Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้อ่านที่เคยอ่านบทความผมมาบ้าง คงพอจะรู้ว่าผมไม่เคยวิจารณ์พระหรือนักวิชาการพุทธทั่วๆ ไปที่เป็น “คนเล็กคนน้อย” จะวิจารณ์เฉพาะพระและนักวิชาการพุทธที่เขียนหรือพูดแสดงความคิดเห็นใน “เรื่องสาธารณะ” ซึ่งเป็นพระและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง มีบทบาทชี้นำทางสังคม

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราได้เปิดเปลือยให้เห็นทัศนะทางการเมืองของพระและนักวิชาการพุทธศาสนาที่มีบทบาทชี้นำทางสังคมจำนวนหนึ่งว่า การแสดงทัศนะทางการเมืองของพวกเขาเป็นไปในทาง “ลดทอน” คุณค่าของวิถีทางประชาธิปไตย ความเป็นมนุษย์ และการต่อสู้เพื่อสิทธิต่อรองที่เท่าเทียมมากขึ้นของคนระดับล่างในสังคม

พวกเขาพูดถึงชาวบ้านเสื้อแดงที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองในปี 52-53 ว่า เป็นพวกไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกจ้างมาชุมนุมวันละ 300 บาท กระทั่งเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เป็นถ่อยอธรรม เถื่อนอธรรม (ดังวาทกรรมของ “กวีธรรม”) ฯลฯ เพราะชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เสพติดประชานิยมแบบเห็นแก่ประโยชน์ตัวเองมากกว่าประเทศชาติ สนับสนุนนักการเมืองเลว เป็นขี้ข้าทักษิณ ฯลฯ

ขณะที่พูดถึง “มวลมหาประชาชน” ว่าเป็นคนมีความคิด มีเหตุผลของตนเอง เพราะส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษาทั้งนั้น พวกเขาทนความผิดซ้ำซากของรัฐบาลไม่ได้ พวกเขาถูกทำให้เงียบมานานเหมือนประชาชนที่ถูกทำให้เงียบในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ตอนนี้มันจึงถึงเวลา “ระเบิด” ออกมา

แต่การระเบิดออกมาของความไม่พอใจรัฐบาลนั้น แม้เราจะเข้าใจได้ว่ามีเหตุผล แต่มันก็ควรดำเนินไปตามครรลองของความมีเหตุผลด้วยคือ กดดันให้รัฐบาลยุบสภาแล้วไปสั่งสอนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งด้วยการไม่เลือกเข้ามาอีก ส่วนกรณีทำผิดกฎหมายก็ใช้กลไกทางกฎหมายจัดการไป เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอ หรือถ้าต้องการปฏิรูปประเทศก็ปฏิรูปผ่านกระบวนการประชาธิปไตย หรือตามแนวทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

แต่ปรากฏว่า ปัญหาเลยเถิดมาถึงการขัดขวางการเลือกตั้ง การปะทะต่อเนื่องจนมีคนบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนมาก มีม็อบชาวนาเข้ามาสมทบ มีการประชุมหาแนวทางทำรัฐประหารโดยกลุ่ม “รัฐบุคคล” มีการขัดขวางไม่ให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ช่วยชาวนา การใช้กลไกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจัดการกับฝ่ายตรงข้าม การถ่วงเวลาจัดเลือกตั้งในเขตที่ยังมีปัญหา พร้อมๆ กับการพยายามสร้างเงื่อนไขความรุนแรงให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร

ในสถานการณ์เช่นนี้ยังมีพระเข้าไปเป็นแนวร่วม เป็นแกนนำ อ้างสันติ อหิงสาสนับสนุนแนวทางนอกระบบ โดยมหาวิทยาลัยสงฆ์ นักวิชาการพุทธเงียบกริบ ไม่มีความเห็น ไม่วิพากษ์ ไม่เสนอองค์ความรู้ที่จะช่วยให้สังคมเข้าใจบทบาทของพระสงฆ์และจุดยืนทางการเมืองที่ควรจะเป็นตามหลักการพุทธศาสนาและประชาธิปไตย

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสังเกตผ่านบทความชื่อ ”เทียนกับธงชาติ” ว่า “ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบันผ้าเหลืองไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของสันติเท่าเทียน...” (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2557) หมายความว่าสังคมยังมีการใช้วิธี “จุดเทียน” เรียกร้องทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติตามวิถีทางประชาธิปไตย ขณะที่ “ผ้าเหลือง” (กาสาวพัตร์) หรือบทบาทของพระสงฆ์ และการต่อสู้ทางการเมืองในนามพุทธศาสนาไม่ได้มีพลังในการสร้างสันติวิธีตามวิถีทางประชาธิปไตย

จะว่าไป บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ (อย่างน้อย) ตั้งแต่ยุค 6 ตุลา มาถึงยุคสมณะโพธิรักษ์และพระพุทธอิสระในปัจจุบัน คือบทบาทสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่ธงชัย วินิจจะกูลเรียกว่าอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” หรือประจักษ์ ก้องกีรติเรียกว่า “กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย”

ผมคิดว่า อุดมการณ์ราชาชาตินิยมหรือกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยมีความเป็น “ศาสนา” ในแง่ที่ว่าอุดมการณ์ดังกล่าวถูกปลูกฝังให้เป็นความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักแห่งความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ศาสนา เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก มีบุญญาธิการมาแต่ชาติปางก่อน ทรงปกครองโดยทศพิธราชธรรม ทรงพระคุณอันประเสริฐแก่ปวงชนชาวไทยในฐานะสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต และเป็นหลักของประชาธิปไตยในปัจจุบันและอนาคตในฐานะเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ และทรงอยู่ “เหนือการเมือง (?)” จึงเป็นที่อ้างอิงในการแก้วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองตลอดมา

อุดมการณ์ดังกล่าวมีความเป็นศาสนาที่มีพลังสร้างความปีติซาบซึ้ง หวังพึ่งพา ศักดิ์สิทธิ์ และน่ายำเกรงหวาดกลัวเหนือกว่าพุทธศาสนาด้วยซ้ำ พุทธศาสนานั้นเป็นรอง เพราะถูกนำมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม หรือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาตลอด

แน่นอนว่า พระและนักวิชาการพุทธย่อมซึมซับอุดมการณ์ดังกล่าวผ่านระบบการศึกษา วัฒนธรรมประเพณีพุทธไทยที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 4,5,6 แม้แต่พุทธที่อยู่นอกอำนาจปกครองของมหาเถรสมาคมอย่าง “สันติอโศก” หรือพระที่กล้าท้าทายอำนาจคณะสงฆ์อย่าง “พระพุทธอิสระ” ก็ไม่ได้พ้นไปจากวัฒนธรรมพุทธแบบสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม การต่อสู้ทางการเมือง การแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ไม่หวั่นเกรงอำนาจมหาเถรสมาคมและรัฐบาลของของสมณะโพธิรักษ์ พระพุทธอิสระ ท่านจันทร์ (เป็นต้น) ก็เป็นการแสดงความกล้าหาญแบบอิงอุดมการณ์พุทธราชาชาตินิยมและหลังพิงทหารมาตลอด

ล่าสุดท่านจันทร์ แห่งสันติอโศก โพสต์บทกลอนในเฟซบุ๊ก “รักธรรมะ พระจันทร์” ดังนี้

ทรราชยิ่งลักษณ์

อาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
ท่านเกื้อกูลกองทัพธรรมนำหน้า
ถูกจับตัวแล้วปล่อยตัวไม่กลัวรา
อยู่กลางป่า-เสือสิงห์ ยิ่งลักษณ์

หญิงทรราชตอแหลพ่ายแพ้แล้ว
มิเหลือแววของมนุษย์ต่ำสุดหนัก
เป็นงูเห่ากัดเหล่าชาวนาบ้ายิ่งนัก
ผู้ไปพักกับทักษิณนอกแผ่นดินไทย

ผมคิดว่าผู้นำในสังคมประชาธิปไตยนั้นถูกด่า ถูกประณามได้ แต่ข้อสังเกตก็คือว่า ขณะที่ท่านจันทร์พูดออกทีวีว่า บทบาททางการเมืองของสมณะโพธิรักษ์ ตัวท่านเอง และพระพุทธอิสระคือการยืนยันหลักสันติอหิงสา ออกไปชุมนุม เป็นแกนนำเพื่อ “ให้สติ” แก่ผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรง ไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกลียดแม้กระทั่งศัตรู แต่อีกด้านหนึ่งคำพูด การแสดงความเห็นต่อสาธารณะของท่านเหล่านี้ก็อาจตั้งคำถามได้ว่าเป็น “hate speech” หรือเป็นคำพูดที่สร้างความเกลียดชังหรือไม่?

เมื่อผมแย้งท่านไป (ในการสนทนาทางเฟซบุ๊ก) ว่า “ท่านเป็นพระน่าจะเคารพความเป็นมนุษย์ของสตรีเพศซึ่งเป็นเพศแม่ของเราบ้าง” คำตอบที่ทำให้ผมตกใจมากก็คือท่านจันทร์ตอบว่า “มันไม่ใช่มนุษย์”

พระที่เคร่งครัด ไม่ฉันเนื้อสัตว์ อ้างสันติ อหิงสาในการต่อสู้ทางการเมือง สอนให้มวลมหาประชาชนไม่โกรธ ไม่เกลียดแม้กระทั่งศัตรู แต่พูดถึงคนอื่น (ที่เป็นเป้าหมายทางการเมืองซึ่งต้องการ “ขจัด”)ได้ว่า “มันไม่ใช่มนุษย์”

เมื่อลึกๆ ท่านมีทัศนคติเช่นนั้น ผมจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมพระเหล่านี้ถึงอ้างสันติ อหิงสาสนับสนุนแนวทางนอกระบบ จนแม้กระทั่งเกิดการปะทะต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มีคนบาดเจ็บล้มตายไปแล้วจำนวนมาก จึงยังยืนยันเป้าหมายว่า “ต้องชนะให้ได้” ทั้งๆ ที่แม้จะชนะได้ตามต้องการ อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจออกมาต่อต้านอีก และอาจเกิดความรุนแรงนองเลือดตามมา เพราะลึกๆ แล้วพระท่านไม่แคร์ต่อ “ความเป็นมนุษย์” ของคนอื่น จึงไม่แคร์ต่อชีวิตประชาชนงั้นหรือ?

หรือว่าทัศนคติเช่นนั้นเกิดขึ้นได้ เพราะจุดยืนทางการเมือง จุดยืนสันติอหิงสาแบบศาสนาของท่านเหล่านี้คือการ “ขจัดคนเลว” คือจุดยืน “ธรรมะชนะอธรรม” คือ “เทพปราบมาร” คือ “เผด็จการโดยธรรม” ไม่ใช่จุดยืนประชาธิปไตยที่เคารพความเป็นคนเท่ากันของตนเองและคนอื่นที่ต้องยึดมั่นแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีตามหลักการและวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net