่องที่เราก็รู้สึกว่ายังไม่มีภาพอะไรที่เห็นได้ชัด ที่นี้ถ้าพูดถึงว่ารณรงค์ พูดเรื่องภาพ แล้วคนเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันจริงๆ ก็คิดว่าคือกล้อง CCTV นี่มันก็เป็นสิ่งที่คนเห็นกันอยู่ทุกวันจนบางทีเหมือนเป็นเรื่องปกติ แล้วมันก็เป็นการสอดแนบแบบหนึ่งเหมือนกัน

แล้วก็ถามว่ามันมีกฎหมายอะไรไหมที่มาดูแลตรงนี้ หรือมีหน่วยงานอะไร ตอนนี้เราเห็นกล้อง CCTV ติดเต็มไปหมดเลย ทั้งห้างทั้งสถานที่เอกชน และสถานที่ของรัฐเอง แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าใครเป็นคนคุมของเหล่านี้ หรือมันมีข้อห้ามไหมว่าอะไรถ่ายได้ถ่ายไม่ได้ หรือว่าเมื่อไรถึงจะเอาข้อมูลนี้ไปใช้ได้ เพราะว่าหลายๆ คนก็จะบ่นว่า เวลามันมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาจริงๆ แล้วก็มักจะมีคนบอกว่ากล้องเสียบ้าง เป็นกล้องหลอกบ้าง กลายเป็นว่าความรับผิดชอบหรือความพร้อมรับผิดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการสอดแนมมันเหมือนไม่มี คล้ายกับว่าคนที่คุม CCTV อยู่ถ้าวันไหนอยากจะใช้ข้อมูลและรู้สึกว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองก็จะโอเคว่าฉันมีข้อมูล แต่ถ้าวันไหนข้อมูลนี้จะมาเป็นผลเสียกับตัวเองได้ เนื่องจากไม่มีใครไปตรวจสอบเขา เขาก็สามารถบอกได้เฉยๆ ว่ามันไม่มี เราก็เลยเห็นว่าบางทีกล้อง CCTV อาจเป็นอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดๆ

และในทางหนึ่ง ไอ้กล้องโทรศัพท์ของทุกคนมันก็คือ CCTV อยู่แล้ว ทีนี้เวลาพูดถึงการสอดแนม มันไม่ใช่แค่รัฐหรือว่าองค์กรต่างๆ เท่านั้นที่มีกล้อง ตัวพวกเราเองก็มีกล้อง ทีนี้เราจะเอากล้องของเราเนี่ยไปสอดแนมหรือว่าจับตาดู จับตากลับกับไอ้การสอดแนมพวกนั้นได้อย่างไรบ้าง

 



7. จากกิจกรรมของหลายๆ ประเทศ มีการเรียกร้องเรื่องกฎหมายเยอะเหมือนกัน เช่นจะขยับไปแก้อันนั้นอันนี้ แล้วของไทย?
เรารู้สึกว่าตอนนี้... จะขยับอย่างไรเรื่องแก้กฎหมายเนี่ย เราจะเรียกร้องกับใคร รัฐบาลรักษาการ ก็ทำอะไรไม่ได้ คือก็โอเคในแง่การให้ความรู้อะไรต่างๆ มันก็ได้อยู่แล้ว ซึ่งก็ทำมาเรื่อยๆ แต่ว่าแอคชั่นที่จะไปบอกว่า.. เรื่องแก้กฎหมาย เรายังนึกไม่ออกว่าแล้วจะไปพูดเอากับใคร เอ่อ... มันนึกไม่ออกไง มันก็มีคนเสนอเหมือนกันคือในหลายที่ก็จะไปอยู่กันที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ

ยกตัวอย่างวันนี้สมมติว่าหาคนได้ ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าจะหาคนได้หรอกนะ ในสถานการณ์แบบนี้ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วด้วย มันก็นึกไม่ออกว่าจะขยับอย่างไร ซึ่งเราก็คิดว่าไม่ใช่เฉพาะประเด็นเราหรอกนะ คิดว่าหลายๆ ประเด็นที่คนอยากขยับเรื่องกฎหมายตอนนี้ทุกคนก็อยู่ในโหมดไปทำการบ้านอะไรของตัวเองก่อน เพราะยังไม่ใช่เวลาที่ออกมาแล้วคนจะฟังด้วยซ้ำ

สมมติว่าเรามาเสนอแบบนี้แล้วบอกว่ารัฐบาลมาสอดแนมเรา ดูไลน์ ดูอะไรต่างๆ ฝั่งที่เชียร์รัฐบาลก็จะบอกว่าอ้าว  เป็นพวก กปปส.หรือเปล่า ออกมาทำไมจังหวะนี้ หรือสมมติเราเล่นประเด็น CCTV แล้วมีใครสักคนหนึ่ง ออกมาบอกว่า มาโจมตีสุขุมพันธุ์ใช่ไหม โจมตี กทม. นั่นก็ซวย แต่ก็โอเคเพราะ  CCTV อาจไม่ได้เป็นประเด็นขนาดนั้น เพราะว่าไม่ได้มีเฉพาะ กทม. ห้าง ร้าน บริษัท หรือว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไหนๆ มันก็มีใช่ไหม แต่ว่ามันก็ต้องระวังเหมือนกันทำอะไรออกมาช่วงนี้


8. ถ้าอย่างนั้น กฎหมายในไทย มีอะไรที่ควรจับตาไหม
ถ้าดูเทียบกับกรณีตุรกีที่เพิ่งผ่านกฎหมายใหม่ไป เราคิดว่ามันก็เหมือนความพยายามของร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับ สพธอ. เหมือนกันเลย ก็คือว่า คนบังคับใช้กฎหมายเห็นว่าการจะต้องขอคำสั่งศาล ขอหมายศาลมันเสียเวลาเกินไป ไม่ทันการ เขาอยากตัดขั้นตอนนั้นออกมาเหมือนตุรกี หรือขยายเวลาการเก็บข้อมูลย้อนหลังจาก 90 วัน เป็น 2 ปี อันนี้ก็เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นอีกอันที่ต้องดู แต่ว่าโอเคอย่างน้อยตอนนี้ จริงๆ ก่อนยุบสภาได้ไม่นาน เมื่อปลายปีที่แล้ว ไอซีทีส่งร่างนี้กลับไปให้ สพธอ.ศึกษาใหม่ เราก็โอเค ตอนนี้ก็ยุบสภาไปแล้ว เรื่องก็ไม่รู้ว่าจะอย่างไร คิดว่าเรื่องร่างก็คงต้องทำใหม่ แต่ว่าโดยไอเดียมีความพยายามทำแบบเดียวกับตุรกี เพราะฉะนั้นมันเลยต้องดูอยู่

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เข้าสภาวาระแรกไปแล้ว ตั้งอนุกรรมการศึกษาแล้ว แต่ว่าก็ยุบสภาไป เพราะฉะนั้นก็ต้องมาดูเมื่อเปิดสภาใหม่ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ก็ต้องดูว่าเขาจะเอากลับมาไหม ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะเอากลับมาเพราะว่าเป็น พ.ร.บ.ที่เรียกว่าเร่งด่วนเหมือนกัน ตั้งแต่สมัยอภิสิทธิ์ รัฐบาลหลายๆ สมัยก็พยายามดันเรื่องนี้มาตลอด และมันก็มีแรงกดดันจากฝั่งธุรกิจด้วย เพราะหากไม่มีตรงนี้... อย่างที่ว่ามันเป็นเรื่องข้ามพรมแดนเยอะขึ้นเรื่อยๆ คือเขาคิดหลายอย่าง โดยเฉพาะภาคการเงิน ภาคบริการที่ต้องมีการเอาท์ซอร์สหรือเอาข้อมูลลูกค้าโอนข้ามพรมแดนไปมา คนที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ต่างประเทศเขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่อยากทำธุรกรรมแบบนี้กับประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าเปิดสภาใหม่เมื่อไหร่เดี๋ยวจะมีคนดันเข้าไปอีกแน่ๆ

ซึ่งก็ดีที่จะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ที่ถามว่าต้องจับตาอะไรไหม ก็ต้องจับตาดูต่อเพราะเท่าที่ดูร่างตอนนี้แล้วมาเทียบกับหลัก 13 ข้อที่เราคุยกันเมื่อกี้ อันหนึ่งเลยที่โอเคไม่มีแน่ๆ คือในด้าน metadata ไม่ได้คุ้มครอง ซึ่งอันนี้เมื่อตอนนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดประชาพิจารณ์ เราก็ถามเรื่องนี้บนเวที เขาก็งงกันว่าอะไร ถ้าในประเด็นพวกนี้แน่นนอนว่า พ.ร.บ.คอมฯ ก็เรื่องการเก็บข้อมูลย้อนหลัง การไม่ต้องขอหมายศาล ในการจะขอข้อมูลมันก็อยู่ในกรอบนี้ แล้วก็ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลก็ต้องดู 

ทีนี้ตัวอื่นๆ ที่จะมาเกี่ยวข้องอย่างเช่น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ที่ยังคงเป็นร่างอยู่ ยุบสภาไปแล้วก็คงจะเข้ามาใหม่อีก เพราะอันนี้ก็เหมือนกัน ภาคธุรกิจก็กดดันว่าจะเอา คือมันก็ดูเป็นเรื่องลิขสิทธิ์นะ แต่ว่าที่มันละเมิดเยอะๆ คือมันละเมิดออนไลน์ เพราะฉะนั้นในร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้เขาพยายามที่จะใส่เรื่องการละเมิดออนไลน์นี้ลงไป แล้วก็บอกว่าผู้ให้บริการออนไลน์มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ คือต้องมีมาตรการบางอย่างมาป้องกัน ถ้าไม่มีมาตรการเหล่านั้นก็จะถือว่าเป็นผู้ละเมิดไปด้วย และไอ้มาตรการป้องกันที่เขาบอกว่าจะให้มีมันก็เป็นเรื่องว่าคุณจะต้องไปมอนิเตอร์ว่าคนกำลังดาวน์โหลดอะไร อะไรแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นการสอดแนมนั่นแหละ หลักๆ ก็จะมีประมาณนี้ ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ แล้วก็ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ส่วนอันอื่นก็อาจจะเป็นตัวที่มันเป็นเรื่องใหญ่มาก จนไม่รู้ว่าจะขยับอย่างไร คือก็อยากทำแต่เครือข่ายพลเมืองเน็ต ทำคนเดียวคงไม่ไหวแน่ๆ มันเป็นกฎหมายใหญ่มาก เช่น  ต่อให้เรามี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต่อให้ พ.ร.บ.คอมฯ ดีแค่ไหนก็ตาม หรือว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ดี มีมาตรการคุ้มครองดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าสุดท้ายมีสถานการณ์อะไรขึ้นมาปุ๊บ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันก็จบไง แล้วคือในประเทศอื่นเขาอาจไม่ต้องกังวลเรื่องพวกนี้มากนัก เพราะโอกาสที่จะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันไม่ได้ประกาศบ่อย แต่ของไทยประกาศทุกปี

แม้กระทั่งว่าของที่ต้องการจะสอดแนมนั้นมันอาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับสถานการณ์การเมืองบนท้องถนน แต่บังเอิญมันอยู่ในช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พอดี มันก็สะดวกไงสำหรับคนที่ใช้อำนาจอยู่ว่า เฮ้ย...ใช้นี่ก็ได้นี่หว่า

พอคิดถึงสถานการณ์แบบนี้ในประเทศที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พวกนี้ได้ทุกปี เลยไม่รู้จะไปคิดถึงกฎหมายอื่นได้ยังไง เพราะไอ้เรื่องข้อยกเว้นมันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วไง มันก็ยากอยู่
 

9. มีข้อเสนออะไรต่อภาคเอกชนไหม
ถ้าดูในเคสอย่างกรณีของอเมริกา FISA ที่บอกว่าต้องพิจารณาลับและหมายต่างๆ ต้องเป็นในทางลับ ห้ามเปิดเผย แล้วคนก็บ่นกันเยอะ สุดท้ายมันก็กดดันเหมือนกัน คือสถานการณ์ตอนนั้นก็คือว่าลูกค้าจำนวนมากของกูเกิล เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ ยาฮู ฯลฯ ทั้งที่เป็นบุคคลทั่วไปและองค์กร ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็ทำธุรกิจองค์กรด้วย มีพื้นที่รับฝากข้อมูลของบริษัท ห้าง ร้านต่างๆ เขาบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็ย้ายไปใช้บริการที่อยู่นอกสหรัฐดีกว่า เขาก็มีแรงกดดันแบบนี้เหมือนกัน

คือ ไมโครซอฟท์นอกจากทำฮอตเมล์ เอาท์ลุคดอทคอม ให้ใช้ฟรีๆ แล้ว เขาก็ยังมีธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นคลาวน์เก็บข้อมูล คือบริษัทต่างๆ ที่อาจไม่ได้ทำเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองแต่เอาข้อมูลทั้งหมดซึ่งลูกค้าอาจเป็นหมื่นๆ คนมาฝากไว้ที่ไมโครซอฟท์ซึ่งมีแบบนี้ไม่รู้กี่เจ้า บริษัทเหล่านี้ก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกสอดแนมจากรัฐบาลสหรัฐ อาจจะมีข้อมูลเซ็นสิทีฟข้อมูลทางการค้าที่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย 

ความกังวลของลูกค้าเหล่านี้กดดันให้บริษัทไอทีใหญ่ๆ ไปกดดันภาครัฐอีกทีว่าทำแบบนี้ธุรกิจจะเจ๊งคนจะย้ายหนี ก็มีการต่อรองว่า FISA สามารถเปิดเผยได้ว่าร้องขอข้อมูลไปจำนวนเท่าไหร่ แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามจำแนกประเภทให้เห็นว่ามีอะรบ้าง และเปิดเผยได้เมื่อ 6 เดือนให้หลังเท่านั้น เพื่อจะได้ไม่กระทบการทำงานสอดแนม สุดท้ายก็คล้ายๆ ว่าพบกันครึ่งทาง อย่างน้อยบริษัทพวกนี้สามารถเปิดเผยได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสบายใจได้

เคสแบบนี้จริงๆ ก็เกิดขึ้นแล้วกับไทย แต่ไม่ใช่เรื่องสอดแนม เป็นเรื่องภาระความเสียหายมากกว่า ข้อมูลจากชมรมเว็บโฮสติ้งบอกว่าคนที่ทำเว็บโฮสติ้งจำนวนหนึ่งไม่ได้ใช้บริการในเมืองไทยแล้ว ไปวางที่ประเทศอื่นแทน เพราะไม่อยากรับความเสี่ยงจาก พ.ร.บ.คอมฯ เรื่องตัวกลาง เรื่องเนื้อหา ทางหนึ่งกระทบแน่กับธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในเมืองไทย กับปริมาณลูกค้าที่เสียไป สอง การที่ลูกค้ามาใช้บริการเว็บโฮสติ้งที่ไปใช้บริการต่างประเทศ แปลว่าแบนด์วิธออกต่างประเทศ สูง ก็จะช้า ต้นทุนก็สูงขึ้น

ฉะนั้น ภาคธุรกิจของไทย จริงๆ แล้วถ้าคิดว่าจะทำให้ต้นทุนดำเนินธุรกิจต่ำลงและแข่งขันได้ หนึ่งก็คือความเสี่ยงทางกฎหมายก็ต้องสนใจด้วย ซึ่งภาคธุรกิจไทยก็สนใจอยู่แล้ว เวลาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมฯ ก็ส่งคนมา เพราะไม่อยากรับความเสี่ยงเยอะ ส่วนเรื่องการขอดูข้อมูลลูกค้า ไทยอาจไม่มีเรื่องแบบนั้น มีปีที่ผ่านมากับไลน์ ซึ่งไม่ใช่บริษัทไทย แต่สมมติมีบริษัทไทยจะมาทำเรื่องการสื่อสารส่วนบุคคล ทำแอพ แล้วมีกฎหมายที่บอกว่าผู้ให้บริการไทยต้องมอบข้อมูลให้กับตำรวจเสมอเมื่อมีหมายศาล แล้วบริษัทไทยไม่ทำอะไรเลย เราคิดว่าเราก็มีทางเลือกที่จะไปใช้บริโภคที่ให้ความคุ้มครองเขาดีกว่าในประเทศอื่น เขาก็ไปไง คือคนมันใส่ข้อมูลเข้าไปในคลาวน์เยอะขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มใส่ใจเรื่องนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแรงกดดันไม่ได้มาจากเอ็นจีโอ นักกิจกรรมอะไรพวกนี้หรอก มันจะมาจากลูกค้านี่แหละ

แต่เราก็คิดว่าเพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายรองรับแบบนั้นได้ ผู้ประกอบการน่าจะสนใจเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงความเคลื่อนไหวของกฎหมายในต่างประเทศด้วย เพราะสุดท้าย เขาก็จะได้รับผลกระทบอยู่ดี
 

10. คำแนะนำสำหรับผู้ใช้ทั่วไป
ความไร้พรมแดนน่าสนใจตรงที่ทำให้เราสามารถเลือกบริการที่อยู่ประเทศไหนก็ได้ เช่น WeChat มันอยู่ในจีน ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่เชื่อใจบริการที่มาจากเมืองจีน เพราะรัฐบาลจีนจะแทรกแซงได้ เราก็ไม่ใช้มัน  เราก็อาจจะไปใช้ไลน์ เพราะรู้สึกว่าอย่างน้อยกฎหมายของญี่ปุ่นน่าจะดีกว่า หรือถ้าเฟซบุ๊ก กูเกิลในอเมริกา ไม่เวิร์ก ก็อาจะไปใช้บริการอีเมลในเยอรมนี ระบบของแอปเปิล วินโดวส์ ไม่เปิดเผยโค้ด ก็อาจไปเลือกใช้ ลีนุกซ์ ใช้อะไรที่เป็นโอเพ่นซอร์ส ก็ได้

พลังของคนใช้เน็ตที่จะต่อรองได้จริงๆ อย่างน้อยในตอนนี้ก็คือพลังของผู้บริโภค คือมีสิทธิเลือก เพียงแต่เราจะเลือกจากอะไร ก็ต้องมีข้อมูล เช่น รู้ว่าผู้ให้บริการตั้งอยู่ในระบบกฎหมายแบบไหน กฎหมายประเทศนั้นโอเคหรือเปล่า สอง ดูประวัติ เวลามีรูรั่ว บั๊ก ความไม่ปลอดภัย แก้ไขเร็วแค่ไหน หรือทำเป็นไม่สนใจ เกมบางอย่างเกมด๊องๆ แต่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลของเราเต็มไปหมด ในฐานะคนใช้ก็ต้องเอะใจหน่อยว่าหรือจะไม่ลงดี แค่เล่นเกม ทำไมต้องขอเข้าถึง contact list ขอส่ง sms ก็แปลกๆ 

มันก็แปลกดี เวลาคนซื้อรถ ต้องเช็คว่ากี่ซีซี ประกันเท่าไหร่ ล้อหน้าล้อหลัง ต่างกันยังไง บางทีแอพพวกนี้กดผ่านๆ ดูใกล้ตัวจนไม่สนใจ ถ้าคิดว่าของทุกอย่างที่จะเกี่ยวข้องกับเราก็ต้องเช็ค
 

ตอนนี้คุณทำอะไรได้บ้าง?

มีกิจกรรมและการรณรงค์เกิดขึ้นมากมายในวันนี้ และเราต้องการให้คุณช่วยเรา ลุกขึ้นและสู้กลับ เสียงทุกเสียงมีค่า ทำให้รัฐบาลได้ยินว่า: เราจะไม่ทนกับการสอดแนมมวลชน

  1. ลงมือ: ไปที่ TheDayWeFightBack.org ดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นในประเทศของคุณบ้าง และลงชื่อในหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนที่ https://th.neccessaryandproportionate.org/take-action
  2. แสดงกล่อง TheDayWeFightBack ในเว็บไซต์ของคุณ: เพิ่มโค้ดลงเว็บไซต์ของคุณ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนที่เข้าดูไซต์รู้สึกอยากเข้าร่วม ไปที่เว็บไซต์ TheDayWeFightBack.org เพื่อดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง
  3. บอกต่อ: ใช้โซเชียลมีเดียบอกต่อให้เพื่อนๆ และครอบครัวของคุณได้รู้ว่าพวกเขาควรลงมือทำอะไรได้แล้ว แชร์ลิงก์ของเว็บไซต์ TheDayWeFightBack และเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ (ดูรายละเอียดเพิ่มในเว็บไซต์) ตัวอย่างทวีต:
    วันนี้ เราลุกขึ้นสู้กับการสอดแนมมวลชนโดย NSA และ GCHQ คุณอยากเข้าร่วมด้วยกันไหม? https://thedaywefightback.org/ #fightback
    นักกิจกรรมเป็นล้านๆ ทั่วโลกส่งเสียง: โลกจะทำงานดีกว่านี้ ถ้าอินเทอร์เน็ตทำงานดีกว่านี้ https://thedaywefightback.org/ #fightback
  4. ลองเล่นสิ่งใหม่ๆ! ช่วงเวลานี้จะเป็นอะไรก็ได้ แล้วว่าแต่พวกเรา ชุมชนทางความคิดของคนที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับอินเทอร์เน็ต อยากจะสร้างมันให้เป็นแบบไหน โพสต์ความเห็นพร้อมลิงก์ไปยังเรื่องราวที่เกี่ยวกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ สร้างและแชร์มีม สร้างเว็บไซต์ จัดกิจกรรม และบอกกับเรา เพื่อที่เราจะได้บอกต่อ

     

ที่มา: https://thainetizen.org/2014/02/the-day-the-world-fought-back/

 

ตัวอย่างของกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก:

อาร์เจนตินา: Asociación por los Derechos Civiles และ Vía Libre Foundation จะประกาศยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับดูแลการข่าวกรองของสภาอาร์เจนตินา ADC, FVL, และ Instituto Latinoamericano de Seguridad y Democracia—องค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่นผู้ก่อตั้ง Citizens’ Initiative for Control of Intelligence Agencies—ได้ถามถึงข้อมูลพื้นฐานของกลไกการกำกับดูแลการข่าวกรองในประเทศต่อสภา

ออสเตรเลีย: พันธมิตรขององค์กรสำคัญๆ จะเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียทบทวนอย่างละเอียดถึงกิจกรรมสอดแนมมวลชนที่ดำเนินการโดยหน่วยงานความมั่นคงของออสเตรเลียและภาคี “นัยน์ตาทั้งห้า” (Five Eyes) และให้ดำเนินการออกกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่ใช้ได้จริง การแถลงข่าวร่วมจะมีขึ้นที่สภาผู้แทนราษฎรที่แคนเบอร์รา ในเช้าของวันที่ 11 ก.พ. ซึ่งเป็นวันแรกของสมัยประชุมในปี 2014 นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรจะเปิดตัวแคมเปญ Citizens, Not Suspects (พลเมือง ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย) เพื่อต่อสู่้กับการสอดแนมที่ไม่มีการตรวจสอบ

บราซิล: สภานิติบัญญัติของบราซิล จะโหวตผ่านร่างกฎหมาย Marco Civil กรอบกฎหมายด้านสิทธิดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดของบราซิล ชาวบราซิลจะจัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์ในบราซีเลีย เมืองหลวงของประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ฉบับสุดท้ายของกฎหมายนั้นคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของพลเมืองบราซิล

แคนาดา: มากกว่า 45 องค์กรใหญ่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมากกว่าสิบคน และชาวแคนาดาเป็นหมื่นๆ เรียกร้องให้ผู้แทนที่ตัวเองเลือก หยุดการสอดแนมที่ผิดกฎหมายโดย Communications Security Establishment Canada หน่วยงานสอดแนมของแคนาดา

โคลัมเบีย: ชาวโคลัมเบียจากเปิดตัวแคมเปญ “Internet sin Chuzadas” เรียกร้องให้ยุติการสอดแนมที่ไม่มีการตรวจสอบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พวกเขาจะเปิดตัววิดีโอ แสดงการทำงานของการดักฟัง และพวกเขาจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อป้องกันตัวเอง

ฝรั่งเศส: La Quadrature du Net จะเปิดตัวเว็บไซต์ NSA Observer ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลที่สาธารณะรับรู้เกี่ยวกับโครงการสอดแนมของ NSA และเปิดตัวอนิเมชันขนาดสั้นเรื่อง “Reclaim your Privacy” (เอาความเป็นส่วนตัวของคุณคืนมา) เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว การสอดแนมมวลชน และความจำเป็นเร่งด่วนในการคิดถึงความสัมพันธ์ของเรากับเทคโนโลยี

ฟิลิปปินส์: Philippine Internet Freedom Alliance (PIFA) จะจัดกิจกรรมใหญ่ เพื่อต่อต้านกฎหมาย Cybercrime Prevention Act ที่รุนแรงของฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึงการประท้วงที่ศาลฎีกา แคมเปญถ่ายรูปตัวเอง และ “การบอมบ์สติกเกอร์”

โปแลนด์: Panoptykon Foundation จะส่งจดหมายไปถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามา เรียกร้องคำตอบเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลมหาศาลของ NSA และความร่วมมือระหว่างประเทศของหน่วยงานข่าวกรอง ซึ่งส่งผลกระทบกับพลเมืองโปแลนด์ เช่นเดียวกับพลเมืองยุโรปทุกคน Panoptykon Foundation จะเดินหน้ากดดันรัฐบาลโปแลนด์ให้เร่งตอบ คำถาม 100 ข้อ ที่ถามถึงการสอดแนม ที่กลุ่มพันธมิตรขององค์กรพัฒนาเอกชนโปแลนด์ถามไปเมื่อสี่เดือนที่แล้ว

เนเธอร์แลนด์: Bits of Freedom จะเรียกร้องให้พลเมืองดัทช์เข้าร่วมรณรงค์วัน The Day We Fight Back และแชร์ข่าวแคมเปญยุติการสอดแนมมวลชน: bespiedonsniet.nl (“อย่าแอบดูพวกเรา”)
เซอร์เบีย: SHARE Foundation จะเรียกร้องพลเมืองเน็ตอีกครั้ง ให้ยืนหยัดต่อสู้กับการสอดแนมมวลชน โดยการลงชื่อและสนับสนุนหลัก 13 ประการ ต้านการสอดแนมมวลชน

ยูกันดา: Unwanted Witness จะล่ารายชื่อของบริษัทโทรคมนาคม ให้หยุดการแชร์ข้อมูลของพลเมืองให้กับหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ ที่ข้องเกี่ยวกับการสอดแนมมวลชน

สหราชอาณาจักร: กลุ่มรณรงค์ความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกชั้นนำของสหราชอาณาจักร รวมตัวกันเปิดแคมเปญ DontSpyOnUs.org.uk เรียกร้องให้องค์กรต่างๆ ช่วยกันหยุดโครงการสอดแนมมวลชนต่างๆ ของ GCHQ

สหรัฐอเมริกา: มากกว่า 4,000 เว็บไซต์และบริษัท สัญญาที่จะติดกล่อง TheDayWeFightBack บนเว็บไซต์ของพวกเขา ประชาชนเป็นพันๆ จะโทรและอีเมลหาผู้แทนในสภาของพวกเขา เรียกร้องให้ผ่านกฎหมาย USA Freedom Act และยุติการสอดแนมมวลชน

ประเทศไทย: เครือข่ายพลเมืองเน็ต และ Protection International ชวนทุกคนทำแผนที่กล้องวงจรปิดในที่สาธารณะ ถ่ายรูปกล้องแชร์ในโซเชียลมีเดีย และติดแท็ก #CCTVthailand และจัดกิจกรรม CryptoParty ค่ำวันที่ 11 ก.พ. เพื่อพบปะและเรียนรู้วิธีการใช้งานเครื่องมือปกป้องความเป็นส่วนตัวออนไลน์

นานาชาติ: The Web We Want เชิญชวนให้นักวาดการ์ตูน ครีเอทีฟ และศิลปิน ร่วมกิจกรรมวัน The Day We Fight Back ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 ด้วยการวาดการ์ตูนเกี่ยวกับการสอดแนมออนไลน์และสิทธิในความเป็นส่วนตัว

และอีกมากที่: https://th.necessaryandproportionate.org/take-action

 

ที่มา: https://thainetizen.org/2014/02/the-day-the-world-fought-back/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net