Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2557 ที่ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดเสวนาครั้งที่ 1 เรื่อง “การคอร์รัปชั่น และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ, เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ, ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง, บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร และวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมเสวนา

สมเกียรติ กล่าวถึงสาเหตุที่ตั้งประเด็นคอร์รัปชั่นกับการผูกขาดทางเศรษฐกิจไว้ด้วยกันเนื่องจากทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุของการคอรัปชั่นสาเหตุหนึ่งได้ก็คือการผูกขาดทางเศรษฐกิจ

ปัญหาข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เพียงพอ

เดือนเด่น กล่าวถึงดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่นมีความสำคัญเนื่องจากการที่เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นเพียงพอก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และถ้าดูข้อมูลดัชนีชี้วัด ข้อมูลก็มีค่อนข้างจำกัด มีเพียงตัวเดียวคือ CPI (Corruption Perceptions Index) ที่บอกว่าต่างชาติมองว่าเราคอร์รัปชั่นมากขึ้น แต่ด้านไหนอย่างไรนั้นเราไม่รู้เลย ดังนั้นการสร้างฐานข้อมูลจึงสำคัญ เพื่อนำมาวิเคราะห์และทำยุทธศาสตร์ โดยดัชนีชีวัดคอร์รัปชั่นมีดังนี้

1.     เป็นความเห็น ซึ่งมีการทำกันบ้างแต่ไม่เป็นระบบ ที่เป็นระบบคือหอการค้า ส่วนมากทำในภาคธุรกิจเป็นครั้งๆ ไป

2.     การสำรวจโดยการถามประสบการณ์ว่าท่านเคยคอร์รัปชั่นไหม

3.     ตัวสถิติ เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงๆ เช่น คดีเกี่ยวกับการทุจริคอร์รัปชั่นที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีกี่คดี และการลงโทษจริงกี่คดี ซึ่งข้อมูลตรงนี้มีหลายแบบ เช่น เรื่องคดีการซื้อเสียง เป็นต้น แต่เราก็ยังไม่ค่อยมีฐานข้อมูลเหล่านี้เท่าไร

มีรายงานหนึ่งที่วิเคราะห์การทุจริตคอร์รัปชั่นในเกาหลีใต้ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยใช้ดัชนีทั้ง 3 มาวิเคราะห์ ทำให้เห็นว่าคนเกาหลีใต้นั้นคิดตลอดว่านักการเมืองยังทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่สูง แต่ถ้าถามถึงประสบการณ์เรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเช่นเคยการจ่ายใต้โต๊ะหรือไม่ ผลปรากฏว่าน้อยมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้ชี้อะไรบางอย่าง รวมถึงถามว่าการคอร์รัปชั่นกระทบหรือเดือดร้อนภาคธุรกิจหรือไม่ คำตอบคือไม่กระทบเท่าไร เป็นการวิเคราะห์ที่สามารถชี้อะไรบางอย่างเพื่อรู้ว่าหน้าตาปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอย่างไร และการแก้ไขจะมียุทธศาสตร์อย่างไร

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ปัญหาคอร์รัปชั่นสะสมเพราะส่วนหนึ่งกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา

ผาสุก กล่าวว่า เรื่องคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่ทุกประเทศในโลกประสบ ไม่ใช่ประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีอยู่ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมีกระบวนการที่เอาผิดผู้ทำผิดได้รวดเร็วทันใจ เช่น กระบวนการทางศาล ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ ประเทศที่พัฒนาแล้วมีหลักนิติธรรมที่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมได้ทุกคนเสมอหน้า เชื่อถือได้ แต่บ้านเราปัญหาคอร์รัปชั่นสะสมจำนวนมากเพราะส่วนหนึ่งกระบวนการยุติธรรมยังคงมีปัญหาอยู่ เมืองไทยก็เหมือนกับเกาหลีที่ปัญหาการคอร์รัปชั่นของคนตัวเล็กๆ จะน้อยลง มันยังมีปัญหาเฉพาะจุด งานสำรวจที่ตนทำไปเมื่อ 13 ปีที่แล้วนั้น องค์กรภาครัฐที่มีธุรกรรมทางการเงินมากๆ จะมีปัญหาการคอร์รัปชั่นมากด้วย เช่น กรมที่ดิน กรมสรรพากร กรมศุลกากร และบางส่วนของตำรวจ และมีปัญหาในส่วนของกระบวนการยุติธรรมด้วย

เราสำรวจเมื่อ 13 ปีที่แล้ว 4,000 ครอบครัวทั่วประเทศ ถามว่าเคยขึ้นโรงขึ้นศาลไหม ในบรรดาที่เคย มี 1 ใน 3 ตอบว่าได้จ่ายเงินเพื่อให้คดีเป็นไปตามที่ต้องการ และในกลุ่มที่ตอบว่าจ่ายเงินนั้นมากว่าครึ่งตอบว่าได้ผลอย่างที่ต้องการ ทำให้เราได้ประเด็นมาว่ากระบวนการยุติธรรมยังมีบางส่วนที่ยังมีปัญหาอยู่

คอร์รัปชั่นในฐานะกระบวนการสะสมทุน และแสวงหาค่าเช่า (Rent-Seeking)

ผาสุก กล่าวว่า อีกเรื่องที่ใหญ่มาก คือ การให้สินบนโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับนักธุรกิจ ข้าราการและนักการเมือง ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในกระทรวงเกรดเอ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง ปัญหาคอร์รัปชั่นที่โยงกับนักการเมืองและนักธุรกิจที่มีอยู่ทุกที่ในโลกเกี่ยวโยงกับ “กระบวนการสะสมทุน” ของนักธุรกิจและนักการเมือง เพราะนักการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาก็เป็นนักลงทุนด้วย หรือตัวเองไม่ลงทุน ครอบครัวก็ลงทุน และในภาวะเศรษฐกิจกำลังซบเซาทั่วโลก การแข่งขันมีสูง แต่การลุงทุนของรัฐบาลมีน้อยลง การแข่งขันกันจึงทำให้มีการเสนอสินบนให้ผู้ที่จะจัดการออกใบอนุญาต ดังนั้น กระบวนการที่เรียกว่าการแสวงหาค่าเช่า (Rent-Seeking) ทางเศรษฐกิจ การหารายได้จากเงินคอร์รัปชั่นในประเทศกำลังพัฒนาจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะแก้ไข เพราะแรงจูงใจ ผลประโยชน์ที่จะได้มันจำนวนมาก เราจึงต้องทำให้ต้นทุนในการแสวงหาค่าเช่ามันสูงขึ้น

สิงคโปร์ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ช่วยพรรคพวก

ผาสุก กล่าวว่า ในประเทศสิงคโปร์สมัยก่อนคอร์รัปชั่นสูงมาก แต่ภายในชั่วอายุคนเดียว สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส ลดการติดสินบนได้มาก เป็นอันดับ 5 ของโลกในแง่ความโปร่งใสและอันดับ 1 ของเอเชีย สิ่งหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี  ลี กวน ยู ทำคือไม่ยอมช่วยเพื่อนฝูงเมื่อเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น และมีรัฐมนตรีที่ถูกดำเนินคดีติดคุกและถูกยึดทรัพย์สินด้วย คนหนึ่งพยายามจะขอความช่วยเหลือกับลี กวน ยู แต่ไม่สำเร็จในที่สุดก็ฆ่าตัวตายก่อนถูกตัดสิน ทำให้ในสิงคโปร์สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความซื่อตรงและโปร่งใสได้จากการที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ช่วยพรรคพวก

ปัญหาข้ออ้างสารพัดปิดบังข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ

เดือนเด่น กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้นต้องมาจากข้างล่างคือประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นต้องมีเครื่องมือให้พวกเขา พวกเขาต้องมีข้อมูล หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับทราบอยู่แล้ว แต่ประเทศเราไม่มีข้อมูล ขายข้าวให้ใครก็ไม่รู้ ประเทศไทยเป็นข้อมูลที่ปิดลับมากมายทำให้มันเป็นปัญหากฏหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการเป็นเรื่องสำคัญ แต่มันไม่มีเขี้ยวเล็บ ในต่างประเทศเป็นกฏหมายข้อมูล “สาธารณะ” แต่บ้านเราเป็นข้อมูลของ “ทางราชการ” ทำให้สามารถอ้างข้อยกเว้นได้จำนวนมากมาย เช่น ความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการข้อมูลก็ไม่ได้ไปที่คณะกรรมการข้อมูลฯ แต่ต้องบายพาสไปที่ศาลปกครองแทน ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลล่าช้า ดังนั้นการปฏิรูปประเทศไทย ต้องผ่านกระบวนการข้อมูลข่าวสาร เช่น การอ้างข้อยกเว้นการเปิดเผยข้อมูลนั้นก็ต้องไม่ใช่เป็นอำนาจโดยเจ้าของข้อมูล ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับข้ออ้างเรื่องความมั่นคงและตามอำเภอใจของเจ้าของข้อมูลเท่านั้น

บรรยง พงษ์พานิช

คอร์รัปชั่นเป็นวาระร่วม และการปฏิรูปต้องมีสภา

บรรยง กล่าวว่า เรื่องคอร์รัปชั่นเป็นวาระร่วมที่ต้องวางมาตรการ เพราะทั้ง กปปส. และรัฐบาล รวมถึงพรรคอื่นๆ ก็ประกาศว่าจะกำจัดคอร์รัปชั่นให้หมด ถือเป็นเรื่องที่ดี และจากการศึกษาพบว่าในโลกนี้กลไกโครงสร้างสถาบันในทุกประเทศคล้ายกัน ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ไกลเกินฝัน เพราะเราสามารถหยิบของที่อื่นมาใช้ได้ เช่น มาตรฐาน OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development - องค์การความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา) นำมาใช้ได้เยอะมาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เป็นส่วนหนึ่ง รวมทั้งตัวมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นต้องเปิดในแบบแผนที่เข้าใจด้วย จะมีข้อยกเว้นสำหรับการเปิดได้บ้างแต่ไม่ใช่ข้อยกเว้นเต็มไปหมดโดยอ้างเรื่องความมั่นคง เรื่องความลับทางการค้า สำหรับการปฏิรูปนั้นมันเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ซึ่งจะเกิดมีไม่ได้หากไม่มีสภา เมื่อเราพูดถึงการปฏิรูป เป็นเรื่องที่ยาวและกว้าง มีกลไกอื่นๆ ที่ต้องปรับ

วิชัย อัศรัสกร 

ประชาชนตื่นตัวกว่าผู้ปกครอง

วิชัย  รองประธานหอการค้ากล่าวถึงกรณีภาคเอกชนมารณรงค์เรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นว่าไม่ใช่เรื่องตามน้ำ เพราะความเสียหายมีมาก และมีการทำงานที่มีตัวชีวัดซึ่งทำโดยหอการค้าไทยได้สำรวจสถานการณ์คอร์รัปชั่นจากประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักธุรกิจและข้าราชการ ปัจจุบันพบว่าไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น แม้แต่คนที่คอร์รัปชั่นก็มารณรงค์ด้วย จากการศึกษาทุกประเทศในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จมี 2 ประการ คือ 1 ตัวประชาชนเองที่ทนไม่ได้กับการทุจริต 2 รัฐบาลมีความมุ่งมั่นจริงๆ ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมานั้นยังไม่เห็นความมุ่งมั่นและถือเป็นอุปสรรค แต่การตื่นต้วของประชาชนนั้นเราเห็นแล้ว เท่าที่ทำสำรวจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงว่า คนที่คิดว่าเรื่องนี้ไม่ไกลตัว มีถึง 87% สำหรับทัศนะที่ว่าหากรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นแต่มีผลงานนั้น เมื่อก่อนคน 50% บอกว่ารับได้ แต่ตอนนี้ถามคำถามเดียวกัน 80% นั้นยอมรับไม่ได้แล้ว

เขากล่าวว่า เราเห็นปรากฏการณ์ เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การที่คนไทยตื่นตัวเพราะกระบวนการรณรงค์ของภาคประชาชนทำงานมา 3-4 ปี จะเห็นได้ว่าสังคมไทยเราประสบความสำเร็จในการสร้างความรับรู้ ประชาชนมีความตระหนักต่อปัญหานี้ดีกว่าผู้ปกครอง การปฏิรูปเรื่องพวกนี้ติดปัญหาคือคนที่อยู่ในอำนาจไม่เอาจริงเอาจัง คนดีแม้เขาไม่มีอำนาจเขาก็ทำอยู่แล้ว แม้แต่เราก็ยังทำเพราะเราทำด้วยจิตสำนึก

ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้กระบวนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น

ผาสุก กล่าวเสริมว่าเห็นพ้องว่าต้องมีการปฏิรูป แต่จากประสบการณ์ในการทำงานวิจัยเรื่องคอร์รัปชั่นตั้งแต่ปี 2535 หลังรัฐประหาร ตัวที่จุดประกายที่ทำงานวิจัยคือรัฐบาลจากการรัฐประหารกับการเลือกตั้งอันไหนจะจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีกว่ากัน การรัฐประหารที่อ้างว่าทำเพื่อจัดการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลชาติชายนั้น แต่กลุ่มของ รสช. ก็มีปัญหาเรื่อความโปร่งใส ในสมัยนั้นเงินสินบนที่ได้จากการซื้ออาวุธก็มีมากมาย จากการศึกษาได้ย้อนหลังกลับไปดูประสบการณ์ของประเทศตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ถนอม ประภาส กระทั่งเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งถ้าคิดจำนวนเปอร์เซ็นต์การคอร์รัปชั่นต่อจีดีพีพบว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์นั้นทำสถิติสูงสุด นอกจากนี้เราได้ความรู้เรื่องการทุจริตในสมัยชาติชายมากกว่าสฤษด์ด้วย เพราะสมัยชาติชายนั้นสื่อสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ แต่ในทางกลับกันสมัยสฤษดิ์ไม่สามารถทำได้ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลได้ รวมทั้งเราได้ข้อมูลจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พบว่า สมัยประชาธิปไตยเราสามารถเข้าไปตรวจสอบหน่วยงานสำคัญๆ รวมทั้งกองทัพได้ แต่สมัยเผด็จการไม่สามารถตรวจสอบกองทัพได้เลย เพราะอ้างเรื่องความมั่นคงตลอดเวลา

เราจึงได้ข้อสรุปว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นเปิดโอกาสให้กระบวนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ ผ่านกระบวนการยุติธรรม ผ่านการทำงานของสื่อ ผ่านองค์กรภาคประชาชน แต่ในภาวะรัฐบาลจากการแต่งตั้งจะโดยวิธีการรัฐประหารหรือวิธีการอื่นจะมีปัญหาเรื่องการปกปิดข้อมูลมากกว่าในระบบประชาธิปไตยแน่นอน และเราพูดถึง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่เรามีปัญหาอยู่นี้ มันก็เกิดในสมัยประชาธิปไตย แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม

แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในกรอบประชาธิปไตวและรัฐธรรมนูญที่ต่อเนื่อง

ผาสุก กล่าวถึงการปฏิรูปด้วยว่าเวลาเราพูดถึงการปฏิรูปเราต้องนึกถึงระบบด้วย เราเอาคนดีเข้ามาไม่ได้ผลแน่นอน ถ้าระบบนั้นเป็นระบบที่ปกปิด เป็นระบบที่ใครแต่งตั้งขึ้นมาก็ไม่ทราบ เป็นระบบที่ไม่มีระบบระเบียบไม่มีกฏหมายกำกับ ไม่มีกรอบ ไม่มีกฏหมายรัฐธรรมนนูญกำกับ เพราะฉะนั้นกระบวนการปฏิรูปโดยเฉพาะเรื่องการคอร์รัปชั่นจะประสบความสำเร็จก็ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกระบวนการประชาธิปไตยที่ต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่ถูกติดขัดเรื่อยๆ เป็นระยะด้วยการรัฐประหาร

รัฐประหาร 49 ทำกระบวนการเอาผิดหยุดชะงัก

ผาสุก กล่าวต่อว่า การดำเนินการเอาผิดกับนักการเมืองที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นดำเนินการไปได้ดีช่วงหลังรัฐธรรมนูญ 40 สามารถเอาผิดกับนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของภาครัฐได้ เรามีสถานันต่างๆ เช่น ปปช. ที่มีเขี้ยวเล็บมากขึ้น มีศาลพิเศษที่จะมาดำเนินคดีกับนายกฯ แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 49 กระบวนการทั้งหมดหยุดชะงักและมีการถอยหลังเข้าคลอง และเกิดกระบวนการหลังจากนั้น การเขียนรัฐธรรมนูน 50 มีหลายประเด็นที่ขัดหลักนิติธรรม เช่น การแต่งองค์กรอิสระมีลักษณะหมกเม็ดคือกลุ่มผู้แต่งตั้งองค์กรอิสระเป็นกลุ่มเดียวกัน ความโยงใยของศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. กกต. มีลักษณะโยงใยกันที่เรียกว่าขัดกับหลักนิติธรรม แต่งตั้งสลับกันไปมา

ข้อเสนอของการได้รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งด้วยวิธีการใดก็ตามโดยไม่อิงกับรัฐธรรมนูญ  จะก่อให้เกิดช่องว่างที่อิงกับอำนาจ แก้ไขกฏหมายอีกหลายเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนและไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้

ใช้ระบบแก้ไม่ใช่คนดีแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

บรรยง กล่าวถึงคำว่า “คนดี” นั้นเป็นสิ่งที่วัดยากเหลือเกินและมาตรฐานปัจจุบันเป็นทวิลักษณะที่วัดยาก จึงต้องเน้นระบบที่กำกับให้ทุกอย่างเป็นประโยชน์สาธารณะ ความเห็นแก่ตัวมันมีพละกำลังมากกว่ากการเห็นต่อสาธารณะ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้พลังความเห็นแก่ตัวนั้นไม่สามารถไปบั่นทอนประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ไปต้อนให้คนเป็นคนดี และสำคัญที่สุดคือข้อมูลข่าวสารที่จะต้องเปิดเผยในรูปแบบที่สามารถเอาไปใช้ได้

สิ่งที่ขาดไป คิดว่ามีองค์กรที่ไม่ได้เกิดตามอำนาจทางกฎหมาย มี 3 กลุ่มที่กำกับ

1.     ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งที่เพียงพอ ที่สามารถมีทรัพยากรที่เพียงพอ

2.     สถาบันที่คอยติดตามวิเคราะห์นโยบายของรัฐ เช่น TDRI

3.     สื่อที่มีคุณภาพ ที่ไม่มีอคติ ที่ไม่รับค่าโฆษณาจากผู้มีส่วนได้เสียจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง

การกระจายอำนาจลดการคอร์รัปชั่น

บรรยง กล่าวด้วยว่า ภาพใหญ่ของการลดคอร์รัปชั่น คือ เปลี่ยนทัศนคติของสังคม เราต้องอดทนหน่อย กลยุทธของนักคอร์รัปชั่นสมัยนี้เขารู้จักให้สินบนของประชาชน คอร์รัปชั่นที่สร้างประโยชน์ระยะสั่นได้ แต่ไม่เกิดประโยชน์ระยะยาว เรื่องคอร์รัปชั่นทุกประเทศในโลกเขาต้องการลดอำนาจ บทบาท และขนาดของรัฐ ของเรา 15 ปีที่ผ่านมารัฐของเราขยายตัวทุกอย่าง เช่น กรณีจำนำข้าว ที่เป็นบทบาทของเอกชนแต่รัฐก็เอาไปทำ ดังนั้นการกระจายอำนาจจะส่งผลต่อการลดการคอร์รัปชั่น เพราะประชาชนจะใกล้ชิดขึ้น รู้สึกได้รับผลกระทบและทุกคนจะเฝ้าติดตาม

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 

การผูกขาดทางเศรษกิจและดุลพินิจ ส่งผลต่อการคอร์รัปชั่น

สำหรับความคิดที่ว่าหากประชาธิปไตยอยู่ได้ยาวๆ คนอาจจะเลือกนักการเมืองได้ดีขึ้นนั้น สมเกียรติตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะรากเหง้าของการคอร์รัปชั่นยังอยู่ครบทุกประการ เพราะการเป็นการเมืองนั้นก็คือกลไกจัดสรรผลประโยชน์ที่มหาศาลในสังคม เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะมองว่าการเมืองจะเปลี่ยนตามประชาชนหรือภาคธุรกิจ คิดว่ามุมหนึ่งที่อยากนำเสนอคือทำอย่างไรที่ต่อให้การเมืองไม่เปลี่ยน มีการคอร์รัปชั่นต่อ แต่สังคมมีระบบของการจัดการกับการเมืองที่คอร์รัปชั่นได้โดยกลไกประชาธิปไตย ทั้งสื่อเสรี กลไกภาคประชาสังคม หรือ กฏหมายข้อมูลข่าวสาร เหล่านี้ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นทำได้ยากขึ้น

อีกเรื่องที่พูดกันน้อยคืออีกสาเหตุของการคอร์รัปชั่น จากงานวิจัยของ TDRI คอร์รัปชั่นมันผูกกับการการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ สมาการของการคอร์รัปชั่นมันผูกกับความโปร่งใส อำนาจผูกขาดและดุลยพินิจ เช่นถ้าประชาชนไปติดต่อกับหน่วยงานธุรกรรมขนาดใหญ่ๆ นั้นยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นอยู่ ซึ่งส่วนนี้อยู่กับตัว “ดุลยพินิจ” และอำนาจรัฐที่ไปสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปที่ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ธุรกิจไหนที่รัฐเข้ามามาก ก็จะมีการคอร์รัปชั่น

เดือนเด่น กล่าวว่า การผูกขาดเป็นวิธีการหาเงินได้เร็วที่สุด การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทยมีโดยกฏกติกาของภาครัฐรองรับ เช่น สัมปทาน กำไรนั้นก็แบ่งกันโดยคนที่ผูกขาดกับคนที่มีอำนาจในการให้สัปทานนั้น เช่น การซื้อข้าวผูกขาด หรือก่อสร้าง แล้วเราจะป้องกันได้อย่างไร คงทราบว่ารัฐบาลเห็นว่าการผูกขาดไม่ดีแล้วก็ให้ใบอนุญาตแทน ซึ่งตอนนี้คนที่ให้ใบอนุญาตก็ไม่ใช่รัฐบาลแล้ว แต่ทำโดยคณะกรรมการธุรกิจ ทำให้ดูเหมือนดี เหมือนเป็นสากล แต่ระบบนั้นก็ไม่หายไป เกิดรูปแบบสัมปทานจำแลง เช่น รัฐวิสาหกิจที่ไปทำการตกลงให้เอกชนรับช่วงต่อในการดำเนินการโทรคมนาคม ระบบสัมปทานก็ยังวนเวียนอยู่

จากการสำรวจของภาคธุรกิจ กลุ่มอุตตสาหกรรมที่เกิดการทุจริตมากที่สุด คำตอบคือ โทรคมนาคม สองคือ พลังงานและสาธารณูปโภค สามคือ เกษตร เหล่านี้เป็นธุรกิจที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องมาก สี่คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจไหนที่รัฐเข้ามามากก็จะมีการคอร์รัปชั่น จะเห็นว่ารัฐวิสาหกิจไหนที่มีรายได้เยอะก็จะมีปัญหา เราจะทำอย่างไรที่จะสลายการผูกขาด กฏหมายแข่งขันทางการค้า ช่วยก็ไม่ค่อยได้ เพราะมีการยกเว้นรัฐวิสาหกิจ และเอื้อมไม่ถึงส่วนที่รัฐสร้างการผูกขาด

รูปแบบการผูกขาดเป็นเรื่องๆ

บรรยง กล่าวว่า ผูกขาด แปลว่าทำให้ไม่มีการแข่งขัน ผู้ประกอบการจะได้เปรียบ ขณะที่ผู้บริโภคจะเสียเปรียบ ส่วนการคอร์รัปชั่นสามารถแบ่งได้เป็น ซื้อความได้เปรียบ ซื้อความสะดวก และซื้อความผิด ก็คือกระบวนการยุติธรรม โดยการซื้อความได้เปรียบประกอบด้วย ขายความได้เปรียบ กับ ขายอำนาจกับการค้าขายกับรัฐ  

โดยการพัฒนากระบวนการสร้าการคอร์รัปชั่น เป็นกระบวนการสร้างการผูกขาดเป็นกลุ่ม ที่เป็นระบบ เวลาคุณทำกิจการอะไร มีผู้ประสานงานในการคอร์รัปชั่นในการประมูล ตัวอย่าง 10 ปีที่แล้ว เรื่องคอร์รัปชั่น เวลามันแดงขึ้นมา ก็เกิดจากผู้ประกอบการที่โดนคนอื่นยัดเงินแล้วตัวเองประกอบการไม่ได้  แต่ปัจจุบันไม่มี เพราะมันมีการผูกขาดเฉพาะเรื่องได้ คนที่ไม่เห็นด้วยออกจากสนามไปหมดแล้ว ดังนั้นมันเป็นการผูกขาดเป็นเรื่องๆ และผลประโยชน์มันมหาศาลและผูกพันไปหมด งบประมาณแผ่นดิน งบรัฐวิสาหกิจ และมีกลุ่มผลประโยชน์ที่โยงใยกัน ดังนั้นการต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ก็ยากขึ้น  

บทบาทรัฐสภากับกระบวนการงบประมาณ ไม่เป็นแค่ลูกไล่ของรัฐบาล

อัมมาร สยามวาลา กล่าวถึงบทบาทของรัฐสภาว่ามีบทบาทชัดเจนต่องบประมาณแผ่นดิน และเมื่อเข้าระบบปกติ การยักยอกโดยตรงกับโครงการจะมีน้อยมาก เพราะมันตามมาด้วยระบบบัญชี ระบบตรวจสอบ แต่รัฐสภาไทยอำนาจนิติบัญญัติเป็นคนแต่งตั้งอำนาจบริหาร เมื่อแต่งตั้งแล้วอำนาจนิติบัญญัติกลับเป็นเพียงลูกไล่ของฝ่ายบริหาร  คนเสื้อแดงอยากให้อำนาจการตรวจสอบยึดโยงกับประชาชน ดังนั้นสภาผู้แทนราษฏรต้องมีบทบาทมากขึ้นไม่เป็นเพียงลูกไล่ของรัฐบาล โดยระบบงบประมาณที่จะต้องกำหนดล่วงหน้าที่จะเอาเงินมาจากไหน ดังนั้นจะทำอะไรที่เปลี่ยนประเทศ เช่น จำนำข้าวก็ต้องแจ้งว่าต้นทุนอยู่ตรงไหนให้รัฐสภาทราบ เมื่อมีอันนั้นแล้วก็จะต้องมีการตรวจสอบติดตามโดยองค์กรของรัฐ โดยมีกรอบจากงบประมาณที่ตั้งไว้ ว่าสัญญาจะทำอย่างไรและเงินมาจากไหน

ปฎิรูปภาคธุรกิจด้วย

ผาสุก กล่าวเห็นด้วยกับการควบคุมงบประมาณและการใช้เงิน และกล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเรามักจะเน้นไปที่ราชการและนักการเมือง แต่เราไม่ค่อยพูดถึงภาคเอกชนควรต้องพูดถึงปฏิรูปอะไรบ้าง บทบาทของ ประชาชนที่จะเอาผิดกับภาคเอกชนจะต้องมีและจะทำหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้นั้นจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขไหม บริษัทต่างๆ ที่มาถึงกระบวนการกับรัฐเหล่านี้มีการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องไหม เช่น ในอังกฤษ บริษัทอะไรที่มาทำงานกับพรรคก็ต้องผ่านกระบวนการมากมายก่อนด้วย

วิชัย กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอการปฏิรูปของตนนั้นเสนอว่าต้องเอาผิดเอกชนด้วย โดยผ่านกฏหมาย คนที่จะไปรับงานจากรัฐต่อจากนี้ จะต้องมาเซ็นสัญญาที่เรียกว่าข้อตกลงคุณธรรมที่พูดถึงการเปิดเผยข้อมูลทั้งฝั่งภาครัฐและภาคเอกชน

สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ลำดับที่ 10 กว่าจากการตรวจสอบของ ปปช.

ภายหลังการเสวนามีการเปิดให้ตั้งคำถามถึงการวางมาตราการตรวจสอบและการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่อย่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยยกเงื่อนไขความเห็นของกฤษฏีกาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 44 ที่ให้ความเห็นว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีข้อสังเกตว่า ในการเข้าไปตรวจสอบโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเกี่ยวกับกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นจะต้องคำนึงถึงสถานะพิเศษของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆที่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยหรือที่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตนั้น บุคคลใดไม่พึงดำเนินการสอบสวนให้เป็นที่กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 8 ซึ่งการจะพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้เพียงใดนั้น ควรต้องเป็นไปตามพระราชประสงค์และต้องไม่เป็นการกระทบต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วย” นั้น

ผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ที่มาจาก ปปช. ตอบด้วยว่า ทาง ปปช. มีดัชนีที่สำรวจหน่วยงานของรัฐในระดับกรมทุกหน่วยงาน ในการสำรวจจะดูระบบและเป็นการตอบคำถามง่ายๆ เช่น มีหรือไม่มี ทำหรือไม่ทำ เช่นว่า “มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทำการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสในหน่วยงานของท่านหรือไม่?” เรื่องจ้ดซื้อจัดจ้างนั้นก็ต้องการดูระบบว่ามีการประกาศโครงการต่างๆ ล่วงหน้ากี่วัน เป็นต้น เรามีดัชนีทั้งหมด 11 ตัวด้วยกัน ครอบคลุมหน่วยงานระดับกรมทั้งหมดและมีการตั้งคำถามเหมือนกันว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือสำนักพระราชวังจะรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ก็ปรากฏว่าทั้ง 2 องค์กร อาสาให้เราเข้าไปตรวจสอบประเมินเองเลย เพราะฉะนั้นกฤษฏีกาอาจจะตีความไปเอง แต่ถ้าเราไปติดต่อกับสำนักงานเหล่านั้นแล้ว สำนักงานเหล่านั้นต้องการให้เราเข้าไปประเมิน แสดงถึงความโปร่งใสต่างๆ ซึ่ง ปปช.ประกาศผลไป 2 ปีแล้ว หน่วยงานระดับกรมที่ได้คะแนนสูงสุดมา 2 ปีซ้อนคือกรอนามัย ส่วนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในระดับ 10 กว่า 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net