Skip to main content
sharethis

หลังเหตุปะทะกันที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการเผยแพร่ภาพ-วิดีโอคลิปเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก

หนึ่งในนั้นคือ ช็อตที่ ด.ต.ธีระเดช เล็กภู่ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สภ.แสนสุข จ.ชลบุรี เตะระเบิดซึ่งพุ่งมากระทบโล่ตำรวจที่อยู่ข้างๆ แรงระเบิดส่งผลให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายนาย รวมทั้ง ด.ต.ธีรเดช ด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน กระแส ‘ฮีโร่’ ของด.ต.ธีรเดชก็ถูกตีกลับอย่างรวดเร็ว จากการเผยแพร่ข้อมูลหลากหลายระลอกเพื่อบอกว่าตำรวจเป็นผู้ขว้างระเบิดเอง โดยเฉพาะระลอกล่าสุดที่จับเอาบางช็อตของสกู๊ป CNN ที่ทำเพื่อชื่นชมทีมข่าว มายืนยันว่าตำรวจขว้าง ระเบิด/วัตถุต้องสงสัยนั้นเอง กลายเป็นเรื่อง ‘ดาบนั้นคืนสนอง’  มีเซเล็บหลากหลายคนแชร์ข้อมูลดังกล่าว รวมถึง พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสิทธิฯ ก็คอนเฟิร์มทฤษฏีนั้นด้วย ก่อนที่มันจะแพร่หลายอย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 2 นาย ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 4 ราย และยังมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนไม่น้อยทั้งผู้ชุมนุมและตำรวจ

ประชาไทเปรียบเทียบข้อมูลจากคลิปหลากหลายมุม แหล่งที่มา และพบว่ามีคลิปที่แสดงเหตุการณ์เดียวกันที่ชัดเจนกว่าว่าตำรวจขว้างแก๊สน้ำตา พร้อมปากคำยืนยันของตำรวจที่บัญชาการอยู่ในเหตุการณ์ เป็นข้อมูลอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการพิจารณา

 

ทฤษฏีแรก “ตำรวจทำระเบิดตกเอง”

ในช่วงแรกมีกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์กรวมถึงการปราศรัยบนเวที กปปส. ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำระเบิดตกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง จนกระทั่งเวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 18 ก.พ. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. ได้โพสต์ในแฟนเพจเพื่อขออภัยแทนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กรณีที่เลขาธิการ กปปส. นำภาพตำรวจได้รับอันตรายจากระเบิดที่สะพานผ่านฟ้าฯ ไปปราศรัยกล่าวหาว่าตำรวจปาระเบิดเอง เพราะภายหลังจากที่ศึกษาภาพและคลิปทั้งหมดแล้วยอมรับว่าไม่ชัดเจนที่จะสรุปเช่นนั้น

ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งนำเสนอภาพกลุ่มตำรวจได้รับอันตราย หลังมีระเบิดชนิดขว้างที่ถูกปามาตกหน้าแนวโล่ของตำรวจและเกิดระเบิดขึ้น เช่น การนำเสนอของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น และ สำนักข่าวบีบีซี เป็นต้น รวมทั้งคลิปที่ถูกโพสต์โดย Stephen J Boitano ที่เห็นภาพจังหวะระเบิดที่พุ่งมาจากทิศทางตรงข้ามแนวตำรวจ มากระทบกับโล่ ก่อนที่ ด.ต.ธีรเดช จะตัดสินใจลุกขึ้นเตะและเกิดระเบิดพอดี

 

ทฤษฏีใหม่ “ตำรวจเป็นคนขวางระเบิดเอง”

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมาได้เกิดทฤษฏีใหม่สำหรับช็อตสำคัญนี้ ภายหลังจากที่สำนักข่าว CNN ได้ทำสกู๊ปเรื่อง ‘On the scene of protests in Bangkok’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าช่างภาพและโปรดิวเซอร์ของ CNN อยู่ใกล้กับจุดที่ระเบิดแค่ไหน

ในสกู๊ปชื่นชมสปิริตทีมงาน CNN นี้ หากสังเกตดีๆ ช่วงหนึ่งจะเห็นคนหนึ่งในกลุ่มตำรวจขว้างวัตถุบางอย่างเข้าไปในเต็นท์ผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ซึ่งดูเผินๆ คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดระเบิด 

เตชะ ทับทอง ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้ง เครือข่ายรักดี (องค์กรสาธารณประโยชน์) ส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้โพสต์ภาพบางช่วงที่แคปเจอร์จากรายงานข่าวของ CNN ดังกล่าว พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘เตชะ ทับทอง หนึ่งร้อยตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ’ ว่า

“ผมคิดว่าผมหาข้อสรุปของ "ที่มาของระเบิด" ได้แล้วนะครับ ขอบคุณ CNN ที่เสนอข่าวภาพสำคัญให้เราได้เห็นทั้ง 2 มุมกล้อง ..... ถ้าตาผมไม่ฝาดนะครับ คนขว้างอยู่ในกลุ่มตำรวจเองครับ ชมได้จาก Link ด้านล่างที่แนบมาครับ วินาทีที่ 0.40 และ 0.54 ครับ ชัดไปนะ หุหุหุ ขว้างไปที่เต้นท์มากกว่า 1 ลูกด้วยซ้ำไป .... ย้ำว่า "เห็นที่มาของลูกระเบิดนะครับ" ส่วนระเบิดพุ่งกลับมายังไงนั้น เป็นเรื่องที่ตำรวจตรงแถวนั้นน่าจะตอบได้ครับ”

หลังการโพสต์ของเตชะ 1 วัน มีผู้กดถูกใจกว่า 6,000 และแชร์ไปกว่า 10,000 ก่อนหน้านี้ เตชะ โพสต์ภาพวาดนำเสนอว่าระเบิดถูกขว้างมาจากตำรวจและไปถูกเต็นท์ผู้ชุมนุมจึงสะท้อนกลับไปยังตำรวจอีกที พร้อมอธิบายประกอบด้วยว่า

“ภาพนี้น่าสนใจในหลักการคิด จากการบอกเล่าของหลายฝ่ายมากที่สุดครับ เป็นไปได้สูงสุดครับ ขอบคุณคนทำภาพนี้สื่อสารออกมาครับ”

เช่นเดียวกับเพจ I Support PM Abhisit ที่นำภาพจาก CNN มาโยงเพื่อแสดงให้เห็นว่าระเบิดถูกขว้างมาจากฝั่งตำรวจแล้วไปถูกเต็นท์สะท้อนกลับหาตำรวจอีกที โดยนำภาพดังกล่าวมาจากเพจที่ใช้ชื่อ ‘gartoon,การ์ตูนการเมือง’ ซึ่งโพสต์เมื่อเวลา 3.35 น. ของวันที่ 21 ก.พ.

นอกจากนั้นยังมีเพจ Mallika Boonmeetrakool ของมัลลิกา บุญมีสกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ที่โพสต์เหมือนเตชะ โดยมีการแชร์ต่อไปกว่า 3,000 และมียอดไลค์ 7,800  

อีกโพสต์หนึ่งของมัลลิกาโพสต์ในเวลา 9.21 น. ของวันที่ 21 ก.พ. มีการแชร์ไปกว่า 4,000 และมียอดไลค์ 9,200 เป็นการโพสต์ต่อมาจากเพจ ‘ล้านชื่อต้านล้างผิด’ ซึ่งในโพสต์ดังกล่าวของเพจนี้มียดแชร์ต่อกว่า 5,000 และ 9,500 กว่าไลค์

 

หมอพรทิพย์ ก็เอาด้วย

ด้าน พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว ก็โพสต์ภาพของเตชะที่แคปเจอร์จาก CNN ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Khunying Porntip Rojanasunan’ เมื่อเวลา 7.59 น.ของวันที่ 21 ก.พ. (รวมทั้งอินทราแกรมชื่อ ‘porntip_nai’ ) พร้อมเขียนข้อความตอนหนึ่งด้วยว่า

“..เมื่อได้ภาพนี้จากนักข่าวต่างประเทศ ก็คงต้องถามว่าในการควบคุมฝูงชนครั้งนี้มีการใช้ระเบิดคุมฝูงชนใช่ไหม ภาพมันฟ้องชัดเจนถ้าด่วนสรุปว่าเป็นM26จะหาทางออกไม่ได้และจะทำให้องค์กรยิ่งเสียหาย ที่สำคัญที่สุดหมอบอกมาตลอดว่าวิทยาศาสตร์ไม่โกหก และหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ต้องเป็นมืออาชีพ มีอิสระไม่ใช่เอาคนไม่รู้เรื่องพูดแทนผู้รู้”

ที่มา เฟซบุ๊ก ‘Khunying Porntip Rojanasunan

 

‘อิศรา’ 'ข่าวข้นคนเนชั่น' ก็รายงาน

ศุภเดช ศักดิ์ดวง เขียนสกู๊ปเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ ‘isranews.org’ ของ สำนักข่าวอิศราในชื่อ ‘เปิด 5 ช็อตภาพ CNN ตร.ขว้าง‘วัตถุปริศนา’ ใส่ผู้ชุมนุม - ก่อนเหตุเตะระเบิดตูม!’ โดยรายงานดังกล่าวได้แคปเจอร์ภาพจาก CNN เช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น โดยระบุว่าสกู๊ปของ CNN ชิ้นนี้ได้เผยแพร่เหตุการณ์เผชิญหน้ากันของตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ช่างภาพของ CNN จับภาพตำรวจอย่างน้อย 2 นายขว้าง ‘วัตถุทรงกลมปริศนา’ เข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม 2 ครั้ง ก่อนที่ตำรวจจะถูกระเบิดและล้มลงในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีต่อมา

รายงานของอิศราระบุว่า ไซมา โมซิน ผู้สื่อข่าวของ CNN ชี้ให้เห็นว่าทีมงานของ CNN อยู่ด้านหลังหน่วยหน้า (advanced unit) ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแถวเดียว สามารถจับภาพการปาระเบิดในระยะที่ห่างไปเพียงไม่กี่เมตรได้ สำหรับภาพที่เห็นอยู่นี้แสดงให้เห็นว่า ช่างกล้องและโปรดิวเซอร์ของเราอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดการระเบิดเพียงใด

ในการสรุปทิ้งท้ายของสกู๊ปสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า

“ทั้งหมดนี้คือภาพเหตุการณ์ชัดๆ ที่ช่างภาพของ CNN เก็บไว้ได้ และสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้เห็นข้อมูลอีกด้าน ในมุมมองของสื่อต่างประเทศ จากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่สะพานผ่านฟ้า ท่ามกลางคำถามที่ผุดขึ้นในความคิดของใครหลายคน ว่า ‘วัตถุทรงกลมปริศนา" ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขว้างใส่ผู้ชุมนุม ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุระเบิดในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา คือ อะไรกันแน่?”

รวมไปถึงรายการ ข่าวค้นคนเนชั่น มื่อวันที่ 21 ก.พ.(คลิกดู) โดยธีระ ธัญไพบูลย์ อ้างว่า รายงานของ CNN แสดงให้เห็นว่าตำรวจปาลูกกลมๆ ลักษณะคล้ายกับระเบิด ปาเข้าใส่เต็นท์ของกองทัพธรรม อย่างไรก็ตามพิธีกรคนอื่นในรายการมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นคนละเหตุการณ์กับที่ ด.ต.ธีรเดช เตะระเบิดหรือไม่ แต่ กนก รัตน์วงศ์สกุล กล่าวว่า ประเด็นที่ตนสนใจคือว่าตำรวจทำไมต้องปาระเบิดเข้าไปในเต็นท์ ตำรวจปาระเบิดเข้าไปในเต็นท์ผู้ชุมนุมมันเป็นเรื่องใหญ่ โดยอ้างว่ารายงานดังกล่าวของ CNN นั้นจับภาพปาระเบิดได้ และ CNN ต้องการวงกลม หรือโฟกัส ให้เห็นว่าตำรวจปาระเบิด

 

‘พิภพ’ นักแปลอิสระชี้ CNN เพียงแสดงให้เห็นว่าคนของเขาอยู่จุดเกิดเหตุ

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pipob Udomittipong’ ว่า

“คำบรรยายของ Saima Mohsin (ไซมา โมซิน) นักข่าว CNN ที่รายงานข่าวนี้ จะเห็นได้ว่าที่เขาทำภาพช้าๆ เพื่อให้คนดูเห็นว่าช่างกล้องและโปรดิวเซอร์ของเขาอยู่ใกล้กับจุดที่ระเบิดมาก ๆ คงเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้นและชมเชยความกล้าหาญของทีมงานเขา ไม่มีตรงไหนเลยที่เขาบรรยายบอกว่าเป็นระเบิดที่ขว้างมาจากฝ่ายไหนเลย แต่ที่แน่ๆ คือตำรวจล้มกันระเนระนาด ภาพที่แค็ปเจอร์มาแล้วมโนเอาเองว่าเป็นระเบิด มีคนบอกว่าเป็นกระป๋องก๊าซน้ำตาที่ตำรวจขว้างไป”

“ไม่มีคำบรรยายตรงไหนของ CNN ที่ระบุว่าระเบิดที่ระเบิดขึ้นเกิดจากตำรวจโยนไปใส่เต๊นท์แล้วกระเด้งกลับมา หรือเกิดจากฝ่ายไหน ส่วนการตีความภาพเป็นเรื่องที่สลิ่มฉลาด ๆ มโนกันเอาเอง โดยคำบรรยาย นาทีที่ 0.40-1.19 ระบุว่า “ทีมงานของ CNN อยู่หลังแนวตำรวจซึ่งเป็นชุดด่านหน้า สามารถจับภาพระหว่างที่มีการโจมตีด้วยระเบิดได้ จากจุดที่ห่างออกไปไม่กี่เมตร ในวีดิโอนี้แสดงให้คุณเห็นว่าช่างภาพและโปรดิวเซอร์ของเราอยู่ใกล้แค่ไหนกับจุดที่ระเบิด จากสภาพการเผชิญหน้าที่ดูเหมือนไม่มีอันตรายได้เปลี่ยนเป็นการเผชิญหน้าที่นำไปสู่การเสียชีวิต แนวตำรวจล้มลงระเนระนาด (เพราะแรงระเบิด) จากนั้นทั้งสองฝ่ายเริ่มใช้กระสุนจริงยิงใส่กัน ตำรวจนายหนึ่งถูกยิงที่ศีรษะจนเสียชีวิต ส่วนพลเรือนอีกสี่นายเสียชีวิตในเหตุการณ์ยิงกันซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องจากนั้น””

“CNN’s team, right behind just one row of police officers advance unit, captured the grenade attack just a few meters away on camera. This footage shows you just how close our cameraman and producer were to the explosion. Caught in the midst of the seemingly harmless encounter that turned into a deadly confrontation. Police lines fell in front of them. Both sides were firing live rounds. One officer shot in the head died. Four civilians were killed in the ensuring gunfire.”

นอกจากนี้ในรายงานของ CNN ยังเน้นภาพไปที่ช่างภาพเพื่อประกับคำบรรยาดังกล่าว ไม่ได้เน้นไปที่วัตถุที่ตำรวจขว้าง

ภาพจากคลิปแสดงให้เห็นว่า CNN วงกลมเน้นไปที่ตัวช่างภาพของเขา ไม่ใช่วัตถุที่ ตร. ปาเข้าเต็นท์(นาทีที่ 0.55)

 

คนละซีน-คลิป CNN ที่ถูกเอาไปขยายผล ไม่ปรากฏ ตร.ที่วิ่งไปแนวหน้าก่อนระเบิดกระทบโล่

อย่างไรก็ตาม การจะหาข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น ต้องเทียบภาพเหตุการณ์ระหว่างคลิปหลายอัน หลายมุมมอง ซึ่งซีนการระเบิดนั้นมีผู้จับภาพได้อย่างชัดเจน อย่างน้อย 3 ส่วน คือ

ข้อ 1.คลิปของ Stephen J Boitano ซึ่งให้มุมด้านข้างที่เห็นชัดและใกล้ที่สุด เห็นช็อตตำรวจนายหนึ่งวิ่งมาตั้งโล่นั่งลงกับพื้น ระเบิดพุ่งมาชนโล่ และ ด.ต.ธีรเดชลุกขึ้นไปเตะระเบิด

ข้อ 2.คลิปการรายงานข่าวของ CNN ที่เป็นมุมด้านหลังตำรวจ เห็นภาพการระเบิดและตำรวจล้มระเนระนาด (ดูคลิป) คลิปข่าวนี้ก็ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของสกู๊ปชื่นชมทีมงาน ซึ่งถูกนำไปขยายผลด้วย

ข้อ 3.คลิปด้านตรงข้าม มุมเยื้องเล็กน้อย ไม่ทราบที่มาแน่ชัดเนื่องจากมีการแชร์กันมากมาย  (ดูคลิป) คลิปนี้แสดงให้เห็นภาพกว้างว่ามีตำรวจวิ่งมาจากกลางสะพานผ่านฟ้าฯ เพื่อมานั่งด้านข้างของ ด.ต.ธีรเดช ก่อนระเบิดมากระทบโล่ของเขา

เมื่อดูสกู๊ปเจ้าปัญหาของ CNN ที่ถูกนำมาขยายผล จะเห็นว่า ช่วงนาทีที่ 0.53 – 1.07 นั้น ไม่ปรากฏเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วิ่งเข้ามาข้าง ด.ต.ธีรเดช ก่อนที่ระเบิดจะพุ่งมากระทบโล่จากด้านหน้าและระเบิดในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ หากดูคลิปในข้อ 3 ซึ่งเป็นซีนระเบิดที่เห็นในภาพกว้าง ก็ไม่ปรากฏภาพของช่างภาพ CNN ใกล้แนวตำรวจ อย่างที่ปรากฏในสกู๊ปเจ้าปัญหาของ CNN ประกอบกับการตัดต่อในสกู๊ปดังกล่าวตัดจากภาพของช่างภาพใกล้แนวตำรวจที่เห็นตำรวจบางคนโยนวัตถุเข้าไปในเต็นท์ไปสู่ภาพการระเบิดทันที อาจทำให้ผู้ชมเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ทั้งที่น่าจะเป็นคนละช่วงเวลา

ภาพจากสกู๊ป CNN เพื่อชื่นชมทีมงานของสำนักข่าว ช่วงนาทีที่ 0.53 – 1.07 ก่อนตัดไปที่ภาพระเบิด

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจวิ่งเข้าหา ด.ต.ธีรเดช ก่อนเหตุระเบิด จากคลิป(ตามข้อ3) เผยแพร่ใน Youtube

กลุ่มควัน ตำแหน่งช่างภาพ CNN และความแรงของระเบิดที่พุ่งเข้าหาโล่

ภาพ A ซีนในรายงานของ CNN ที่ถูกนำไปอ้างว่า ตร.ปาระเบิดนั้นจะเห็นกลุ่มควัน ขณะที่ซีนระเบิดจริงทั้งระยะใกล้(ภาพ B)และระยะไกล(ภาพ C) จะไม่เห็นกลุ่มควันอยู่บริเวณนั้นก่อนระเบิด

ภาพ A ซีนในรายงานของ CNN ที่ถูกนำไปอ้างว่า ตร.ปาระเบิดนั้น จะเห็นว่า Mark Philips ช่างภาพของ CNN อยู่ด้านข้างขวาของแนวตำรวจ ขณะที่ ภาพ A ซีนระเบิดของ CNN ที่ Mark Philips ถ่ายได้นั้นจะเห็นด้านขวาของเขาจะมีตำรวจอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่าเขาเข้าไปอยู่กลางกลุ่มตำรวจก่อนเหตุระเบิด

นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตจากคลิปของ Stephen J Boitano ว่าระเบิดที่พุ่งมากระทบโล่ของตำรวจก่อนจะระเบิดนั้นความแรงที่พุ่งเข้ามามีมากซึ่งไม่ใช่ความแรงในลักษณะของการสะท้อนกลับ หากแต่เป็นแรงในลักษณะของการถูกขว้างมากระทบกับโล่มากกว่า

 

AFP เฉลยตำรวจขว้างแก๊สน้ำตา 

ภาพจากคลิปของ AFP ช่วงเวลาเดียวกับในรายงานของ CNN

คลิปจาก AFP ช่วงนาทีที่ 0.15 – 0.24 เป็นช่วงเวลาและมุมเดียวกันกับสกู๊ปเจ้าปัญหาของ CNN แสดงให้เห็นได้ชัดเจนกว่าว่า ตำรวจขว้างแก๊สน้ำตา (ในวงกลมสีเหลืองตามภาพ) ไปกระทบบริเวณเต็นท์ก่อนตกลงตรงผ้าใบลายสีฟ้าและเกิดกลุ่มควันขึ้น จากนั้นภาพของ AFP ตัดไปที่ภาพช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก่อนที่จะตัดไปสู่เสียงระเบิดบริเวณสะพานผ่านฟ้าในนาทีที่ 0.35

ภาพจากวิดีโอคลิปของไทยรัฐออนไลน์ช่วงนาทีที่ 1.03

เช่นเดียวกับวิดีโอคลิปของไทยรัฐ ช่วงนาทีที่ 1.03 ซึ่งใกล้เคียงกับคลิปของ AFP แม้จะไม่ใช่จังหวะเดียวกันแต่จะเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขว้างวัตถุ (ในวงกลมสีเหลืองตามภาพ)เข้าไปในเต็นท์ผู้ชุมนุมก่อนจะเกิดควันขึ้น เป็นการปาแก็สน้ำตาชนิดขว้าง

นอกจากนี้ในวิดีโอคลิปของ AFP ในจังหวะดังกล่าวซึ่งเป็นคลิปเดียวกับใน CNN นั้นจะเห็นตำรวจที่มีลักษณะคลาย ด.ต.ธีรเดช อยู่ในคลิปสวมผ้าฟันคอฟ้าและแว่นตา (ดูภาพ A และ B ด้านล่าง) และถือโล่พลาสติก ขณะที่ซีนระเบิดนั้น ด.ต.ธีรเดช นั่งอยู่ตรงแนวด้านหน้าและถือโล่เหล็ก ดูภาพ C ด้านล่าง

 

ภาพ A จากคลิปรายงานของ CNN ที่ถูกนำไปอ้างว่า ตร.ขวางระเบิด ภาพ B เป็นคลิปเดียวกับ CNN ซึ่งถูกเผยแพร่ใน AFP ที่มีความชัดกว่า ขณะที่ภาพ C เป็นภาพจากคลิปซีนระเบิดที่เห็น ด.ต.ธีรเดช ชัดเจน

ผบ.ร้อย 1 ยันเป็นการขว้างแก๊สน้ำตาของตำรวจ

พ.ต.ท.ณัฐพล เยาครุฑ สวป.สภ.อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในฐานะ ผบ.ร้อย 1 ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่สะพานผ่านฟ้าฯ กล่าวยืนยันว่า ภาพที่มีการเผยแพร่กันนั้นเป็นการขว้างแก๊สน้ำตาของตำรวจ ซึ่งเขาเป็นผู้สั่งการอยู่บริเวณนั้นด้วยตัวเอง พร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณสะพานผ่านฟ้ามีเพียงโล่ แก๊สน้ำตา และปืนยิงกระสุนยาง ไม่มีการใช้อาวุธอื่นนอกเหนือจากนี้อย่างเด็ดขาด ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานให้กับผู้บังคับบัญชาเพื่อชี้แจงต่อสาธารณชนต่อไป 

ขณะที่ ด.ต.ธีระเดช กล่าวยืนยันผ่านเว็บไซต์สนุกดอทคอมถึงระเบิดที่ตนเองเตะนั้น ถูกขว้างมาจากฝั่งตรงกันข้าม ซึ่งระหว่างช่องโหว่ของโล่เห็นระเบิดหล่น ตัดสินใจเตะให้พ้นตัวมากที่สุด เพราะข้างหลังมีเพื่อนอยู่ ซึ่งกระทำไปโดยสัญชาตญาณ พร้อมระบุว่ายังไม่เสียกำลังใจ อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เตือนเพื่อนข้าราชการตำรวจเพิ่มความระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวยังไม่เคยดูคลิปที่ถูกเผยแพร่ออกไป ก็รู้สึกภูมิใจที่ถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ พร้อมทำหน้าที่ต่อถ้าหากอาการดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net